โพสต์เมื่อ 5 มิ.ย. 2022
ชื่ออื่น : ดอยภูซาง
ที่ตั้ง : บ้านดอนคีรี ต.นาซาว อ.เมืองน่าน
ตำบล : นาซาว
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : น่าน
พิกัด DD : 18.70848 N, 100.6882 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำซาว, ลำน้ำสมุน, ลำน้ำระวาย
จากตัวเมืองน่านใช้ถนนยันตรกิจโกศลมุ่งหน้าลงทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาเข้าบ้านดู่ใต้ ไปตามถนนลาดยางประมาณ 6.5 กิโลเมตร ถึงตัวตำบลนาซาว แหล่งโบราณคดีดอยภูซางสามารถเข้าได้ทางซอย 3 ซึ่งมีป้าย “แหล่งโบราณคดีดอยภูซาง” ขนาดใหญ่อยู่หน้าปากซอย
ดอยภูซางปัจจุบันเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ โดยความร่วมมือกันระหว่างภาคประชาชน ท้องถิ่น และภาครัฐ มีการเปิดเป็นเส้นทางให้ท่องเที่ยวเดินขึ้นสู่ดอยภูซาง เพื่อเดินชมชิ้นส่วนในขั้นตอนต่างๆของการผลิตเครื่องมือหินที่สามารถพบได้ทั่วไปบนดอยภูซาง นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลแหล่งโบราณคดีภูซางที่จัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในพื้นที่ดอยภูซาง และมีการจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ขุดค้นโดยสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน
กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลนาซาว
ลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ลอนลูกคลื่นสลับกับพื้นที่ราบขนาดเล็ก และมีเขาขนาดย่อมอยู่ทั่วทั้งพื้นที่ ซึ่งดอยภูซางเป็นหนึ่งในเนินเขาเหล่านั้น พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกปรับเป็นพื้นที่ทำการเกษตร สวนผลไม้ประเภทต่างๆ ไม่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้หลงเหลือเป็นสภาพป่าแล้ว มีลำน้ำซาวและลำน้ำสมุนเป็นลำน้ำสายหลักของพื้นที่ (ลำน้ำซาวไหลผ่านด้านทิศตะวันตกและลำน้ำสมุนไหลผ่านด้านทิศเหนือของพื้นที่) โดยเป็นต้นน้ำของลำห้วยก้อด พรรณไม้เป็นแบบป่าดงดิบ (จตุรพร เทียมทินกฤต และสิริพัฒน์ บุญใหญ่ 2549 : 18)
ลำน้ำซาว, ลำน้ำสมุน
กลุ่มหินที่พบในพื้นที่แหล่งโบราณคดีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1.กลุ่มหินภูเขาไฟ เป็นหินอัคนีที่กำเนิดมาจากแมกมา ได้แก่ Andesite, Ash, Diabase, Tuff,Rhyolite, Quartzite, Vericular Basalt ซึ่งหินที่พบว่ามีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องมือหิน คือ Rhyolite, Andesite และ Tuff,Rhyolite
2.กลุ่มกึ่งหินแปร จากกระบวนการทางธรณีวิทยาในช่วงต้นไพลสโตซีน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชั้นหิน ซึ่งเดิมในบริเวณนี้เป็นชั้นหินตะกอน เมื่อเกิดสภาวะความดันและความร้อนสูงจากการแทรกตัวขึ้นมาของแนวแมกมา ทำให้เกิดการแปรสภาพโดยการสัมผัส (Metamorphic) ทำให้เกิดการตกผลึกใหม่ (Recrytalization) ทำให้โครงสร้างหินตะกอนเปลี่ยนสภาพมีความแข็งมากขึ้น เนื้อละเอียดมากขึ้น แบ่งออกได้เป็นหินประเภท Metamorphose mudstone และ sandstone (เอกสารบางเล่มเรียกหินกลุ่มนี้ว่า Argrillite)
หินทั้งสองกลุ่มนี้ ยกเว้น Vesicular Basalt จะเป็นหินเนื้อละเอียดแน่น ค่อนข้างเหนียว มีความแข็งไม่มากเกินไปสำหรับนำมาผลิตเครื่องมือหิน สามารถขึ้นรูปได้ง่ายและกำหนดทิศทางของแรงที่ใช้ได้ค่อนข้างดี ทำให้ได้รูปแบบที่ต้องการโดยไม่สิ้นเปลืองพลังงานมากนัก จึงทำให้คนโบราณนิยมเลือกให้วัตถุดิบจากพื้นที่นี้มากกว่าบริเวณอื่นๆ ที่เป็นหิน Basalt เพราะเป็นหินเนื้อละเอียดที่มีความแข็งสูงมาก ควคุมทิศทางการกะเทาะไดค่อนข้างยาก แม้ว่าจะมีคุณภาพวัสดุดีกว่า แต่สิ้นเปลืองพลังงานและเวลาในการผลิตมากกว่า
ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, พาสุข ดิษยเดช, ประทีป เพ็งตะโก, ธนิก เลิศชาญฤทธ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) ประกอบไปด้วย สายันต์ ไพรชาญจิตร์, พาสุข ดิษยเดช, ประทีป เพ็งตะโก และสว่าง เลิศฤทธิ์ (ธนิก เลิศชาญฤทธ์) สำรวจแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตอำเภอเมืองน่าน และพบแหล่งโบราณคดีเทือกเขาหินแก้ว เขาชมพู ดอยปู่แก้ว และดอยภูซางชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, จ.ส.ต.มนัส ติคำ, วนิษา ติคำ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
เมษายน 2545 สายันต์ ไพรชาญจิตร์, จ.ส.ต.มนัส ติคำ และ วนิษา ติคำ สำรวจพบแหล่งโบราณคดีบริเวณภูซาง พบหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องมือหิน (Industrial Waste) หนาแน่นตามไหล่เขาและยอดเขา ชิ้นส่วนที่พบ เช่น แกนหิน (Core) สะเก็ดหิน (Flake) ก้อนวัตถุดิบ โกลนเครื่องมือหิน และเครื่องมือหินชำรุด คณะผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินยุคก่อินประวัติศาสตร์ที่มีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และอาจรวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ 2548 : 104-117)ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
ผลการศึกษา :
เมษายน พ.ศ.2546 มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แหล่งโบราณคดีดอยภูซาง โดยจัดแสดงนิทรรศการและจัดแสดงโบราณวัตถุปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
ผลการศึกษา :
3 พฤษภาคม พ.ศ.2546 จัดพิธีบวชดอยเพื่อให้ชาวบ้านและผู้ร่วมพิธีกล่าวประกาศสัตย์ปฏิญาณที่จะศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาดอยภูซางปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
ผลการศึกษา :
พฤษภาคม พ.ศ.2548 จังหวัดน่านดำเนินการขอขึ้นทะเบียนดอยภูซางเป็นแหล่งมรดกโลก และคณะกรรมการระดับประเทศให้อยู่ในบัญชีรอขึ้นทะเบียนมรดกโลก (ชาตรี เจริญศิริ 2549 : 13-15)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, จตุรพร เทียมทินกฤต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
มีการไถเกรดพื้นที่ปรับเป็นผิวถนนบริเวณริมถนนสายบ้านสะไมย์-บ้านนาผา ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของดอยภูซาง พบโบราณวัตถุจำนวนมาก สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน จึงเข้าดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณดอยภูซางและริมน้ำซาว พบหลักฐานกิจกรรมการผลิตเครื่องมือหินและการใช้เครื่องมือหินจำนวนมาก โดยมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้ บริเวณที่ 1 เนินดินด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของภูซาง ซึ่งเป็นที่ดินเอกสารสิทธิ์ สปก.4-01 ของนายบุญช่วย ธิเสนา สภาพพื้นที่เป็นเนินเขา มีการเพาะปลูกข้าวโพด จากการสำรวจผิวดินพบโกลนเครื่องมือหิน สะเก็ดหิน กำไลหิน ลูกปัดแก้ว แวดินเผา และเศษภาชนะดินเผา ซึ่งมาจากแหล่งเตาบ่อสวกและแหล่งเตาศรีสัชนาลัย และในที่ดินของนายต่วน กาถาชัย ซึ่งเป็นแปลงปลูกต้นสัก สภาพพื้นที่เป็นเนินลาดเทจากด้านทิศเหนือ-ใต้ ติดกับลำน้ำซาว พบการกระจายตัวของโบราณวัตถุอยู่ทั่วไป บริเวณที่ 2 พื้นที่บ้านก้อด ซึ่งเป็นเนินดินขนาดใหญ่ในบริเวณบ้านของนายชื่น อินวุฒิ ซึ่งอยู่บริเวณจุดสูงสุดของเนิน จากการสัมภาษณ์นายชื่น อินวุฒิ (พ.ศ.2548)ได้รับข้อมูลว่าเคยมีการขุดพบภาชนะดินเผาเป็นไหที่มีกระดูกเผาไฟบรรจุอยู่ภายใน จึงได้ขุดค้นในที่ดินของนายชื่น อินวุฒิ และนายส่อง เกิดถานา ซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเทบริเวณไหล่เนิน พบเครื่องมือหินประเภทต่างๆเป็นจำนวนมาก บริเวณที่ 3 บริเวณหลุมขุดค้น N-Hill บริเวณร่องน้ำสันเขาด้านตะวันตกของภูซาง ปรากฏชั้นทับถมของโกลนเครื่องมือหิน สะเก็ดหิน ก้อนวัตถุดิบอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีการนำตัวอย่างถ่านที่พบร่วมชั้นกับเครื่องมือหินไปตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ที่ Beta Analytic Radiocarbon Dating Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการหาค่าคาร์บอน-14 ด้วยวิธี AMS ได้ค่าอายุดังนี้ ตัวอย่างที่ 1 หลุมขุดค้นในแปลงปลูกต้นสักของนายจ๊อย กาถาชัย (Pit 7, Beta 21 1208) ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นเนินลาดเทจากด้านทิศเหนือ-ใต้ ที่ระดับความลึก 170-180 cm.dt. ผลค่าอายุ 810±40 ปีมาแล้ว ตัวอย่างที่ 2 หลุมขุดค้นในแปลงปลูกต้นสักของนายจ๊อย กาถาชัย (Pit 8, Beta 21 1209) ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นเนินลาดเทจากด้านทิศเหนือ-ใต้ ที่ระดับความลึก 200-210 cm.dt. ผลค่าอายุ 3,530±40 ปีมาแล้วชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร, จตุรพร เทียมทินกฤต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : ขุดค้น, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน ขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมจากปี พ.ศ.2548 จำนวน 3 หลุม ในพื้นที่ดอยภูซาง และนำตัวอย่างดินในระดับล่างสุดของหลุมขุดค้นบริเวณข้างถนนสะไมย์-นาผา อำเภอเมือง จ.น่าน ไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence – TL dating) ที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค่าอายุ 3,740±40 ปีมาแล้ว (จตุรพร เทียมทินกฤต 2550)ชื่อผู้ศึกษา : ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องมือหิน, ศึกษาธรณีวิทยา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ ศึกษาแหล่งหินและชนิดของแหล่งผลิตเครื่องมือหินดอยภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เพื่อจัดทำสารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยศึกษาหินโผล่ (outcrop) พื้นที่ที่คาดว่าเป็นแหล่งวัตถุดิบ เพื่อเก็บตัวอย่างหินและนำหินไปเปรียบเทียบกับหินที่พบในแหล่งผลิต ศึกษาเปรียบเทียบคุณลักษณะทางกายภาพของหิน ระหว่างหินในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตและที่เก็บจากโดยรอบ และศึกษาเปรียบเทียบคุณลักษณะด้วยวิธีศิลาวรรณาภายใต้แผ่นหินบาง (Petrography) เพื่อวิเคราะห์ส่วนประกองของแร่ และชนิดของหินที่นำมาผลิตเป็นเครื่องมือหินที่แหล่งโบราณคดีดอยภูซาง จำนวน 34 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่า 1.หินที่นิยมนำมาผลิตเป็นเครื่องมือหินบริเวณดอยภูซาง คือ แอนดีไซต์ (Andesite) รองลงมาเป็นหินโคลนกึ่งหินแปร (Metamorphosed Mudstone) เนื่องจากเป็นหินที่มีความแข็ง ไม่เปราะ เนื้อละเอียด เหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องมือหิน 2.หินพื้นฐานหรือหินรองรับบริเวณพื้นที่ต่างๆ มีดังนี้ - ดอยภูซาง คือ หินแอนดีไซต์ และหินไรโอไรต์ - ดอยปู่แก้ว คือ หินควอตซ์ - เขาชมพู คือ หินไรโอไรต์ทัฟฟ์ และหินไรโอไรต์ - เขาหินแก้ว คือ หินโคลนกึ่งหินแปร 3.บริเวณดอยภูซางและเขาหินแก้ว เป็นแหล่งวัตถุดิบของหินที่นำมาผลิตเครื่องมือหินบริเวณดอยภูซางชื่อผู้ศึกษา : จตุรพร เทียมทินกฤต
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาเครื่องมือหิน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
จตุรพร เทียมทินกฤต จัดทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การศึกษากระบวนการผลิตเครื่องมือหิน กรณีศึกษาหลุมขุดค้น N-Hill ปี พ.ศ.2548 แหล่งโบราณคดีภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน” เพื่อสำเร็จหลักสูตรวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการศึกษาชนิดของหิน รายละเอียดและร่องรอยต่างๆบนเครื่องมือหิน กระบวนการผลิต และศึกษาสถิติเบื้องต้น รวมทั้งสำรวจพื้นที่ พบว่า 1.คนโบราณมีการเลือกพื้นที่สำหรับผลิตเครื่องมือหินในพื้นที่นี้ และน่าจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับผลิตเป็นเครื่องมือหิน มีปริมาณมาก แต่ไม่พบว่าไม่พื้นที่ที่ใช้กะเทาะเครื่องมือหินเป็นประจำ หินที่นำมาผลิตเครื่องมือหินที่พบในหลุม N-Hill คือ Andesite และ Metamudstone ซึ่งเป็นหินที่พบได้ทั่วไปในภูซาง มีคุณสมบัติที่ไม่แข็งเกินไปและไม่เปราะง่าย เมื่อกะเทาะก็สามารถกำหนดรูปทรงได้ 2.จากการขุดค้นหลุม N-Hill พบว่ามีร่องรอยการกะเทาะเครื่องมือหินเป็นจุดๆ และจากการศึกษาชั้นดินธรรมชาติ พบร่องรอยการทิ้งร้างพื้นที่เป็นช่วงๆ จึงสันนิษฐานได้ว่าการใช้พื้นที่เพื่อผลิตเครื่องมือหินในบริเวณนี้คงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม 3.หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในหลุมขุดค้น N-Hill ทำให้สันนิษฐานถึงกระบวนการผลิตเครื่องมือหินได้ว่ามีขั้นตอน 3.1 เลือกสรรวัตถุดิบ โดยมีการตรวจสอบความแข็งและคุณสมบัติต่างๆของหิน หลักฐานที่พบคือก้อนวัตถุดิบที่มีร่องรอยกะเทาะส่วนที่ต้องการออกไป 3.2 การกะเทาะก้อนวัตถุดิบเพื่อให้ได้ส่วนที่ต้องการ หลักฐานที่พบคือ สะเก็ดหินขนาดใหญ่เป็นส่วนๆ ซึ่งเกิดจากการกะเทาะ โดยมีร่องรอยการกะเทาะทั้งสองด้าน (Dorsal และ Ventral) เพื่อให้ได้เครื่องมือรูปทรงตามที่ผู้ผลิตต้องการ นอกจากนี้ยังพบว่าสะเก็ดหินที่เหลือทิ้งจากขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสะเก็ดหินที่กะเทาะออกมาผิดรูป 3.3 การกะเทาะให้ได้รูปทรงที่ต้องการและ/หรือที่กำหนดไว้ หลักฐานที่พบคือ ชิ้นส่วนโกลนเครื่องมือหินที่เหลือทิ้ง (ทำไม่สำเร็จ) รูปแบบที่พบในหลุม N-Hill ส่วนใหญ่เป็นขวานหินแบบไม่มีบ่า 3.4 การกะเทาะตกแต่งรายละเอียดเครื่องมือหิน โดยเฉพาะส่วนคมใช้งาน ก่อนนำเครื่องมือหินที่ได้ไปใช้งานหรือไปขัดผิวอีกครั้ง หลักฐานที่พบคือสะเก็ดหินที่เหลือทิ้งที่มีขนาดเล็ก (เล็กกว่า 5 เซนติเมตร) และขนาดกลาง (5-10 เซนติเมตร) 3.5 การผลิตเป็นเครื่องมือ (Tool) การขุดค้นหลุม N-Hill ไม่พบเครื่องมือหินที่อยู่ในขั้นตอนการขัดผิวหรือตกแต่งอย่างละเอียด แต่พบในหลุมขุดค้นในที่ดินของนายจ๊อย กาถาชัย ซึ่งอยู่ทางทิศตะวักเฉียงเหนือของพื้นที่ศึกษาประมาณ 500 เมตร ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากในขั้นตอนการผลิตเครื่องมือหินอย่างละเอียดนั้น จำเป็นตองใช้เวลาและความประณีต พื้นที่ที่ใช้ใกล้ที่ตั้งชุมชนและแหล่งน้ำ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพื้นที่โดยรอบมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก และมีระยะห่างไม่น่อยกว่า 400 เมตร (ลำน้ำซาว ประมาณ 500 เมตร และลำน้ำสมุน ประมาณ 400 เมตร) ซึ่งในฤดูแล้ง น้ำจะแห้งขอด ในขณะเดียวกัน แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำน่าน แม่น้ำสา ก็มีระยะทางที่ไกลจากแหล่งผลิตมาก (ประมาณ 7 กิโลเมตร และ 14 กิโลเมตร ตามลำดับ) จึงมีความป็นไปได้ว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเพียงพื้นที่ผลิตเครื่องมือหินในขั้นตอนที่ 1-4 เท่านั้น ส่วนการขัดผิว ผู้ผลิตอาจนำเครื่องมือหินไปยังพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า 4.หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องมือหินที่พบในหลุม N-Hill พบเพียงก้อนวัตถุดิบ (Raw Material) สะเก็ดหินที่เหลือทิ้ง (Waste Flake) และโกลนเครื่องมือหิน (ที่ไม่สำเร็จ) เท่านั้น แต่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ในเบื้องต้นว่า ลักษณะของเครื่องมือหินส่วนใหญ่ที่ผลิตบริเวณดอยภูซางคือเครื่องมือหินแบบขวานหินไม่มีบ่าและเครื่องมือสะเก็ดหินจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดีภูซาง หรือดอยภูซาง ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ในอดีต (ประมาณ 700 ถึงกว่า 3,000 ปีมาแล้ว) น่าจะเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือหินในระดับอุตสาหกรรรม เพราะพบหลักฐานที่แสดงถึงกระบวนการผลิตเครื่องมือหินเป็นจำนวนมากและกระจายตัวอยู่หนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง ทั้งก้อนวัตถุดิบ แกนหิน สะเก็ดหินขนาดต่างๆ ค้อน ทั่ง โกลนเครื่องมือหินขัดที่มีการขึ้นรูปแล้ว มีร่องรอยการกะเทาะ การตกแต่งคม และการขัดผิว ลักษณะของเครื่องมือหินที่พบมากเป็นขวานหินขัดแบบไม่มีบ่าและเครื่องมือสะเก็ดหิน (กรมศิลปากร 2548 ; ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ 2550 ; จตุรพร เทียมทินกฤต 2552)
จากการศึกษาชนิดของหินที่นำมาผลิตเป็นเครื่องมือหินที่พบในดอยภูซาง (ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ 2550 ; จตุรพร เทียมทินกฤต 2552) พบว่าส่วนใหญ่ทำมาจากหินแอนดีไซต์ (Andesite) รองลงมาคือหินโคลนกึ่งหินแปร (Metamorphosed Mudstone) คุณสมบัติที่โดดเด่นของหินทั้งสองขนิดนี้คือ เนื้อละเอียดแน่น ค่อนข้างเหนียว มีความแข็งไม่มากไม่น้อยเกินไป สามารถขึ้นรูปได้ง่ายและกำหนดทิศทางของแรงที่ใช้กะเทาะค่อนข้างดี ทำให้ได้รูปแบบที่ต้องการได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองพลังงานมากนัก ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่พบหลักฐานการผลิตเครื่องมือหินบนดอยภูซางเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหินทั้ง 2 ชนิด เป็นหินพื้นฐานของดอยภูซาง (จตุรพร เทียมทินกฤต 2552 : 38) ดอยภูซางจึงเป็นแหล่งวัตถุดิบและพื้นที่ผลิตเครื่องมือหินที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของพื้นที่แถบนั้น โดยอาจเป็นการเข้ามาเพื่อผลิตเครื่องมือหินเป็นช่วงๆตามความเหมาะสม เพราะจากการศึกษาชั้นดินพบร่องรอยการทิ้งร้างอยู่เป็นระยะๆ (จตุรพร เทียมทินกฤต 2552 : 78)
การขุดค้นหลุม N-Hill ที่ไม่พบเครื่องมือหินที่อยู่ในขั้นตอนการขัดผิวหรือตกแต่งอย่างละเอียด และเครื่องมือหินที่เสร็จสมบูรณ์ แต่พบในพื้นที่ที่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร จึงมีความเป็นไปได้ว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเพียงพื้นที่วัตถุดิบและผลิตเครื่องมือหินถึงเพียงขั้นตอนการขึ้นรูปและการตกแต่งรายละเอียดในระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนการขัดผิวและการตกแต่งขั้นละเอียด ผู้ผลิตคงนำเครื่องมือหินไปทำยังพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมมากกว่า (จตุรพร เทียมทินกฤต 2552 : 79-80) อาจเป็นสิ่งที่ชี้เห็นว่ามีการใช้พื้นที่ส่วนต่างๆของดอยภูซางแตกต่างกันตามความเหมาะสม
การที่ไม่พบความแตกต่างของเทคโนโลยีหรือรูปแบบ ทำให้สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ผลิตเครื่องมือหิน น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน (ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ 2550 : 10)
การขุดค้นบริเวณเนินดินด้านทิศเหนือของดอยภูซาง ซึ่งเป็นเนินดินเตี้ยๆ มีลำน้ำซาวไหลผ่านทางทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก พบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทหินโกลน ก้อนหินซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะทำหน้าที่เป็นทั่งและค้อน อีกทั้งพบสะเก็ดหินบริเวณลำน้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผา ลูกปัดแก้ว ลูกล้อดึงฟืม (อุปกรณ์ในการทอผ้า) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีตในพื้นที่นี้ (ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ 2550 : 10-11)
การขุดค้นบริเวณเนินดินหมู่บ้านก้อด ซึ่งเป็นเนินดินที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของดอยภูซาง มีลำน้ำซาวและลำน้ำระวายไหลผ่าน พบหลักฐานทางโบราณคดี คือการฝังกระดูกในภาชนะดินเผาประเภทไหขนาดเล็ก ลักษณะพิธีกรรมเช่นนี้พบในโบราณสถานสุโขทัยในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 (ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ 2550 : 10-11)
กรมศิลปากร. รายงานเบื้องต้นการขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งภูซาง. น่าน : สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน, 2548. [สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน]
จตุรพร เทียมทินกฤต. “แหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือหินในพื้นที่จังหวัดน่าน.” (เอกสารอัดสำเนา), เมษายน 2550. [สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน]
จตุรพร เทียมทินกฤต. “การศึกษากระบวนการผลิตเครื่องมือหิน กรณีศึกษาหลุมขุดค้น N-Hill ปี พ.ศ.2548 แหล่งโบราณคดีภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552. [หอสมุด ม.ศิลปากร วังท่าพระ]
จตุรพร เทียมทินกฤต และสิริพัฒน์ บุญใหญ่. อุตสาหกรมผลิตเครื่องมือหิน แหล่งโบราณคดีภูซาง. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์ Let’s go show, 2549. [หอสมุด ม.ศิลปากร วังท่าพระ]
ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ. “การศึกษาแหล่งหินและชนิดของแหล่งผลิตเครื่องมือหินดอยภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550. [หอสมุด ม.ศิลปากร วังท่าพระ]
ชาตรี เจริญศิริ. น่านยุคก่อนประวัติศาสตร์. น่าน : องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน, 2549. [สำนักงานศิลปากรที่ 7 น่าน]
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. กระบวนการโบราณคดีชุมชน : การวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เพื่อเสริมสร้างความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรมในจังหวัดน่าน : รายงานฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548. [หอสมุด ศมส.]