เพิงผาถ้ำลอด


โพสต์เมื่อ 21 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : ถ้ำลอด

ที่ตั้ง : ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด หมู่บ้านถ้ำลอด ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

ตำบล : ถ้ำลอด

อำเภอ : ปางมะผ้า

จังหวัด : แม่ฮ่องสอน

พิกัด DD : 19.567301 N, 98.279266 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ลาง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอดอยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 77 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวง 1095 (ปางมะผ้า-ปาย) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 138-139 มีทางแยกซ้ายจากอำเภอปางมะผ้าเข้าไปตามทางบ้านถ้ำลอดอีก 9 กิโลเมตร จะพบศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามฟุตบอล

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอปางมะผ้า มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญคือถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นถ้ำที่มีลำน้ำลางไหลผ่านเข้าไปในตัวถ้ำ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งแพเข้าไปในถ้ำได้ ภายในยังแบ่งออกเป็นถ้ำเสาหิน ถ้ำตุ๊กตา ซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม และถ้ำผีแมน ที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีโลงไม้อยู่ภายใน

ส่วนแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ตั้งอยู่นอกถ้ำน้ำลอดแต่ไม่ไกลกันนัก มีป้ายแนะนำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งภายในศูนย์ฯ ปัจจุบันมีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และคณะ ขุดค้นไว้เมื่อปี พ.ศ.2544

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวมีทั้งตะเกียง แพ ห้องน้ำ ที่จอดรถ และเจ้าหน้าที่นำเที่ยวโดยเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง

ถ้ำน้ำลอดเปิดให้บริการท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เพราะไม่มีการติดตั้งไฟในถ้ำเพื่อเป็นการอนุรักษ์

หมายเลขโทรศัพท์ของสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด : 053-617-218

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ถ้ำ/เพิงผา

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเป็นเพิงผาขนาดเล็กของเขาหินปูน ลักษณะเพิงผาเป็นชะโงกผางุ้ม ใต้เพิงผาเป็นพื้นราบแคบๆ มีความกว้างประมาณ 4-5 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ความสูงของเพิงผาประมาณ 30 เมตร

สภาพพื้นเพิงผามีก้อนหินปูนขนาดใหญ่ตกกระจายอยู่ทั่วไปไม่หนาแน่นนัก นอกจากนั้นยังมีโบราณวัตถุต่างๆกระจายตัวอยู่ตามผิวดิน ได้แก่ เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ เศษาภชนะดินเผา  ถัดจากพื้นที่ราบลงไปเป็นพื้นที่เอียงลาดลงไปที่ราบด้านล่าง พื้นเพิงผาสูงกว่าพื้นราบด้านล่างประมาณ 3 เมตร

พื้นที่โดยรอบแหล่งโบราณคดีเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง

ห่างจากแหล่งโบราณคดีถ้ำลอด ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้ประมาณ 800 เมตร แต่อยู่ในภูเขาหินปูนเดียวกัน และห่างจากลำน้ำลางมาทางด้านทิศตะวันตกประมาณ 250 เมตร (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2546ข)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

640 เมตร

ทางน้ำ

ลำน้ำลาง (ราง?)

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะธรณีวิทยาสัณฐานของแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดตั้งอยู่บนธรณีสัณฐานแบบแอ่งยุบเปิด มีรูปร่างเกือบครึ่งวงกลม นอกจากนี้บริเวณเพิงผาดังกล่าวยังเป็นเพิงผาเพียงแห่งเดียวที่มีพื้นที่ราบใต้เพิงผา ลักษณะการเกิดผานี้อาจเกิดจากการเลื่อนหรือยุบตัวของหินปูนในบริเวณนี้ในอดีต โดยก่อนที่จะมีการยุบตัวคาดว่าพื้นที่นี้น่าจะมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำใหญ่ แบ้วยุบตัวจนมีการสะสมตะกอนในแอ่งดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยคลื่นสั่นสะเทือน (Seismic) พบว่าใต้พื้นที่ราบด้านล่างเพิงผา (หรือบริเวณสนามฟุตบอล) มีโพรงถ้ำอยู่มากมาย (ชวลิต ขาวเขียว 2547 : 45-46)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยหินใหม่, สมัยหินกลาง

อายุทางโบราณคดี

22,190 ปีมาแล้ว จนถึงปัจจุบัน

อายุทางวิทยาศาสตร์

AMS : 22190±160 BP, 16750±70 BP, 13640±80 BP, 12100±60 BP ; TL : 9980±120 ปีมาแล้ว

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : Kevin Kierman, John Spies, John Dunkley

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

Kevin Kierman, John Spies และ John Dunkley นักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลีย สำรวจเพืท่อจัดทำฐานข้อมูลถ้ำ และพบว่ามีถ้ำที่เป็นแหล่งโบราณคดีจำนวน 31 แห่ง รวมถึงถ้ำลอด นอกจากนี้ยังทำการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเบื้องต้นด้วย (Kierman et al. 1988 อ้างใน รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2546 ; 2550ก)

ชื่อผู้ศึกษา : บวรเวท รุ่งรุจี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

บวรเวท รุ่งรุจี และคณะนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร ภายใต้โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) ได้สำรวจและบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีที่พบภายแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด และมีการเคลื่อนย้ายโลงไม้จำนวน 1 โลง (2 ฝา) กลับมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ (บวรเวท รุ่งรุจี 2529)

ชื่อผู้ศึกษา : สถาพร ขวัญยืน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สถาพร ขวัญยืน หัวหน้าโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเพิ่มเติม

ชื่อผู้ศึกษา : สุรศักดิ์ อนันต์เวทยานนท์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2530

วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สุรศักดิ์ อนันต์เวทยานนท์ ศึกษาข้อมูลเกี่ยกวับโลงไม้ที่สำรวจพบจากโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) เปรียบเทียบกับโลงไม้ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี โดยเสนอเป็นสารนิพนธ์ตามหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ในหัวข้อ “การศึกษารูปแบบเรือขุดที่พบบริเวณวนอุทยานถ้ำน้ำลอด ตำบลสบป่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน” (สุรศักดิ์ อนันต์เวทยานนท์ 2530)

ชื่อผู้ศึกษา : Peter Garve

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2537, พ.ศ.2538

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาซากพืช

ผลการศึกษา :

Peter Garve ได้เจาะตัวอย่างไม้จากโลงไม้ที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำลอดไปศึกษาเพื่อกำหนดอายุของโลงไม้เหล่านั้น และได้เสนอเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ม.ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (Grave 1995 อ้างใน รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2546 ; 2550ก)

ชื่อผู้ศึกษา : รัศมี ชูทรงเดช

ปีที่ศึกษา : พศ.2541, พ.ศ.2542

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช สำรวจและบันทึกข้อมูลแหล่งโบราณคดีในอำเภอปางมะผ้า ภายใต้โครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี ผศ.ดร.สิทธิพงศ์ ดิลกวณิช เป็นหัวหน้าโครงการ โดยเน้นการสำรวจเฉพาะแหล่งโบราณตดีถ้ำที่มักเป็นแหล่งโบราณคดีประเภทแหล่งประเภทฝังศพในวัฒนธรรมโลงไม้ นอกจากนี้ยังได้สำรวจแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดในเบื้องต้น โดยสำรวจโบราณวัตถุบนผิวดิน (แต่ไม่ดีมีการรายงานอย่างเป็นทางการ)

ชื่อผู้ศึกษา : เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541

วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์ (2541) ศึกษาตำแหน่งและที่ตั้งแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำผีแมนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในบริเวณลุ่มน้ำของ-ลาง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเสนอเป็นสารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อหาความสัมพันธ์ของโลงไม้ รูปแบบ และตำแหน่งที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้

ชื่อผู้ศึกษา : รัศมี ชูทรงเดช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดย ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และคณะ สำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ราบริมน้ำและหุบเขาในพื้นที่อำเภอปางมะผ้า รวมถึงแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด โดยโบราณวัตถุที่สำรวจพบในครั้งนี้ ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ เศษภาชนะดินเผา เป็นต้น หลังจากนั้นจึงทำการขุดค้นในพื้นที่เพิงผาถ้ำลอด 3 พื้นที่ (7 หลุม) พบหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ เครื่องมือหินกะเทาะ เศษภาชนะดินเผา กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และโครงกระดูกมนุษย์ เป็นต้น (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2546 ; 2550ก)

ชื่อผู้ศึกษา : ชวลิต ขาวเขียว

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546

วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชวลิต ขาวเขียว (2546) ศึกษาสภาพธรณีวิทยาของแหล่งโบราณคดีเพื่อวิเคราะห์ถึงกระบวนการก่อตัวของแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด และศึกษาความสัมพันธ์การเลือกใช้พื้นที่ของมนุษย์ในแต่ละช่วงเวลา โดยเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “ธรณีวิทยาทางโบราณคดี : กระบวนการก่อตัวของแหล่งโบราณคดีอพิงผาถ้ำลอด เภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” การศึกษาพบว่าตำแหน่งที่ตั้งของเพิงผาถ้ำลอดค่อนข้างมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆในอดีต เพราะค่อนข้างจะอยู่สูง เพิงผาป้องกันแดดฝนได้ดี ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ คือลำน้ำลาง ด้านกระบวนการก่อตัวของแหล่งโบราณคดีพบว่าชั้นดินที่ปรากฏกิจกรรมของมนุษย์ค่อนข้างหนา แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีชั้นดินที่ไม่ปรากฏกิจกรรมของมนุษย์แทรกสลับอยู่ เช่น ชั้นหินถล่ม ชั้นดินที่เกิดจากน้ำท่วม ในส่วนของการใช้พื้นที่ระยะที่ 1 อยู่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (22,350-12,160 ปีมาแล้ว) พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานแบบสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ มีการใช้เครื่องมือหินเป็นหลัก พบหลักฐาน เช่น เครื่องมือหินและกระดูกสัตว์เป็นจำนวนมาก ระยะที่ 2 ตรงกับสมัยโฮโลซีน (หลังจาก 9,800 ปีมาแล้ว) ซึ่งจากหลักฐานที่พบนั้นจะโดดเด่นในช่วงโฮโลซีนตอนปลาย ที่พบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ทั่วไป ในช่วงนี้จะตรงกับชั้นดินที่ 1 และ 2 ของพื้นที่ขุดค้นทั้ง 3 พื้นที่ ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้พื้นที่ในช่วงนี้ได้ว่า เป็นกิจกรรมของกลุ่มคนในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากช่วงสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย

ชื่อผู้ศึกษา : รัศมี ชูทรงเดช

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

ผลการศึกษา :

โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2 โดย ผศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และคณะ ศึกษา วิเคราะห์ และตีความหลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเพิ่มเติมในเชิงลึก ผลการศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าบริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (ประมาณ 30,000 ปีมาแล้ว) จนถึงสมัยปัจจุบัน หลักฐานที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ที่มีลักษณะดั้งเดิม (Archaic Homo sapiens sapiens) นอกจากนี้ หลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ ยังทำให้เห็นพัฒนาการและการปรับตัวของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในอดีต (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ก ; 2550ข ; นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ 2550)

ชื่อผู้ศึกษา : ฐิติพร ชัยยะเจริญ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2547

วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฐิติพร ชัยยะเจริญ ศึกษากระดูกสัตว์ที่ได้จากเพิงผาถ้ำลอดในหลุมขุดค้น S12W10 Area1 ในระดับสมมติที่ 12-22 เพื่อทราบชนิดของสัตว์และนำไปแปลความถึงสภาพแวดล้อมในอดีต โดยได้เสนอเป็นสารนิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การศึกษากระดูกสัตว์ที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ผลการศึกษาพบว่าสัตว์ที่พบมี 17 ชนิด ได้แก่ สัตว์ในตระกูลวัวป่า เลียงผา กวาง เก้ง หมูป่า เสือไฟ ลิงกัง สัตว์ในลำดับไพรเมท สัตว์ในลำดับสัตว์ฟันแทะ สัตว์ในวงศ์แรด สัตว์ในวงศ์อ้น สัตว์ในวงศ์เม่น สัตว์ในวงศ์เม่น สัตว์ในวงศ์ย่อยลิง สัตว์ในวงศ์ย่อยค่าง นก งู และเต่า จากการแปลความสภาพแวดล้อมในอดีตพบว่า สภาพนิเวศวิทยาในสมัยไพลสโตซีนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ป่าดงดิบหรือป่าไม่ผลัดใบ (ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าหินปูน) และป่าผลัดใบ (ได้แก่ ป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่) ซึ่งสภาพแวดล้อมในอดีตกับปัจจุบันไม่แตกต่างกันมากนัก

ชื่อผู้ศึกษา : อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550

วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี เสนอวิทยานิพันธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ดบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัว และแปลความหมายของหลักฐานทางโบราณคดีประเภทกระดูกสัตว์จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อแปลความหมายของแบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานทางโบราณคดีประเภทกระดูกสัตว์และเปลือกหอย เพื่อทำความเข้าใจการใช้พื้นที่ในกิจกรรมการอยู่อาศัยของกลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดในสมัยไพลสซีนตอนปลาย โดยนำแนวคิดด้านสัตววิทยาโบราณคดี โบราณคดีเชิงพื้นที่ และชาติพันธุ์วรรณาทางโบราณคดีมาประยุกต์ใช้ ผลการศึกษาบ่งชี้ว่ากลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายมีพฤติกรรมการทิ้ง 2 ประเภท คือ การทิ้งขั้นปฐมภูมิ และการทิ้งขั้นทุติยภูมิ ซึ่งทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั่วคราว มีการเข้ามาใช้พื้นที่ซ้ำหลายครั้ง และแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์อาจมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องความสะดวกสบายของการใช้พื้นที่แล้ว แบบแผนการกระจายตัวของหลักฐานประเภทกระดูกสัตว์และเปลือกหอยชี้ให้เห็นว่า คนก่อนประวัติศาสตร์ที่เข้ามาอยู่อาศัยที่เพิงผาถ้ำลอด มีการจัดการพื้นที่เพิงผาโดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 พื้นที่หลัก คือ พื้นที่ครัวเรือน พื้นที่ส่วนรวม และพื้นที่กิจกรรมพิเศษ การจัดการพื้นที่นี้ปรากฏตลอดช่วงระยะเวลาของการเข้ามาใช้พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนดังกล่าวไม่มีการให้ความหมายหรือคุณค่าแก่สัตว์ชนิดใดเป็นพิเศษ

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน, แหล่งผลิต, ที่ทิ้งขยะ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

บริเวณเพิงผาถ้ำลอดมีคนเข้ามาใช้พื้นที่ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนตอนปลายจนถึงโฮโลซีนตอนต้น (ประมาณ 30,000-10,000 ปีมาแล้ว) นอกจากนี้ยังพบหลักฐานของการเข้ามาใช้ประโยชน์ในยุคประวัติศาสตร์และสมัยปัจจุบันร่วมอยู่ด้วย

ตำแหน่งที่ตั้งของเพิงผาถ้ำลอดค่อนข้างมีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ใช้ประกอบกิจกรรมต่างๆในอดีต เพราะค่อนข้างจะอยู่สูง เพิงผาป้องกันแดดฝนได้ดี ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ คือลำน้ำลาง

ด้านกระบวนการก่อตัวของแหล่งโบราณคดีพบว่าชั้นดินที่ปรากฏกิจกรรมของมนุษย์ค่อนข้างหนา แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีชั้นดินที่ไม่ปรากฏกิจกรรมของมนุษย์แทรกสลับอยู่ เช่น ชั้นหินถล่ม ชั้นดินที่เกิดจากน้ำท่วม

บริเวณเพิงผาถ้ำลอดมีคนเข้ามาใช้พื้นที่ตั้งแต่สมัยไพลสโตซีนตอนปลายจนถึงโฮโลซีนตอนต้น (ประมาณ 30,000-10,000 ปีมาแล้ว) นอกจากนี้ยังพบหลักฐานของการเข้ามาใช้ประโยชน์ในสมัยปัจจุบันร่วมอยู่ด้วย สำหรับช่วงก่อนประวัติศาสตร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ คือ

1.สมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (ประมาณ 30,000-10,000 ปีมาแล้ว) พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานแบบสังคมเก็บของป่า-ล่าสัตว์ การเข้ามาใช้พื้นที่สมัยนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ปรากฏหลักฐานค่อนข้างหนาแน่น เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ กระดูกสัตว์ โครงกระดูกมนุษย์ เป็นต้น

2.สมัยโฮโลซีน (ประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว) การเข้ามาใช้พื้นที่ของคนก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ค่อนข้างเบาบางเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนหน้า เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างน้อย หลักฐานที่พบ เช่น เครื่องมือหินกะเทาะ กระดูกสัตว์ เศษภาชนะดินเผา เป็นต้น

ทั้งนี้สามารถสรุปลักษณะทางวัฒนธรรมในอดีตได้เป็นด้านต่างๆ ดังนี้

เทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องใช้

สมัยไพลสโตซีนตอนปลาย การผลิตเครื่องมือในสมัยนี้เป็นการผลิตเครื่องมือหินกะเทาะจากหินกรวดแม่น้ำ (อาจมาจากลำน้ำลาง) ส่วนใหญ่เป็นหินทราย นอกนั้นเป็นหินควอทไซท์ หินโคลน และหินแอนดีไซท์ เทคนิคในการทำเครื่องมือหินเป็นการใช้ค้อนหินกะเทาะโดยตรง (Direct percussion) ลงในบนก้อนหินที่เป็นแกนหิน เพื่อให้เกิดรอยกะเทาะ และมักเป็นการกะเทาะหน้าเดียว ดังนั้นเครื่องมือหินจึงมีรูปร่างไม่แน่นอน (Amorphous) รองลงมาคือเครื่องมือหินกะเทาะสองหน้าแบบสุมาตรลิท (Sumatralith)

ในช่วงเวลาประมาณ 22,000-10,000 ปีมาแล้ว ปรากฏเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือหินแบบใหม่ขึ้นมา คือเครื่องมือหินที่มีการขัดฝนส่วนปลาย (Edge-grinding stone) และเครื่องมือแกนหินเจาะรู (Polished perforated disk) นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการกักตุนวัตถุดิบในการผลิตเครื่องมือหินด้วย (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2545 ; 2550ก) 

สมัยโฮโลซีน ในช่วงสมัยโฮโลซีนตอนปลายคาดว่าเทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือหินกะเทาะน่าจะเลิกผลิตหรือเสื่อมความนิยมไป แต่นิยมใช้เครื่องมือหินที่ใช้เทคโนโลยีการขัดฝน เพื่อทำให้เกิดคมของเครื่องมือที่เรียบและมีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น เช่น เครื่องมือแบบขวานหินขัด (Polished adze) นอกจากนี้ ยังปรากฏการใช้ภาชนะดินเผาด้วย คากว่าน่าจะเป็นการผลิตขึ้นเองในท้องถิ่น ด้วยเตาแบบเปิด (Open-air kiln) ขั้นตอนการควบคุมความร้อนและอุณหภูมิยังทำได้ไม่ดีนัก เป็นการผลิตขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่ค้นพบพื้นที่สำหรับผลิตภาชนะดินเผาในพื้นที่รอบเพิงผาถ้ำลอดหรือในอำเภอปางมะผ้า

เศษภาชนะดินเผาทั้งหมดเป็นเนื้อดิน ลักษณะเนื้อดินส่วนใหญ่เป็นเนื้อดินขนาดปานกลางค่อนไปทางหยาบ ลวดลายที่พบได้แก่ ลายเชือกทาบ ลายขูดขีด เป็นต้น ไม่พบการเปลี่ยนแปลงเทคนิควิธีการผลิตภาชนะดินเผาเลย (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2545 ; 2550ก)

นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งในยุคประวัติศาสตร์จากแหล่งเตาห้วยน้ำหยวก อำเภอขุนยาม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 100-200 ปีที่ผ่านมา   

การดำรงชีวิต

คนที่เข้ามาใช้พื้นที่เพิงผาถ้ำลอดในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ โดยสัตว์ที่นิยมล่ามีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบก เช่น ช้าง แรด กวาง วัวป่า ควายป่า เลียงผา หมี หมูป่า เก้ง เม่น อ้น เป็นต้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ เช่น ลิง ค่าง เป็นต้น สัตว์เลี้อยคลาน เช่น ตะกวด เต่า เป็นต้น และสัตว์น้ำ เช่น ปลา หอย โดยสัตว์ที่เป็นเป้าหมายในการล่ามากที่สุดน่าจะเป็นพวกกวาง

เมื่อล่าสัตว์ได้แล้วก็จะมีการชำแหละซากสัตว์ในพื้นที่ที่ล่าได้ (Killing site) หากการล่าในครั้งนั้นมีจำนวนแรงงานที่สามารถขนย้ายซากสัตว์ได้ทั้งตัว และพื้นที่ล่าสัตว์ไม่ไกลจากแหล่งที่พัก (เพิงผาถ้ำลอด) กลุ่มที่ออกล่าสัตว์ก็จะขนย้ายซากสัตว์กลับมายังที่พักทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ขนาดใหญ่หรือกลาง แต่หากในการล่าครั้งนั้นพื้นที่ล่าสัตว์มีระยะห่างจากที่พักค่อนข้างมาก และจำนวนแรงงานไม่เพียงพอที่จะสามารถขนซากสัตว์กลับมายังที่พักได้ทั้งตัวนั้น กลุ่มล่าสัตว์ก็จะเลือกขนย้ายซากสัตว์เฉพาะส่วนที่ให้โปรตีนและกินง่ายที่สุดคือเนื้อ นั่นคือส่วนแขนขาหรือลำตัว และมักจะทิ้งส่วนหัวไว้บริเวณแหล่งฆ่าสัตว์

เมื่อขนย้ายซากสัตว์กลับมายังที่พักแล้ว กลุ่มล่าสัตว์ก็จะชำแหละซากสัตว์อีกครั้ง เพื่อนำสัตว์ที่ได้เข้าสู่กระบวนการปรุงอาหาร ซึ่งจากหลักฐานการพบชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ที่ถูกเผาไฟ คาดว่าวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการปรุงอาหารคือการย่างหรือการเผาไฟ นอกจากนี้หลักฐานชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และร่องรอยที่เกิดจากการทุบ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนล่าสัตว์มีการทุบกระดูกด้วยเครื่องมือหินเพื่อกินไขกระดูกด้วยเช่นกัน (Lyman 1999) กระกวนการทุบกระดูกเพื่อกินไขกระดูกน่าจะเป็นกระบวนการเดียวกับหรือเกิดขึ้นพร้อมกับการเตรียมกระดูกเพื่อผลิตเครื่องมือกระดูกสัตว์ (ฐิติพร ชัยยะเจริญ และอนุสรณ์ อำพันธ์ศรี 2550) และเมื่อกระบวนการเหล่านี้เสร็จสิ้นแล้ว กลุ่มคนที่ล่าสัตว์ก็จะทิ้งส่วนกระดูกสัตว์ที่เหลือใว้บริเวณผนังเพิงผาหรือโยนทิ้งที่ลาดด้านล่าง ซึ่งซากชิ้นส่วนสัตว์ที่ทิ้งแล้วเหล่านี้เป็นสิ่งดึงดูกสัตว์กินซาก รวมถึงสัตว์ฟันแทะ เช่น เม่น ทำให้ปรากฏร่องรอยของฟันสัตว์เหล่านั้นบนชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ก ; อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี 2550 ; 2553)

สมัยโฮโลซีน เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม บริเวณรอบเพิงผามีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ลดลง ป่าดงดิบที่เคยปรากฏในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายหมดไป เหลือเพียงป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าหินปูน ทุ่งหญ้าโล่งกว้าง และแหล่งน้ำธรรมชาติ กลุ่มคนที่เข้ามาใช้พื้นที่เพิงผาถ้ำลอดยังคงดำรงชีวิตด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ การขนย้ายซากสัตว์ที่ล่าได้กลับมายังที่พัก จะชำแหละและนำกลับมาเฉพาะส่วนแขนขาและบางครั้งก็นำกลับมาทั้งตัว แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ล่าสัตว์มีทั้งที่อยู่ไกลและใกล้จากเพิงผา (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ก ; อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี 2550 ; 2553)

สภาพแวดล้อมโบราณ

จากการศึกษากระดูกสัตว์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด พบว่าในสมัยไพลสโตซีนตอนปลายพบสัตว์หลากหลาย ทั้งสัตว์บกที่เลี้ยงลูกดวยนม เช่น กวาง วัวป่า ควายป่า หมูป่า หมีควาย เลียงผา เก้ง เสือไฟ แรด ช้าง ลิง ค่าง เม่น อ้น เป็นต้น สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เต่า ตะกวด เป็นต้น สัตว์น้ำ เช่น ปลา แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมในพื้นที่นี้น่าจะประกอบไปด้วยป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าหินปูน ทุ่งหญ้าโล่งกว้าง และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ก ; อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี 2550 ; 2553)

สมัยโฮโลซีน กระดูกสัตว์ที่พบยังคงคล้ายคลึงกับสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย ได้แก่ กวาง วัวป่า ควายป่า หมูป่า หมีควาย เลียงผา เก้ง ช้าง ลิง ค่าง เม่น เต่า ปลา และปู ในสมัยนี้ไม่พบสัตว์วงศ์แรดอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าไม่มีแรดอยู่ในพื้นที่ในสมัยดังกล่าวแล้ว ดังนั้นสภาพแวดล้อมในช่วงสมัยนี้น่าจะประกอบไปด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ป่าหินปูน ทุ่งหญ้าโล่งกว้าง และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ลดลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อนหน้าคือสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย เพราะไม่ปรากฏกระดูกสัตว์จากป่าดงดิบอยู่เลย

มนุษย์

ร่องรอยหลักฐานของมนุษย์โบราณที่พบบริเวณเพิงผาถ้ำลอดที่เก่าที่สุด คือโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบันยุคแรกเริ่ม หรือ Archaic Homo sapiens sapiens อย่างน้อย 4 คน โครงที่เก่าที่สุดอายุประมาณ 13,640 ปีมาแล้ว เป็นโครงกระดูกเพศหญิง อายุเมื่อตายประมาณ 25-35 ปี อีกโครงหนึ่งอายุ 12,100 ปีมาแล้ว อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ไม่สามารถระบุเพศได้ โดยขนาดและลักษณะกระดูกขากรรไกรล่างหรือส่วนคาง แสดงลักษณะของความเป็น “ดั้งเดิม” ชัดเจน  (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ข ; นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์ 2550)

โครงกระดูกที่พบจากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดนับว่าเป็นโครงกระดูกมนุษย์ปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในพื้นที่ภาคเหนือของไทย โครงกระดูกเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ดินของเพิงผาโดยไม่มีพิธีรีตองมากนัก มีเพียงก้อนหินขนาดค่อนข้างใหญ่วางทับอยู่บนหลุมฝังศพเท่านั้น 

ความเชื่อ

ความเชื่อที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดคือความเชื่อเกี่ยวกับความตายและประเพณีการฝังศพท่านอนงอตัว และมีการนำก้อนหินวางเหนือหลุมฝังศพ โดยโครงกระดูกโครงที่ 1 ซึ่งมีอายุประมาณ 13,000 ปีมาแล้ว ฝังศพโดยการขุดหลุมและฝังร่างผู้ตายในท่างอตัวและหันหน้าเข้าเพิงผา มีของเซ่นที่พบร่วมกับโครงกระดูกมีเพียงชิ้นส่วนกระดูกสัตว์และก้อนหินกรวดที่อาจจะเป็นฆ้อนหิน ส่วนเหนือหลุมฝังศพก็จะมีการนำก้อนหินกรวดและหินปูนขนาดใหญ่วางทับโดยรอบเสมือนกับเป็นสัญลักษณ์ที่บอกตำแหน่งการฝัง ซึ่งการพิธีกรรมปลงศพในลักษณะนี้เป็นลักษณะที่พบโดยทั่วไปในสมัยปลายยุคน้ำแข็งและต้นยุคน้ำท่วม (Bellwood 1997)

ต่อมาอีกประมาณ 1,000 ปีต่อมา หรือประมาณ 12,000 ปีมาแล้ว (รัศมี ชูทรงเดช 2545ข : 18) พื้นที่เหนือหลุมศพที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดก็ยังคงใช้พื้นที่ฝังศพ ลักษณะการฝังศพแตกต่างออกไปจากสมัยก่อนหน้า คือมีลักษณะการปลงศพโดยการฝังในท่านอนหงายเหยียดยาว ส่วนของเซ่นที่วางไว้ข้างโครงกระดูกคือสะเก็ดหิน ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ และเปลือกหอย 

การกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

การกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยวิธีคาร์บอน-14 จำนวน 12 ตัวอย่าง และวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ จำนวน 7 ตัวอย่าง มีรายละเอียดดังนี้ (รัศมี ชูทรงเดช และคณะ 2550ก ; ชวลิต ขาวเขียว 2546)

1.การกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน-14 จำนวน 12 ตัวอย่าง ที่ห้องปฏิบัติการ Beta Analytic Inc., USA แบ่งเป็นกำหนดด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน 3 ตัวอย่าง และ AMS 9 ตัวอย่าง

2.วิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนส์ จำนวน 7 ตัวอย่าง คือดินในพื้นที่ขุดค้นที่ 2 และ 3 วิเคราะห์โดย Chawalit Khaokhiew and Prof. Dr.Isao Takashima ที่ Research Institute of Material and Resources, Faculty of Engineer and ResearchScience, Akita University, Japan

จากการศึกษาพบว่า

1.โครงกระดกหมายเลข 1 ที่อยู่ลึกลงจากผิวดินปัจจุบัน 50 เซนติเมตร (ระดับสมมติที่ 190-196 cm.dt.) กำหนดอายุได้ 12,100±60 ปีมาแล้ว (BP) (Beta-168223)

2.โครงกระดูกหมายเลข 2 ที่อยู่ลึกลงจากผิวดินปัจจุบัน 80 เซนติเมตร (ระดับสมมติที่ 210-234 cm.dt.) กำหนดอายุได้ 13,640±80 ปีมาแล้ว (BP) (Beta-168224)

3.เปลือกหอยจากชั้นสมมติที่ 21 กำหนดอายุได้ 22,190±160 ปีมาแล้ว (BP) (Beta-17226)

4.เปลือกหอยจากชั้นสมมติที่ 28 กำหนดอายุได้ 16,750±70 ปีมาแล้ว (BP) (Beta-17227)

5.ตะกอนดินรอยต่อระหว่างชั้นทับถมที่ 2 และ 3 พื้นที่ขุดค้นที่ 3 กำหนดอายุได้ 9,980±120 ปีมาแล้ว

ผลการกำหนดค่าอายุทั้งหมด จัดอยู่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย (22,190-10,000 ปีมาแล้ว) และสมัยโฮโลซีนตอนต้น (ประมาณ 9,800 ปีมาแล้ว) แสดงว่ามีการเริ่มใช้พื้นที่ของมนุษย์ในบริเวณพื้นที่นี้มาไม่น้อยไปกว่า 22,000 ปีมาแล้ว

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

ชวลิต ขาวเขียว. “ธรณีวิทยาทางโบราณคดี : กระบวนการก่อตัวทางโบราณคดี แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน.” วิทยานิพันธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2546.

เชิดศักดิ์ ตรีรยาภิวัฒน์. “การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งแหล่งโบราณคดีประเภท “ถ้ำผีแมน” สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ในบริเวณลุ่มน้ำของและลาง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.

ฐิติพร ชัยยะเจริญ. “การศึกษากระดูกสัตว์ที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

ฐิติพร ชัยยะเจริญ และอนุสรณ์ อำพันธ์ศรี. “การทดลองทางโบราณคดีเกี่ยวกับกระดูกสัตว์ครั้งที่ 2 : การทดลองทางโบราณคดีเกี่ยวกับกระดูกสัตว์เพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการผลิตเครื่องมือกระดูกสัตว์ และประสิทธิภาพเครื่องมือกระดูกสัตว์.” ใน รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2, 148-177. รัศมี ชูทรงเดช และคณะ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนบัสนุนการวิจัย, 2550.

นัทธมน ภู่รีพัฒน์พงศ์. “ตามรอยคนโบราณในอำเภอปางมะผ้า : ภาพร่างของชิ้นส่วนที่หายไป.” ใน พลวัตทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน : งานวิจัยบูรณาการโบราณคดีเชิงพื้นที่แบบครบวงจร, 3-29, รัศมี ชูทรงเดช, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง, 2550.

บวรเวท รุ่งรุจี และคณะ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีถ้ำน้ำลอด ตำบลสบป่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ), 2529. (เอกสารอัดสำเนา)

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ ของโครงการสำรวจและจัดระบบฐานข้อมูลถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้านโบราณคดี. เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543.

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 1 ของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544.

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 2 ของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545ก.

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). รายงานความก้าวหน้าครั้งที่ 2 ของโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. เสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2545ข.

รัศมี ชูทรงเดช (บรรณาธิการ). เอกสารประกอบการประชุมเรื่อง คน วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2546ก.

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (เล่มที่ 5 : การขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546ข.

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2 (เล่มที่ 2 : ด้านโบราณคดี). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550ก. 

รัศมี ชูทรงเดช และคณะ. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่ 2 (เล่มที่ 3 : ด้านมานุษยวิทยากายภาพ-โครงกระดูกคน). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2550ข.

วีระศักดิ์ แคล้วคำพุฒ. “โบราณคดีที่เพิงผาถ้ำลอด : วิถีชีวิตของคนสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย-โฮโลซีนตอนปลาย.” ใน เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการเรื่อง คน วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 66-76. รัศมี ชูทรงเดช, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน, 2546.

สุรศักดิ์ อนันต์เวทยานนท์. “การศึกษารูปแบบเรือขุดที่พบบริเวณวนอุทยานถ้ำน้ำลอด ตำบลสบป่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2530. 

อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี. “ระบบการดำรงชีพของคนบนพื้นที่สูง : หลักฐานสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย-โฮโลซีนตอนต้น จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด และเพิงผาบ้านไร่ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน.” ใน พลวัตทางสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน : งานวิจัยบูรณาการโบราณคดีเชิงพื้นที่แบบครบวงจร, 265-287, รัศมี ชูทรงเดช, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะที่สอง, 2550.

อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี.”กินอยู่อย่างคนก่อนประวัติศาสตร์บนพื้นที่สูง : การตีความหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับกระบวนการเข้าถึงทรัพยยากรอาหารของกลุ่มคนล่าสัตว์-เก็บหาอาหารในสมัยก่อนประวัติศาสตร์.” ใน เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 9 เรื่อง ปาก-ท้อง และของกิน : จริยธรรมและการเมืองเรื่องอาหารการกิน, 168-195. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2553.

อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี “การวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัว และแปลความหมายของหลักฐานทางโบราณคดีประเภทกระดูกสัตว์จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2554.

Bellwood, Peter. Prehistory of the Indo-Malaysian archipelago. Sydney : Academic Press, 1985.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง