โพสต์เมื่อ 20 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดถ้ำเขาคีรีบรรพต, วัดภูเขาทอง, วัดถ้ำทอง, ถ้ำนกยูง, วัดคีรีบรรพต
ที่ตั้ง : วัดถ้ำเขาคีรีบรรพต ม.7 บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม
ตำบล : บ้านม่วง
อำเภอ : สังคม
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 18.20427 N, 102.1406 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
จากตัวอำเภอสังคม บริเวณที่ว่าการอำเภอสังคม ให้ใช้ถนนริมโขง (ทางหลวงหมายเลข 211) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าอำเภอปากชม จังหวัดเลย ประมาณ 23 กิโลเมตร จะพบทางขึ้นสู่วัดถ้ำคีรีบรรพตทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนซีเมนต์อีกประมาณ 200 เมตร ถึงวัดถ้ำคีรีบรรพตและแหล่งโบราณคดีภูโล้น หรือสามารถขึ้นสู่ภูโล้นได้ที่บ้านภูเขาทองซอย 2
ปัจจุบันบริเวณภูโล้นเป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเขาคีรีบรรพต ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่แหล่งแร่ให้เป็นวพุทธศาสนสถาน ยังคงมีการอนุรักษ์แหล่งแร่และอุโมงค์เหมืองทองแดงโบราณให้มีสภาพคงเดิม โดยอุโมงค์เหมืองบางแห่งมีการติดตั้งหลอดไฟและทำบันไดสำหรับเดินชม ขณะที่อุโมงค์บางแห่งถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ปลีกวิเวกวิปัสสนา ประดิษฐานพระพุทธรูปรวมถึงรูปเคารพต่างๆ
นอกจากนี้ บ้านภูเขาทองและตำบลบ้านม่วงยังกำลังเร่งพัฒนาภูโล้นเป็นให้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์โบราณคดี และเชิงเกษตร ทั้งจุดชมวิวบนภูโล้น ทุ่งหญ้าบนภูโล้น เหมืองแร่โบราณ หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น
พื้นที่ใกล้เคียงภูโล้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและเชิงนิเวศอีกหลายแห่ง เช่น ทะเลหมอกภูห้วยอีสัน หนองปลาบึก คกอาน น้ำตกธารทิพย์ แก่งก้อนแดง-หาดแห่ ไร่ข้าวโพดบ้านวังมน แก่งพาล แก่งก้อนค้าง น้ำตกท่าลี่ น้ำตกตาดเซา ทุ่งนาบ้านวังมน ภูผาดัก ภูห้วยเซียงดา ร่อนทองคำน้ำตกท่าลี่ ก้อนแท่นบรรทม จุดชมวิวบ้านหนอง จุดชมวิวบ้านม่วง ทุ่งนาบ้านม่วง ก้อนแข่ (ก้อนจระเข้) หาดแสน บ้านภูเขาทอง สะพานฝายบ้านวังมน จุดผ่อนปรนไทย-ลาว (บ้านม่วง)
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมเหมืองแร่โบราณบนภูโล้นได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย 43160
โทรศัพท์ : 042-414-872 โทรสาร : 042-414-871
เว็บไซต์ : www.baanmuang.com
อีเมล : banmuang_bm@hotmail.com, admin@baanmuang.com
วัดถ้ำเขาคีรีบรรพต, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง, กรมศิลปากร
ภูโล้นมีลักษณะเป็นภูเขาหรือเนินเขา ประกอบด้วยเนินเขา 2 ลูก คือ ภูโล้น 1 อยู่ทางทิศเหนือ และภูโล้น 2 อยู่ทางทิศใต้ พื้นที่แหล่งแร่มีความกว้างประมาณ 150-400 เมตร และยาวประมาณ 660 เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 0.2 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 125 ไร่ (กรมทรัพยากรธรณี 2552)
สภาพภูมิประเทศโดยรอบเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน สลับกับพื้นที่ลอนชันและลอนลาด ด้านทิศเหนือและตะวันออกติดต่อกับแม่น้ำโขง มีลำน้ำธรรมชาติสายเล็กๆ ไหลผ่านพื้นที่ลอนหรือพื้นที่ระหว่างภูเขาสูง สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าไม้เต็งรัง เบญจพรรณ พื้นที่เกษตรกรรมทำนา ปลูกพืชไร่และพืชสวน มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่ริมถนนที่ตัดผ่านภูเขาสูงอยู่เป็นระยะ และตั้งเป็นชุมชนหนาแน่นอยู่ในตัวตำบลบ้านม่วง ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูโล้น ริมแม่น้ำโขง
ปัจจุบันภูโล้นเป็นแหล่งแร่เหล็ก ทองแดง และทองคำที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกบริเวณเหมืองภูโล้นว่า ถ้ำนกยูง อาจเนื่องจากผนังของอุโมงค์เหมืองมีสีเขียวของแร่ทองแดง หรือสนิมของทองแดงที่สลายตัวมาจากแร่เดิม (แร่ทองแดงกับเหล็กกำมะถัน) เช่น คาลโคไพไรต์ และบอร์ไนต์ แร่เหล่านี้เมื่อยังไม่สลายตัวจะมีสีวาวเหมือนหางของนกยูง
ภูโล้นในพื้นที่วัดถ้ำเขาคีรีบรรพต มีการปรับสภาพพื้นที่และก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ เช่น ศาลาและกุฏิหลายหลัง แต่ยังคงสภาพส่วนใหญ่ของอุโมงค์เหมืองแร่โบราณไว้ ก้อนหินบนเนินเขาและผนังอุโมงค์ปรากฏสีเขียวและสีน้ำตาลของแร่ธาตุชัดเจนทั่วทั้งเนินเขา อุโมงค์เหมืองมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อุโมงค์ขนาดใหญ่บางแห่งมีการติดตั้งหลอดไฟและบันไดสำหรับเดินชมภายใน อุโมงค์ขนาดเล็กบางแห่งตั้งประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆ บางแห่งดัดแปลงเป็นสถานที่วิปัสสนา
แม่น้ำโขง
จากรายงานของกรมทรัพยากรธรณี (2552) กล่าวถึงลักษณะธรณีวิทยาของภูโล้นว่า หินท้องที่เป็นชั้นหินยุคดีโวเนียน ประกอบด้วย หินดินดานเนื้อปูน หินทรายแป้ง และหินเชิร์ต โดยมีเลนส์หินปูนแทรกอยู่ในชั้นหินเหล่านี้เป็นแห่งๆ ชั้นหินเหล่านี้ถูกปกคลุมด้วยหินภูเขาไฟยุคเพอร์โม-ไทรแอสซิก ประกอบด้วย หินไรโอไลต์ หินทัฟฟ์เนื้อไรโอไลต์ หินแอนดีไซต์ และหินกรวดเหลี่ยมภูเขาไฟ ต่อมาชั้นหินท้องที่ถูกแทรกซอนด้วยหินอัคนียุคไทรแอสซิกทั้งในลักษณะของลําหินอัคนี (Stock) และพนังหิน (Dike) ประกอบด้วย หินไดออไรต์ หินมอนโซไดออไรต์ หินควอตซ์มอนโซไนต์เนื้อดอก หินมอนโซไนต์ และหินแอนดีไซต์เนื้อดอก ผลของการแทรกซอนของหินอัคนีดังกล่าว ทําให้เกิดการแปรสภาพแบบการแทนที่ (Metasomatism) ในบริเวณรอยสัมผัสระหว่างหินท้องที่และหินอัคนีแทรกซอน เกิดหินการ์เนต สการ์น หินอ่อน หินแคลก์ซิลิเกต และหินฮอร์นเฟลส์ โดยมีผลึกแร่คาลโคไพไรต์และแร่ไพไรต์เกิดฝังประในเนื้อหินการ์เนต สการ์น รวมทั้งเกิดเป็นสายแร่เล็กๆ และเป็นสายแร่แบบร่างแห (Stockwork) แทรกในเนื้อหินบริเวณรอยสัมผัสด้วย
นอกจากนี้ยังพบกระเปาะแร่เหล็กชนิดแร่แมกนีไทต์ และสายแร่ควอตซ์-แคลไซต์ แทรกเข้ามาในตอนหลังด้วยแร่ทึบแสงอื่นๆ ที่พบเกิดร่วมกับสายแร่ควอตซ์-แคลไซต์ ได้แก่ แร่แมกนีไทต์ สฟาเลอไรต์ ฮีมาไทต์ มาร์คาไซต์ บอร์ไนต์ โมลิบดีไนต์ และทองคําธรรมชาติ โดยแร่คาลโคไพไรต์และแร่บอร์ไนต์จัดเป็นแร่ทองแดงปฐมภูมิซึ่งต่อมาได้ผุพังเปลี่ยนแปลงเป็นแร่ทองแดงทุติยภูมิ ประกอบด้วย แร่มาลาไคต์เป็นส่วนใหญ่ มีสีเขียว และแร่อะซูไรต์ มีสีฟ้า แทรกอยู่ตามรอยแตกของหินสการ์นและหินท้องที่ในบริเวณรอยสัมผัส สําหรับแร่ทองคํามีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยพบเกิดแทรกอยู่ในผลึกและสายแร่คาลโคไพไรต์ที่แทรกเข้ามาในรอยแตกของแร่ไพไรต์และแร่การ์เนต
จากการวิเคราะห์ตัวอย่างแร่จําพวกซัลไฟด์ ซึ่งประกอบด้วย แร่คาลโคไพไรต์ และแร่ไพไรต์ พบว่ามีส่วนประกอบของธาตุทองแดง ร้อยละ 1.0-1.5 ธาตุทองคํา 0.8-1.2 กรัมต่อตัน และธาตุเงิน 4-5 กรัม ต่อตัน และค่าจะต่ำลงในหินอัคนี และพบว่าเมื่อธาตุหนึ่งสูงขึ้น ธาตุอีกสองตัวที่เหลือจะมีค่าสูงขึ้นด้วย (กรมทรัพยากรธรณี 2552)
ชื่อผู้ศึกษา : Vincent C. Pigott, สุรพล นาถะพินธุ, William Vernon
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527, พ.ศ.2528, พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาโลหะ, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์
ผลการศึกษา :
โครงการโบราณโลหวิทยาในประเทศไทย (Thailand Archaeometallurgy Project) สำรวจรูปร่างและเทคนิคการทำเหมืองแร่ทองแดงโบราณที่ภูโล้น รวมทั้งยังขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีพบพื้นที่ที่มีร่องรอยการเตรียมและแต่งแร่ที่เรียกว่า “ลานเศษภาชนะดินเผา (Pottery Flat)” การกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านที่ได้จากการขุดค้น พบว่ากิจกรรมการทำเหมืองแร่ทองแดงที่ภูโล้นครั้งแรกๆ อาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากชั้นหินปนแร่ที่ทับถมจากการขุดแร่เป็นชั้นหนากว่า 10 เมตร ผู้ศึกษาจึงสันนิษฐานว่าการเริ่มขุดแร่ทองแดงที่แหล่งนี้อาจเริ่มต้นมาก่อนระยะเวลาดังกล่าว โดยอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีการเริ่มใช้สำริดครั้งแรกๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คือเมื่อไม่น้อยกว่าราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และต่อเนื่องมาจนถึงราวครึ่งหลังของสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล William Vernon ศึกษาเศษเบ้าดินเผาที่ได้จากการขุดค้นในบริเวณ “ลานเศษภาชนะดินเผา” ซึ่งอยู่ทางลาดเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูโล้น พบว่าเศษโลหะที่ติดอยู่ด้านในของเศษเบ้านั้นมีทั้งที่เป็นทองแดงธรรมชาติ (native copper) สำริด (tin-bronze) และโลหะดีบุก (tin metal) แสดงให้เห็นว่าการผลิตทองแดงที่ภูโล้นนั้นสัมพันธ์กับการผลิตสำริด และชาวเหมืองภูโล้นนั้นสามารถเข้าถึงหรือได้รับดีบุกมาเพื่อผลิตสำริด (สุรพล นาถะพินธุ 2550)ชื่อผู้ศึกษา : จารุวรรณ ธรรมวัตร, เย็นจิต สุขวาสนะ, สิทธิพร ณ นครพนม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2541
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, อำเภอศรีเชียงใหม่
ผลการศึกษา :
เดือนมีนาคม – มิถุนายน 2541 โครงการสำรวจแหล่งถลุงแร่ทองแดง ดีบุกสมัยโบราณ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (เขตจังหวัดหนองคาย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี) นำโดย นายปลัดสิทธิพร ณ นครพนม ปลัดอาวุโสอำเภอศรีเชียงใหม่ อาจารย์เย็นจิต สุขวาสนะ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และ ผศ.จารุวรรณ ธรรมวัตร แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ข้อสรุปว่าทางตอนเหนือของจังหวัดหนองคายเป็นแหล่งถลุงโลหะสมัยโบราณ มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโลหะ โดยจังหวัดหนองคายพบที่ ภูโล้น อำเภอสังคม ซึ่งเป็นแหล่งทำเหมืองแร่ทองแดง ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อีกแห่งหนึ่งคือบ้านหนองบัว ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ พบว่าเป็นแหล่งถลุงแร่โลหะขนาดใหญ่พอสมควร (กรมทรัพยากรธรณี 2552)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2525
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรขุดค้นแหล่งเหมืองแร่โบราณภูโล้นเป็นครั้งแรกชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2526
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรขุดค้นแหล่งเหมืองแร่โบราณภูโล้นเป็นครั้งที่ 2เหมืองภูโล้นเป็นเหมืองแร่ทองแดงที่อาจจะเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขง จากการสำรวจที่ผ่านมาพบร่องรอยกิจกรรมการทำเหมืองแร่หลายจุดด้วยกัน ทั้งซากเหมืองใต้ดิน ปล่อง อุโมงค์ ลานบดแร่ ปรากฏร่องรอยการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนการขุดแร่ สกัดแร่ ไปจนถึงการถลุงหล่อหลอม นอกจากนี้ยังพบแหล่งที่อยู่อาศัยและหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการทำเหมืองแร่อีกหลายชนิด เช่น เสียมตุ่น หินบดหรือตำแร่ หินติดแร่ที่บดแล้ว เบ้าหลอมโลหะ แม่พิมพ์โลหะ และเศษสำริด เป็นต้น
ภูโล้นมีทั้งแร่เหล็ก ทองคำ และทองแดง แต่โดยทั่วไปจะรู้จักกันดีในลักษณะของแหล่งแร่ทองแดง เนื่องจากมีการทำมาตั้งแต่สมัยโบราณ ลักษณะเหมืองแร่ทองแดงโบราณที่ภูโล้นเป็นการขุดแร่ขึ้นมาถลุงเอาโลหะทองแดง โดยปรากฏอุโมงค์ขุดหาแร่อยู่หลายแห่งที่ขุดเข้าไปตามโซนของแร่ทองแดง บางอุโมงค์มีความกว้างประมาณ 5-7 เมตร และลึกประมาณ 12 เมตร
จากการศึกษาของ Pigott และสุรพล นาถะพินธุ ระหว่าง พ.ศ.2527-2529 (สุรพล นาถะพินธุ 2550 ; Pigott 1985 ; Pigott and Natapintu 1988 ; Natapintu 1988) พบว่ารูปร่างของอุโมงค์จากการขุดแร่มีอยู่ 2 แบบ ชี้ให้เห็นถึงเทคนิคการทำเหมืองอย่างน้อย 2 ระดับ คือ
1. การทำเหมืองรุ่นแรกๆ ใช้เครื่องมือหรือ “พะเนิน” ทำจากหินกรวดแม่น้ำขนาดใหญ่ อุโมงค์จากการทำเหมืองจึงมีลักษณะค่อนข้างกลม ผนังค่อนข้างเรียบ จากการสำรวจและขุดค้นพบหินกรวดขนาดใหญ่ที่มีร่องรอยการใช้งานในลักษณะทุบหรือกระแทกจนแตกกะเทาะที่ปลายทั้ง 2 ข้างเป็นจำนวนมาก โดยพบปะปนอยู่ทั่วไปในชั้นเศษหินจากการทำเหมือง หินกรวดดังกล่าวน่าจะนำมาจากแม่น้ำโขง
2. การทำเหมืองทองแดงในสมัยหลังๆ น่าจะมีการใช้เครื่องมือโลหะ ทำให้อุโมงค์จากการทำเหมืองมีลักษณะแคบ ยาววกวนซอกซอนไปหลายทิศทาง ผนังอุโมงค์มีร่องรอยเป็นเหลี่ยม มีแง่มุม ในอุโมงค์บางแห่งยังมีรอยร่องลึกคล้ายรอยเครื่องมือประเภทสกัดปรากฏอยู่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นรอยเครื่องมือเหล็กที่ใช้ในการขุดแร่
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบพื้นที่ที่มีร่องรอยการเตรียมและแต่งแร่ที่เรียกว่า “ลานเศษภาชนะดินเผา (Pottery Flat)” การกำหนดอายุจากตัวอย่างถ่านที่ได้จากการขุดค้นในพื้นที่นี้ ผนวกกับการศึกษาชั้นดินที่เกิดจากการทับถมของหินและแร่เป็นชั้นหนากว่า 10 เมตรจากกิจกรรมการขุดแร่ ทำให้ผู้ศึกษาแปลความได้ว่ากิจกรรมการทำเหมืองแร่ทองแดงที่ภูโล้นครั้งแรกๆ อาจเกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 2,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่มีการเริ่มใช้สำริดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และต่อเนื่องมาจนถึงราวครึ่งหลังของสหัสวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล (สุรพล นาถะพินธุ 2550)
การขุดค้นที่ภูโล้นยังพบหลักฐานการหล่อสำริดในบริเวณนี้ด้วย คือ เศษเบ้าหลอม/ถลุงโลหะและเศษโลหะสำริด ศ.วิลเลียม เวอร์นอน (William Vernon) หนึ่งในคณะทำงานโครงการโบราณโลหวิทยา ได้ศึกษาเศษเบ้าดินเผาที่ได้จากการขุดค้นในบริเวณ “ลานเศษภาชนะดินเผา” ซึ่งอยู่ทางลาดเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูโล้น พบว่าเศษโลหะที่ติดอยู่ด้านในของเศษเบ้านั้นมีทั้งที่เป็นทองแดงธรรมชาติ (native copper) สำริด (tin-bronze) และโลหะดีบุก (tin metal) แสดงให้เห็นว่าการผลิตทองแดงที่ภูโล้นนั้นสัมพันธ์กับการผลิตสำริด และชาวเหมืองภูโล้นนั้นสามารถเข้าถึงหรือได้รับดีบุกมาเพื่อผลิตสำริด (สุรพล นาถะพินธุ 2550) ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับโลหะดีบุกและการผลิตสำริดด้วย
ข้อสันนิษฐานถึงการทำเหมืองแบบปล่องและอุโมงค์ที่ภูโล้นแทนการทำเหมืองเปิดหน้าดินเป็นเหมืองเปิดแบบเหมืองหาบนั้น มีอยู่หลายแนวความคิดด้วยกัน เช่น ชาวภูโล้นในอดีตยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านชลประทานมากพอสำหรับการการทำเหมืองเปิด การทำเหมืองเปิดหน้าดินเป็นเรื่องใหญ่กว่างานขุดไปทีละน้อยจนเป็นเหมืองใต้ดินดังที่เห็นในปัจจุบัน ชาวภูโล้นในอดีตอาจมีความชำนาญหรือคุ้นเคยกับเทคนิคการทำเหมืองใต้ดินแบบปล่องและอุโมงค์มากกว่า ทั้งนี้เทคโนโลยีการทำเหมืองใต้ดินคล้ายคลึงกับการทำเหมืองของชาวอินเดียหรือตะวันออกกลางเช่นเดียวกับการทำเหมืองดีบุกบนเกาะถลางและตะกั่วป่าเมื่อสมัยโบราณก่อนที่จีนจะเข้ามาทำเหมืองแบบเปิด
กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดหนองคาย. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.
สุรพล นาถะพินธุ. รากเหง้าบรรพชนคนไทย : พัฒนาการทางวัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550.
Natapintu, Surapol. “Current Research on Ancient Copper-Base Metallurgy in Thailand.” in (eds.) Pisit Charoenwongsa and Bennet Bronon. Prehistoric Studies: The Stone and Metal Ages in Thailand. Bangkok : Amarin Printing Group, 1988 : 107-124.
Pigott, Vincent C. “Pre-Industrial Mineral Exploitation and Metal Production in Thailand.” In MASCA Journal 3, 5 (1985): 170-174.
Pigott, Vincent C. and S. Natapintu. “Archaeological Investigations into Prehistoric Copper Production : The Thailand Archaeometallurgy Project 1984-86.” In R. Maddin (ed.). The Beginnings of the Use of Metals and Alloys. Cambridge, Mass : MIT Press, 1988 : 156-162.