เมืองนครพนม


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : มรุกขนคร

ที่ตั้ง : อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

อำเภอ : ธาตุพนม

จังหวัด : นครพนม

พิกัด DD : 16.94241 N, 104.72385 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำก่ำ, ลำน้ำเซบั้งไฟ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เดินทางจากกรุงเทพฯไปทางทิศเหนือตามทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ประมาณ 210 กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2285 ประมาณ 162 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้ทางหลวงหมายเลข 2169 ประมาณ 60 กิโลเมตร เข้าทางหลวงหมายเลข 2074 ประมาณ 7.5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 212 เข้าสู่อำเภอธาตุพนม

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อำเภอธาตุพนม

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่บริเวณที่ลำน้ำใหญ่ 3 สายมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำโขง ลำน้ำก่ำ และลำน้ำเซบั้งไฟ สภาพภูมิศาสตร์เหมาะสำหรับทำการเกษตรกรรม

ทางน้ำ

แม่น้ำโขง, ลำน้ำก่ำ, ลำน้ำเซบั้งไฟ

สภาพธรณีวิทยา

โดยทั่วไปเป็นหินชั้น หรือตะกอนของหินชุด หรือหินตะกอนที่เกิดสะสมตัวในยุคซีโนโซอิค แบ่งเป็นสภาพสันดินริมน้ำเก่าและที่ราบน้ำท่วมถึงกับสภาพลานตะพักลำน้ำ ซึ่งมีสภาพพื้นที่สูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึง วัตถุต้นกำเนิดดินเกิดจากน้ำพัดพามาทับถมทั้งเก่าและใหม่ ลักษณะตะกอนเป็นดินทราย ดินทรายแห้ง ดินร่วนเหนียวปนทรายแป้ง และดินเหนียวทับถมทั่วไป ทางด้านใต้ของจังหวัดบริเวณที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีมีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงสลับกับเนินดินหรือหิน 

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยทวารวดี, สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยล้านช้าง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 12-14

อายุทางตำนาน

พ.ศ.8

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิเศษ เจียจันทร์พงษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2518, พ.ศ.2519, พ.ศ.2520, พ.ศ.2521, พ.ศ.2522

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม

ผลการศึกษา :

อุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม มีเนื้อหาตอนต้นกล่าวถึงระยะเวลาก่อนพระพุทธจ้านิพพาน พระองค์ได้ทำนายเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งพระเทพรัตนโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้สั้นๆในหนังสืออุรังคนิทานของท่านว่า เป็นประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ลาว ซึ่งเมื่อนำบุคคลในตำนานมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับกษัตริย์ลาวแล้วก็รับกัน โดยเนื้อเรื่องจบลงในสมัยพระเจ้าสุริวงศา ทำให้เข้าใจว่าเขียนขึ้นในสมัยนี้ ช่วงพ.ศ.2176-2181 (จ.ศ.995-1000) โดยพระยาศรีไชยชมพูข้าราชสำนักเป็นผู้เรียบเรียง เพื่อเฉลิมฉลองเวลาอันเป็นมงคล คือพิธีราชาภิเษกใน พ.ศ.2181 (จ.ศ.1000) ซึ่งลาวถือว่าเป็น “ปุณณสหัสวุฒิมงคลสังกราช”

ชื่อผู้ศึกษา : สมหมาย เปรมจิตต์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

พบว่ามีชุมชนอยู่โดยรอบพระธาตุพนม เพื่อดูแลองค์พระธาตุพนมมาตั้งแต่อย่างน้อยในพุทธศตวรรษที่ 22-23 แล้ว

ชื่อผู้ศึกษา : มานิต วัลลิโภดม

ปีที่ศึกษา : 2518

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาตำนาน

ผลการศึกษา :

มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ พบหลักฐานชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในพื้นที่บริเวณเมืองนครพนม เป็นหลักฐานสมัยทวารวดี รับกับการศึกษาตำนานอุรังคธาตุที่กล่าวถึงชุมชนต่างๆบริเวณนี้

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, ศาสนสถาน, เส้นทางเดินทัพ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

            บริเวณจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่บริเวณที่ลำน้ำใหญ่ๆ 3 สายมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำโขง ไหลตามทิศเหนือใต้ ผ่านด้านตะวันออกของนครพนม ลำน้ำก่ำไหลมาจากหนองหาร สกลนคร และลำน้ำเซบั้งไฟ มีจุดกำเนิดมาจากเทือกเขาต่อแดนระหว่างลาวและเวียดนามออกสู่แม่น้ำโขง บริเวณนี้จึงมีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์จากหนองหารผ่านอำเภอนาแก อำเภอธาตุพนม ดังปรากฏพัฒนาการของชุมชนโบราณระยะต้นประวัติศาสตร์พุทธศตวรรษที่ 12-13 โดยพบหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดีบริเวณสองฟากของลำน้ำก่ำ ชุมชนบริเวณนี้ปรากฏชื่อในตำนานอุรังคธาตุ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ศรีโคตรบูรณ์” ซึ่งมีขอบเขตตามตำนาน ดังนี้

            “ตั้งแต่ยางสามต้น อันสามขวย (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง) หลวยใส่ภูทอก ตอกใส่ภูเขียว (เขตจังหวัดมุกดาหาร และเขตจังหวัดกาฬสินธุ์) เหลียวใส่ภูผาเม็ด (เขตจังหวัดสกลนคร) เบ็ดใส่วังหลง วงใส่วังแมงก่าเบื้อ (ผีเสิ้อ) ลีเลือใส่อวนตาล พานใส่กวนตอ (อ้อมไปทางฝั่งลาว) งอใส่กวนเหมือด เหลือดใส่กวนพาน สักขยานใส่วังทะฮาน...”

            ดังนั้นตามตำนานอุรังคธาต ศรีโคตรบูรณ์ จึงเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองอยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดหนองคายลงไปจนถึงเขตจังหวัดอุบลราชธานี มีเมืองโคตรบูรณ์เป็นเมืองหลวงระยะแรกอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าคือเมืองขามแท้ อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ใกล้กับลำน้ำเซบั้งไฟ ซึ่งไหลออกแม่น้ำโขงตรงข้ามพระธาตุพนม (คณะกรรมการฯ, 2544 : 49) โบราณสถานที่สำคัญของเมืองนครพนม ได้แก่พระธาตุพนม ตามตำนานอุรังคธาตุ ที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของพระธาตุพนม การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งต่างๆ จากผู้ปกครองชาวลาว ทำให้ทราบถึงประวัติพื้นที่บริเวณเมืองนครพนมด้วยว่า พื้นที่บริเวณเมืองนครพนม เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ทีมีความสำคัญตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์

            กล่าวคือ พระธาตุพนม มีอายุการสร้างตามตำนานอุรังคธาตุตั้งแต่พ.ศ.8 โดยจากหลักฐานที่พบบ่งชี้ว่าส่วนฐานพระธาตุพนมทั้งสองฐานเป็นสิ่งที่มีมาเก่าแก่ที่สุดขององค์พระธาตุ  โดยได้ดัดแปลงจากศาสนสถานในศาสนาฮินดู เป็นพุทธสถานในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 และมีการต่อยอดด้านบนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยได้รับอิทธิพลรูปแบบมาจากพระธาตุหลวงที่นครเวียงจันทน์ หลังจากนั้นมีการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างต่อเนื่องลงมาจนกระทั่งพระธาตุพนมล้มในปี พ.ศ.2518 มีการบูรณะขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2522

            นอกจากนี้ยังพบหลักฐานในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ชุมชนบริเวณเมืองนครพนม และบริเวณโดยรอบ  เช่น ที่บ้านหลักศิลา อยู่ริมแม่น้ำโขงห่างจากพระธาตุพนมขึ้นทางเหนือราว 8 เมตร หลักฐานที่เก่าที่สุดคือเสมาหินทราย ตรงกลางสลักรูปหม้อน้ำในสมัยทวารวดี และจารึกลบเลือนกำกับอยู่ด้านบน และพบใบเสมาที่บ้านโปร่ง บ้านทู้ ห่างจากพระธาตุพนมลงไปทางใต้ ใบเสมาจำนวนหนึ่งมีลวดลายสลักเป็นรูปสถูปเช่นเดียวกับที่พบในลุ่มแม่น้ำมูลชี นอกจากนี้พบพระพุทธบาทที่บริเวณพระธาตุพนม พ้องกับที่กล่าวในตำนานอุรังคธาตุ เรียกว่าพระพุทธบาทเวินปลา อยู่บนโขดหินกลางแม่น้ำโขง จัดเป็นรอยพระบาทสมัยทวารวดี (มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ 2518 : 121)

            หลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติ กล่าวถึงชุมชนบริเวณโดยรอบพระธาตุพนมตรงกับสมัยอยุธยา ว่ามีบ้านร้อยกว่าหลัง มีตลาดซื้อขายทาส ขายควาย พระพิทักษ์เจดีย์เป็นหัวหน้า ขึ้นตรงกับเจ้าเมืองละคร หลวงภูษารัตน์ ปลัดกลางขึ้นกับเจ้าเมืองบางมุก ซึ่งเป็นขุนนางสยามขึ้นตรงต่อมณฑลอุดร หมู่บ้านโดยรอบซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาพระธาตุพนม คือ หมู่บ้านหนองปิง บ้านดงภู บ้านปากคำ บ้านหัวดอน คนที่มีหน้าที่ดูแลรักษาวิหารวัดพระธาตุพนมมีประมาณ 2000 คน ทำกิจวัตรตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม  สมหมาย เปรมจิตต์ 2539) นอกจากหลักฐานชุมชนบริเวณพระธาตุพนมแล้ว โดยรอบพระธาตุพนมยังมีการพบแหล่งเตาขุด หรือเตาอุโมงค์ รูปแบบเป็นเตาทรงประทุนปล่องไฟรูปเหลี่ยมมน กระจายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสงคราม ผ่านบ้านนาทม กิ่งอำเภอนาทม ขึ้นไปจนเกือบถึงปากน้ำห้วยซาง ในเขตอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย ระยะทางรวมกว่า 100 เมตร ภาชนะที่ผลิตโดยมากเป็นภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งผิวสีเทา สีคล้ำ ไม่เคลือบผิว และเคลือบสีน้ำตาล เป็นต้น (คณะกรรมการฯ 2544 : 51)

            ความสำคัญของเมืองนครพนมปรากฏชัดขึ้นอีกเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงของแคว้นศรีโคตรบูรณ์มายังฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ในดินแดนประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นได้เปลี่ยนชื่อเมืองจากเมืองศรีโคตรบูรณ์เป็นเมืองมรุกขนครแล้ว กล่าวคือเดิมที่เข้าใจว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นศรีโคตรบูรณ์ ใน พ.ศ.2281 สมัยพระบรมราชา (เอวก่าน) ได้ย้ายเมืองหลวงเมืองศรีโคตรบูรณ์ที่เดิมตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตรงข้ามพระธาตุพนม ลงมาทางใต้ในบริเวณที่ประดิษฐานพระธาตุศรีโคตรบอง (พระธาตุเมืองเก่า เมืองท่าแขก ส.ป.ป.ลาว) แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมือง มรุกขนคร ซึ่งต่อมาหลังพระบรมราช (เอวก่าน) สิ้นพระชนม์ มีเหตุการณ์วุ่นวาย มีทัพจากนครจำปาศักดิ์นำโดยท้าวกู่แก้ว รวมกับทัพญวนมาตีเมืองมรุกขนครจนแตกพ่ายไป ชาวเมืองมรุกขนคร นำโดยพระนครานุรักษ์ จึงอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งขวาและตั้งมั่นอยู่ที่ดงเซกา บริเวณเขตติดต่อระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดหนองคาย เมืองนครพนมจึงมีบทบาทเป็นที่ตั้งกองทัพโดยเมื่อกองทัพจากนครเวียงจันทน์มาช่วย พระยาเชียงสานำไพร่พลตั้งมั่นอยู่ที่บ้านหนองจันทร์ (เมืองเก่าใต้เมืองนครพนม) ที่บ้านธาตุน้อยศรีบุญเรือง ริมห้วยบังฮวก (อยูในอำเภอธาตุพนม) ครั้งนี้พระยาเชียงสามีชัยชนะปราบปราบพวกญวนล้มตายเป็นจำนวนมาก โดยศพไปลอยติดอยู่ที่ดอนกลางแม่น้ำโขง จึงมีชื่อเรียกเป็นอนุสรณ์ว่าหาดแกวกอง หลังจากนั้นพระนครานุรักษ์ไปต้งเมืองใหม่ใกล้กับนครเวียงจันทน์ ส่วนท้าวกู่แก้วเป็น พระบรมราชา ครองเมืองมรุกขนคร โดยได้ย้ายข้ามมาที่บ้านธาตุน้อย ศรีบุญเรือง ตรงปากห้วยบังฮวก และได้สร้างวัดมรุกขนคร เป็นวัดใหญ่ที่มีความเจริญมากในอดีต (คณะกรรมการฯ 2544 : 53) ตั้งอยู่ที่บ้านดอนนางหงส์ท่า ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม ต่อมาถูกทิ้งร้าง มีการพบซากของวัดอยู่ที่โรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ตรงข้ามกับที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ส่วนฐานของศาสนสถานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ ส่วนวัดในปัจจุบันมีการสร้างพระธาตุทรงสี่เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนมขึ้นในปี พ.ศ.2536 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

            นอกจากแคว้นศรีโคตรบูรณ์แล้ว ในตำนานยังกล่าวถึงแคว้นอื่นๆที่อยู่ในยุคสมัยแรกเริ่มในตำนานในบริเวณนครพนม คือ แคว้นหนองหานหลวง อยู่บริเวณหนองหานสกลนคร อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงฝั่งขวา มีพระธาตุเชิงชุมก่อสวมรอยพระพุทธบาท และพระธาตุนายณ์เจงเวงซึ่งบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้า ถัดออกมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือแคว้นหนองหานน้อย คือบริเวณหนองหานกุมภวาปี ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มตอนเหนือของลำน้ำชี ต่อมาหนองหานหลวงและหนองหานน้อยเกิดน้ำท่วมล่มจม ผู้คนโยกย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณหนองคันแทเสื้อน้ำริมฝังแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดหนองคายและเวียงจันทน์ ต่อมาท้องถิ่นนี้เจริญขึ้นมาเป็นนครเวียงจันทน์และยังอยู่ภายใต้ศรีโคตรบูรณ์ จนมรุกขนครเมืองหลวงของศรีโคตรบูรณ์สลายตัวไป เวียงจันทน์ก็กลายเป็นเมืองสำคัญแทนต่อไป  (ศรีศักร วัลลิโภดม 2518 : 112-113)

            ในพ.ศ.2321 เจ้าเมืองมรุกขนครสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ให้เปลี่ยนนามจากเมืองมรุกขนคร เป็นเมืองนครพนม ในปี พ.ศ.2331

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียบเรียง, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. กรุงเทพฯ : โอ เอส พรินท์ติ้ง, 2534.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนครพนม.  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

มานิต วัลลิโภดม และคนอื่นๆ. พระธาตุพนม ด้วยข้อเขียนและบทความ. กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์,  2518.

สมหมาย เปรมจิตต์. บันทึกการเดินทางในลาว ภาคหนึ่ง พ.ศ.2438. เชียงใหม่ : โครงการผลิตเอกสารส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2539.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี