โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 148 ม.1 บ้านเคียน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง
ตำบล : เทพกระษัตรี
อำเภอ : ถลาง
จังหวัด : ภูเก็ต
พิกัด DD : 8.026898 N, 98.332416 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, คลองบางใหญ่
จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ใช้ถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายลข 402) มุ่งหน้าทิศเหนือ (หรือมุ่งหน้าไปทางสนามบินภูเก็ต) ประมาณ 6.2 กิโลเมตร จะพบวัดพระนางสร้างทางซ้ายมือ
วัดพระนางสร้างเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองวัดหนึ่งของถลางและจังหวัดภูเก็ต เป็นที่เคารพสักการะทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน เวลา 8.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม
นอกจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ภายในวัดแล้ว อุโบสถหลังใหม่ของวัดยังสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง ผสมผสานศิลปะของไทยและจีน ผนังด้านนอกเป็นสีชมพูและฟ้า ส่วนระเบียงคดประดับไปด้วยสัตว์หิมพานต์สีทองสวยงาม เหนือระเบียงคดเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายรอบด้าน โดยมีพญานาค 5 เศียรเลื้อยอยู่บนกลีบบัว ประตูเข้าระเบียงคดด้านหน้าทำเป็นพระพุทธรูปบิณฑบาต เหนือซุ้มประตูมีหน้าบันรูปช้างสามเศียรสีทอง รอบพระอุโบสถมีลานประทักษิณ เสาภายในระเบียงคดแต่ละต้นทำเป็นมังกรสีทองพันเสา นอกจากนี้ ยังมีประติมกรรมทวารบาลรูปยักษ์ถือปืนเฝ้าอยู่ด้านนอกด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรอบอาคารโบราณสถาน โดยเฉพาะรอบอุโบสถ เจดีย์ และหอระฆัง มีการสร้างสิ่งก่อสร้าง พระพุทธรูป และรูปเคารพต่างๆ ทั้งในศาสนาพุทธเถรวาท พุทธมหายาน (มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาสักการะมาก) และศาสนาฮินดู เช่น พระพุทธรูปปางต่างๆ ซุ้มพระประจำวันเกิด เจดีย์แปดเหลี่ยมแบบจีน เจ้าแม่กวนอิม และตัวละครต่างๆในเรื่องรามเกียรติ์ บางส่วนก่อสร้างเสร็จแล้ว ในขณะที่บางส่วนยังก่อสร้างไม่เสร็จเพราะถูกระงับจากทางราชการ เนื่องจากก่อสร้างในเขตโบราณสถานโดยที่ยังไม่ได้ขออนุญาตจากกรมศิลปากร แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการรื้อถอนออก ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อทัศนียภาพภายในวัด ดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและบดบังโบราณสถาน
นอกจากนี้ พื้นที่ประชิดโบราณสถาน ทางวัดยังจัดให้มีการตั้งตลาดนัดและจัดงานต่างๆ มีการผูกขึงเต็นท์ขายของ ซึ่งส่งผลเสียทั้งต่อสภาพภูมิทัศน์และการอนุรักษ์ทางกายภาพของโบราณสถาน
วัดพระนางสร้าง, กรมศิลปากร
วัดพระนางสร้างได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โดยประกาศในราชราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 207 ฉบับพิเศษ วันที่ 1 มีนาคม 2527 และแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7ง วันที่ 22 มกราคม 2542
วัดพระนางสร้างเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมถนนเทพกระษัตรี (ทางหลวงหมายลข 402) บนที่ราบกลางเกาะภูเก็ตที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบัน
อยู่ห่างจากคลองบางใหญ่มาทางทิศตะวันออกประมาณ 180 เมตร ห่างจากทะเลอันดามันบริเวณหาดบางเทา มาทางทิศตะวันออกประมาณ 4.6 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากเขาพระแทวมาทางทิศตะวันตกประมาณ 2.5 กิโลเมตร
คลองบางใหญ่
วัดพระนางสร้างตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างภูเขากลางเกาะภูเก็ต พื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา หินฐานของพื้นที่บริเวณนี้เป็นหินโคลนในกลุ่มหินแก่งกระจาน (CP)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2506
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่าโดยเปลี่ยนส่วนหลังคาเป็นกระเบื้องลูกฟูกแทนหลังคาสังกะสีชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2539
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่าวัดพระนางสร้าง เป็นวัดประจำเมืองถลางที่เก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่ง ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ.2531
ตามประวัติวัดกล่าวว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ.2301 หรือ พ.ศ.2310 ตามตำนานเล่าสืบมาว่า มเหสีของกษัตริย์เมืองใดไม่ปรากฏแน่ชัด ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับมหาดเล็ก จึงถูกสั่งประหารชีวิต ก่อนถึงวันประหาร พระนางได้ขอผ่อนผันไปนมัสการพระบรมธาตุที่ศรีลังกาก่อน เมื่อกลับมาได้แวะที่เกาะถลาง แล้วสร้างวัดขึ้น จากนั้นจึงเดินทางกลับ ทั้งนี้พระนางมีเลือดสีขาว จึงขนานนามว่า “พระนางเลือดขาว” และเรียกนามวัดว่า “วัดพระนางสร้าง” ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “วัดนางสร้าง” หรือ “วัดนาสร้าง” หรือ “วัดนาล่าง” แต่จากลักษณะสถาปัตยกรรมและประติมากรรม นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าวัดพระนางสร้างน่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดพระนางสร้างเคยเป็นที่ตั้งทัพรับข้าศึกคือทัพพม่าในคราวศึกถลางเมื่อ พ.ศ.2328
สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ อุโบสถสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เจดีย์แปดเหลี่ยม สมัยรัตนโกสินทร์ หอระฆัง บ่อน้ำโบราณ และอาคารพิพิธภัณฑ์
อุโบสถหลังเก่า (ปัจจุบันใช้เป็นวิหาร เนื่องจากมีอุโบสถหลังใหม่ตั้งอยู่ทางทิศใต้) เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรง กำแพงหนา ผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ช่องประตูอยู่ที่ด้านหน้า 1 ประตู มีช่องหน้าต่างที่ด้านข้างซึ่งเป็นด้านยาว ด้านละ 3 ช่อง บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ทาสีแดง หลังคาหน้าจั่วชั้นลดที่ด้านข้าง 1 ชั้น มุงกระเบื้องลูกฟูกดินเผา รอบอุโบสถมีเสมาลอยปักอยู่ล้อมรอบ 8 ใบ
ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นสำคัญอยู่ 4 องค์ คือพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ ประดิษฐานอยู่ด้านในสุดของอุโบสถ และพระพุทธรูปปางมารวิชัยสกุลช่างเมืองถลาง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปปางไสยาสน์ โดยองค์ประธานหรือองค์กลางมีพระนามว่า “หลวงพ่อพุทธบารมีศรีถลาง” พุทธลักษณะมีรูปแบบศิลปะอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
นอกจากนี้ ภายในอุโบสถเบื้องหน้าพระประธานยังมีเศียรพระพุทธรูปทรงเครื่อง 3 องค์ ทำจากดีบุก บรรจุอยู่ในครอบพลาสติก ซึ่งเดิมเศียรพระนี้ถูกบรรจุอยู่ในพระอุทรหรือท้องขององค์พระประธาน ชาวบ้านเรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระดีบุก” หรือ “พระสามกษัตริย์” กรมศิลปากรโดยนายสุรศักดิ์ ศรีสำอางค์ ภัณฑารักษ์ ได้ตรวจสอบลักษณะพุทธศิลป์พบว่าพระพักตร์รูปไข่ ลวดลายเทริดเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลายที่นิยมสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2275-2301)
พระอุโบสถได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้งจนถึง พ.ศ.2454 จนถึง พ.ศ.2506 จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยเปลี่ยนส่วนหลังคาเป็นกระเบื้องลูกฟูกแทนหลังคาสังกะสี
พ.ศ.2539 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 12 ภูเก็ต ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลังเก่านี้อีกครั้ง
เจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูน ฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังและเครื่องยอดกลม มีลานประทักษิณล้อมรอบ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นลานประทักษิณแคบ มีระเบียงปูนล้อมรอบ สภาพบางส่วนชำรุดแตกหัก มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนลานประทักษิณชั้นล่างหรือด้านนอกมีระเบียงล้อมอยู่เช่นกัน มีตัวอักษร “ซ่อม ตค 2515” สลักอยู่ที่ระเบียงส่วนนี้ด้วย จากรูปแบบสถาปัตยกรรมทำให้สันนิษฐานได้ว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์
หอระฆัง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถและทางทิศตะวันตกของเจดีย์ เป็นหอระฆังก่ออิฐถือปูนสูง 2 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนที่ด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องลูกฟูกดินเผา ลักษณะสถาปัตยกรรรมโดยรวมมีอิทธิพลศิลปะจีน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์
อาคารพิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมมีอิทธิพลตะวันตกผสมกับจีน ซึ่งพบได้มากในจังหวัดภูเก็ต สันนิษฐานว่าเดิมเป็นกุฏิพระ (เจ้าอาวาส?) ปัจจุบันมีบันไดทางขึ้นทางทิศตะวันออก ชั้นล่างเป็นกุฏิสงฆ์ ส่วนชั้นบนเป็น “พิพิธภัณฑ์วัดพระนางสร้าง” ยังไม่เปิดให้เข้าชม ภายในจัดแสดงพระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา เครื่องถ้วยจีน เครื่องโลหะ และเครื่องจักสานต่างๆ
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดภูเก็ต. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.
บรรเจิด ประทีป ณ ถลาง. ประวัติวัดพระนางสร้าง. ภูเก็ต : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, 2526.