โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : เมืองโบราณบ้านเมืองบัว, กู่เมืองบัว
ที่ตั้ง : ม.6 บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย
ตำบล : เมืองบัว
อำเภอ : เกษตรวิสัย
จังหวัด : ร้อยเอ็ด
พิกัด DD : 15.604321 N, 103.596839 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำเสียวใหญ่
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำเตา
ออกเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (ร้อยเอ็ด-จตุรพักตร์พิมาน-เกษตรวิสัย) เป็นระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร เมื่อเดินทางมาถึงอำเภอเกษตรวิสัย แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 214 (อำเภอเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ) เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา (ไปทางทิศใต้ของอำเภอเกษตรวิสัย) ไปตามทาง ร.พ.ช. (เกษตรวิสัย-สาหร่าย) ประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะมาถึงแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำแหน่งที่ตั้งของหลุมขุดค้นทางโบราณคดีจะอยู่ด้านหลังวัดปทุมคงคาซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน
หลุมขุดค้นทางโบราณคดีดำเนินการปิดหลุมไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย แต่กู่บ้านเมืองบัวและสิมวัดปทุมคงคาสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ในขณะที่ พิพิธภัณฑ์เมืองบัว ตั้งอยู่ ม.6 ถนนเกษตรวิสัย –ท่าตูม ทางหลวงหมายเลข 214) บริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด รับผิดชอบโดยเทศบาลตำบลเมืองบัว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงประเพณีฝังศพของชุมชนโบราณที่บ้านเมืองบัว เปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวัน สามารถติดต่อได้ที่เทศบาลตำบลเมืองบัว โทร. 043-672-004
กรมศิลปากร, กรมธนารักษ์, เทศบาลตำบลเมืองบัว
- เมืองโบราณบ้านเมืองบัว ยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
- กู่เมืองบัว ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนพิเศษ 80ง ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2540 หน้า 4 เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 9 ไร่ 91.43 ตารางวา
แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตั้งอยู่ที่อำเภอเกษตรวิสัย ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลและสำน้ำสาขา ได้แก่ ลำน้ำพลับพลา ลำน้ำเตา ฯลฯ พื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะเป็นที่ราบต่ำบริเวณกว้างอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” ลักษณะของการลาดเทเป็นไปตามแนวระบายของแม่น้ำมูลไปทางทิศตะวันออก ในฤดูฝนจะมีน้ำเอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้าง ลักษณะของแม่น้ำจะไหลวกเวียนไปมาและในบริเวณรอบๆแม่น้ำบางแห่งเป็นกุด (Ow-Bolw lake) บางแห่งเป็นดอนและสันทรายกระจายทั่วไปตามแนวลำเสียวใหญ่ ลำเสียวน้อย ลำเตา และลำพลับพลา แต่มีความกว้างเพียง 1-2 กิโลเมตร ในบริเวณฝั่งแม่น้ำเป็นดินเหนียวและดินทรายมากที่สุด นอกจากนี้ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัยยังมีลักษณะเป็นสันทรายและลูกคลื่นอีกด้วย (ชาคริต สิทธิฤทธิ์ 2545 : 16)
ที่ตั้งของชุมชนโบราณบ้านเมืองบัว ทิศเหนือ ติดต่อกับบ้านหัวดงกำแพง มีลำน้ำเสียวกั้นอาณาเขต ทิศใต้ ติดกับบ้านโพนทอง โพนฮาด และบ้านดงครั่งน้อย เป็นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้มีลำน้ำเตาไหลผ่าน ทิศตะวันออก มีลำน้ำสีกเป็นแนวล้อมรอบ (คูเมืองโบราณ?) ทิศตะวันตก เป็นที่ราบติดกับบ้านดอนกลางและบ้านสำราญ
แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณที่ปรากฏคูน้ำ-คันดินล้อมรอบ รูปร่างค่อนข้างรี กว้างยาวประมาณ 800 x 1,000 เมตร ภายในเป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงประมาณ 7 - 10 เมตร พื้นที่โดยรอบปัจจุบันบริเวณเนินดินทางด้านทิศตะวันตก (บริเวณหลังวัดปทุมคงคา) ถูกไถเกรดปรับให้เสมอกัน ส่วนคูน้ำคันดินปัจจุบันปรากฏชัดเจนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนคูน้ำด้านทิศใต้ ทิศเหนือ ถูกขุดลอกรูปร่างจึงเปลี่ยนไปจากเดิม สำหรับด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ - ทิศตะวันตกเฉียงเหนือไม่ปรากฏรูปร่างของคูน้ำคันดินที่ชัดเจน มีแต่เพียงหนองน้ำ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นร่องรอยของคูน้ำคันดินเดิม หนองน้ำต่างๆ ที่ปรากฏภายในหมู่บ้านหรือชุมชนโบราณ ปัจจุบันมีชื่อเรียกต่างๆ เช่น “เลิงซีก” เป็นคูน้ำโบราณที่มีคันดินอยู่ด้านนอก “เลิงซีก” ทอดยาวจากด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันตื้นเขินมาก เต็มไปด้วยวัชพืช ดอกบัว ชาวบ้านได้ใช้เลิงซีกเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคหาปลา และเลี้ยงสัตว์ ต่อจากเลิงซีก มีหนองสรวง และหนองยาง เป็นหนองน้ำที่มีขนาดใกล้เคียงกันอันเป็นคูน้ำโบราณต่อจากเลิงซีก ส่วนคูน้ำคันดินทางด้านทิศตะวันตกของเมืองโบราณไม่ชัดเจน แต่ก็มีหนองน้ำอยู่เป็นช่วงๆ ซึ่งเดิมอาจจะเป็นแนวคูน้ำโบราณ คือ “หนองบึงคา” ส่วน “กุดป่อง” เป็นหนองน้ำด้านทิศเหนือมีการขุดลอกในปัจจุบัน เป็นแนวคูน้ำโบราณเช่นเดียวกัน และทอดยาวไปต่อกับเลิงซีก นอก จากหนองน้ำที่เป็นแนวคูน้ำโบราณแล้วยังมี “หนองส้มโฮง” ทางด้านทิศตะวันตกของเมือง เป็นหนองน้ำโบราณขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้รับการพัฒนาตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก เพื่อสาธารณประโยชน์ ของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วน “หนองสา” เป็นหนองน้ำอยู่ภายในเมืองโบราณด้านทิศใต้ติดกับกู่เมืองบัว (กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ 2542 : 3 ; สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 95-96 ; สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 10)
ลำเสียว, ลำเตา
แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตั้งอยู่บนชุดดิน สันป่าตอง (Sanpatong series : SP) จัดอยู่ใน coarse-loamy, mixed, Oxic Paleustults (USDA) เกิดจากตะกอนลำน้ำเก่าที่พัดพามาทับถมบนลานตะพักลำน้ำระดับกลาง (middle terrace) สภาพพื้นที่ที่พบจะมีลักษณะค่อนข้างราบเรียบจนถึงลูกคลื่นลอนลาดเล็กน้อย มีความชัน 2-4 % ดินชุดนี้เป็นดินลึกมาก มีการระบายน้ำดี คาดว่ามีความสามารถให้น้ำซึมผ่านได้ปานกลางถึงเร็ว มีการไหลบ่าของน้ำบนผิวดินปานกลาง ตามปกติแล้ว ระดับน้ำใต้ดินจะลึกมากกว่า 2 เมตรในฤดูแล้ง (สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 11)
หินฐานเป็นหินโคลนในหมวดหินภูทอก (Kpt) กลุ่มหินโคราช
ชื่อผู้ศึกษา : พ.ศ.2539
ผลการศึกษา :
ชาวบ้านขุดเปิดหน้าดินบริเวณวัดปทุมคงคา บ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด พบหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ มากมาย เช่น ภาชนะดินเผา กระดูกมนุษย์ เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุต่างๆ ซึ่งโบราณวัตถุเหล่านี้บางส่วนถูกนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด และเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานทางโบราณคดีที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวแห่งนี้ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540, พ.ศ.2541, พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ขุดค้น, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กลุ่มงานวิชาการโบราณคดี สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ได้จัดทำ โครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ การดำเนินงานในครั้งนั้นประกอบด้วย การขุดตรวจสอบชั้นดินทางวัฒนธรรมและการเก็บกู้โบราณวัตถุ ได้แก่ ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก เป็นต้น สำหรับการขุดตรวจสอบชั้นดินทางวัฒนธรรมนั้นได้เลือกพื้นที่บริเวณผนังดินด้านหลังวัดปทุมคงคา ซึ่งเป็นที่ดินของนางสาย ออมอด ที่เป็นผนังดินยาว 40 เมตร สูง 4 เมตร เป็นพื้นที่สำหรับขุดตรวจ กำหนดหลุมขุดค้นมีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ขนานไปในแนวทิศเหนือ-ใต้ (MB’98-99 PK.TP.1) (กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ 2542 : ค,6-8 ; สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 1,28,93,98 ; สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 2,14-15) การขุดตรวจสอบชั้นดินทางวัฒนธรรมในครั้งนี้พบชั้นที่อยู่อาศัยและชั้นของการฝังศพ สามารถลำดับชั้นทางวัฒนธรรม (กำหนดค่าอายุจากการวิเคราะห์ตัวอย่างถ่านด้วยวิธี C-14) ได้ 3 สมัย (สุกัญญา เบาเนิด และ ชินณวุฒิ วิลยาลัย 2553 : 79 ; สุภาวดี อินทรประเสริฐ 2545 : 18) คือ สมัยที่ 1 : 3,000-2,000 ปีมาแล้ว เป็นชั้นที่เกี่ยวกับการฝังศพและชั้นที่อยู่อาศัย, สมัยที่ 2 : 2,000 -1,300 ปีมาแล้ว เป็นชั้นที่เกี่ยวกับการฝังศพ, สมัยที่ 3 : 1,300 -700 ปีมาแล้ว เป็นชั้นที่อยู่อาศัยชื่อผู้ศึกษา : กรวลัย ทองมะโรงสี, ปรียานุช จุมพรม, ภัทราวดี ดีสมโชค, วิรุณี แร่ทอง, ศศธร เจริญพันธ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษาสภาพสังคม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรวลัย ทองมะโรงสี, ปรียานุช จุมพรม, ภัทราวดี ดีสมโชค, วิรุณี แร่ทอง และศศธร เจริญพันธ์ สัมมนาประกอบการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรื่อง “การศึกษาการแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด : กรณีศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาและประเพณีการฝังศพที่พบจากการขุดตรวจหลุม PK.TP.1 และการขุดกู้โบราณวัตถุ” โดยทำการศึกษาทั้งภาชนะดินเผาที่ได้จากการขุดค้นและเก็บกู้โบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ.2541-42 สามารถแบ่งรูปแบบภาชนะดินเผาที่พบเป็นภาชนะดินเผาทรงหม้อ ภาชนะดินเผาทรงไห ภาชนะดินเผาทรงชามขนาดเล็ก ภาชนะที่มีรูบริเวณลำตัวภาชนะ การต้มน้ำหรือหม้อน้ำมีพวย ฝาภาชนะดินเผา เป็นต้น และปรากฏภาชนะบรรจุกระดูกจำนวน 5 แบบด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโบราณวัตถุชิ้นพิเศษ เช่น ขวานหินขัด หินลับ ชิ้นส่วนกำไลหิน และลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน และการศึกษาประเพณีการฝังศพซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ - การฝังศพครั้งแรก (Primary Burial) มีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศใต้ มีการอุทิศสิ่งของให้ผู้ตาย พบขวานหินขัด ๑ ชิ้น ฝังร่วมกันอยู่ด้วย - การบรรจุกระดูกในภาชนะที่มีฝาปิดวางตั้งฉากกับพื้น พบทั้งภาชนะที่มีขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก น่าจะเป็นการขุดหลุมฝัง - การบรรจุกระดูกในภาชนะ นำกระดูกมากกว่า 1 โครงมาฝังร่วมกัน มีสิ่งของที่อุทิศให้ คือ ภาชนะทรงถาด ทรงอ่าง และทรงชามก้นลึก มีการวางภาชนะในลักษณะตะแคง และครอบบนโครงกระดูก โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ และส่วนท้ายของหลุมศพ ไม่มีการอุทิศเครื่องประดับต่างๆ ให้ศพ หันศีรษะไปทางด้านทิศใต้ (พบหลักฐานเฉพาะในหลุมขุดตรวจ)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานีจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ (The research of burial tradition in late prehistoric period of Thung Kula-Ronghai culture) เพื่อศึกษาให้ได้องค์ความรู้มากยิ่งขึ้น และขยายขอบเขตการศึกษาเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าวิจัยในอนาคต โดยเสนอโครงการต่อ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุกัญญา เบาเนิด เผยแพร่เอกสาร “ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานทางโบราณคดี”ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุกัญญา เบาเนิด เผยแพร่บทความ “แคปซูลใส่ศพ” ในนิตยสารศิลปากรชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2544
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ.2544-2546 ) โดยในปีที่ 1 นั้น มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ (เพิ่มเติม) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ และยโสธร โดยมีนางสาวสุกัญญา เบาเนิด นักโบราณคดี จากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 5) โดยจากการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีทั้งสิ้น 408 แหล่ง ในจังหวัดร้อยเอ็ด 190 แหล่ง จังหวัดมหาสารคาม 82 แหล่ง จังหวัดสุรินทร์ 85 แหล่ง จังหวัดศรีสะเกษ 31 แหล่ง และจังหวัดยโสธร 20 แหล่ง (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 38)ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
ผลการศึกษา :
ปีที่ 2 ของ โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ มีเป้าหมายในการดำเนินงานคือ ดำเนินการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกี่ยวกับประเพณีการฝังศพ โดยคัดเลือกจำนวน 2 แหล่ง คือ 1.แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (บริเวณที่พบการฝังศพที่หนาแน่น) 2.แหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด (เพื่อทำการศึกษาเปรียบเทียบ) (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 5-6) การดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีทั้ง 2 พื้นที่ พบหลักฐานที่เกี่ยวกับประเพณีการฝังศพที่ค่อนข้างชัดเจน และเป็นข้อมูลใหม่ชื่อผู้ศึกษา : เวียงคำ ชวนอุดม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
เวียงคำ ชวนอุดม เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี”ชื่อผู้ศึกษา : ชาคริต สิทธิฤทธิ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาสภาพแวดล้อม, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่, ศึกษาธรณีวิทยา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
ชาคริต สิทธิฤทธิ์ ศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นรายงานการศึกษาเฉพาะบุคคลประกอบการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร พ.ศ. 2545 สามารถสรุปได้ว่า ชุมชนโบราณในอำเภอเกษตรวิสัย จำนวน 87 แหล่ง ปรากฏทั้งแหล่งโบราณคดีในสมัยก่อนประวัติศาสตร์, สมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมเขมร และสมัยรัตนโกสินทร์ โดยส่วนใหญ่แล้วมักเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ (ประมาณร้อยละ 70) , ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูง 121 - 160 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (โดยจะมีความหนาแน่นที่ 131-140 เมตร) และจะตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่เกิน 1,000 เมตร (ร้อยละ 60) และเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการทำนา (โดยเฉพาะชุดดินกุลาร้องไห้และชุดดินท่าตูม) โดยเมืองโบราณบ้านเมืองบัวเป็นหนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่ทำการศึกษา จะตั้งอยู่ในลานตะพักลำดับระดับต่ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 130 - 140 เมตรชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษา : แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเงิน ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด”ชื่อผู้ศึกษา : สิทธิชัย พูดดี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สิทธิชัย พูดดี เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว : หลุมขุดค้นที่ 2”ชื่อผู้ศึกษา : สุภาวดี อินทรประเสริฐ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุภาวดี อินทรประเสริฐ เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด”ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 จัดงานประชุมเสนอผลงานวิชาการ “โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้” ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร โดยสุกัญญา เบาเนิด นำเสนอผลการวิจัย “ประเพณีการฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ (ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี)”ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาซากสัตว์, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาเครื่องประดับ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์, ศึกษาตำนาน, ศึกษาสภาพสังคม
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุกัญญา เบาเนิด เผยแพร่ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ ในหนังสือ “โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้”ชื่อผู้ศึกษา : สุกัญญา เบาเนิด
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาซากสัตว์, ศึกษาเครื่องมือเครื่องใช้, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษาความเชื่อ, ศึกษาการปลงศพ, กำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์, ศึกษาตำนาน, ศึกษาสภาพสังคม, ศึกษาเครื่องประดับ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สุกัญญา เบาเนิด และชินณวุฒิ วิลยาลัย เผยแพร่ผลการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ ในหนังสือ “โบราณคดีหลากสาระในดินแดนอีสาน-ล้านนา” ซึ่งมีบทความเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวจากการขุดค้นของกรมศิลปากรที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว (MB’2002 : PK.PIT2,3,4) และแหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง (PT’2002 PIT1) ได้มีการจัดส่งตัวอย่างถ่านไปวิเคราะห์ที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ของแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวจำนวน 35 ตัวอย่าง และแหล่งโบราณคดีบ้านโพนทองจำนวน 4 ตัวอย่าง แล้วนำค่าอายุที่ได้มาจัดลำดับให้สอดคล้องกับชั้นวัฒนธรรมและกลุ่มหลักฐานทางโบราณคดี สรุปได้ดังนี้ (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 120)
สมัยที่ 1 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 4,000 - 2,500 ปีมาแล้ว
เป็นระยะที่พบการอยู่อาศัยและหลักฐานที่เกี่ยวกับพิธีกรรมการฝังศพแบบต่างๆมากมาย โดยพบทั้งการฝังศพครั้งแรกแบบวางนอนหงายเหยียดยาวบนพื้น กับการฝังศพในภาชนะ รายละเอียดดังนี้
1. การฝังศพแบบการวางนอนบนพื้นแบบดั้งเดิม จากการขุดค้นพบทั้งสิ้นจำนวน 3 โครง ลักษณะแบบนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มัดศพบริเวณปลายเท้า มือสอดวางไว้ใต้สะโพก มีการอุทิศภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลมเล็ก ตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดงและขัดมัน วางไว้บริเวณหัวเข่าประมาณ 2-3 ใบ บางโครงพบกระดูกที่มีร่องรอยการตกแต่งวางไว้บริเวณศีรษะด้านซ้ายอีกด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นเครื่องรางหรือเครื่องประดับ?
2. การบรรจุศพทั้งร่างลงในภาชนะดินเผา คือ มีการนำร่างของผู้ตายบรรจุลงในภาชนะดินเผาทั้งโครง โดยพบทั้งศพทารก เด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ มีการมัดศพในท่างอตัว (ยกเว้นทารก) แล้วนำไปบรรจุลงในภาชนะดินเผาทรงกลม มีฝาปิด ปรากฏทั้งวางรวมกันเป็นกลุ่มและวางเดี่ยว ภาชนะทั้งหมดวางในแนวตั้ง ภายในพบของอุทิศต่างๆ เช่น ภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดง จำนวน 1-2 ใบ กระดูกสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ปลา เปลือกหอย เป็นต้น
ภาชนะดินเผาที่ใช้ในการบรรจุศพนั้น มีขนาดแตกต่างกัน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-100 เซนติเมตร สูงประมาณ 25-80 เซนติเมตร เนื้อภาชนะมีสีดำและค่อนข้างแกร่ง ปรากฏทั้งผิวเรียบ และมีการตกแต่งเช่น ลายเชือกทายและขัดมัน นอกจากนี้ภาชนะดินเผาบางใบยังปรากฏการตกแต่งโดยนำเส้นดินมาปั้นแปะลงไปในบริเวณใกล้กับขอบปากอีกด้วย สำหรับฝาปิดนั้น ลักษณะเป็นภาชนะดินเผาทรงอ่าง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 35-110 เซนติเมตร สูงประมาณ 20-60 เซนติเมตร
3. การเก็บกระดูกบรรจุลงในภาชนะ เป็นพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 หมายถึงเมื่อมีผู้เสียชีวิต จะนำร่างไปฝังไว้ระยะหนึ่งเพื่อรอการเปื่อยยุ่ย จากนั้นจะเก็บกระดูกมาบรรจุลงในภาชนะอีกทีหนึ่ง ซึ่งมักจะเลือกเก็บเฉพาะกะโหลก แขน ขา นอกจากนี้ยังปรากฏของอุทิศซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ 2 แบบแรก นั่นคือ ภาชนะทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดงและขัดมัน (ภาชนะฝังศพหมายเลข 109) (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 138)
นอกจากนี้ในชั้นดินทั่วไปปรากฏต่างหูดินเผา (ear plug) ขวานหินขัด และเบ็ดตกปลาที่ทำจากกระดูก เป็นต้น
สมัยที่ 2 สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ถึงสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์ อายุราว 2,500 - 1,000 ปีมาแล้ว
การฝังศพครั้งแรกยังคงมีการสืบเนื่องต่อมาในช่วงต้น ต่อมาช่วงกลางและช่วงปลายของสมัยนี้นิยมการฝังศพลงในภาชนะดินเผา ซึ่งเป็นการฝังศพครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้การฝังศพครั้งแรกในภาชนะดินเผาหมดไป นอกจากยังพบหนาแน่นและมีความหลากหลายในรายละเอียดและรูปแบบของพิธีกรรมและมีความนิยมออกไปนอกขอบเขตของทุ่งกุลาร้องไห้อีกด้วย ในช่วงนี้ปรากฏชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดิน และที่ไม่ปรากฏคูน้ำคันดินเป็นจำนวนมาก บางแหล่งอาจใช้เป็นที่ฝังศพเท่านั้น เริ่มพบการทำนาเกลือสินเธาว์และการถลุงเหล็ก ในช่วงปลายของสมัยนี้ยังคมนิยมการฝังศพในภาชนะดินเผาสืบเนื่องเรื่อยมาและเริ่มมีการรับอิทธิพลจากภายนอกแล้วด้วย กล่าวคือ ชุมชนโบราณที่อยู่โดยรอบเริ่มที่จะรับศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเจนละ ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 เช่น เมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณนครจำปาศรี เป็นต้น
ชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 2 นี้ สามารถแบ่งระยะย่อยออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การฝังศพครั้งแรกในภาชนะดินเผาหมดไป แต่การฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวหรือการนอนบนพื้นแบบดั้งเดิมยังปรากฏอยู่ในระยะต้นๆ กล่าวคือ พบจำนวน 3 โครง เป็นโครงผู้ใหญ่ทั้งหมด หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก มีการมัดศพที่บริเวณข้อเท้า หัวเข่า และนำมือมาประสานกันบริเวณหน้าท้อง มีการอุทิศภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยการเขียนสี โดยนิยมวางไว้บริเวณข้างศีรษะ (โดยพบทั้งด้านซ้ายและขวา) นอกจากนี้ยังพบการฝังซ้อนกัน Burial #7 คือศพเด็กซ้อนอยู่ด้านล่าง)อีกด้วย (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 140)
นอกจากนี้ยังปรากฏการฝังศพครั้งที่สองปรากฏทั้งแบบที่บรรจุลงภาชนะดินเผา และ แบบที่กวาดกระดูกมากองรวมกันบนพื้น ภาชนะที่ใช้บรรจุศพถูกวางในแนวตั้ง รูปทรงของภาชนะบรรจุศพมีหลากหลาย เช่น ภาชนะทรงหม้อก้นกลมคอยาว, ทรงหม้อรูปไข่ก้นมน, ทรงกระบอกก้นมน, ทรงไหก้นแหลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-60 เซนติเมตร สูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร เนื้อภาชนะดินเผาค่อนข้างหนา ตกแต่งด้วยลายปั้นแปะคล้ายลายเกลียวเชือกบริเวณไหล่ภาชนะ บางใบปรากฏการเจาะที่ก้นภาชนะดินเผาอีกด้วย แต่ที่เหมือนกันคือฝาปิดภาชนะบรรจุศพมีลักษณะเป็นภาชนะทรงอ่าง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15-80 เซนติเมตร สูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ตกแต่งด้วยลายปั้นแปะเป็นเกลียวเชือกบริเวณใกล้ขอบปาก สำหรับภาชนะอุทิศยังคงเป็นหม้อก้นกลมขนาดเล็ก ตกแต่งด้วยการเขียนสีด้วยเส้นแนวนอนคั่นลายสามเหลี่ยม
ระยะที่ 2 พบเพียงการฝังศพครั้งที่สองในภาชนะดินเผา การฝังภาชนะบรรจุศพปรากฏทั้งการฝังแบบตั้งและแนวนอน ภาชนะฝังศพที่มีขนาดใหญ่และวางในแนวนอนจะเป็นการฝังรวมกันเป็นกลุ่มๆ ประกอบด้วย ภาชนะฝังศพ 2 ชุด โดยในแต่ละชุดประกอบด้วย ภาชนะบรรจุและฝาปิด รวมถึงภาชนะอื่นๆ เช่น ภาชนะอุทิศ(ที่พบการวางทั้งภายนอกและภายในภาชนะบรรจุศพ) ภาชนะดินเผาทรงอ่างมาปิดที่หัวและท้ายของภาชนะบรรจุศพที่ฝังตามแนวนอน รวมไปถึงการนำเศษภาชนะดินเผาที่ชำรุดแตกหักมาพอกและค้ำยันด้านนอกอีกด้วย กระดูกมนุษย์ที่พบปรากฏร่องรอยของการเผาแห้ง
สำหรับของอุทิศยังคงเป็นภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็ก แต่ลักษณะของการตกแต่งจะแตกต่างจากสมัยแรกๆ คือ ผิวเรียบและเคลือบน้ำดินสีแดงค่อนข้างหนา นอกจากนี้ยังพบเครื่องประดับ เช่น กำไลดินเผาทรงกระบอก อีกด้วย
ระยะที่ 3 พบการฝังศพครั้งที่สองโดยการบรรจุกระดูกมนุษย์ลงในภาชนะดินเผา แต่มีความแตกต่างในรูปทรงของภาชนะบรรจุศพและภาชนะอุทิศ และเริ่มปรากฏรูปแบบภาชนะดินเผาแบบใหม่ นั่นคือ ภาชนะดินเผาทรงกระบอกรูปทรงคล้ายโกศ
ลักษณะของการฝังยังคงเป็นการฝังในแนวนอนและนิยมฝังรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ในแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยภาชนะประมาณ 3-5 ใบ วางต่อกันเป็นเถา มีฝาปิดเป็นภาชนะทรงถาด โดยนำมาปิดที่ปากและก้นของภาชนะบรรจุศพ นอกจากนี้ยังมีการนำเศษภาชนะดินเผาชิ้นใหญ่ๆ มาพอกและค้ำยันบริเวณรอยต่อของภาชนะในแต่ละใบอีกด้วย ในแต่ละกลุ่มจะให้ความสำคัญกับภาชนะดินเผาที่อยู่ตรงกลาง ที่รายล้อมด้วยภาชนะฝังศพขนาดเล็ก สอดคล้อง กับข้อมูลจากการขุดกู้โบราณวัตถุเมื่อ พ.ศ.2541 นอกจากนี้ยังพบภาชนะดินเผาแบบพิเศษ คือ ภาชนะทรงกระบอกก้นมนลำตัวยาว จำนวน 2 ใบ หันส่วนปากมาประกบกัน ลักษณะคล้ายแคปซูลอีกด้วย
สำหรับวัตถุอุทิศ ยังคงพบภาชนะดินเผาทรงหม้อก้นกลมขนาดเล็ก บริเวณคอภาชนะสูงและหยักคล้ายคนโท ก้นบุ๋ม ถ้วยดินเผา ชามดินเผารูปทรงคล้ายหมวก เขียนขอบปากด้วยน้ำดินสีแดงหรือสีน้ำตาล เป็นภาชนะที่มีเนื้อดินสีขาว บางและค่อนข้างแกร่ง และภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังพบกำไลดินเผาอยู่รอบๆภาชนะฝังศพ กำไลสำริด ลูกปัดที่ทำจากหินคาร์เนเลี่ยน เป็นต้น
จากการวิเคราะห์สภาพกระดูก โดย ประพิศ พงษ์มาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกมนุษย์ กรมศิลปากร พบว่า ในชั้นวัฒนธรรมสมัยที่ 2 ของแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัวแห่งนี้ พบการปลงศพด้วยการเผาด้วย สามารถจำแนกย่อยได้ 2 แบบคือ (ประพิศ พงศ์มาศ 2546)
แบบที่ 1 การเผาแห้ง (dry cremation) สามารถสังเกตจากร่องรอยของกระดูกที่แตกในแนวดิ่ง นั่นคือ การเก็บกระดูกของผู้ตายสักระยะหนึ่งจนแห้ง จากนั้นนำโครงกระดูกของผู้ตายมาเผา แล้วนำมาบรรจุลงในภาชนะดินเผาที่เตรียมไว้แล้วนำไปฝังอีกครั้งหนึ่ง การเผาแห้งเช่นนี้ พบในชั้นวัฒนธรรมที่ 2 ระยะที่ 3
แบบที่ 2 การเผาสด (fresh cremation) สามารถสังเกตจากร่องรอยของกระดูกที่แตกในแนวขวาง นั่นคือ การนำศพของผู้ตายมาเผาทันทีเมื่อเสียชีวิต จากนั้นนำไปบรรจุลงในภาชนะดินเผา
สมัยที่ 3 สมัยประวัติศาสตร์ยุคต้น อายุราว 1,000 - 700 ปีมาแล้ว
เมื่อชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรเข้ามาในราวพุทธศตวรรษที่ 15-18 ประเพณีการฝังศพ จึงเปลี่ยนมาเป็นการเผา และเก็บอัฐิบรรจุลงในภาชนะดินเผาขนาดเล็ก เช่น โถเนื้อแกร่ง จากนั้นนำไปฝังไว้ใกล้กับศาสนสถาน
หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด (จากการดำเนินงานในพ.ศ.2541-2542 และ พ.ศ.2545) ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนในโครงการศึกษาวิจัยเรื่องประเพณีการฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ (สุกัญญา เบาเนิด 2553 : 133-150)
กรมศิลปากร. “บ้านเมืองบัว.” “กู่เมืองบัว.” และ “วัดประทุมคงคา.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์), มปป. เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
กรวลัย ทองมะโรงสี และคณะ. “การศึกษาการแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด : กรณีศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาและประเพณีการฝังศพที่พบจากการขุดตรวจหลุม PK.TP.1 และการขุดกู้โบราณวัตถุ.” เอกสารประกอบการสัมมนาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2542.
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
ชาคริต สิทธิฤทธิ์. “การศึกษาการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษาแหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.
ประพิศ พงษ์มาศ. “การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์จากแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว และแหล่งโบราณคดีบ้านโพนทอง ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.
พิทักษ์ สุขพิพัฒนามงคล. “ภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ กรณีศึกษา : แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเงิน ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.
เวียงคำ ชวนอุดม. “การศึกษาแบบแผนการฝังศพในภาชนะดินเผาในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี.” วิทยานิพนธ์
ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย ม.ศิลปากร, 2545.
สิทธิชัย พูดดี. “การวิเคราะห์กระดูกสัตว์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว : หลุมขุดค้นที่ 2.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต(โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.
สุกัญญา เบาเนิด. ความตาย/ความเชื่อ/พิธีกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี, 2543.
สุกัญญา เบาเนิด. “แคปซูลใส่ศพ.” ศิลปากร. 13, 3 (มีนาคม 2543) : 14-18.
สุกัญญา เบาเนิด, กิตติพงษ์ สนเล็ก และจักรินรัฐ นิยมค้า. รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เล่ม 1-2. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2544.
สุกัญญา เบาเนิด. “ประเพณีการฝังศพของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ (ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี).” เอกสารประกอบการประชุมเสนอผลงานวิชาการ โครงการวิจัยการศึกษา ประเพณีการฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายของวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้. วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2546 ณ ห้องประชุม สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร.
สุกัญญา เบาเนิด. โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี กรมศิลปากร, 2553.
สุกัญญา เบาเนิด และชินณวุฒิ วิลยาลัย. โบราณคดีหลากสาระในดินแดนอีสาน-ล้านนา. อุบลราชธานี : สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชานี กรมศิลปากร, 2553.
สุภาวดี อินทรประเสริฐ. “การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาแหล่งโบราณคดีบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร, 2545.