โพสต์เมื่อ 8 ต.ค. 2021
ที่ตั้ง : ถ.สรรพสิทธิ์ เทศบาลนครอุบลราชธานี
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : อุบลราชธานี
พิกัด DD : 15.236751 N, 104.859907 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล
วัดแจ้งตั้งอยู่ในตัวจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ริมถนนสรรพสิทธิ์ ตัดกับซอยสรรพสิทธิ์ 2 และถนนนครบาล ใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี
สิมวัดแจ้งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรจนมีสภาพมั่นคงแข็งแรง ประวัติวัดและประวัติการก่อสร้างเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับเมืองอุบลราชธานี ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม ทั้งนี้ทางวัดไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในสิม
วัดแจ้ง
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบสถ์เก่าวัดแจ้งในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 97 ตอนที่ 163 วันที่21 ตุลาคม 2523 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังขึ้นทะเบียนโบสถ์หรือสิมวัดแจ้งเป็นโบราณสถานที่ควรอนุรักษ์ในปี 2527
วัดแจ้งเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นเมืองอุบลราชธานีในอดีต สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมแม่น้ำมูล เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา ปัจจุบันวัดอยู่ห่างจากแม่น้ำมูลมาทางทิศเหนือประมาณ 1.3 กิโลเมตร
แม่น้ำมูล
ที่ราบริมแม่น้ำมูลที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2546
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรบูรณะสิมวัดแจ้งชื่อผู้ศึกษา : พรรณธิพา สุวรรณี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พรรณธิพา สุวรรณี เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี” วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อศึกษารูปแบบและเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของสิมพื้นบ้าน ศึกษาความสัมพันธ์ด้านศิลปกรรม ศึกษาคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงของสิมพื้นบ้านวัดแจ้งเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2418 (บางเล่มระบุว่าสร้าง พ.ศ.2431) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2436 สร้างโดยเข้าราชบุตร (หนูดำ) หนึ่งในอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ในการสร้างสิมวัดแจ้งตามพระใบฎีกาทา กมโล ได้บันทึกว่า “ภายหลังการสร้างพระประธานแล้วจึงสร้างสิม ในราว พ.ศ.2455 โดยมีผู้อำนวยการสร้างสิม คือ ญาท่านเพ็ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของญาท่านหอ ณ วัดหลวง”
โบราณสถานสำคัญภายในวัด คือ อุโบสถหรือสิมเก่าที่ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด
ลักษณะโดยทั่วไปของสิมวัดแจ้งเป็นสิมทึบ ก่ออิฐถือปูน ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขโถงด้านหน้า มีบันไดทางขึ้นสู่มุขและสิมที่บันไดด้านหน้าตรงกลาง ซึ่งเป็นทางขึ้นเพียงด้านเดียว ราวบันไดตกแต่งเป็นรูปจระเข้ ซึ่งเป็นรูปแบบนิยมของศิลปะลาว มีเสาหน้า 4 ต้นรองรับน้ำหนักหลังคามุขโถงด้านหน้า ระหว่างเสามีการทำพนักในส่วนของมุขหน้า
ฐานสิมมีลักษณะเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 2 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวคว่ำ เส้นลวด ท้องไม้ โดยส่วนของท้องไม้มีการคาดลูกแก้วอกไก่และมีเส้นลวดขนาบส่วนบนและส่วนล่างของอกไก่ ถัดขึ้นไปจากท้องไม้เป็นเส้นลวด บัวหงาย บัวคว่ำขนาดเล็ก ต่อเนื่องด้วยเส้นลวดซ้อนกัน 3 ชั้น รองรับส่วนผนังของสิม ลวดบัวทั้งหมดมีปลายสะบัดงอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะลาว เรียกว่า “ฐานเอวขัน” แต่ฐานที่สะบัดงอนของสิมวัดแจ้งไม่อ่อนช้อยและงอนมากดังเช่นศิลปะลาว แสดงให้เห็นความเป็นพื้นถิ่น (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33)
ผนังสิมด้านข้างทั้ง 2 ข้าง (ด้านทิศเหนือและใต้) มีช่องหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง หน้าต่างเป็นหน้าต่างไม้ ตกแต่งกรอบด้วยไม้สลักรูปรวงผึ้งและส่วนล่างเป็นลายลูกกรง ประดับกระจกสี ผนังด้านหลังก่อทึบทั้งหมด ผนังด้านหน้าเป็นทางเข้าเจาะเป็นช่องประตูตรงกลาง 1 ช่อง ประตูเป็นประตูไม้ ไม่มีลวดลาย
จากลักษณะของหน้าต่างที่ตกแต่งด้วยกรอบหน้านางและหย่องลูกกรงคล้ายกับรูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33)
หลังคาเป็นทรงจั่วสูง มีหลังคาปีกนกขนาบข้างทั้ง 2 ข้าง แต่เดิมหลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องแผ่นไม้) ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องเกล็ดปลา ลักษณะหลังคาทรงจั่วเป็นรูปแบบของอุโบสถที่ได้รับอิทธิพลจากภาคกลางและรัตนโกสินทร์
แป้นลมหรือป้านลม มีลักษณะเป็นแผ่นไม้เรียบตรงทอดตัวยาวตามแนวหลังคาจั่ว เรียกว่า “ตัวรวย” และมีการประดับด้วยใบระกา การทำแป้นลมแบบตัวรวยเป็นรูปแบบนิยมของสิมศิลปะลาว แต่ศิลปะลาวนิยมประดับด้วยวันแล่น ไม่ใช่การประดับใบระกา ซึ่งการประดับใบระกาเป็นรูปแบบนิยมของศิลปะในภาคกลาง (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33)
โหง่หรือช่อฟ้า เป็นปูนปั้นรูปพญานาคมีปีก ส่วนหัวของพญานาคมีการสลักครีบ ลักษณะปลายงอน ส่วนปลายโหง่มีการทำปลายหยักคดโค้ง ซึ่งลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะพื้นบ้านของสิมอีสาน (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33) และมีการแสดงรายละเอียดอย่างชัดเจน
คันดกหรือหางหงส์ เป็นไม้สลักรูปพญานาคมีปีก ส่วนหัวมีการสลักครีบ ลักษณะปลายงอน ส่วนปลายของโหง่มีการทำปลายหยักคดโค้ง เป็นลักษณะพื้นบ้าน
สีหน้าหรือหน้าบันเป็นลวดลายสลักไม้ หน้าบันหลักส่วนบนของสิมหลังนี้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (เป็นรูปแบบนิยมของภาคกลาง) แต่พระอินทร์หักหายไป ขนาบข้างด้วยสิงห์ ส่วนล่างตกแต่งด้วยลายพระอาทิตย์ 3 ดวง (เป็นรูปแบบนิยมของศิลปะลาว) ส่วนของแผ่นหน้าบันด้านข้าง 2 ข้าง ตกแต่งเป็นลายพันธุ์พฤกษา กรอบหน้าบันมีการประดับด้วยลายใบไม้
บัวหัวเสาบริเวณมุขด้านหน้ามีเสาไม้สี่เหลี่ยมรองรับโครงสร้างหลังคาจำนวน 4 ต้น เสาคู่กลางสูงกว่าเสาคู่ข้าง เสาทุกต้นประดับด้วยบัวหัวเสาที่นำไม้สลักเป็นกลีบบัวมาแปะติด ลักษณะกลีบบัวแหลมยาวสูงคล้ายบัวแวงในศิลปะรัตนโกสินทร์ (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33)
ฮังผึ้งหรือรวงผึ้งหรือโก่งคิ้ว เป็นแบบ 3 ช่องเสา เป็นการประกอบแผ่นไม้ 2 ส่วน คือแผ่นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านบนและส่วนของฮังผึ้ง ฮังผึ้งในช่วงเสาคู่กลางด้านบนตกแต่งด้วยลายดอกบัว ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปกรรมพื้นบ้านที่มีความเรียบง่าย ฮังผึ้งด้านล่างสลักเป็นลายแผ่นไม้ปลายแหลมห้อยย้อยลงมาด้านล่าง รกอบประดับด้วยลายใบไม้และลายเม็ดประคำ ฮังผึ้งในช่วงเสาด้านข้างด้านบนแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนตกแต่งด้วยลายดอกไม้ 4 กลีบ ชั้นล่างตกแต่งด้วยลายดอกกลม ส่วนของฮังผึ้งมีลักษณะเช่นเดียวกับช่วงคู่กลาง
แขนนางหรือคันทวย ประดับผนังด้านละ 5 ตัว เป็นไม้สลักรูปพญานาคมีปีก ลักษณะม้วนงอคดโค้ง เศียรพญานาคอยู่ด้านล่าง หันหน้าออก หางอยู่ด้านบนม้วนสะบัดออกมาด้านหน้าและสลักลายกนก บนลำตัวพญานาคมีการสลักรูปเกล็ดตามลำตัว มีเต้ารับด้านล่าง การสร้างคันทวยรูปนาคเป็นเอกลักษณ์ของสิมศิลปะลาวและสิมอีสาน (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 21-33)
รูปแบบการตกแต่งภายนอกสิมด้วยพญานาค เช่นที่โหง่ (ช่อฟ้า) คันดก (หางหงส์) คันทวย และราวบันได เป็นต้น เป็นรูปแบบที่นิยมในศิลปะลาว เนื่องจากมีความเชื่อว่านาคเป็นสัตว์ช่วยปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนา
ภายในสิมมีฐานชุกชีขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อติดกับผนังด้านหลัง ลักษณะเป็นฐานบัวซ้อนกัน 2 ฐาน ผนังไม่มีภาพจิตรกรรม
ที่ด้านทิศใต้ (ด้านข้าง) และตะวันตก (ด้านหลัง) ของสิม มีเสมาหินทรายปักโผล่พ้นพื้นขึ้นมาเพียงปลายด้านบน โดยที่ด้านทิศใต้มี 1 ใบ (ตรงกลางด้าน) และด้านตะวันตกมี 2 ใบ สันนิษฐานว่าพื้นด้านนอกสิมมีการถมสูงจนกลบเสมาเดิมเกือบทั้งหมด เหลือเพียงส่วนปลายใบดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
พรรณธิพา สุวรรณี. “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.