โพสต์เมื่อ 4 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : โคกนายใหญ่
ที่ตั้ง : ม.2 บ้านระหนอง ต.คูบัว อ.เมืองราชบุรี
ตำบล : คูบัว
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ราชบุรี
พิกัด DD : 13.494033 N, 99.827242 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง
เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำอ้อม, ห้วยคูบัว, ห้วยชินสีห์
โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกคูเมืองของเมืองโบราณคูบัว โดยอยู่ห่างจากคูเมืองประมาณ 200เมตร ริมห้วยคูบัว เยื้องกับสถานีรถไฟบ้านคูบัว (อยู่ห่างจากสถานีรถไฟบ้านคูบัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 150 เมตร)
โบราณสถานหมายเลข 1 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ค่อนข้างดี อีกทั้งยังเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านในแถบนั้น จึงสามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวเมืองโบราณคูบัวได้มากกว่าปัจจุบัน
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ 87ง วันที่ 10 กันยายน 2544
โบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกคูเมืองของเมืองโบราณคูบัว (ห่างจากมุมคูเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 200 เมตร) และตั้งอยู่ริมห้วยคูบัว เยื้องหน้าสถานีรถไฟบ้านคูบัว
ก่อนการขุดแต่งในปี พ.ศ.2504 แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานก่ออิฐที่มีดินปกคลุมอยู่ด้านบน สูงประมาณ 3 เมตร กว้างด้านละ 9 เมตร
ปัจจุบันโบราณสถานได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งจัดภูมิทัศน์รอบโบราณสถานให้มีความเป็นระเบียบและสวยงาม
ห้วยคูบัว
ชื่อผู้ศึกษา : สมศักดิ์ รัตนกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2504
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สมศักดิ์ รัตนกุล ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 เมืองคูบัว ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2504ปัจจุบันโบราณสถานหมายเลข 1 เมืองคูบัว หลงเหลือเฉพาะส่วนฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ฐานยาวด้านละ 6 เมตร ความสูงในปัจจุบันประมาณ 2 เมตร ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข 44 คือฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 6 เมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ แต่ที่แตกต่างจากโบราณสถานหมายเลข 44 คือโบราณสถานหมายเลข 1 มีการย่อมุมเพิ่มขึ้นมากกว่า และช่องสี่เหลี่ยมรอบฐาน (บริเวณท้องไม้) แบ่งออกเป็น 2ชั้น ไม่พบการประดับรูปประติมากรรมภายในช่องดังกล่าว เหนือขึ้นเป็นส่วนขององค์เจดีย์ที่ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 112) ให้ความเห็นว่าการทำฐานยกเก็จหรือยกกระเปาะ ทำให้ผนังอาคารเกิดเป็นช่อง เกิดความสวยงาม และคงมีวัตถุประสงค์เพื่อการประดับงานประติมากรรมด้วย เจดีย์ที่มีการยกเก็จขึ้นที่มุมทั้งสี่ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายๆกับเสาประดับมุม ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบเทียบได้กับงานสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยกัน เช่น ปราสาทของศิลปะจามในระยะแรกๆ ที่เรียกว่า “กาลัน” และ “จันทิ” ในศิลปะชวากลาง หรือปราสาทขอมในสมัยก่อนเมืองพระนคร
การขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 1 ในปี พ.ศ.2504 พบผอบเงินที่ตอนกลางขององค์เจดีย์ ภายในเป็นผอบทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 องค์
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร (จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ รัตนกุล), 2535.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.