วัดบ้านนาควาย


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดนาควาย

ที่ตั้ง : ซ.สุขาสงเคราะห์ (ระหว่างซอยสุขาสงเคราะห์ 9 กับซอยสุขาสงเคราะห์ 11) ถ.ชยางกูร ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี (เทศบาลนครอุบลราชธานี)

ตำบล : ในเมือง

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : อุบลราชธานี

พิกัด DD : 15.261985 N, 104.852072 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังนอง, ลำมูลน้อย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวบริเวณแยก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี ในตัวจังหวัดและในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ใช้ถนนชยางกูร มุ่งหน้าขึ้นทิศเหนือ (ไปทางห้างบิ๊กซีและโลตัสอุบลราชธานี) ประมาณ 1.7 กิโลเมตร จะพบซอยสุขาสงเคราะห์ทางขวามือ (ต้องกลับรถเพื่อเข้าซอยนี้) เลี้ยวเข้าซอยไปประมาณ 600 เมตร จะพบวัดบ้านนาควายทางซ้ายมือ ตั้งระหว่างซอยสุขาสงเคราะห์ 9 กับซอยสุขาสงเคราะห์ 11

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สิมวัดบ้านนาควายเป็นโบราณสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่และได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรจนมีสภาพมั่นคงแข็งแรง ประวัติวัดและประวัติการก่อสร้างเกี่ยวเนื่องกับเมืองอุบลราชธานี ภาพจิตรกรรมด้านนอกบางส่วนเริ่มเลือนลางและมีฝุ่นจับ บริเวณประตูสิมติดตั้งป้ายให้ข้อมูลวัดและป้ายรณรงค์อนุรักษ์ภาพจิตรกรรม

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสิมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีการติดตั้งป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานที่ด้านหน้าสิม โดยปกติสิมจะไม่เปิดให้เข้าชมภายใน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทาวัด และเช่นเดียวกับสิมหลังอื่นๆ ในเขตอุบลราชธานีที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายใน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดบ้านนาควาย

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดบ้านนาควายได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ 85ง วันที่ 25 ตุลาคม 2537 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (วัดบ้านนาควาย)

ภูมิประเทศ

ลูกคลื่นลอนตื้น

สภาพทั่วไป

วัดบ้านนาควายเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของตัวจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลูกคลื่นลอนตื้น ตั้งอยู่ห่างจากลำมูลน้อย (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล) มาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร ห่างจากห้วยวังนอง (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล) มาทางทิศตะวันตกประมาณ 3 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำมูลมาทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

131 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำมูล, ห้วยวังนอง. ลำมูลน้อย

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2410

อายุทางตำนาน

ประมาณ พ.ศ.2325

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรบูรณะสิมวัดบ้านนาควาย

ชื่อผู้ศึกษา : พรรณธิพา สุวรรณี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

พรรณธิพา สุวรรณี เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี” วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อศึกษารูปแบบและเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของสิมพื้นบ้าน ศึกษาความสัมพันธ์ด้านศิลปกรรม ศึกษาคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงของสิมพื้นบ้าน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดบ้านนาควาย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2420 และ พ.ศ.2538 ไม่ปรากฏปีที่สร้างสิมแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างหลังจากเมืองอุบลราชธานีไม่นานนัก โดยเมื่อ พ.ศ.2325 พระวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ให้สร้างเมืองอุบลราชธานี ชาวบ้านก็ออกมาหาที่เกษตรกรรมทำไร่นาใกล้ๆ กับแหล่งน้ำ (บึงและหนอง) ขณะนั้นมีสิบกว่าหลังคาเรือน เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านพอสมควรแล้ว ชาวบ้านก็หาทำเลสร้างวัดขึ้น เรียกว่า “วัดบ้านนาควาย” สร้างกุฏิให้พระสงฆ์อยู่อาศัย มีเจ้าอาวาสรูปแรกคือ หลวงปู่แดง

ต่อมาเจ้าอาวาสรูปที่ 2 คือ พะอาจารย์ทา หรือชาวบ้านเรียกว่า ยาคูทา ได้ชักชวนชาวบ้านก่อสร้างโบสถ์หรือสิม มีขนาด 11 ศอก 1 คืบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยยาคูทาเป็นช่างก่อสร้างและอาศัยแรงงานจากชาวบ้านทั้งหมด วัสดุในการก่อสร้างส่วนฐานทั้งหมดก่ออิฐถือปูน แต่ปูนที่ใช้ในสมัยนั้นอาศัยบ่อปูนตามท้องห้วยหลายแห่ง แม้ปูนจะไม่ขาวมากนัก แต่มีคุณภาพดีมาก เสาไม้ใช้ไม้ในพื้นที่ เช่น ไม้เต็ง ไม้มะค่าแต้ ไม้แดง โครงหลังคาเป็นเครื่องไม้ รวมทั้งเครื่องมุงก็เป็นไม้ เรียกว่า แป้นมุง ใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี จึงเสร็จ และได้ใช้งานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

โบราณสถานสำคัญของวัดบ้านนาควายได้แก่ สิม (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 49-54)

ตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางของวัด ลักษณะเป็นอาคารทึบก่ออิฐถือปูน มีขนาดเล็ก แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3 ห้อง ขนาดกว้าง 5.5 เมตร ยาว 9 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางขึ้นมีเพียงด้านหน้าด้านเดียว มีมุขโถงด้านหน้า เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 2 ต้นรองรับโครงสร้างหลังคา

ในส่วนของมุขด้านหน้ามีพนักล้อมรอบ ตรงกลางพนักด้านหน้าเว้นช่องว่างสำหรับทางขึ้นและมีบันไดอยู่ด้านหน้า ด้านหน้าสิมมีการสร้างเพิงต่อออกมา (พบมากในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน เรียกว่า เกย) คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานที่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าไปภายในได้

ภายในสิมมีฐานชุกชีเป็นแท่นสี่เหลี่ยมยาวติดกับผนังด้านหลัง ประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีก่ออิฐฉาบปูน  

ส่วนฐานสิมเป็นฐานเอวขันหรือฐานบัวงอนแบบล้านช้าง แต่ดูเรียบง่ายและบึกบึน ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำ ท้องไม้คาดลูกแก้วอกไก่ เหนือขึ้นไปเป็นบังหวายและต่ำด้วยบัวคว่ำ โดยไม่มีท้องไม้คั่น และจบด้วยเส้นรองรับผนังสิม ลักษณะลวดบัวทั้งหมดสะบัดปลายงอน (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 49-54)

ผนังสิมที่ด้านข้างทั้ง 2 ด้าน มีการเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 1 ช่อง บานหน้าต่างเป็นไม้ สลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลา ผนังด้านหลังก่อทึบทั้งหมด ผนังด้านหน้ามีประตูทางเข้าตรงกลาง 1 ช่อง บานประตูเป็นไม้ สลักลวดลายดอกไม้ที่อกเลา จากประวัติการศึกษาระบุว่าผนังด้านในสิมทั้ง 4 ด้านและผนังด้านนอกด้านหน้ามีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ

ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกปรากฏอยู่บริเวณส่วนที่ติดกับหลังคามุขลงมาจนถึงครึ่งบนของประตูสิม ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เขียนด้วยสีดำและสีเหลือง (พบสีเขียวเล็กน้อย) สภาพลางเลือนไปบางส่วน มีตัวอักษรไทยน้อย 6 บรรทัด เขียนอยู่เหนือประตู รวมถึงแทรกอยู่ประปรายอยู่กับภาพจิตรกรรม

หลังคาสิมเป็นหลังคาจั่วชั้นเดียว เดิมมุงด้วยแป้นมุงหรือแป้นเกล็ด ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องดินเผา แบบเกล็ดเต่า รูปแบบหลังคาไม่มีการแอ่นลาด แสดงถึงอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากภาคกลาง (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 49-54)

แป้นลมมีลักษณะเป็นแผ่นไม้เรียบตรง ทอดตัวยาวตามแนวหลังคาทรงจั่ว เรียกว่า ตัวรวย และมีการประดับด้วยใบระกา

ช่อฟ้าหรือโหง่เป็นไม้แกะสลักตามรูปแบบช่อฟ้าของภาคกลาง แต่มีลักษณะสะบัดโค้งส่วนปลายมากกว่า แสดงถึงรูปแบบศิลปะลาวที่มีเอกลักษณ์เรื่องความอ่อนช้อยและโค้งงอน

สีหน้าหรือหน้าบัน เป็นกรอบขื่อลายไม้ตั้ง ซึ่งพบมากในเรือนพื้นถิ่นอีสาน

แขนนางหรือคันทวย ประดับอยู่ผนังสิมทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 5 ตัว เป็นคันทวยแบบไม้แผง มีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมยาว บริเวณส่วนกลางตกแต่งด้วยลายกาบบนและกาบล่าง ส่วนบนและส่วนล่างสลักเป็นลวดบัวคว่ำและบัวหงาย การทำคันทวยแบบไม้แผง เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพื้นบ้านอีสานที่ลักษณะค่อนข้างหนาหนัก (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 49-54)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

พรรณธิพา สุวรรณี. “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี