โพสต์เมื่อ 15 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : วัดบูรพา
ที่ตั้ง : ถ.พโลรังฤทธิ์ ม.6
ตำบล : ปทุม
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : อุบลราชธานี
พิกัด DD : 15.231285 N, 104.87431 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล
วัดบูรพาหรือวัดบูรพารามตั้งอยู่ในตัวจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ริมถนนพโลรังฤทธิ์ บริเวณซอยบูรพาใน 1
วัดบูรพารามหรือวัดบูรพามีประวัติการสร้างที่สัมพันธ์กับเมืองอุบลราชธานีและพระสายวิปัสสนา ในอดีตเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นต้นกำเนิดของวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน โดยเฉพาะหลวงปู่สีทา ชยเสโน และหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ปัจจุบันภายในสิมเก่ายังเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนของพระอาจารย์วิปัสสนา 5 องค์ ได้แก่ หลวงปู่สีทา ชยเสโน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร) ซึ่งได้รับการเคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก
สิมเก่าวัดบูรพารามมีสภาพพังทลาย โดยเฉพาะตัวสิม แต่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว อีกทั้งทางวัดยังได้ก่อสร้างอาคารคลุมไว้ทั้งหลัง เพื่อป้องกันฝนและแดด ส่วนหอไตรมีสภาพมั่นคงแข็งแรง แม้ว่าจะเริ่มมีบางส่วนชำรุดทรุดโทรม เช่นฝาผนังไม้บางแผ่นเริ่มหลุดออก
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสิมเก่าและหอไตรได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีการติดตั้งป้ายให้ข้อมูลต่างๆ ของโบราณสถาน
วัดบูรพาราม, กรมศิลปากร
โบราณสถานภายในวัดที่สำคัญ ได้แก่ สิมและหอไตร ซึ่งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 124ง วันที่ 17 ธันวาคม 2544 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน
วัดบูรพาหรือวัดบูรพารามเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นเมืองอุบลราชธานีในอดีต สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมแม่น้ำมูล เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูลสายเดิม บริเวณส่วนโค้งตวัดลำน้ำ (แม่น้ำมูลสายปัจจุบันอยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร) พื้นที่ด้านทิศใต้ของวัดที่เป็นแม่น้ำมูลสายเดิมจึงมีสภาพเป็นหนองน้ำนิ่ง
แม่น้ำมูล
สภาพพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2545
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรบูรณะสิมเก่าและหอไตร งบประมาณ 1,790,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 120 วันชื่อผู้ศึกษา : พรรณธิพา สุวรรณี
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พรรณธิพา สุวรรณี เสนอสารนิพนธ์เรื่อง “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี” วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อศึกษารูปแบบและเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมของสิมพื้นบ้าน ศึกษาความสัมพันธ์ด้านศิลปกรรม ศึกษาคุณค่าและการเปลี่ยนแปลงของสิมพื้นบ้านตามทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าวัดบูรพารามเป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2436 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2514
จากประวัติวัดกล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.2436-2453 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งทรงสร้างถวายพระสีทา ชยเสโน แห่งวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ด้วยศรัทธาที่เห็นท่านมานั่งวิปัสสนากรรมฐาน ณ ที่นี้เป็นประจำ
นอกจากหลวงปู่สีทาแล้ว วัดบูรพายังเป็นต้นกำเนิดของบูรพาจารย์สายวิปัสสนาธุระที่สำคัญหลายรูป เช่น หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นต้น
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของวัดบูรพารามได้แก่ สิมเก่าและหอไตร 2 หลัง รวมทั้งเสมาหินทรายรอบอุโบสถหรือสิมหลังปัจจุบัน
สิมเก่า ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของวัด ริมแม่น้ำมูลสายเดิมที่ปัจจุบันเป็นหนองน้ำ สภาพปัจจุบันชำรุดเสียหายเป็นอย่างมาก เหลือเพียงส่วนฐานและโครงสร้างผนังเพียงส่วนท้าย ทางวัดได้สร้างอาคารคลุมไว้เมื่อ พ.ศ.2553
ลักษณะของสิมหลังนี้เป็นสิมทึบ แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 2 ห้อง มีมุขโถงด้านหน้า หันหน้าไปทางทิศใต้ออกสู่แม่น้ำมูล มีบันไดทางขึ้นสู่มุขและสิมที่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว มี 2 บันได ซ้ายและขวา มีเสาด้านหน้า 3 ต้น ขนาดความสูงเท่ากันหมด รองรับน้ำหนักของหลังมุขโถงหน้า มุขด้านหน้าได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนมีสภาพมั่นคงแข็งแรงและดูใหม่กว่าตัวสิม
ส่วนฐานก่ออิฐถือปูนลักษณะเป็นฐานบัวงอนแบบล้านช้าง หรือ “ฐานเอวขัน” ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสิมอีสาน แต่ไม่ประณีตมากนัก แสดงถึงความเป็นพื้นถิ่น ฐานส่วนล่างสุดเป็นฐานเขียง 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นเส้นลวด บัวคว่ำ เส้นลวด ท้องไม้ เส้นลวด บัวหงาย และบัวคว่ำ จบด้วยเส้นลวด 2 เส้น รองรับผนังสิม ลักษณะปลายสะบัดงอนเล็กน้อย (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 34-39)
ผนังมีโครงสร้างภายในเป็นไม้ระแนง ฉาบด้วยดินเหนียวผสมน้ำและผางฉาบทับด้วยปูนขาวอีกครั้งหนึ่ง ผนังทั้ง 2 ข้างมีช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ปัจจุบันมีการติดตั้งลูกกรงเหล็กที่หน้าต่าง ผนังด้านหลังก่อทึบทั้งหมด มีการเจาะช่องวงกลม 4 ช่อง (ด้านหลัง 2 ช่อง ด้านข้างด้านละ 1 ช่อง) อาจเป็นช่องแสง ซึ่งพบไม่มากนักในสิมอีสาน (พรรณธิพา สุวรรณี 2556 : 34-39)
ส่วนหลังคาของสิมพังทลายลงหมด แต่จากภาพเก่าพบว่าเป็นหลังคาทรงจั่วชั้นเดียว มุงด้วยแป้นเกล็ด ซึ่งเป็นอิทธิพลของรูปแบบจากภาคกลางหรือรัตนโกสินทร์ และมีเพิงที่มุขด้านหน้า ลักษณะเป็นเพิงสั้นคล้ายหลังคาปีกนก
ภายในสิมมีฐานชุกชีก่ออิฐติดผนังด้านหลัง ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ ประดิษฐานพระพุทธรูป พระพุทธรูปเก่าของทางวัด และรูปหล่อเหมือนของพระอาจารย์วิปัสสนา 5 องค์ ได้แก่ หลวงปู่สีทา ชยเสโน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระญาณวิศิษฏ์ (ทอง จนฺทสิริ) และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมมฺธโร)
นอกจากนี้ เสมาหินทรายจากสิมหลังเก่านี้ ยังถูกถอนออกและนำไปประดิษฐานอยู่รอบสิมหลังปัจจุบันจำนวน 8 ใบ ที่มุมและกึ่งกลางของแต่ละด้าน
หอไตร ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านทิศใต้ของสิมเก่า ลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาด 3 ห้อง 2 หลัง สร้างอยู่คู่กันตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ระยะห่างกันประมาณ 5 เมตร ยกพื้นสูงด้วยเสาไม้กลมหลังละ 8 ต้น มีชานเชื่อมตรงกลาง หลังคาทรงจั่ว หน้าจั่วทำลวดลายรัศมีพระอาทิตย์ ฝาผนังอาคารตีไม้ในแนวเฉียงเป็นลายก้างปลา ผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 3 บาน รองรับด้วยหย่องลายแข้งสิงห์ ตอนล่างของผนังอาคารโดยรอบตกแต่งด้วยลายบัวฟันยักษ์ประดับกระจกสีเหลือง ขาว และเขียว
พรรณธิพา สุวรรณี. “สิมพื้นแบบบ้านภาคอีสานในเขตเมืองอุบลราชธานี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.