โพสต์เมื่อ 4 มิ.ย. 2021
ที่ตั้ง :
ตำบล : คูบัว
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ราชบุรี
พิกัด DD : 13.485278 N, 99.828107 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง
เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำอ้อม, ห้วยคูบัว, ห้วยชินสีห์
โบราณสถานหมายเลข 10 ตั้งอยู่นอกคูเมืองของเมืองโบราณคูบัวด้านทิศตะวันตก โดยอยู่ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกออกไปประมาณ 350 เมตร สามารถใช้ทางหลวงหมายเลข 3338 ออกจากเมืองคูบัวไปทางทิศตะวันตก จนผ่านทางรถไฟไปประมาณ 220เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าซอยและไปตามทางอีกประมาณ 100 เมตร โบราณสถานหมายเลข 10 ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ ลึกเข้าไปในสวนของชาวบ้าน
ปัจจุบันโบราณสถานหมายเลข 10 มีสภาพรกร้างและอยู่ในพื้นที่สวนของชาวบ้าน ไม่มีประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและการท่องเที่ยว แต่ก็สามารถพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวเมืองโบราณคูบัวต่อไปได้ หากมีการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างจริงจัง
กรมศิลปากร
โบราณสถานหมายเลข 10 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก นอกเมืองโบราณคูบัว (ห่างจากคูเมืองด้านทิศตะวันตกประมาณ 350 เมตร)สภาพก่อนการขุดแต่งในช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี พ.ศ.2504-2505 ด้านบนของเนินโบราณสถานปกคลุมด้วยดิน มีวัชพืชและไม้ยืนต้นขึ้น ด้านข้างของเนินดินเห็นเป็นแนวอาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ มีเศษปูนและก้อนอิฐปูนกระจายตัวอยู่รอบโบราณสถาน
ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในพื้นที่สวนของชาวบ้าน มีสภาพรกร้าง คณะสำรวจไม่สามารถเข้าไปศึกษาได้
คูเมือง, ห้วยคูบัว, ห้วยชินสีห์
ชื่อผู้ศึกษา : สมศักดิ์ รัตนกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2504, พ.ศ.2505
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สมศักดิ์ รัตนกุล ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 10ระหว่างการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานเมืองคูบัว ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่างปี พ.ศ.2504-2505สมศักดิ์ รัตนกุล (2535 : 45) ได้ให้รายละเอียดของโบราณสถานหมายเลข 10 ว่ามีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 10.25 เมตร สูง 1.20 เมตร ฐานก่ออิฐเป็นบัวเตี้ยๆ เหนือบัวขึ้นไปมีซุ้มด้านละ 12 ซุ้ม ฐานทางด้านตะวันออกและตะวันตกมีบันไดขึ้นไปสู่องค์เจดีย์ทั้ง 2 ด้าน ยื่นออกมาจากฐานประมาณ 2.5 เมตร กว้าง 1.5 เมตร ส่วนทางด้านเหนือและใต้ก่ออิฐเป็นมุขยื่นออกมาจากกึ่งกลางของฐานเท่านั้น
ซุ้มที่ทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนฐานด้านละ 12 ช่องนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีรูปคนแคระและประติมากรรมอื่นๆติดประดับอยู่ภายใน เพราะขุดค้นพบประติมากรรมปูนปั้นในบริเวณเนินโบราณสถานค่อนข้างมาก ที่สำคัญเช่น ภาพบุคคลถูกมัดมือติดกันหรือภาพนักโทษ ภาพกลุ่มสตรีกำลังเล่นดนตรี ภาพเทวดา และภาพสตรี 2 คน (เจ้านายกับบ่าว) เป็นต้น
ประติมากรรมปูนปั้นจากโบราณสถานแห่งนี้ นับได้ว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมบางประการของผู้คนสมัยวัฒนธรรมทวารวดี
ภาพบุคคลถูกมัดมือติดกันหรือภาพนักโทษ อาจเป็นภาพประกอบชาดกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือเป็นภาพเล่าเรื่องสังคมในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงว่าในสมัยนั้นมีการจับนักโทษและการลงโทษกันแล้ว นอกจากนี้จากภาพจะเห็นได้ว่า นักโทษไว้ผมยาวและเกล้าเป็นมวยแบบสตรี
ภาพกลุ่มสตรี 5 คน กำลังเล่นดนตรี สมัยโบราณของไทยเรียกว่า “วงขับไม้บรรเลงพิณ” (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 182) นักดนตรีเป็นสตรี 5 คน คนขวาสุดของภาพไม่ปรากฏเครื่องดนตรีชัดเจน เนื่องจากชำรุดเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาจากท่าทาง สันนิษฐานว่าอาจกำลังเล่นกรับชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องตีประกอบจังหวะที่พบโดยทั่วไปเกือบทุกแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในจีน คนถัดมาอยู่ในท่าเท้าแขน น่าจะเป็นผู้ขับร้อง คนกลางดีดเครื่องสายประเภทหนึ่งตระกูลพิณ ตรงกับพิณของอินเดียที่เรียกว่า “กัจฉะปิ” ซึ่งพบหลักฐานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยคุปตะ และเผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับศาสนาและศิลปกรรมอื่นๆ สำหรับในไทยนั้น สันนิษฐานว่าเครื่องดนตรีประเภทนี้ เป็นต้นแบบของเครื่องดนตรีประเภทพิณและกระจับปี่ ซึ่งสัมพันธ์กันทั้งรูปแบบและชื่อเรียก คนที่ 2 จากซ้ายมือถือเครื่องตี น่าจะเป็นฉิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องให้จังหวะที่แพร่หลายอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน และคนซ้ายสุดดีดเครื่องสายประเภทพิณน้ำเต้าประเภทหนึ่ง (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2528 : 31, 33) อาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับจีน และเคยมีในจดหมายเหตุจีนด้วยว่าในภูมิภาคนี้นิยมเล่นกัน
นอกจากนั้น ภาพกลุ่มนักดนตรี ยังทำให้ทราบถึงการแต่งกายของสตรีในสมัยนั้น กล่าวคือ สตรีจะนุ่งห่มผ้ายาวเกือบถึงส้น ทบชายผ้าไว้ด้านหน้า มีเข็มขัดเชือกหรือผ้าคาดที่เอว อาจเป็นเข็มขัดที่มีลวดลายหรือการพันผ้าที่เล่นลวดลาย มีชายผ้าหรือชายเข็มขัดห้อยลงมาข้างใดข้างหนึ่ง เท่าที่พบหลักฐานสตรีไม่สวมเสื้อ แต่มีผ้าผืนเล็กๆคาดหรือคล้องอยู่คล้ายกับสไบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มคนในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547 : 274)
สตรีนิยมเกล้าผมเป็นมวยขึ้นเป็นชั้นๆ และคงมีเครื่องสวมคล้ายกับมวยผมของพระโพธิสัตว์ที่เรียกว่า “ชฎามงกุฎ” เท่าที่พบโดยทั่วไปจะเกล้ามวยเป็นชั้นเดียวและเป็นพุ่ม มีเครื่องสวมหรือมีสายรัด อาจเป็นพวงมาลัยดอกไม้หรือสร้อยลูกปัด เครื่องแต่งกายที่สำคัญคือตุ้มหู ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของคนในวัฒนธรรมทวารวดี โดยสวมตุ้มหูที่มีน้ำหนักมากจนติ่งหูยานลงมาถึงบริเวณไหปลาร้า ซึ่งคงได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น
ภาพสตรี 2 คน คนหนึ่งนั่งอยู่ด้านหน้า ไว้ผมมวยบนศีรษะ มือซ้ายเท้าอยู่ที่หน้าขา แขนเหยียดตรง ส่วนมือขวาทำท่าจีบนิ้วโป้งและนิ้วชี้เข้าหากัน ใส่ตุ้มหูแบบห่วง ติ่งหูและตุ้มหูยานมาถึงบริเวณไหปลาร้า ใส่สร้อยคอหรือกรองศอมีลวดลาย สวมเครื่องประดับที่ต้นแขน (พาหุรัด) และกำไลข้อมือซ้อนกันหลายวง
ส่วนสตรีที่อยู่ด้านหลัง ไว้ผมลักษณะเดียวกัน มือขวาถือภาชนะประเภทกระปุก ใส่ตุ้มหูแบบเสียบขนาดใหญ่ ใส่กรองศอหรือสร้อยคอ สวมเครื่องประดับที่ต้นแขน (พาหุรัด) จากลักษณะท่าทางและการแต่งกายสันนิษฐานว่า สตรีที่นั่งอยู่ด้านหน้าอาจเป็นเจ้านาย และสตรีที่อยู่ด้านหลังเป็นบ่าว
จากลักษณะของการสวมตุ้มหู อาจใช้เป็นข้อสังเกตในการแบ่งกลุ่มชาย-หญิง และอาจบ่งบอกถึงชนชั้นทางสังคมได้ เช่น การประดับตุ้มหูที่ติ่งหูยานลงมาถึงไหปลาร้านั้นจะพบเฉพาะในสตรี และน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลชั้นสูง ส่วนคนสามัญและบ่าวจะใส่ตุ้มหูแบบเสียบขนาดใหญ่
ตุ้มหูแบบขนาดใหญ่ น่าจะทำมาจากแผ่นโลหะที่นำมาตีและม้วนเป็นวง ส่วนตุ้มหูแบบห่วงอาจทำมาจากโลหะ (ตะกั่ว) หรือพวกหินมีค่าประเภทหยก หินกึ่งมีค่า หรือเปลือกหอย
พิริยะ ไกรฤกษ์. ประวัติศาสตร์ศิลปในประเทศไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2528.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร (จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ รัตนกุล), 2535.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.