โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 300 ถ.ชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน
ตำบล : คลองชักพระ
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.778453 N, 100.457613 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองวัดตลิ่งชัน
จากถนนบรมราชชนนีฝั่งขาออก (บริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย) ใช้ถนนชัยพฤกษ์ (มุ่งหน้าบางขุนนนท์) เข้าไปประมาณ 550 เมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยวขวาใถนนชัยพฤกษ์ ไปตามถนนประมาณ 850 เมตร ถึงวัดตลิ่งชัน
วัดตลิ่งชันเป็นวัดสำคัญของเขตตลิ่งชัน นอกจากวันสำคัญเนื่องในพุทธศาสนาต่างๆ แล้ว ยังมีงานประจำปีที่สำคัญคืองานปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลอง และรูปเหมือนหลวงปู่กลีบ (พระครูทิวากรคุณ) ในช่วงเดือนมีนาคม (3 คืน)
ภายในพื้นที่วัดมีโรงเรียนวัดตลิ่งชัน (ปิ่นทองสัณฐาคาร) สังกัด กทม.
หมายเลขโทรศัพท์ของวัดตลิ่งชัน 02-432-2503, 02-424-7580
วัดตลิ่งชัน
วัดตลิ่งชันเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึง ด้านทิศใต้ติดคลองชักพระ ด้านทิศตะวันตกเป็นคลองวัดตลิ่งชันที่แยกออกจากคลองชักพระ (เชื่อมระหว่างคลองชักพระกับคลองวัดไก่เตี้ย) ด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนวัดตลิ่งชัน สภาพพื้นที่โดยรอบมีสภาพเป็นเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น
คลองชักพระ, คลองวัดตลิ่งชัน, แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2460, พ.ศ.2507, พ.ศ.2519
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
มีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง เช่นเมื่อ พ.ศ.2460 พ.ศ.2507 และ พ.ศ.2519ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 82) ได้เข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดตลิ่งชัน และสันนิษฐานว่าคงเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยอุโบสถคงถูกซ่อมแซมสมัยรัชกาลที่ 1ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549) สำรวจและศึกษาวัดโบราณในคลองบางระมาด และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน, วิชญดา ทองแดง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง ศึกษาและสืบหาที่มาของเสมาหินทรายแดงโบราณ “แบบอโยธยา-สุพรรณภูมิ” 3 ใบ ที่ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถวัดตลิ่งชัน จนพบว่านำมาจากวัดเพลง (ร้าง) หรือวัดเพลงร้างกลางสวน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลายชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันตามประวัติฉบับกรมการศาสนาระบุว่า วัดตลิ่งชันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณ พ.ศ.2310 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 18 พฤษภาคม 2525 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานต่างๆ สันนิษฐานว่าวัดตลิ่งชันน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่า พ.ศ.2310
หนังสือ การสืบค้นประวัติวัดตลิ่งชันและเกร็ดความรู้ทางพระพุทธศาสนา พ.ศ.2549 กล่าวว่ามีรากฐานอุโบสถเก่าซ้อนอยู่ใต้อุโบสถหลังปัจจุบัน และใต้ฐานชุกชีลงไปใต้ดินก็มีฐานชุกชีเก่าอยู่ (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 90) และมีการบูรณปฏิสังขรณ์หลายครั้ง เช่นเมื่อ พ.ศ.2460 พ.ศ.2507 และ พ.ศ.2519
พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ พระประธานในอุโบสถ ส่วนเกจิอาจารย์คือ พระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต)
ลำดับเจ้าอาวาสตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พระครูพุทธิบาล (หลวงปู่ม่วง), พระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต) พ.ศ.2449-2501,พระครูโสภณสาธุกิจ (ทฤษดี เตชธมฺโม) พ.ศ.2501-2519, พระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (ศิริชัย สิริจนฺโท) พ.ศ.2519-2545, พระมหาธวัช โพธิเสวี (เจ้าคณะแขวงคลองชักพระ) พ.ศ.2546-ปัจจุบัน
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 32-33) ได้แก่
อุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ออกสู่คลองบางกอกน้อย (ปัจจุบันตั้งอยู่ห่างจากคลองบางกอกน้อยประมาณ 70 เมตร) เป็นอุโบสถที่มีมาแต่เดิม และได้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 (ประยูร อุลุชาฏะ 2514 : 82) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ครั้งพระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิโต) เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2460 และบูรณะครั้งใหญ่สมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ (ศิริชัย สิริจนฺโท) ระหว่าง พ.ศ.2519-2532 เช่นการประดับเครื่องลายครามและเครื่องถ้วยเบญจรงค์ที่หน้าบัน
ทางด้านหน้าประดับเครื่องถ้วยและพระพุทธรูป ขอบล่างหน้าบันมีป้าย “พระครูทิวากรคุณ (กลีบ พุทฺธรกฺขิตฺโต)” ส่วนด้านหลังประดับถ้วยลายครามขนาดเล็กจนเต็ม กับมีป้ายออกนาม “พระครูโสภณสาธุกิจ (ทฤษดี)” นอกจากนั้นยังมีการประดับลวดลายปูนที่เสา บางส่วนประดับกระจกสี)
ผนังด้านในอุโบสถระหว่างหน้าต่างภายในอุโบสถมีภาพประดับมุก เรื่องมโหสถชาดก (สร้าง พ.ศ.2532) บานหน้าต่างประดับมุกเป็นลวดลายต่างๆ กัน เช่น ทศชาติชาดก เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราประจำจังหวัด และพัดยศพระราชาคณะ สร้างในสมัยพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณเป็นเจ้าอาวาสเช่นกัน
ผนังเหนือหน้าต่างเขียนภาพจิตรกรรมเป็นภาพพระอดีตพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวบนพื้นสีดำ คั่นด้วยช่อดอกไม้ร่วง เรียงกันขึ้นไป 5 ชั้น (เขียนขึ้นตามรูปแบบเดิมในสมัยพระครูสุวัฒนสุตคุณ)
บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องหลายองค์ พระประธานเป็นพระหินทรายแดง ปางมารวิชัย ปั้นรักพอกเป็นพระทรงเครื่องอย่างใหญ่ มีสังวาลกากบาทไขว้กันที่พระอุระและสวมชฎา (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 76) ปางมารวิชัย คล้ายศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าปราสาททองลงมา
ที่น่าสนใจคือพระพุทธรูปยืน 2 องค์ ขนาบข้างพระประธาน เป็นพระพุธรูปทรงเครื่องน้อยที่มีทับทรวง สวมกระบังหน้า และรัดเกล้า แบบอยุธยาตอนต้นหรืออยุยาตอนกลาง (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 76)
รอบอุโบสถมีเสมาหล่อซีเมนต์ประดิษฐานเป็นแถวบนกำแพงแก้ว ประดับตัวอักษรย่อ “ต ล ช” (ตลิ่งชัน) แต่เสมาที่หน้าอุโบสถจำนวน 3 ใบ (ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มเสมาทรงกูบ 3 ซุ้ม) นั้น เป็นเสมาหินทรายสีแดง ลักษณะเพรียวสูง อกเสมาเป็นรูปดอกไม้ 4 กลีบ (ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 77) ซึ่งแตกต่างเสมาใบอื่น เสมาทั้ง 3 ใบนี้ทางเจ้าอาวาสได้รับมาจากวัดสักใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อ พ.ศ.2550 ซึ่งขนย้ายมาจากวัดเพลง (ร้าง) หรือวัดเพลงร้างกลางสวน ต.บางขุนกอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อีกทอดหนึ่ง ที่สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย (ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง 2550 : 19-20)
ศาลาอดีตเจ้าอาวาส ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระครูรัตนโสภณ พระครูทิวากรคุณ (หลวงปู่กลีบ) และพระครูโสภณสาธุกิจ (ทฤษดี เตชธมฺโม) ปัจจุบันเป็น “ศาลาพระเครื่องวัดตลิ่งชัน” ให้เช่าพระเครื่องแลกะวัตถุมงคลของทางวัด
ศาลาการเปรียญ อยู่ทางด้านหลังศาลาอดีตเจ้าอาวาส
มณฑปพระพุทธบาท สร้าง พ.ศ.2495 ด้านหลังศาลาบำเพ็ญกุศล
ฌาปนสถาน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2518
ศาลาบำเพ็ญกุศล ตั้งอยู่รอบฌาปนสถาน
โรงเรียนพระปริยัติธรรม มีอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมเดิม เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทาสีฟ้า เคยใช้เป็นอาคารของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
นอกจากนี้ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 33-34) ช่วงกลางปี 2548 มีการค้นพบพระเครื่องในรูปแบบของ “พระสมเด็จ” (พระพิมพ์รูปสี่เหลี่ยมที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมฺรังสี) วัดระฆังโฆษิตารามสร้างขึ้น) บรรจุอยู่ภายในตุ่มที่ฝังอยู่รอบอุโบสถ
พระพิมพ์เหล่านี้แม้สร้างใหม่เมื่อไม่ถึง 30 ปีที่ผ่านมา ในสมัยของพระครูปลัดสุวัฒนสุตคุณ แต่กล่าวกันว่ามีผงมวลสารของ “หลวงปู่กลีบ” และมวลสารของวัดระฆัง โดยใช้ช่างแกะแม่พิมพ์ของวัดระฆัง
ในชั้นต้น ทางวัดได้นำออกแจกจ่ายให้ผู้มีอุปการคุณจำนวนหนึ่ง เกิดข่าวลือว่ามีปาฏิหาริย์คุ้มครองภยันตรายได้แคล้วคลาด เมื่อข่าวนี้แพร่หลายออกไป ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2548 ตามหน้าหนังสือพิมพ์ จึงเกิดความต้องการอย่างมาก ทางวัดจึงนำพระสมเด็จออกให้เช่าองค์ละ 300-500 บาท
ยิ่งไปกว่านั้น พ.ศ.2550 มีการค้นพบ “พระสมเด็จ” ในลักษณะเดียวกันอีกระหว่างเคลื่อนย้ายซุ้มพระหน้าโรงเรียน ทางเจ้าอาวาสจึงจัดพิธีพุทธาภิเษกขึ้น แล้วมอบให้ทางโรงเรียนนำออกให้เช่าบูชา รายได้บำรุงการศึกษาต่อไป
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “เสมาหินทรายแดงวัดตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 33, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2550) : 19-20.