โพสต์เมื่อ 4 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : โคกนายผาด
ที่ตั้ง : ม.1 บ้านหนองเกษร
ตำบล : เกาะศาลพระ
อำเภอ : วัดเพลง
จังหวัด : ราชบุรี
พิกัด DD : 13.468871 N, 99.840586 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง
เขตลุ่มน้ำรอง : แม่น้ำอ้อม, ห้วยคูบัว, ห้วยชินสีห์
โบราณสถานหมายเลข 44 ตั้งอยู่ทิศใต้นอกเมืองโบราณคูบัว โดยห่างออกไปจากคูเมืองด้านทิศใต้ไปประมาณ 800 เมตร ติดกับวัดหนองเกษร (อยู่ทางทิศใต้ของวัดหนองเกษร) ริมถนนสายวัดหนองเกษร-บ่อกระดาน
โบราณสถานหมายเลข 44 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ค่อนข้างดี สามารถพัฒนาศักยภาพให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองคูบัวได้มากกว่าปัจจุบันซึ่งกำลังถูกปล่อยให้รกร้าง
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ 87ง วันที่ 10 กันยายน 2544
โบราณสถานหมายเลข 44 ตั้งอยู่นอกคูเมืองด้านทิศใต้ ห่างจากคูเมืองไปทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร ล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่ม
สภาพทั่วไปก่อนการขุดแต่งในปี พ.ศ.2504 มีลักษณะเป็นเนินโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ มีดินปกคลุมอยู่ด้านบน ตัวเนินกว้างยาวด้านละ 10-11 เมตร สูงประมาณ 2.8 เมตร
โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งและบูรณปฏิสังขรณ์ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์จากกรมศิลปากร แต่ปัจจุบันเริ่มมีดินและวัชพืชปกคลุมบนโบราณสถาน
คูเมือง, ห้วยชินสีห์
ชื่อผู้ศึกษา : สมศักดิ์ รัตนกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2504
วิธีศึกษา : ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
สมศักดิ์ รัตนกุล ขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 44 เมืองคูบัว ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2504โบราณสถานหมายเลข 44 เป็นส่วนฐานของสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นส่วนฐานของเจดีย์สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ความสูงจากฐานล่างถึงยอดเนินประมาณ 2 เมตร บางส่วนขององค์เจดีย์ปรากฏร่องรอยปูนฉาบ
ฐานเจดีย์ชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง (ตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก) 13.7 เมตร ความยาว (ตามแนวทิศเหนือ-ใต้) 17.8 เมตร สูง 3.7 เมตร มีบันไดยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ด้านบนของฐานชั้นนี้มีลานประทักษิณ ฐานชั้นที่ 2 เป็นฐานบัววลัย อยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยกเก็จหรือกระเปาะ มีการย่อมุม (3 ชั้น) คล้ายคลึงกับโบราณสถานหมายเลข1 ในฐานชั้นนี้จากการขุดแต่งในปี พ.ศ.2504 ทางด้านทิศตะวันออกพบประติมากรรมรูปสิงโตนั่งสลับกับสิงโตยืน ส่วนผนังอีก 3ด้านเป็นรูปคนแคระแบก มีอิทธิพลของศิลปะลังกา นอกจากนั้นยังมีเศียรพระพุทธรูป ชิ้นส่วนพระพุทธรูป เทวรูป หรือเทวดา ซึ่งล้วนทำมาจากปูนปั้น
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ (2547 : 112) ให้ความเห็นว่าการทำฐานยกเก็จหรือยกกระเปาะ ทำให้ผนังอาคารเกิดเป็นช่อง เกิดความสวยงาม และคงมีวัตถุประสงค์เพื่อการประดับงานประติมากรรมด้วย เจดีย์ที่มีการยกเก็จขึ้นที่มุมทั้งสี่ ทำให้เกิดลักษณะคล้ายๆกับเสาประดับมุม ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบเทียบได้กับงานสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยกัน เช่น ปราสาทของศิลปะจามในระยะแรกๆ ที่เรียกว่า “กาลัน” และ “จันทิ” ในศิลปะชวากลาง หรือปราสาทขอมในสมัยก่อนเมืองพระนคร
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สมศักดิ์ รัตนกุล. โบราณคดีเมืองคูบัว. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร (จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ว่าที่ ร.ต.สมศักดิ์ รัตนกุล), 2535.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.