วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดรัชฎาธิฐาน, วัดเงิน, วัดเงินบางพรม, วัดรัชฎา

ที่ตั้ง : เลขที่ 692 ถ.แก้วเงินทอง (ถ.ฉิมพลี-วัดรัชฎาธิษฐาน) แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน

ตำบล : คลองชักพระ

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.758745 N, 100.454011 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางพรม, คลองชักพระ (คลองบางขุนศรี)

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี บริเวณสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ให้ใช้ถนนฉิมพลี (อยู่ติดกับสถานีตำรวจ) ไปตามถนนประมาณ 850 เมตร พบถนนแก้วเงินทองทางขวามือ เลี้ยวขวาใช้ถนนแก้วเงินทอง ไปตามถนนประมาณ 2.3 กิโลเมตร พบวัดรัชฎาฯ ทางซ้ายมือ ตรงข้ามกับซอยแก้วเงินทอง 25

หรือหากมาจากถนนราชพฤกษ์ ให้ใช้ถนนบางพรม ประมาณ 900 เมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 250 เมตร จะพบวัดรัชฎาฯ 

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพระอารามหลวงสำคัญของเขตตลิ่งชัน มีโรงเรียนและสถานที่ราชการในที่ดินวัดคือ โรงเรียนวัดรัชฎาธิษฐาน (กทม.) และห้องสมุดประชาชน วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร (กทม.)

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร 02-418-3445

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 60 หน้า 3283 วันที่ 30 กันยายน 2495 เรื่องกำหนดจำนวนและขอบเขตโบราณสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหารเป็นวัดที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนที่ราบน้ำท่วมถึง ริมคลองบางพรมฝั่งใต้ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร ห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 230 เมตร ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองบางพรม ทิศตะวันตกติดกับถนนแก้วเงินทอง ด้านอื่นๆ และพื้นที่โดยรอบเป็นบ้านเรือนราษฎรหนาแน่น

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองชักพระ (คอลงบางขุนศรี), คลองบางพรม

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2495

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประกาศขึ้นทะเบียน

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำหรับชาติในปี 2495

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ได้เข้าสำรวจสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เช่น พระอุโบสถ พระพุทธรูปในพระอุโบสถ เสมา พระวิหารหลังเล็ก พระวิหารหลังใหญ่ แล้วสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีอายุเก่าถึงในสมัยอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์อยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2516, พ.ศ.2535

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรสำรวจและจัดทำหนังสือทะเบียนโบราณสถาน

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดรัชฎาธิษฐานเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ริมคลองบางพรมฝั่งใต้ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดกาญนสิงหาสน์วรวิหารที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือ

เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดเงิน” สร้างสมัยอยุธยา โดยเจ้าขรัวเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

เจ้าขรัวเงินเป็นคนจีน แซ่ตัน มีน้องชายชื่อเจ้าขรัวทอง อพยพมาอยู่ที่คลองบางพรมแล้วสร้างวัดขึ้นคนละฝั่งคลองบางพรม คือวัดเงินและวัดทอง ตามนามของบุคคลทั้งสอง

ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงสถาปนาวัดเงินขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และยกขึ้นเป็นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอมรินทรา พระราชมารดา โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้น และมีพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.2366

เมื่อพิจารณาจากศิลปกรรมภายในวัดปัจจุบันแล้ว สันนิษฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 คงมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ จน พ.ศ.2397 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามวัดเงินเป็น “วัดรัชฎาธิฐาน”

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและวิหารของวัดรัชฎาธิษฐานเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ.2495

ลำดับเจ้าอาวาส ได้แก่ พระวิสุทธิสังวรเถร (เสม), พระวินัยกิจการีเถร (ภู่) ครองวัดถึง พ.ศ.2432, พระวินัยกิจการีเถร (ปั้น) พ.ศ.2432-2469, พระครูภาวนาภิรมย์ (ซุ่ม) พ.ศ.2469-2472, พระครูภาวนาภิรมย์ (พลอย พรหมโชโต) พ.ศ.2472-2488, พระครูภาวนาภิรมย์ (สาย) พ.ศ.2488-2503, พระสรภาณโกศล (สมบูรณ์ โชติปาโล) พ.ศ.2504-2529, พระเทพวิมลโมลี (ประเวช ธนปญฺโญ) พ.ศ.2529 เจ้าคณะเขตตลิ่งชัน

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 44-45) คือ

พระอุโบสถเดิม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ค่อนข้างขนานไปกับคลองบางพรม หรือหันหน้าออกสู่คลองชักพระ (ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม)

ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้นเครือเถาลายพุดตาน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 89-92) กล่าวว่าพระอุโบสถหลังนี้มีมาตั้งแต่โบราณ ได้รับการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ 3

พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ ไม่ปรากฏพระนาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปยืน ซึ่งล้วนพระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในสมัยอยุธยา (ประยูร อุลุชาฏะ 2514 : 89-92)

ใบเสมาเป็นเสมาเดี่ยวขนาดใหญ่หนามาก มีรูปแบบเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือพระเจ้าทรงธรรมลงมา (ประยูร อุลุชาฏะ 2514 : 89-92)  ดังนั้นอาจเป็นเสมาที่มีอยู่ติดวัดมาก่อนหน้าการบูรณะใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3

รอบพระอุโบสถหลังเดิมมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แยกออกจากพระวิหารหลังเดิมหรือพระอุโบสถหลังปัจจุบัน

พระอุโบสถ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าพระอุโบสถเดิม สร้างในตำแหน่งของพระวิหารเดิมที่ชำรุดพังทลาย ทางวัดจึงได้รื้อลงแล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนที่ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นทรงไทย มีหน้าบันประดับภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 89-92) ที่ได้สำรวจเก็บข้อมูลพระวิหารหลังเดิมว่า “พระวิหารใหญ่ตั้งอยู่บนฐานสูงหน้าพระอุโบสถ ใหญ่มาก ชำรุดทรุดโทรม รกร้างไม่มีผู้ใดแผ้วถางให้สะอาด หญ้าและต้นไม้จึงขึ้นเต็มลานไปหมด พระวิหารนี้คงมีความสำคัญในอดีต บนลานกำแพงแก้วประดิษฐานพระเจดีย์ข่อมุม 12 รายรอบ จำนวน 12 องค์ ผนังหน้าหลังพระวิหาร ก่อปูนสูงจนถึงอกไก่ เป็นคติโบราณแบบสมัยอยุธยา ซุ้มหน้าต่างด้านบนทำชายคาซ้อนสองชั้น คล้ายวัดกึฎีดาว แต่ช่วงของหน้าต่างและรูปทรงเทอะทะกว่า คงจะเก่ากว่าวัดกุฎีดาวในอยุธยา แต่ลายหน้าบันไม้ที่หลังคาลดชั้นเป็นลายสลักนูนรูปใบเทศประดับกระจกสี เป็นลายแบบรัชกาลที่สาม บ่งว่าสมัยรัชกาลที่สามได้ทำการปฏิสังขรณ์วัดนี้อย่างใหญ่โต และคงจะแก้ไขทำเครื่องบนของพระวิหารใหม่ทั้งหมด ที่ซุ้มหน้าต่างทำยอดช่อฟ้า ใบระกา และส่วนต่างๆ ด้วยดินเผาตามคติของอยุธยา เคยเห็นมาแล้วหลายแห่ง คันทวยสลักไม้ เข้าใจว่าเป็นของเก่ามีมาเดิมพร้อมพระวิหารด้วยลวดลายอ่อนช้อยงดงามมาก”  

มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารหลังเดิม แยกออกจากพระอุโบสถหลังเดิม

เจดีย์ ประดิษฐานอยู่รายรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารหลังเดิม เป็นมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 9 องค์ เมื่อรื้อพระวิหารเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็ยังคงรักษาเจดีย์เหล่านี้ไว้

หากแต่ประยูร อุลุชาฏะ (2514) ที่ได้สำรวจเก็บข้อมูลใน พ.ศ.2513 ระบุว่าเจดีย์ย่อมุมเหล่านี้มี 12 องค์

พระวิหารน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกหรือด้านหลังพระอุโบสถ ตั้งอยู่บนฐานสูง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซุ้มประตูทำเลียนแบบศิลปะจีน น่าจะทำขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 (ประยูร อุลุชาฏะ 2514) ด้านหน้ามีบานประดูลายรดน้ำของเก่า เขียนเป็นลายพันธุ์พฤกษา ตอนล่างเป็นภาพทหารฝรั่งสวมหมวกปีกกว้างขี่ม้า คล้ายกับลายรดน้ำบานประตูกุฏิสงฆ์ วัดภุมรินทร์กุฎีทอง จ.สมุทรสงคราม ที่กล่าวกันว่าสมเด็จพระชนกของสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 สร้างถวายอดีตเจ้าอาวาสที่ได้เคยทำนายทายทักว่าธิดาคนนี้จะมีวาสนาได้เป็นใหญ่เป็นโต

หอพระไตรปิฎก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ในขณะที่ประยูร อุลุชาฏะ (2514) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ก่อนที่จะได้รับการปฏิสังขรณ์สร้างใหม่ทั้งหมด (แต่อาจสร้างขึ้นตามผังเดิม) ในสมัยรัชกาลที่ 3

ลักษณะเป็นหมู่อาคารเรือนไทย 4 หลัง ปลูกรวมกันในสระน้ำตามคติโบราณ เพื่อป้องกันปลวกและหนูเข้าไปกัดกินพุทธธรรมคัมภีร์ มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเขียนลายทอง มีเรือนขวางด้านทิศตะวันออก ตัวเรือนขวางทำผนังโปร่งด้านนอกรอบชายคา น่าจะเติมขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนผนังชั้นในแท้ๆ หน้าต่างมีซุ้มสลักไม้สวยงาม บานหน้าต่างเขียนลายทอง ต่อจากหลังใหญ่ไปทางทิศตะวันตก ต่อเรือนออกไปอีก 1 หลัง ทำหลังคาหลุบลง

พระแท่นศิลาที่ประทับ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถใหม่ (ปัจจุบันอยู่กลางลานจอดรถของวัด) เป็นแผ่นหิน 6 แผ่น ตั้งแท่นเรียงลดหลั่นกัน แลดูคล้ายโต๊ะหมู่บูชา มีประวัติว่าเป็นพระแท่นที่ประทับและทรงโปรยทานของรัชกาลที่ 4-5

วิหารอดีตเจ้าอาวาส ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทย ประดิษฐานรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส

ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด เดิมเป็นพระตำหนักของกรมพระศรีสุดารักษ์ที่พระราชทานมาให้สร้างเป็นศาลาการเปรียญในสมัยรัชกาลที่ 3 เคยปลูกอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ต่อมาในปี 2502 ย้ายมาปลูก ณ ตำแหน่งปัจจุบัน

ศาลาท่าน้ำ เป็นศาลาโถงทรงไทย มีอยู่หลายหลัง เรียงรายกันตามริมคลองบางพรม

โรงเรียนพระปริยัติธรรม “โรงเรียนพระปริยัติราชวรเวที” เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ.2545

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 1. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2525.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ, 2516.

กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮ้าส์, 2535.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

ราชบัณฑิตยสถาน. วัดรัชฎาธิฐานราชวรวิหาร. จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง