วัดกระจัง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : เลขที่ 31 ซ.บรมราชชนนี 67 (ซ.วัดกระจัง) ถ.บรมราชชนนี แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน

ตำบล : ฉิมพลี

อำเภอ : เขตตลิ่งชัน

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.773848 N, 100.439586 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางระมาด

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนบรมราชชนนี ใช้ซอยบรมราชชนนี 67 (ติดกับศาลแขวงดุสิต) เข้าซอยไปประมาณ 600 เมตร ถึงวัดกระจัง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดกระจังจัดงานเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่สม่ำเสมอ หน่วยงานราชการในที่ดินวัด ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (สังกัด กทม. ตั้งอยู่บนศาลาการเปรียญ) ศูนย์สุขภาพชุมชน (สังกัด กทม. ในอาคารสร้างใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.)  

หมายเลขโทรศัพท์ของวัดกระจัง 02-448-6667

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดกระจัง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกระจังเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ฝั่งด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดทอง (อยู่ห่างจากวัดทองมาทางทิศตะวันตกประมาณ 100 เมตร) อยู่ห่างจากคลองชักพระไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่หนาแน่นสลับกับพื้นที่สวน ทิศใต้ติดกับคลองบางระมาด

ทางน้ำ

คลองบางระมาด, แม่น้ำเจ้าพระยา

สภาพธรณีวิทยา

ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 84) ได้สำรวจวัดกระจัง ศึกษาเสมาและหลังคาอุโบสถ แล้วสันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย นอกจากนี้ยังพบธรรมาสน์บนศาลาการเปรียญ เป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์

ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ

ผลการศึกษา :

ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549) สำรวจและศึกษาวัดโบราณในคลองบางระมาด และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณ

ชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ผลการศึกษา :

รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ

ผลการศึกษา :

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบัน

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดกระจังเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ฝั่งด้านทิศเหนือ ใกล้กับวัดทอง (อยู่ห่างจากวัดทองมาทางทิศตะวันตกประมาณ 100 เมตร) อยู่ห่างจากคลองชักพระไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.5 กิโลเมตร

วัดกระจัง เป็นวัดเล็กขนาดเล็ก ใกล้กับวัดกระจังที่มีสวนคั่นคือ วัดกระดังงา สองวัดนี้ชาวบ้านถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้อง แต่ปัจจุบันวัดกระดังงากลายเป็นวัดร้างและมีชาวบ้านเข้าไปอยู่อาศัยในบริเวณวัด

ตามประวัติวัดฉบับกรมการศาสนาระบุว่าวัดกระจังสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2326 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง สันนิฐานว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาราว พ.ศ.2330 สันนิษฐานว่าน่าจะมีผู้ยกที่ดินให้เป็นที่สร้างวัดและชาวบ้านละแวกนั้นร่วมกันสร้างขึ้นมา (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 166)

พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปในอุโบสถ พระเกจิอาจารย์มีพระครูสังฆรักษ์ (ต่วน) อดีตเจ้าอาวาส เป็นที่เคารพบูชา

ลำดับเจ้าอาวาส พระอาจารย์แย, พระครูสังฆรักษ์ (ต่วน), พระสมุห์ฟุ้ง วิจารธมฺโม พ.ศ.2508-2547, พระครูสิทธิพัฒนคุณ (พรพรหม จิตคุโณ)

สิ่งสำคัญภายในวัด (ศรันย์ ทองปาน 2549? : 60-61) ได้แก่

อุโบสถ ตั้งอยู่ติดกับคลองบางระมาด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนานไปกับคลอง ในปี พ.ศ.2513 ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 84) กล่าวถึงอุโบสถวัดกระจังว่า “เป็นอุโบสถแบบเก่า สังเกตจากฐานเสมาเป็นแบบอยุธยาตอนปลาย และยังคงใช้กระเบื้องลอนอยู่ อันเป็นแบบอยุธยาแท้ๆ” อุโบสถหลังดังกล่าวถูกรื้อในราว พ.ศ.2521 และสร้างใหม่เป็นอุโบสถคอนกรีต มีหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง ประตูด้านหน้า 2 ช่อง ด้านหลัง 1 ช่อง

เสมารอบอุโบสถเดิมเข้าใจว่าเป็นหินทรายแดง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนเสมาใหม่ เสมาเดิมพร้อมฐานถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ริมกำแพงวัด

พระพุทธรูปภายในอุโบสถคงมีอยู่มาตั้งแต่อุโบสถหลังเดิม พระประธานเป็นพระปางสมาธิ มีพระพุทธรูปเก่าบนฐานชุกชีอีกเกือบ 20 องค์ ทั้งหมดคงเป็นพระพุทธรูปหินทราย

ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ (ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ) เป็นอาคาร 2 ชั้น ขั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างเป็นคอนกรีต คงปรับปรุงมาจากศาลาการเปรียญไม้หลังเดิม เมื่อ พ.ศ.2521

ด้านหลังศาลาการเปรียญเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนชุมชนของกรุงเทพมหานคร บนศาลามีธรรมาสน์เก่า ฐาน 8 เหลี่ยม รอบฐานเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ แต่สภาพปัจจุบันต้องถอดส่วนยอดวางไว้ด้านข้าง อาจเป็นเพราะสูงเกินกว่าเพดาน

วิหารอดีตเจ้าอาวาส ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลาการเปรียญ ริมคลองบางระมาด เป็นอาคารคอนกรีตประดิษฐานรูปอดีตเจ้าอาวาส ได้แก่ พระอาจารย์แย้ม และพระครูสังฆรักษ์ (ต่วน)

กุฏิ ตั้งอยู่ฝั่งด้านทิศตะวันตกของวัด (มีคลองคั่นแยกเขตสังฆาวาสออกจากเขตพุทธาวาส) เป็นกุฏิไม้ชั้นเดียว ทรงไทย ยกพื้น

หอระฆัง หอระฆังเก่าสร้างด้วยไม้สักแบบโบราณ เครื่องบนตัวลำยองสลักไม้ ส่วนหอระฆังใหม่ก่ออิฐ ถือปูน มีเสามุมละ 3 ต้น 4 มุม รวมเป็น 12 ต้น ตกแต่งประดับประดาอย่างงดงาม (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 166)

ข้างศาลาท่าน้ำของวัดมีรูปปั้นเสด็จอินทร์และเสด็จยมที่ชาวบ้านนับถือ เสด็จอินคือพระอินทร์ส่วนเสด็จยมคือยมบาล

แต่เดิมในท้องถิ่นตลิ่งชันนิยมตั้ง “ปะรำ” หรือ “เมรุลอย” ขึ้นชั่วคราว เฉพาะช่วงที่จะมีพิธีฌาปนกิจ นับแต่การก่อสร้าง “เมรุเผาศพ” หรือฌาปนสถานถาวรที่แพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ชิ้นส่วนของปะรำถูกปล่อยทิ้งให้ผุพังอยู่ตามใต้ถุน บางวัดก็ยกไม้ให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปใช้

ดังนั้นในเดือนมีนาคม 2548 เมื่อจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพพระสมุห์ฟุ้ง วิจารณธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดกระจัง ซึ่งท่านเป็นช่างที่มีฝีมือทางการตั้งปะรำมาก่อน แต่วัดกระจังไม่มีเมรุเผาศพ จึงต้องไปขอยืมปะรำจากวัดโกมุทพุทธรังสี เขตทวีวัฒนา มาตั้งเป็นเมรุลอยในการประกอบพิธี (วิชญดา ทองแดง และศรันย์ ทองปาน 2555 : 121)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล, สมศักดิ์ แก้วนุช

บรรณานุกรม

กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.

ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.

ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.

ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระสมุห์ฟุ้ง วิจารธมฺโม. อดีตเจ้าอาวาสวัดกระจัง 27 มีนาคม 2548. กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2548.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง