โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดสมรโกฐ, วัดสมรโกษ
ที่ตั้ง : เลขที่ 12 ซ.วัดสมรโกฏิ ถ.ราชพฤกษ์ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน
ตำบล : ฉิมพลี
อำเภอ : เขตตลิ่งชัน
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.773079 N, 100.444999 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองชักพระ, คลองบางระมาด
จากแยกที่ถนนราชพฤกษ์ตัดกับถนนบรมราชชนนี ให้ใช้ถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนเพชรเกษม ประมาณ 350 เมตร พบซอยวัดสมรโกฏิทางซ้ายมือ (มีซุ้มประตูวัด) ไปตามถนนในปซอยประมาณ 500 เมตร ถึงวัด (มีป้ายบอกตลอดทาง)
งานประจำปีที่สำคัญของวัดคืองานปิดทองหลวงพ่อดำ จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม
ในสมัยที่พระมหาทันเป็นเจ้าอาวาสและช่วงก่อนหน้านั้น คือราว พ.ศ. 2495-2540 วัดนี้จะจัดงานตามประเพณีตลอดปี ชาวสวนแถบนี้ โดยเฉพาะหมู่ 1 และหมู่ 3 จะข้ามคลองบางระมาดมาร่วมงานวัดนี้เป็นประจำ เพราะอยู่ใกล้ที่สุด แต่ปัจจุบันได้งดกิจกรรมบางอย่างลง
หมายเลขโทรศัพท์ของวัดสมรโกฏิ 02-418-5028
วัดสมรโกฏิ
วัดสมรโกฏิเป็นวัดที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ฝั่งด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออกของวัดติดกับคลองสายเล็กๆ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง โดยรอบวัดเป็นชุมชนเมือง มีบ้านเรือนราษฎรและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แทรกสลับกับพื้นที่สวน ทิศใต้ติดกับคลองบางระมาด ตั้งอยู่ห่างจากวัดมณฑปมาทางทิศตะวันตกประมาณ 350 เมตร ห่างจากวัดทองมาทางทิศตะวันออกประมาณ 300 เมตร และห่างจากคลองชักพระมาทางทิศตะวันตกประมาณ 950 เมตร
คลองบางระมาด, คลองชักพระ, แม่น้ำเจ้าพระยา
ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบางกอกหรือที่ราบลุ่มกรุงเทพ เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary Period)
ชื่อผู้ศึกษา : ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประยูร อุลุชาฏะ (2514 : 83) สำรวจวัดในตลิ่งชันและกล่าวถึง “วัดสมรโกฐ” ว่า “เข้าคลองอยู่ฝั่งขวามือเช่นเดียวกับวัดต่างๆ อันผ่านมาแล้ว พระอุโบสถและพระวิหารเล็กๆ ตั้งอยู่คู่เคียงกันขนานกับลำคลอง ผนังหลังอุดต้น หน้าบันปูนปั้นประดับด้วยถ้วยชาม ดูไม่ออกว่าเป็นวัดมีความสำคัญมาแต่อดีตแค่ไหน ด้วยถูกปฏิสังขรณ์เสียหมดทั้งวัด”ชื่อผู้ศึกษา : ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549?
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
ศรัณย์ ทองปาน (2549?) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน เสนอต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์ศิลปะ
ผลการศึกษา :
ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549) สำรวจและศึกษาวัดโบราณในคลองบางระมาด และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเมืองโบราณชื่อผู้ศึกษา : วลัยลักษณ์ ทรงศิริ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ผลการศึกษา :
รวบรวมและศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ทางสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่เขตตลิ่งชัน เสนอเป็นรายงานวิจัย “ศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน” ต่อศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)ชื่อผู้ศึกษา : วิชญดา ทองแดง, ศรัณย์ ทองปาน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555
วิธีศึกษา : สำรวจ, ประวัติศาสตร์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : เมืองโบราณ
ผลการศึกษา :
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน (2555) รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์รวมถึงข้อมูลต่างๆ ของวัด และสำรวจบันทึกสภาพปัจจุบันวัดสมรโกฏิเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาดฝั่งด้านทิศเหนือ ในประวัติฉบับกรมการศาสนากล่าวว่า วัดสมรโกฏิสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ.2294 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2319
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดสมรโกฏิคงเป็นสำนักเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ดังปรากฏว่าเมื่อปีขาล โทศก จ.ศ.1192 (พ.ศ.2373) ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีพระสงฆ์รูปหนึ่งจากวัดสมรโกฏิ บางระมาด (ในเอกสารโบราณเขียนว่า “วัดสมรโกษบางลมาศ”) เล่าเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ได้จนถึงชั้นเอก (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 81)
ลำดับเจ้าอาวาส (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 81) เจ้าอาวาสรูปที่ 1-6 ไม่ทราบนามและประวัติ, พระอธิการเฑียร ดำรงตำแหน่งถึง พ.ศ.2468, พระอธิการบอน อมโร พ.ศ.2470-2490, พระมหาลมูล พ.ศ.2493-2500, พระครูโสภณสาธุวัฒน์ (ทัน ยุตติธมฺโม) พ.ศ.2504-2540 (ลาสิกขา), พระปลัดบุญชู เตชวโร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2541 ถึงปัจจุบัน
ในสมัยที่พระมหาทันเป็นเจ้าอาวาสและช่วงก่อนหน้านั้น ประมาณ พ.ศ.2495-2540 วัดนี้จะจัดงานตามประเพณีตลอดปี ชาวสวนแถบนี้ โดยเฉพาะหมู่ 1 และหมู่ 3 จะข้ามคลองบางระมาดมาร่วมงานวัดนี้เป็นประจำ เพราะอยู่ใกล้ที่สุด แต่เมื่อถึงประมาณปี พ.ศ. 2543 เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ปรับปรุงอุโบสถใหม่โดยใช้สกอตไบรท์ขัดภาพจิตรกรรมฝาผนังออกและปูวอลเปเปอร์แทน (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 164)
สถานที่สำคัญภายในวัด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 82-83) ได้แก่
อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก ตั้งขนานไปกับคลองบางระมาด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ออกสู่คลองสายเล็กๆ ด้านข้างวัด มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ประตูด้านหน้า 2 ช่อง ด้านหลังไม่มีประตู อย่างที่เรียกกันว่า “โบสถ์มหาอุตม์”
ผนังด้านหลังภายนอกติดแผ่นหินอ่อน จารึกการบูรณะใน พ.ศ.2538 ซึ่งได้เปลี่ยนลวดลายหน้าบัน จากเดิมประยูร อุลุชาฏะ บันทึกไว้เมื่อครั้งที่มาสำรวจใน พ.ศ.2513 ว่า “หน้าบันปูนปั้นประดับด้วยถ้วยชาม” มาเป็นลายปูนปั้นรูปธรรมจักรดังเช่นปัจจุบัน
ด้านหน้ามีมุข หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร ยืนบนนาค ด้านล่างมีตัวหนังสือ “มุขสามัคคี สร้าง พ.ศ.๒๕๐๐” ซึ่งในแผ่นจารึกดังกล่าวก็ระบุว่า เดิมไม่มีมุข เพิ่งสร้างเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ.2500
[จารึกทั้งแผ่นมีข้อความว่า “อุโบสถหลังนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณอยุธยาตอนปลาย เดิมไม่มีหน้ามุข มาต่อเติมหน้ามุขเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ และปรับปรุงกระเบื้องมุงหลังคาใหม่ เนื่องจากกระเบื้องเก่าทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เดิมเป็นกระเบื้องมอญจึงได้เปลี่ยนเป็นกระเบื้องปูนเกล็ดปลา เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ในสมัยอดีตเจ้าอาวาส และต่อมากระเบื้องปูนเกล็ดปลาก็ได้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาอีก อีกหลายๆ อย่างทรุดโทรมไปตามๆ กัน จึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ให้มั่นคงถาวร ดังต่อไปนี้
๑.เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาจากกระเบื้องปูนเกล็ดปลาเป็นกาบกล้วย
๒.ภายอุโบสถทำฝ้าเพดานขึ้นใหม่ (คงตกคำว่า “ใน” เป็น “ภายใน”)
๓.พื้นอุโบสถเดิมเป็นกระเบื้องปูน เปลี่นเป็นกระเบื้องคัมพานา
๔.ชุกชีพระประธานสร้างใหม่เนื่องจากของเดิมมีขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับอุโฐสถใหม่ ได้ถวายพระนามว่า “พระธนนายก”
๕.สร้างลายหน้าบันด้านหลังอุโบสถใหม่
โดยใช้ทุนบูรณะปฏิสังขรณ์จากกฐิน ผ้าป่า ทุนต่างเจ้าของและเงินทุนอุดหนุนวัดจากกรมศาสนา...(รายชื่อผู้บริจาค)...รวมค่าใช้จ่ายบูรณะปฏิสังขรณ์ประมาณเจ็ดแสนบาทเศษ
พระครูโสภณสาธุวัฒน์ (พระมหาทัน ยุตตธมฺโม)
เจ้าอาวาสวัดสมรโกฏิ พุทธศักราช ๒๕๓๘”]
ภายในอุโบสถประดิษฐาน “พระธนนายก” พระพุทธรูปประธานแบบสุโขทัย ปางมารวิชัย ลักษณะพระพักตร์ยิ้มแย้ม อิ่มเอิบ คล้ายคลึงกับพระประธานสมัยปลายอยุธยาที่วัดจำปา เดิมอาจมีจิตรกรรมฝาผนังแต่การบูรณะเมื่อ พ.ศ.2543 ได้มีการนำภาพจิตรกิรรมออกและปูวอลเปเปอร์แทน (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 164)
สิ่งที่น่าสนใจของอุโบสถหลังนี้คือ อกเลาประตู เป็นไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ เช่น พระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ครุฑ มีภาพจับและรูปสัตว์เล็กๆ แทรกอยู่ โดยรูปแบบศิลปะน่าจะเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันสภาพลบเลือนตามกาลเวลา ทั้งยังถูกทาสีทองทับจนหนา
ด้านหลังบานประตูหน้าต่าง เขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปเทพทวารบาล ยืนถือพระขรรค์ น่าจะมีอายุราวสมัยรัชกาลที่ 4-5
เสมารอบอุโบสถคงเป็นของเก่า น่าจะสลักขึ้นจากหิน แต่มาปั้นปูนทับ แล้วทาสีขาวหมดทุกใบ ตั้งอยู่บนฐานเตี้ยๆ ประดับลวดลายง่ายๆ เอวเสมาเป็นกระหนกเล็กๆ งอนขึ้น ส่วนใบเสมาเอกด้านหน้าอุโบสถเป็นเมาแบบที่เรียกว่า “เสมาโหล” สลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ถูกปิดประดับด้วยกระจกสีจนหมด (ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 82 ; ประภัสสร์ ชูวิเชียร 2549 : 81)
วิหาร ตั้งอยู่ในกำแพงแก้วเคียงคู่กับอุโบสถด้านทิศเหนือ มีขนาดใกล้เคียงกับอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ออกสู่คลองสายเล็กๆ ด้านข้างวัด
หน้าบันปั้นปูนทาสีเป็นลายธรรมจักร มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง มีประตูด้านหน้า 1 ช่อง ไม่มีประตูหลัง มีจารึกติดอยู่ที่ผนังด้านหน้าระบุว่ามีการบูรณะวิหารระหว่างปี 2524-2527 และได้สร้างเพดานวิหารขึ้นในการบูรณะครั้งนั้น มีแผ่นหินอ่อนสลักประวัติที่ทำขึ้นใหม่กล่าวว่า วิหารนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ.2274 ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
วิหารหลังนี้เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวบ้านในละแวกนี้ เพิ่งมีการลงรักปิดทองหลวงพ่อดำใหม่ทั้งองค์เมื่อ พ.ศ.2548 น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมหลวงพ่อดำวัดสมรโกฏินั้นมีลักษณะสีดำ ไม่สะดุดตา ปรากฏร่องรอยผุผัง ชำรุด จึงมีการซ่อมแซมบูรณะ ด้วยการลงรักปิดทอง
ด้านหน้าเบื้องซ้ายของวิหาร (ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวิหาร) ภายในกำแพงแก้ว มีพระปรางค์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง
ประภัสสร์ ชูวิเชียร (2549 : 81) สันนิษฐานว่าอุโบสถและวิหารน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ศาลาการเปรียญ ตั้งอยู่ริมคลองบางระมาด ทางด้านใต้ของอุโบสถ เป็นอาคารไม้ทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.2499 บูรณะเมื่อ พ.ศ.2530 ภายในมีธรรมาสน์ ซึ่งมีจารึกอยู่บนพนักพิงหลังว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2459
โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกเขตสังฆาวาส สร้างใน พ.ศ.2535 ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับญาติโยมด้วย
หอระฆัง มีการบูรณะใหม่แต่ยังคงลักษณะเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552 : 164)
หมู่กุฏิ เป็นอาคารไม้เรือนไทย
เดิมวัดแห่งนี้ไม่มีถนนเข้าวัด มีเพียงทางเดินจากถนนบรมราชชนนี หรือจากวัดมณฑป ในปี 2546-2547 ชาวบ้านจึงร่วมใจกันบริจาคที่ดินของตนเพื่อตัดถนนจากถนนตัดใหม่คือถนนราชพฤกษ์เข้าสู่ (ซอยวัดสมรโกฏิ) และทำซุ้มประตูวัดขึ้นใหม่
กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรุงเทพฯ. กรมการศาสนา 2526.
“บัญชีภิกษุสามเณรที่เล่าสูตรกจฺจายนได้จบบริบูรณ์” ใน จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เล่ม 1. กรุงเทพฯ : หจก.สหประชาพานิชย์, 2530.
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. “วัดโบราณในคลองบางระมาด.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 73-88.
ประยูร อุลุชาฏะ (น. ณ ปากน้ำ). ศิลปกรรมในบางกอก. พระนคร ; เกษมบรรณกิจ, 2514.
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555.
ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549?.
ศรัณย์ ทองปาน และวิชญดา ทองแดง. “ชุมทางตลิ่งชัน.” เมืองโบราณ 32, 4 (ต.ค.-ธ.ค. 2549) : 43-57.