โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021
ที่ตั้ง : ม.2-4 บ้านดอนเตาอิฐ
ตำบล : ปึกเตียน
อำเภอ : ท่ายาง
จังหวัด : เพชรบุรี
พิกัด DD : 12.933198 N, 100.006395 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี, อ่าวไทย
เขตลุ่มน้ำรอง : ลำน้ำหนองนกทอง, คลองตากบ
จากตัวเมืองเพชรบุรี ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าลงทิศใต้ ผ่านแยกท่ายาง เมื่อเลยแยกท่ายางมาประมาณ3.3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3499 มุ่งหน้าปึกเตียน ไปตามถนนประมาณ 10.2 กิโลเมตร ให้เลี้ยวขวาไปตามถนนอีก 1.5 กิโลเมตร จนสุดทางซึ่งเป็นสามแยก ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีก 1.3 กิโลเมตร จะพบโรงเรียนบ้านดอนเตาอิฐ แหล่งโบราณคดีอยู่ระหว่างวัดดอนเตาอิฐ แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ระหว่างวัดกับโรงเรียน
ในอดีตบ้านดอนเตาอิฐเป็นที่รกร้าง จนเมื่อปี พ.ศ.2508 ได้มีชาวบ้านเข้ามาตั้งถิ่นฐานจนพัฒนาขึ้นเป็นหมู่บ้าน ปัจจุบันมีโรงเรียนและวัดดอนเตาอิฐเป็นศูนย์กลางชุมชน เนินโบราณสถานตั้งอยู่ด้านหลังโรงเรียน โดยอยู่ระหว่างโรงเรียนกับวัด มีลักษณะเป็นที่ดอนกว้างใหญ่ ขนาดประมาณ 100 ไร่ มีล้ำน้ำหนองนกทองไหลผ่านด้านทิศตะวันตก แต่ลำน้ำนี้ปัจจุบันตื้นเขินแล้ว
ลำน้ำหนองนกทอง, คลองตากบ
ในอดีต (สมัยโฮโลซีนตอนต้น) พื้นที่บริเวณแหล่งโบราณคดีเป็นแนวชายหาดหรือแนวสันทราย ปัจจุบันเป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ล้อมรอบด้วยที่ราบน้ำขึ้นถึงเดิม (Old tidal flat) มีลำน้ำหนองนกทองอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของแหล่ง ปัจจุบันลำน้ำนี้ตื้นเขิน ห่างออกไปทางด้านทิศใต้ มีคลองตากบที่ไหลลงสู่ทะเล ปัจจุบันบ้านดอนเตาอิฐตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร
ชื่อผู้ศึกษา : ฉัตรชัย อักษรศิลป์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2533 ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ สำรวจทางโบราณคดีบริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านดอนเตาอิฐพบเนินโบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐ เศษอิฐ เศษภาชนะดินเผา ลูกปัดหิน แท่นหินบด และกระดูกสัตว์ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2536 ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจแหล่งโบราณคดีแห่งนี้อีกครั้ง ดังปรากฏในรายงานการศึกษาและการสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี (อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี 2541: 65)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
พ.ศ.2540 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร สำรวจทางโบราณคดีบ้านใหม่เพิ่มเติมเนื่องในโครงการจัดทำแผนแม่บทเพื่ออนุรักษ์พัฒนาเมืองคูบัวจากการสำรวจพบเนินโบราณสถาน โดยมีลักษณะเป็นเนินดินมีวัชพืชปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางเนินประมาณ 10 เมตร สูง 1 เมตร บนเนินพบเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป (ขนาดกว้าง 12 ซ.ม. หนา 6 ซ.ม.) ในเนื้ออิฐมีแกลบข้าวปนอยู่มาก
ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีการขุดทำลายเนินแห่งนี้แล้ว (ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ 2533 : 53) ลึกประมาณ 3 เมตร เพื่อนำอิฐไปสร้างพระอุโบสถของวัดแห่งหนึ่ง และใน พ.ศ.2530 วัดดอนเตาอิฐได้นำเอารถไถปาดบนเนิน ทำให้โบราณสถานเสียหายมาก อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่าเนินแห่งนี้เป็นเตาอิฐสมัยโบราณ จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “บ้านดอนเตาอิฐ”
แต่จากการสำรวจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งก่อสร้างภายในเนินแห่งนี้ เป็นศาสนสถานที่ก่อด้วยอิฐหรือเป็นเตาเผาอิฐ
โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจ พบหนาแน่นในพื้นที่ด้านทิศตะวันตกของเนิน โบราณวัตถุบางส่วนถูกเก็บไว้ที่วัดบรรพตาวาส (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี 2541 : 69) โบราณวัตถุที่ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ (2533 : 53-57) สำรวจพบ มีดังนี้
1.เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เนื้อค่อนข้างหยาบ มีทรายและกรวดปน พบทั้งส่วนปาก ลำตัว สัน พวย ก้น เชิง โดยเฉพาะสันพบมากและมีหลากหลายรูปแบบ ภาชนะดินเผาแบบมีสันมีการใช้อย่างแพร่หลายในชุมชนวัฒนธรรมทวารวดี การตกแต่งผิวภาชนะที่พบมีลายคดโค้งคล้ายคลื่น ลายขุดเป็นเส้นขนาน ลายก้างปลา และภาชนะขัดมัน
2.เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) เป็นชิ้นส่วนก้นภาชนะ 1 ชิ้น ด้านนอกเป็นลายขุดเป็นร่อง คล้ายกับภาชนะดินเผาที่ผลิตจากเตาเผาบ้านบางปูน จ.สุพรรณบุรี
3.เครื่องถ้วยจีน (Chinese Porcelain) ลักษณะเป็นกระปุกเคลือบสีขาว สมัยราชวงศ์ซ้อง (พุทธศตวรรษที่ 17-18) เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่ผลิตจากเตาซัวโถวและเตาครัวชิง (อยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย
4.ลูกปัดหินสีขาวสลับน้ำตาล ทำจากหินอาเกต ขนาดยาว 3 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 1เซนติเมตร
5.จุกดินเผา หรือตราประทับ
6.แท่นหินบด ทำจากหินทราย
7.กระดูกสัตว์ ประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กวาง วัว ช้าง
หลักฐานจากการสำรวจ สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณบ้านดอนเตาอิฐน่าจะเป็นชุมชนโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี และมีการอยู่อาศัยมาจนสมัยอยุธยา ภายในชุมชนสมัยทวารวดีปรากฏร่องรอยสิ่งก่อสร้างที่ก่อด้วยอิฐ (ยังไม่ทราบสัณฐานที่แน่ชัด)
เมื่อพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนนี้ที่อยู่ชายฝั่งและมีทางน้ำเชื่อมต่อกับทะเล จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชุมชนชายฝั่งทะเลที่อยู่ในเส้นทางการเดินเรือเลียบชายฝั่ง มีการติดต่อกับคนต่างถิ่นและชุมชนระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะทางเรือที่เข้ามาติดต่อค้าขายหรือแวะพักรายทาง
ฉัตรชัย อักษรศิลป์ และคณะ. การสำรวจและศึกษาร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวารวดีในจังหวัดเพชรบุรี. เอกสารประกอบการสัมมนาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี. รายงานการศึกษาและสำรวจทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมทวารวดี จังหวัดเพชรบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). อ้างถึงใน สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.
ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม [Online]. Accessed 30 March 2011. Available from http://www.gis.finearts.go.th
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. คูบัว : ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2541.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี. ทุ่งเศรษฐี : โบราณสถานทวารวดี ชายฝั่งทะเลเพชรบุรี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2543.