ปราสาทพนมรุ้ง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ที่ตั้ง : บ้านตาเป๊ก ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ

ตำบล : ตาเป๊ก

อำเภอ : เฉลิมพระเกียรติ

จังหวัด : บุรีรัมย์

พิกัด DD : 14.531869 N, 102.940326 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำปะเทีย, ห้วยปูน, ห้วยสลักได, ห้วยน้ำขุ่น

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 และ 2 ระยะทาง 295 กิโลเมตร จากนครราชสีมาถึงอำเภอนางรอง ระยะทางประมาณ 101 กิโลเมตร จากอำเภอนางรองมาทางบ้านตะโกตามทางหลวงหมายเลข 24 สายโชคชัย-เดชอุดม จะมีทางแยกขวามือเป็นเส้นทางสู่พนมรุ้ง เป็นถนนลาดยางระยะทาง 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางนี้จะมีถนนตัดใหม่ชื่อ หิรัณยวิถี ซึ่งเป็นถนนขึ้นสู่ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง หากมาจากทางอำเภอประโคนชัย มีเส้นทางหลวงผ่านบ้านจระเข้มาก ผ่านปราสาทเมืองต่ำขึ้นสู่เขาพนมรุ้ง เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปราสาทพนมรุ้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.  

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 150 บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมโบราณสถานในจังหวัดบุรีรัมย์ได้  ได้แก่ โบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทร. โทร. 044-782-715, 044-782-717

กำหนดการณ์ชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกทะลุ 15 ช่องประตู ณ ปราสาทหินเขาพนมรุ้งของทุกๆปี

     • ครั้งที่ 1 – พระอาทิตย์ ตก 4-6 มีนาคม เวลา~17.58

     • ครั้งที่ 2 – พระอาทิตย์ ขึ้น 1-5 เมษายน เวลา~05.56

     • ครั้งที่ 3 – พระอาทิตย์ ขึ้น 8-10 กันยายน ~05.58

     • ครั้งที่ 4 – พระอาทิตย์ ตก 4-6 มีนาคม เวลา~17.58

โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว ณ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ดังนั้นวันและเวลาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงและขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาลด้วย

 

งานเทศกาลที่สำคัญประจำปีของปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ จะจัดขึ้นทุกปีในช่วงวันที่ วันที่ 3 - 5 เมษายน โดยสถานที่จัดงาน: ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยภายในงานจะมีกิจกรรมสำคัญโดดเด่น ที่จัดให้มีขึ้นภายในงาน เช่น

• การชมแสงอาทิตย์ส่องลอด 15 ประตูของปราสาทพนมรุ้ง(ดวงอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3 - 4 - 5 เมษายน เวลา 06.00 น.)

• พิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย

• ชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี และ นางจริยา นำเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย เทพพาหนะทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยโคมไฟและธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ

- การแสดง แสง เสียง ชุด "งานรมยคีรีราตรีแห่งวนัมรุง"

- การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านรับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเนอร์

- การแสดงตลาดนัดโบราณและสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดบุรีรัมย์

- พร้อมทั้งกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายตลอดการจัดงาน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

-ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3689 วันที่ 8 มีนาคม 2478 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ

-ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 93 ตอนที่ 141 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2519

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

ปราสาทพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่ง ขุดค้น บูรณปฏิสังขรณ์ ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นภูเขาไฟเก่าและเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาพนมดงรัก พื้นที่โดยรอบปราสาทเป็นนาข้าวและหมู่บ้านกระจายกันอยู่ทั่วไป 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

366 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยปูน, ห้วยสลักได, ห้วยน้ำขุ่น, ลำปะเทีย, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาลูกโดด บริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนา สัณฐานภูเขาเมื่อมองจากที่ราบคล้ายกับกรวยคว่ำ บริเวณยอดเป็นที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้ง เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วแต่ยังคงสัณฐานภูเขาไฟให้เห็น เป็นผลจากกระบวนการแปรสัณฐานในยุคเทอร์เชียรี ส่งแรงดึงกระทำต่อบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จนเกิดลาวาไหลขึ้นกลางแผ่นทวีปปิดทับบนหินทรายและหินทรายแป้งปนกรวดของหมวดหินโคกกรวด เมื่อเย็นตัวกลายเป็นหินบะซอลท์ชนิดฮาวายไอต์สีเทาดำ มักแสดงให้เห็นการไหลของลาวา บริเวณยอดเขาพบหินตะกรันภูเขาไฟ (scoria) และหินบอมบ์ภูเขาไฟหลายขนาด ความลาดชันของพื้นที่มีลักษณะราบตอนบนของเนินเขาส่วนตอนกลางของเนินเขาเป็นหลุมมีน้ำขังในลักษณะของสระน้ำตามธรรมชาติ ทางทิศตะวันตกของสระน้ำเป็นหน้าผาประกอบด้วยหินตะกรันภูเขาไฟ (scoria) เชื่อมตัวติดกับหินบะซอลท์ที่แน่นทึบปะปนกันไปและมีสีค่อนข้างแดงซึ่งแสดงถึงการประทุขึ้นมาอย่างรวดเร็วและมีฟองก๊าซมาก

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยเมืองพระนคร

อายุทางโบราณคดี

กลางพุทธศตวรรษที่ 15 - พุทธศตวรรษที่ 17

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : เอเตียน แอมอนิเยร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2428

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

สำรวจและทำการรวบรวมรายละเอียดทางโบราณคดีของประเทศกัมพูชาและสำรวจที่ปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทพนมรุ้งจึงปรากฏบทความตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2445

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2449

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

เสด็จมาพนมรุ้งและทรงนิพนธ์เรื่องปราสาทพนมรุ้ง ไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2463

ชื่อผู้ศึกษา : ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2449

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

พันเอกเอเตียน เอ็ดมองต์ ลูเนต์ เดอ ลาจองกิแยร์ เขียนหนังสือ Inventaire Descriptif des monuments du Cambodge

ชื่อผู้ศึกษา : กรู๊ท, เฮล, เอ เอฟ จี คาร์, ประเสริฐ สารสิน

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2451, พ.ศ.2462

วิธีศึกษา : สำรวจ

ผลการศึกษา :

นายกรู๊ท และนายเฮล, ดร. เอ เอฟ จี คาร์, หลวงประเสริฐ สารสิน ถ่ายภาพ (ทั้งหมดเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ) และบันทึกเรื่องราวในบทความชื่อ A Siamese account of the construction of the temple on khao Phnom Rung พิมพ์ในวารสารสยามสมาคมปี พ.ศ.2476

ชื่อผู้ศึกษา : ยอร์ช เซเดส์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2463, พ.ศ.2509

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

ผลการศึกษา :

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ศึกษาจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้ง มี 7 หลัก และตีพิมพ์ในหนังสือ Inscription du Cambodge

ชื่อผู้ศึกษา : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (จารึกภาษาตะวันออก) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521.

ชื่อผู้ศึกษา : ชะเอม แก้วคล้าย, อำไพ คำโท

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2521

วิธีศึกษา : ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ชะเอม แก้วคล้าย (2529 ; 2530) อำไพ คำโท (2529) เผยแพร่ผลการศึกษาจารึกพนมรุ้ง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทพนมรุ้ง เป็นปราสาทที่สร้างบนภูเขาไฟที่มอดแล้ว ชื่อปราสาทพนมรุ้งมาจากจารึกภาษาเขมรปรากฏชื่อ “วนํรุง” แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่ ซึ่งคงแผลงเป็นพนมรุ้งในปัจจุบัน ได้พบจารึกภาษาสันสกฤตระบุชื่อว่า “สถูลาทริ” และ “สถูลไศล” แปลว่าภูเขาอันกว้างใหญ่เช่นกัน ดังนั้นชื่อดั้งเดิมของปราสาทแห่งนี้ก็คือ ชื่อ “วนํรุ้ง” ตามจารึกภาษาเขมร (รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง 2548 : 136) เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูไศวนิกาย เนื่องจากภายในห้องครรภคฤหะประดิษฐานศิวลึงค์ อันเป็นตัวแทนของพระศิวะ และจารึกกล่าวถึง ปาศุปตะ อันเป็นลัทธิหนึ่งในไศวนิกาย ดังนั้นศาสนสถานแห่งนี้จึงสร้างอุทิศถวายให้กับพระศิวะ เปรียบเหมือนทิพยพิมานของพระศิวะเหนือยอดเขาไกรลาส

ปราสาทพนมรุ้งเป็นปราสาทที่สร้างด้วยศิลาทรายและศิลาแลง แผนผังทั้งหมดของปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นลักษณะวิ่งเข้าจุดศูนย์กลาง หรือปราสาทประธาน มีการก่อสร้างศาสนสถานบนไหล่เขาซึ่งประกอบด้วยทางเดินซึ่งปักเสานางเรียงขนาบสองข้าง มีสะพานนาคราช และบันไดอันมีตระพักสี่ชั้นเชื่อต่อระหว่างกลุ่มอาคารบนยอดภูเขากับอาคารที่อยู่ปลายสุดด้านล่างของทางเดินนั้นซึ่งเรียกว่า “โรงช้างเผือก”

กลุ่มอาคารหลักซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาอันประกอบด้วยประสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือพลับพลาทางเข้าประกอบทั้งสี่ด้าน ภายในระเบียงคดมีอาคารขนาดเล็กซึ่งมีขนาดแตกต่างกัน ประกอบด้วย ปรางค์น้อย ตั้งอยู่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ บรรณาลัยสองหลังหลังหนึ่งอยู่มุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกหลังหนึ่งอยู่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสองหลังหันหน้าสู่ทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีซากอาคารก่ออิฐสองหลังอยู่ทางด้านทิศเหนือของปราสาทประธาน หลังแรกหันไปทางทิศตะวันออก ส่วนหลังที่สองหันหน้าไปทางทิศใต้ สำหรับระเบียงคดล้อมรอบอาคารเหล่านี้มีแนวทางเดินโถงหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องล้อมรอบด้านนอกอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งทางเดินดังกล่าวคงเหลือแต่เพียงส่วนฐานเท่านั้น

จารึกที่สำคัญพบที่ปราสาทพนมรุ้ง คือจารึกภาษาสันสกฤต (K.384 และ K.384bis) กล่าวถึงบุคคลนามว่า นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นวีรบุรุษ และบางทีอาจสืบเชื้อสายจากพระสูรยวรมันที่ 2 ภายหลังที่นเรนทราทิตย์ทรงพ่ายแพ้แก่ศัตรูจึงได้เสด็จมาทรงบรรพตเป็นฤาษีที่เขาพนมรุ้งนี้ โดยฤาษีนเรทราทิตย์ทรงมีพระโอรสนามว่าหิรัญยะ ซึ่งเป็นผู้สร้างจารึกนี้เพื่อสรรเสริญบิดา (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. 2536 : 373)

            นอกจากนี้เนื้อความในจารึกหลักอื่นๆ คือจารึก K1067 ระบุ พ.ศ.911 จารึก K1066, 1071, 1072 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ 17 และจารึก 1068 และ 1091 เป็นจารึกรุ่นหลังที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 กล่าวถึงการกัลปนาที่อุทิศทรัพย์สินข้าทาสบริวาร สัตว์ และบริโภคภัณฑ์ แด่กมรกเตงชคตพนมรุ้ง ผู้ซึ่งเป็นเทพเจ้าของภูเขานี้ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. 2536 : 374)

            ทั้งนี้หลักฐานจารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้งก็รับกันดีกับสถาปัตยกรรมที่ประกอบกันขึ้นที่สร้างกันมาตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 15 คือ ปราสาทอิฐสองหลังที่น่าจะเป็นอาคารกลุ่มแรกที่ถูกสร้างขึ้น มีรูปแบบลวดลายของเสาประดับกรอบประตูกำหนดอายุในศิลปะแบบบาแค็งหรือเกาะแกร์ (ราวกลางถึงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15) ส่วนโรงช้างเผือก ที่สร้างอยู่สุดปลายทางเดินด้านล่างอาจเป็นอาคารที่สร้างในลำดับถัดมาจากปราสาทอิฐ เนื่องจากการศึกษาลวดลายที่เสาและลักษณะของเศียรนาคที่กรอบหน้าบันก็อาจกำหนดรูปแบบไว้ว่าตรงกับศิลปะแบบเกรียง (พ.ศ.1500-1550) และต่อมาคงมีการซ่อมแซมในสมัยบายน (พุทธศตวรรษที่ 18)

            สำหรับอาคารทางมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน หรือ ปรางค์น้อย มีรูปแบบของทับหลังที่ผสมผสานระหว่างศิลปะเกียงต่อแบบบาปวน ดังนั้นคงสร้างขึ้นในสมัยศิลปะบาปวนตอนต้น ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16

            ส่วนปราสาทประธาน แสดงรูปแบบศิลปะของลวดลายประดับแบบศิลปะเขมรแบบนครวัด เช่นภาพสลักบนหน้าบัน ทั้งรายละเอียดเครื่องแต่กาย การวางองค์ประกอบของภาพ นอกจากนี้ที่สำคัญคือส่วนยอดที่เป็นทรงพุ่มที่มีพัฒนาการต่อจากยอดทรงพุ่มของปราสาทพิมายแล้ว ดังนั้นจึงกำหนดอายุปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้งไว้ในสมัยนครวัดตอนต้น (ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17)

            ประติมากรรมลอยตัวที่ปราสาทพนมรุ้ง ได้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบศิลปะอันหลากหลายตั้งแต่ศิลปะก่อนเมืองพระนครจนถึงศิลปะสมัยเมืองพระนคร กล่าวคือ รูปพระคเณศ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ตรงกับศิลปะเขมรแบบไพรกเมง อาจเป็นประติมากรรมที่ถูกนำมาประดิษฐานที่นี่ในภายหลังลงมา ส่วนรูปพระพรหมที่พบ จัดอยู่ในศิลปะแบบแปรรูป (ปลายพุทธศตวรรษที่ 15) รูปพระวิษณุในศิลปะแบบบาปวน (ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 16-17) เศียรเทวดาในศิลปะแบบเกาะแกร์ (ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 15) และศิลปะแบบบันทายสรี (ครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16) ประติมากรรมรูปบุษ ศิลปะแบบนครวัด (ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17) นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมศิวลึงค์ ทวารบาล รูปสัตว์ รูปเทพเจ้า เทพธิดา ฤาษี ส่วนใหญ่กำหนดอายุในศิลปะแบบนครวัด มีภาพสลักชีวประวัติของนเรนทราทิตย์อันเป็นภาพสลักการบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แรกสุดก่อนภาพสลักที่ปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชาด้วย

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ความสำคัญของปราสาทพนมรุ้ง คือเป็นปราสาทที่สร้างบนยอดเขาอันหมายถึงเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ตั้งอยู่บนเส้นทางติดต่อระหว่างเมืองพระนครกับปราสาทพิมายบนที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นศาสนสถานซึ่งเป็นศูนย์กลางชุมชนโบราณในดินแดนเขมรสูงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 -18

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข เรียงเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529.

กรมศิลปากร. ปราสาทพนมรุ้ง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วินัย, 2551.

กรมศิลปากร. แผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองพนมรุ้ง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2548.

ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 1” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 : อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 270-272.

ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่พบใหม่ จารึกปราสาทพนมรุ้ง 8.” ศิลปากร 31, 2 (พฤษภาคม-มิถุนายน 2530) : 32-41.

ยอร์ช เซเดส์. “หลักที่ 120 ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์.” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ จาก “Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384).”, ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต. พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513 : 229-232.

ยอร์ช เซเดส์. “ปราสาทหินพนมรุ้ง 7.” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ จาก “Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384).” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 256-174

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548.

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (จารึกภาษาตะวันออก) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2536.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 2.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 126-129.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 3.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 235-243.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 4.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 258-263.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 5.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 269-272.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 6.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 3 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 15-16. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 272-279.

อำไพ คำโท. “ศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ปราสาทหินพนมรุ้ง.” ศิลปากร 26, 4 (กันยายน 2525) : 26-42.

อำไพ คำโท. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 9.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529 : 156-174.

Saveros Pou. “Stele de Phnom Rung (K. 1067).” in Nouvelles Inscriptions du Cambodge II. Paris : École Française d’Extrême-Orient, 1996 : 141-144.

Saveros Pou. “Stele de Phnom Rung (K. 1068).” in Nouvelles Inscriptions du Cambodge II. Paris : École Française d’Extrême-Orient, 1996 : 144-147.

Goerge Cœdès. “Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384).” in Inscriptions du Cambodge vol. V. Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1953 : 297-305.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง