โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดชมชื่น ต.2, วัดชมชื่น, หลุมขุดค้นวัดชมชื่น
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ต.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย
ตำบล : ศรีสัชนาลัย
อำเภอ : ศรีสัชนาลัย
จังหวัด : สุโขทัย
พิกัด DD : 17.42829 N, 99.806277 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ยม
วัดชมชื่นตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม นอกเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาทางทิศตะวันออกประมาณ 400 เมตร
จากอำเภอศรีสัชนาลัย โดยทางหลวงหมายเลข 101 (ศรีสัชนาลัย - สวรรคโลก) ประมาณ 11 กิโลเมตร แยกขวามือข้ามแม่น้ำยมประมาณ 100 เมตร แยกซ้ายมือ (แยกขวามือเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) ไปประมาณ 40 เมตร แยกขวามือเข้าวัดชมชื่น
จากอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มาตามทางสาย 101 ที่ไปสวรรคโลก ระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะตรงเข้าสู่อำเภอศรีสัชนาลัย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยสามารถเดินทางเข้ามาได้หลายวิธี ดังนี้
1. รถโดยสารประจำทาง โดยมีรถประจำทางของบริษัทสุโขทัยวินทัวร์จากกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งหมอชิต)ทุกวัน
2. รถไฟ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์ ลงที่สถานีสวรรคโลก จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทาง
3. เครื่องบิน มีเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ-สุโขทัย วันละ 2 เที่ยว
4. รถส่วนตัว จากตัวเมืองสุโขทัย ใช้ทางหลวงหมายเลข 101 เส้นสุโขทัย-สวรรคโลก-ศรีสัชนาลัย ไปจนถึงระหว่างกิโลเมตรที่ 17 - 19 เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแม่น้ำยม จะมีทางแยกขวาเข้าอุทยานฯ ไป ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นระยะทาง 68 กิโลเมตร หรือ หรือ จากอำเภอสวรรคโลกไปตามทางหลวงหมายเลข 1201 ไปจนถึงตำบลเมืองเก่า บริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำยมแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ อีก 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร
วัดชมชื่น และอาคารอนุรักษ์หลุมขุดค้นวัดชมชื่นเป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานประวัติศาสตร์และมรดกโลกทางวัฒนธรรม
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ
อัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 20 บาท และ 40 บาท (สำหรับบัตรรวม) สามารถเข้าชมภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย วัดชมชื่น และแหล่งอนุรักษ์เตาเผาสังคโลกหมายเลข 61 และ 42 ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 100 บาท และ 220 บาท (สำหรับบัตรรวม)
ทางอุทยานฯ มีบริการรถรางนำชมโบราณสถานทั่วบริเวณชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 30 บาท หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการขอวิทยากรนำชมหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130 โทร 0-5567-9211
สิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอื่นๆ ที่จำเป็น เช่น
- ลานจอดรถ
- ศูนย์บริการข้อมูลที่เปิดให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- เจ้าหน้าที่นำชมโบราณสถาน/วิทยากร ที่คอยแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯ และพร้อมนำชมโบราณสถานในเขตอุทยานฯทุกวัน
- แผ่นพับประชาสัมพันธ์และป้ายอธิบายโบราณสถานแต่ละแห่ง
- เส้นทางท่องเที่ยวภายในอุทยานฯที่สะดวกสบาย เชื่อมโยงโบราณสถานแต่ละแห่ง
- ป้ายบอกทางไปโบราณสถานเป็นระยะ
- จักรยานและรถรางในพื้นที่ภายในกำแพงเมือง ค่าเช่าจักรยานคันละ 20 บาท สำหรับชาวไทย, ค่ารถรางคนละ 20 บาท สำหรับชาวไทย และ 40 บาทสำหรับชาวต่างชาติ หรือเหมาคันละ 300 บาท (ไม่เกิน 15 คน)
*จักรยานและรถรางเป็นสัมปทานเอกชน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้*
กรมศิลปากร
ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร
1. กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดชมชื่น โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478 หน้า 3701 โดยในขณะนั้น ประกาศขึ้นทะเบียนเพียงแค่ชื่อเท่านั้น (ชื่อที่ใช้ในการประกาศฯคือ วัดชมชื่น) ไม่ได้กำหนดขอบเขตของโบราณสถานแต่อย่างใด
2. กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มี โบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดชมชื่น เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (อยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้)
ขึ้นทะเบียนของ UNESCO
วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574
หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดชมชื่นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของโบราณสถานวัดชมชื่น นอกเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ในพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชลียงที่เป็นเมืองดั้งเดิมก่อนที่จะพัฒนาเป็นเมืองศรีสัชนาลัยสมัยสุโขทัย ปัจจุบันในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
แหล่งโบราณคดีและโบราณสถานวัดชมชื่นตั้งอยู่ที่ราบริมแม่น้ำยม ในพื้นที่ที่แม่น้ำยมไหลวกอ้อม ทำให้บริเวณนี้ถูกขนาบไปด้วยแม่น้ำยมทางด้านทิศเหนือและใต้ (ปัจจุบันระยะห่างระหว่างแม่น้ำยมด้านเหนือและด้านใต้บริเวณวัดชมชื่นประมาณ 200 เมตร) และเนื่องจากพื้นที่ถูกขนาบด้วยแม่น้ำยมทั้งสองด้าน จึงทำให้ถูกแม่น้ำยมกัดเซาะพังทลายตลอดเวลา โดยเฉพาะด้านทิศใต้ของวัด ซึ่งถูกกัดเซาะเข้ามาเรื่อยๆ จนกำแพงเมืองที่เคยมีอยู่พังทลายลงไปในแม่น้ำ พื้นที่ที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองเชลียงจึงแคบเข้ามาทุกที
แม่น้ำยม
สภาพพื้นที่บริเวณวัดชมชื่นเป็นที่ราบริมแม่น้ำยม ลักษณะดินร่วนเหนียวปนทรายที่เกิดจากตะกอนแม่น้ำยมพัดพามาทับถม แสดงให้เห็นถึงสภาวะน้ำท่วมบ่อยครั้งในอดีต
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2478
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดจำนวนโบราณสถานระดับชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หน้า 3701 ซึ่งประกาศเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ยังไม่ได้กำหนดขอบเขตโบราณสถานแต่อย่างใด (ชื่อที่ใช้ในการประกาศฯ คือ วัดชมชื่น)ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2512, พ.ศ.2513
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
หน่วยศิลปากรที่ 3 ขุดแต่งบูรณะโบราณสถานวัดชมชื่นชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ประกาศขึ้นทะเบียน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากร ประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 57 ลงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2531 เนื้อที่ 28,217 ไร่ หรือ 45.14 ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถาน 283 แห่ง ทั้งในและนอกกำแพงเมือง โดยโบราณสถานวัดชมชื่น เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
นักวิชาการชาวออสเตรเลียสำรวจพบชิ้นส่วนโครงกระดูกมนุษย์บริเวณริมตลิ่งด้านหน้าวัดชมชื่น และรายงานถึงเจ้าหน้าที่โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2531
วิธีศึกษา : ขุดกู้
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เจ้าหน้าที่โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยขุดกู้โครงกระดูกจำนวน 1 โครง จากชายตลิ่งด้านหน้าวัดชมชื่นชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2532
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยบูรณะฐานวิหารและเจดีย์วัดชมชื่นชื่อผู้ศึกษา : สถาพร เที่ยงธรรม
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2536, พ.ศ.2537
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ระหว่าง พ.ศ.2536-2537 มีการขุดค้นอย่างเป็นระบบบริเวณหลุมขุดค้นวัดชมชื่น โดยนายสถาพร เที่ยงธรรม นักโบราณคดี ซึ่งมูลเหตุของการเลือกขุดค้นบริเวณหลุมขุดค้นวัดชมชื่นมาจากเหตุ 4 ประการ คือ 1.วัดชมชื่นตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งเชื่อกันมาแต่เดิมว่าเป็นพท่นที่เมืองเชลียง ซึ่งเป็นเมืองเดิมก่อนศรีสัชนาลัย 2.วัดชมชื่นปรากฏศิลปกรรมที่เก่ากว่าสมัยสุโขทัย โดยเจดีย์ประธานที่ปรากฏในปัจจุบัน มีร่องรอยว่าสร้างครอบทับสิ่งก่อสร้างเดิมไว้ ซึ่งเชื่อกันว่าอาจเป็นปราสาทแบบเขมร 3.บริเวณริมตลิ่งวัดชมชื่นซึ่งถูกแม่น้ำยมกัดเซาะ พบว่ามีชั้นถ่านและดินเผาไฟ รวมทั้งเศษภาชนะดินเผาและอิฐแทรกอยู่ในชั้นดิน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกิจกรรมที่เก่ากว่าสมัยสุโขทัย 4.เคยพบโครงกระดูกจากการกัดเซาะริมตลิ่งหน้าวัดชมชื่นใน พ.ศ.2531 ผลจากการขุดค้นได้พบหลักฐานหลายประการ โดยเฉพาะโครงกระดูกมนุษย์สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น และการก่อสร้างอาคารซ้อนทับกันเป็นลำดับ ต่อเนื่องจนถึงสมัยสุโขทัย และยังพบหลักฐานชั้นดินที่สามารถอธิบายลำดับการใช้พื้นที่ได้จนถึงปัจจุบันชื่อผู้ศึกษา : ธาดา สังข์ทอง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538, พ.ศ.2539, พ.ศ.2540
วิธีศึกษา : ขุดค้น, อนุรักษ์โบราณสถาน, อนุรักษ์โบราณวัตถุ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ระหว่าง พ.ศ.2538-2539 มีการขุดค้นหลุมขุดค้นวัดชมชื่นอีกครั้งโดยนายธาดา สังข์ทอง นักโบราณคดี เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาหลุมขุดค้นเพื่อจัดแสดง จัดสร้างเป็นอาคารอนุรักษ์และจัดแสดงข้อมูลในปี 2540 การอนุรักษ์หลุมขุดค้นและหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ในหลุมขุดค้น สำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อจัดแสดงหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดชมชื่นนั้น ได้ใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้ 1.การทำฉนวนกันน้ำ (Water Barrier) โดยการอัดฉีดน้ำปูนซีเมนต์ผสมกับน้ำยากันซึม (Grouting) ในชั้นดินห่างจากผนังหลุมขุดค้นออกไปประมาณ 1.1-1.5 เมตร 2.การเสริมความมั่นคงแข็งแรงของผนังหลุมขุดค้นด้วยการฉีดพ่นสารเคมี Rhoximat HDRR80 และ Rhoximat HD224 3.สร้างอาคารคลุมหลุมขุดค้น 4.การจำลองหลักฐานและหลุมขุดค้นวัดชมชื่นด้วยขั้นตอนดังนี้ 4.1 บันทุชึกหลักฐานและข้อมูลภายในหลุมขุดค้นโดยละเอียด 4.2 ขุดขยายหลุมออกไปทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 เมตร พร้อมทั้งเก็บข้อมูลทางโบราณคดี 4.3 ก่อโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กความหนาประมาณ 70 เซนติเมตร ทั่วทั้งหลุมเพื่อรองรับผนังและพื้นหลุมเทียใ 4.4 ก่อสร้างแท่นรองรับโบราณวัตถุและส่วนของแนวโบราณสถานที่ทำการจัดแสดงในหลุมขุดค้นด้วยคอนกรีต 4.5 หล่อจำลองชั้นดินผนังหลุมและพื้นหลุมด้วยวัสดุทางวิทยาศาสตร์ คือ ไฟเบอร์กลาส 4.6 หล่อจำลองโบราณวัตถุและส่วนของแนวโบราณสถานต่างๆ ที่จะจัดแสดงด้วยเรซิ่น 4.7 ตกแต่งผนังหลุมให้ปรากฏชั้นดินและรายละเอียดต่างๆ ตามลักษณะผนังหลุมจริง 4.8 วางโบราณวัตถุจำลองและสิ่งจัดแสดงเข้าในตำแหน่งเดิมตามที่ขุดค้นพบชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2548
วิธีศึกษา : อนุรักษ์โบราณสถาน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ปรับปรุงหลุมขุดค้นวัดชมชื่น งบประมาณ 4,150,000 บาทชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549
วิธีศึกษา : อนุรักษ์โบราณสถาน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ปรับปรุงงานจัดแสดงภายในหลุมขุดค้นวัดชมชื่น งบประมาณ 3,000,000 บาทหลักฐานทางโบราณคดีจากหลุมขุดค้นทางทิศตะวันออกของวัดชมชื่นแสดงให้เห็นหลักฐานเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม โดยเฉพาะแถบเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองเชลียงได้เป็นอย่างดี
จากการดำเนินงานทั้งใน พ.ศ.2536 และ พ.ศ.2538 ร่ววมกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้จากการขุดค้นตามโครงการปรับปรุงอาคารหลุมขุดค้นวัดชมชื่นใน พ.ศ.2548 สามารถจัดแบ่งชั้นวัฒนธรรมเป็นสมัยต่างๆ ได้ 5 สมัย (ธาดา สุทธิเนตร และคณะ 2540) ได้แก่
1.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 9 หลักฐานสำคัญที่พบได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ ขึ้นรูปด้วยมือ คุณภาพต่ำ มีร่องรอยการใช้งาน จึงสันนิษฐานว่าเวลาในช่วงดังกล่าว ลักษณะชุมชนยังมีขนาดเล็ก มีประชากรอาศัยอยู่ไม่มากนัก อาจเป็นการตั้งแบบกึ่งถาวร ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์ หาของป่า หรือสัตว์น้ำในแม่น้ำยมและบริเวณแก่งหลวง ซึ่เงป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์
แหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านบึงหญ้า อำเภอคีรีมาศ แหล่งโบราณคดีเขาเขน-เขากา อำเภอศรีนคร และที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงเหนือ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย
2.สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น
กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ร่วมสมัยวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง ในช่วงสมัยนี้พื้นที่บริเวณวัดชมชื่นถูกใช้เป็นสุสานหรือพื้นทั้งศพ ดังที่พบโครงกระดูกมนุษย์จากการขุดค้นจำนวน 15 โครง
ผลการวิเคราะห์โครงกระดูกจำนวน 15 โครงที่พบในหลุมขุดค้นวัดชมชื่น พบว่าเป็นเพศหญิง 4 โครง เพศชาย 1 โครง เด็ก 4 โครง และไม่สามารถระบุเพศได้ 6 โครง ส่วนสูงเฉลี่ยของเพศหญิง 160.05 เซนติเมตร (สมการไทย-จีน) และ 161.90 เซนติเมตร (สมการอเมริกันผิวขาว) เพศชาย 168.03 เซนติเมตร (สมการไทย-จีน) และ 169.37 เซนติเมตร (สมการอเมริกันผิวขาว) ความสูงในระดับนี้ มิได้แตกต่างจากที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ในประเทศไทยมากนัก (ธาดา สุทธิเนตร และคณะ 2540 : 124)
จากการตรวจสอบฟันของโครงกระดูกผู้ใหญ่จำนวน 11 โครง ไม่พบร่องรอยของโรคฟันผุ (Caries) โรคบริเวณรอบฟัน (Periodontal disease) โรคหนองในโพรงฟันหรือโรคกลัดหนอง (Abscess)
การไม่พบร่องรอยของโรคหรือพบในปริมาณความถี่ต่ำและมีอัตราการรอดของทารกในระดับสูง คือมีอัตราสัดส่วนของโครงกระดูกผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและทารกนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนนี้มีภาวะทางโภชนาการและสุขภาพโดยทั่วไปค่อนข้างจะดี
นอกจากนี้ยังพบว่ามีการขัดฟันและฝนฟัน (Tooth Abrasion) ทั้งฟันตัด (Cutting edge) และด้านหน้าที่ติดกับริมฝีปาก (Labial surface) และพบว่าฟันมีคราบสีดำ ซึ่งอาจจะเกิดจากการกินหมาก ส่วนลักษณะของการขัดหรือฝนฟัน สันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ของแข็งพวกเปลือกไม้บางชนิด หรืออาจเป็นเปลือกหมาก มาถูหรือขัดฟันบ่อยๆ (ผู้ที่นิยมกินหมากมักจะนำเปลือกหมากหรือเปลือกไม้มาถูฟันหนือขัดฟัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สืบทอดมานานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน) ลักษณะของการฝนฟันเช่นนี้แตกต่างจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีโนนนนกทา จ.ขอนแก่น ซึ่งพบการขัดหรือฝนฟันที่ด้านตัด (Cutting edge) เพียงด้านเดียว (ธาดา สุทธิเนตร และคณะ 2540 : 125)
พิธีกรรมฝังศพ พบว่ากลุ่มชนที่วัดชมชื่นนี้มีพิธีกรรมการฝังศพที่มีแบบอย่างเป็นของตนเองโดยเฉพาะ กล่าวคือ พบว่านิยมฝังแบบนอนตะแคงเหยียดยาว นอนหงายเยียดยาวและนอนตะแคงงอเข่า ฝังศพผู้ตายให้หันศีรษะไปในทิศทางเดียวกันคือ ทิศตะวันตก หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีการอุทิศสิ่งของโดยเฉพาะเครื่องประดับและเครื่องใช้ให้กับผู้ตาย โดยการฝังพร้อมกับศพ แต่ไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอน ทั้งนี้อาจขึ้นกับสถานภาพของผู้ตายหรือสภาวะทางเศรษฐกิจของชนกลุ่มนี้ (ธาดา สุทธิเนตร และคณะ 2540 : 125)
สิ่งของที่อุทิศให้แก่ผู้ตายพบในปริมาณน้อย สาเหตุอาจเนื่องมาจากทางสภาพเศรษฐกิจของชุมชนอาจไม่ดีนัก หรือที่ตั้งของชุมชนอยู่ในเขตห่างไกล จึงมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับกลุ่มชนอื่นๆ ในปริมาณน้อย หรืออาจจะเกิดขึ้นด้วยการเข้ามาของพุทธศาสนาในช่วงปลายสมัยนี้ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบแผนคติความเชื่อแบบดั้งเดิมไป
ในช่วงเวลานี้ชุมชนดังกล่าวน่าจะมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และมีการขยายตัวจากเดิม เนื่องจากพบหลักฐานการอยู่อาศัยที่เพิ่มมากขึ้นในบริเวณใกล้เคียง เช่นบริเวณวัดเจ้าจันทร์ที่ตั้งอยู่ห่างมาทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหลุมขุดค้นประมาณ 300 เมตร และที่วัดช้างล้อม ที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองศรีสัชนาลัยซึ่งพบหลักฐานการฝังศพในรูปแบบเดียวกัน
แบบแผนการดำรงชีวิตของคนในชุมชน น่าจะดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งน่าจะมีการล่าสัตวว์หาของป่าและการจับสัตว์น้ำมาเป็นอาหารเสริมตามช่วงฤดูกาล
นอกจากนั้นชุมชนยังมีการติดต่อกับชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง ดังได้พบจากโบราณวัตถุประเภทลูกปัดแก้ว ควอตซ์ คาร์เนเลียน และอาเกต กลุ่มภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาที่พบในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี คล้ายกับแหล่งโบราณคดีร่วมสมันอื่นๆ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย เป็นต้น
ชนกลุ่มนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ต่อมาจนถึงสมัยทวารวดี มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการติดต่อกับชนกลุ่มอื่น และได้นำแบบอย่างของพวกเขามาใช้ แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของพวกตนอยู่
3.สมัยวัฒนธรรมร่วมแบบเขมรถึงสมัยสุโขทัยตอนต้น
กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 พบหลักฐานเป็นกลุ่มซากโบราณสถานอิฐจำนวน 3 หลัง ชิ้นส่วนกี๋ท่อดินเผา เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งไม่เคลือบ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบเขียวและกระดูกสัตว์ สภาพพื้นที่ถูกใช้งานเป็นศาสนสถาน และมีร่องรอยถูกทิ้งร้างบางช่วงเวลาหรือบางฤดูกาล สอดคล้องกับการพบหลักฐานการทับถมของตะกอนดินทีเกิดจากน้ำท่วมและชั้นทับถมจากกรวดทรายหยาบและทรายละเอียด ซึ่งน่าจะเกิดชึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งด้วยกัน
ในช่วงระยเวลานี้ สันนิษฐานว่าสภาพสังคมมีการพัฒนาการขึ้นเป็นบ้านเมือง มีศูนย์กลางของอำนาจหรือศูนย์กลางชุมชนอยู่ในเขตเมืองเชลียง ลักษณะของชุมชนมีการจัดตั้งผู้ปกครอง มีการสร้างศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมและยังเป็นสัญลักษณืแห่งอำนาจของผู้นำตามคติพุทธศาสนา ดังได้พบว่ามีการสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชียง วัดจจันทร์และวัดชมชื่น รวมถึงโบราณสถานอิฐทั้ง 3 หลัง ที่พบภายในหลุมขุดค้นอันได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรในราวพุทธสตวรรษที่ 17-18
ด้านการผลิต มีการแบ่งงานในลักษณะการใช้ช่างชำนาญงานพิเศษ เช่นการผลิตภาชนะดินเผาเครื่องถ้วยเชลียงหรือเครื่องถ้วยมอญ โดยได้รับการถ่ายทอดหรือการลอกเลียนเทคนิคการผลิตจากกลุ่มเครื่องถ้วยแบบเขมรกับกลุ่มเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซุ่ง
ส่วนรูปแบบการดำรงชีพมีทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งหาของป่าและจับสัตว์น้ำเพื่อบริโภค
ด้านการค้าและการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ มีทั้งการติดต่อกับชุมนใกล้เคียงและชุมชนที่ห่างไกล เช่น ชุมชนในกลุ่มเทอกเขาหลวง คลองยาง คลองแม่รำพัน และกลุ่มเมืองโบราณในแอ่งลำพูน-เชียงใหมา รวมถึงกลุ่มเมืองหรือศูนย์กลางวัฒนธรรมร่วมแบบเขมรในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ลพบุรี ศรีเทพ พิมาย เป็นต้น
4.สมัยวัฒนธรรมสุโขทัยถึงสมัยอยุธยา
กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 19-21 ในสมัยนี้วัดชมชื่นจัดเป็นพื้นที่นอกเมืองด้านทิศตะวันออกของเมืองศรีสัชนาลัยที่มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของสุทัย ต่อมาเมื่อสุทัยถูกผนวกรวมกับอาณาจัรอยุธยาในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) เมืองศรีสัชนาลัยจึงถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงหัวเมืองฝ่ายเหนือ และใช้เป็นเขตกันชนกับเมืองในอาณาจักรล้านนา โดยในสมัยพระเจ้าติโลกราช เมืองศรีสัชนาลัยได้ตกเป็นของอาณาจักนล้านนาราว 14 ปี (พ.ศ.2003-2017)
ช่วงเวลาดังกล่าวนี้พื้นที่ภายในหลุมขุดค้นเป็นชั้นร่วมสมัยกับอาคารสถาปัตยกรรมวัดชมชื่น ซึ่งประกอบด้วยเจดีย์และวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นราวพุทธศตวรร? 19-20 และได้รับการบูรณะในราวพุทธศตวรรษที่ 21 พบร่องรอยว่ามีการประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดเตรียมหรือปรุงอาหาร การทิ้งขยะ รวมทั้งการฝังศพในลักษณะของการฝังศพครั้งที่ 2 อีกด้วย ลักษณะของชั้นดินมีสีเทา-ดำ ซึ่เงกิดจากส่วนประกอบของสารอินทรีย์ประเภทต่างๆ แสดงถึงการประกอบกิจกรรมค่อนข้างหนาแน่น
โบราณวัตถุที่พบในชั้นดินจัดว่ามีระดับความหนาแน่นมากที่สุด ทั้งกลุ่มกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ภาชนะดินเผา และเศษภาชนะดินเผาจากเตาสังคโลก (บ้านเกาะน้อย บ้าป่ายาง) เตาสุทัย แหล่งเตาลำพูน แหล่งเตาบ้านบางปูน แหล่งเตาบ้านตาปะขาวหาย และแหล่งเตาแม่น้ำน้อย รวมถึงกลุ่มที่ได้จากการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งจากจีน ในกลุ่มเครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง และกลุ่มเครื่องถ้วยเวียดนามสมัยราชวงศ์เลถึงหมัก ที่มีอายุสมัยการผลิตร่วมสมัยกับลำดับชั้นวัฒนธรรมนี้
นอกจากนั้น ยังพบกลุ่มกระดูกสัตว์ปลายประเภท ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และสัตว์น้ำ เช่น หอย ปลาน้ำจืด เต่า และตะพาบน้ำ รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆ เช่น ตุ้มถ่วงแห หินลับ ตะปูโลหะ เบี้ยดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ชิ้นส่วนเจาและเบ้าหลอมดินเผา เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการดำรงชีวิตว่าน่าจะเป็นชุมชนเกศตรกรรมผสมผสานกับการล่าสัตว์จับสัตว์น้ำ หาของป่า โดยมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องปั้นดินเผาและโลหะ
5.สมัยวัฒนธรรมอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในระยะเริ่มต้นของช่วงวเลานี้ เมืองสวรรคโลกยังคงมีบทบาทในฐานะเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา จนเมื่ออยุธยาเสียกรุงแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรี พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชุมชนเมืองสสวรรคโลกไปอยู่ที่ตำบลวังไม้ขอน ในอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2328 เมืองสวรรคโลกเดิมรวมถึงพื้นที่หลุมขุดค้นวัดชมชื่นจึงลดระดับความเข้มข้นในการใช้งานลง และอาจมีการทิ้งร้างในบางช่วง้วลา
ชั้นดินมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายแป้ง สีดินเป็นสีเหลืองและจับตัวเป็นก้อน โบราณวัตถุที่พบมีความหนาแน่นลดลงจากเดิม ส่วนมากเป็นกลุ่มเศษกระเบื้องดินเผาและเศษภาชนะเนื้อกระเบื้องประเภทเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงถึงชิง นอกจากนี้ยังพบเหรียญสตางค์และเหรียญบาทปะปนอยู่ในชั้นดิน และพบการรบกวนชั้นดินจากการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบันด้วยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ
กรมศิลปากร. “วัดชมชื่น ต.2.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004280
กรมศิลปากร. “อาคารอนุรักษ์หลุมขุดค้นวัดชมชื่น.” ใน ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 2 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/fad50/fad/display_data.aspx?id=0004602
กรมศิลปากร. ทำเนียบโบราณสถานศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2535.
กฤช เหลือลมัย และศรันย์ ทองปาน. “ข้อมูลใหม่ – ข้อคิดใหม่.” เมืองโบราณ 19, 4 (ต.ค. – ธ.ค. 2536) : 121 – 125.
คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานทางวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
จุฬรักษ์ ดำริห์กุล. ศรีสัชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2537.
ธาดา สุทธิธรรม. “ความก้าวหน้าในการอนุรักษ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดีในประเทศไทย : การอนุรักษ์ หลุมขุดค้นทางโบราณคดีวัดชมชื่น อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย.” ใน อีสาน-สถาปัตย์ 9, 2 (2541) : 13 – 28.
ธาดา สุทธิเนตร และคณะ. วัดชมชื่น. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2540.
ธิดา สาระยา. นำเที่ยวศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ : สีดา, 2542.
ธิดา สาระยา. เมืองประวัติศาสตร์ : เมืองพิมาย เขาพระวิหาร เมืองอุบล เมืองศรีสัชชนาลัย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2538.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2546.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมโบราณวัตถุสถาน ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. พระนคร : กรมศิลปากร, 2513.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย (A guidebook to Si Satchanalai historical park). กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
ประโชติ สังขนุกิจ. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
พันธลักษณ์. มรดกโลกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บ้านหนังสือ 19, 2547.
ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. กรุงเทพฯ : ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2549.
มานพ ถนอมศรี. ศรีสัชนาลัย : โบราณสถานสามสมัย. กรุงเทพฯ : พี พี เวิลด์ มีเดีย, 2546.
วันวิสาข์ ธรรมานนท์. “ปฏิกิริยาทรายเดือด หลักฐานการเกิดแผ่นดินไหวในอดีตที่วัดชมชื่น ศรีสัชนา ลัย.” เมืองโบราณ 31, 2 (เม.ย. – มิ.ย. 2548) : 72 – 78.
วันวิสาข์ ธรรมานนท์ “ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการตั้งถิ่นฐานของชุมชนเมืองโบราณ ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) คณะโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
ศิริศักดิ์ คุ้มรักษา. เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย : The historical cities of Sukhothai-Sri Satchanalai. กรุงเทพฯ : แปลน รีดเดอร์ส, 2546.
สด แดงเอียด. เมืองเชลียง เชียงชื่น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันทน์. “การออกแบบอาคารใหม่ในพื้นที่โบราณสถาน : กรณีตัวอย่างอาคารหลุมขุดค้นวัดชมชื่น อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย.” อาษา 12/2543 - 1/2544 : 84 – 85.
เสาวลักษณ์ พงษธา โปษยะนันท์ “พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2543.
อุดม เชยกีวงศ์. มรดกไทย มรดกโลก : สิ่งล้ำค้าที่ทุกคนในโลกต้องช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่. กรุงเทพฯ : ภูมิปัญญา 2549.
กรมศิลปากร. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อวันที่ 04 มีนาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.finearts.go.th/archae/index.php/parameters/km/itemอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย.html
เอนก สีหามาตย์. มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.