เมืองกำแพงเพชร


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : กำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาส์, พชรบุรีศรีกำแพงเพชร

ที่ตั้ง : ต.ในเมือง และ ต.หนองปลิง อ.เมืองกำแพงเพชร

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : กำแพงเพชร

พิกัด DD : 16.488881 N, 99.520001 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยทราย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

เมืองกำแพงเพชร สามารถเดินทางโดยใช้ทางหลวงหมายเลข 101 ผ่านทั้งเขตกำแพงเมืองและเขตอรัญญิก

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

สามารถเข้าเยี่ยม- เวลาเปิด – ปิด 8.30 – 16.30 น. ค่าธรรมเนียม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร, ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478

2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480

3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

 

ขึ้นทะเบียนของ UNESCO

วันที่ 12 ธันวาคม 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย เป็นมรดกโลกตามบัญชีลำดับที่ 574

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง มีพื้นที่ประมาณ 3.4 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 2 เขตคือ เขตภายในกำแพงเมือง พื้นที่ 503 ไร่ มีโบราณสถานที่สำคัญคือ วัดพระแก้ว วัดพระธาตุ เขตวังโบราณ (สระมน) ศาลพระอิศวร กำแพงเมืองคูเมือง และป้อมประตูต่างๆ เขตนอกกำแพงเมืองหรือที่เรียกกันว่าเขตอรัญญิก พื้นที่ 1,611 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินลูกรังขนาดย่อม มีโบราณสถานที่เป็นวัดขนาดใหญ่น้อยรวม 40 แห่ง วัดที่สำคัญคือ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดสิงห์ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดกำแพงงาม วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ เป็นต้น

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

81 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำปิง, ห้วยทราย

สภาพธรณีวิทยา

ดินปนทราย มีชั้นทรายตะกอนแม่น้ำและตะกอนทับถมเป็นเนินศิลาแลงอยู่ใต้ดิน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้น, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยอยุธยาตอนกลาง

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 20 – 23 เป็นต้นมา

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

เมืองโบราณ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงตรงข้ามกับเมืองนครชุม และเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน ลักษณะผังเมืองเป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูวางแนวยาวขนานไปกับลำน้ำปิง กำแพงเมืองกำแพงเพชรเดิมเป็นลักษณะคันดินและคูน้ำ กำแพงเมืองชั้นในเป็นกำแพงก่อศิลาแลงมีชั้นเชิงเทิน ตอนบนก่อเป็นรูปใบเสมาและมีป้อมประตูโดยรอบสันนิษฐานว่าสร้างในช่วงสมัยอยุธยา กลางเมืองกำแพงเพชรมีวัดพระแก้วและวัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง ทางด้านเหนือของวัดพระแก้วเป็นบริเวณที่เรียกว่า สระมน สันนิษฐานว่าเป็นเขตวังโบราณ ภายในเมืองยังมีร่องรอยวัดเล็กๆ อีกประมาณ 10 แห่ง

บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือห่างจากแนวกำแพงเมืองออกไปประมาณ 500 เมตรเป็นเขตอรัญญิก มีกลุ่มวัดประมาณ 40 แห่ง ตั้งอยู่บนเนินลูกรังเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญและเป็นจุดเด่นของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานแต่ละแห่งก่อสร้างใหญ่โตและนิยมใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง วัดที่สำคัญได้แก่ วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดสิงห์ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ เป็นต้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

วาทินี ถนอมพลกรัง เรียบเรียงข้อมูล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล ดูแลฐานข้อมูล

บรรณานุกรม

Google map 2015 [Online]. Accessed 14 February 2015. Available from https://maps.google.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง