ดอยมะขามป้อม 1


โพสต์เมื่อ 8 ส.ค. 2021

ที่ตั้ง : อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช บ้านห้วยปลาหลด

ตำบล : พะวอ

อำเภอ : แม่สอด

จังหวัด : ตาก

พิกัด DD : 16.776837 N, 98.754647 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เมย

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยปลาหลด, ห้วยยะอุ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 (ตาก-แม่สอด) ประมาณกิโลเมตรที่ 31 เลี้ยวซ้ายไปบนถนนเข้าหมู่บ้านมูเขอร์ส้มป่อย ประมาณ 3 กิโลเมตร และเดินเข้าไปอีก 4.2 กิโลเมตร ถึงแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 1

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

ไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช (อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่)

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ อยู่บนเทือกเขาสูงที่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก สันดอยของดอยมะขามป้อม 1 กว้างและลาดลงไปทางทิศตะวันออกติดต่อกับแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 2 ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของดอยมะขามป้อม 1

ดินชั้นบนส่วนใหญ่จะมีเหลืองแดงคล้ำปนเศษถ่าน และมีก้อนหินขนาดต่างๆปนอยู่ทั่วไป ลึกลงไปเป็นดินสีน้ำตาลแดงปนดินลูกรัง สภาพพื้นที่มีกอไผ่ ไม้พุ่มขนาดกลางและวัชพืชปกคลุม

สภาพพื้นที่ถูกลักลอบขุดกระจายทั่วบริเวณ (คำให้สัมภาษณ์ของนายพรัญชัย ศิริพุฒ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯลานสางกล่าวว่าปัจจุบันพื้นที่ภายในอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราชยังคงได้รับการรุกล้ำและลักลอบขุดหาโบราณวัตถุอยู่โดยทั่วบริเวณ) 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

750-760 เมตร

ทางน้ำ

ห้วยปลาหลด, ห้วยยะอุ

สภาพธรณีวิทยา

พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยหินตะกอน ซึ่งพบบริเวณทิวเขาสูงทางด้านตะวันตกของพื้นที่จังหวัดตาก ประกอบด้วยหินปูน หินทราย หินดินดาน หินทรายแป้ง หินกรวดมน เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคแคมเบรียน จนถึงยุคไตรแอสซิก ส่วนใหญ่จะพบสลับปะปนกันไปและวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ทางด้านใต้ของอ.แม่สอดลาดลงมาทางแม่น้ำเมย จะพบพวกหินทราย หินดินดาน หินน้ำมัน ลิกไนต์ หินปูน และหินกรวดมนที่อายุยังน้อย เกิดขึ้นในยุคเทอร์เชียรี ลักษณะทางธรณีสัณฐานเป็นลานตะพักลำน้ำหรือพื้นผิวค่อนข้างใหม่ และลานตะพักน้ำเก่า (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2544)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยหินใหม่, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา

อายุทางโบราณคดี

4,000-1,500 ปีมาแล้ว, พุทธศตวรรษที่ 20-22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ปีงบประมาณ 2528 สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ สำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ ตามโครงการโบราณคดีประเทศไทย พบโบราณวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์และยุคประวัติศาสตร์

ชื่อผู้ศึกษา : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด, กรมทางหลวง

ผลการศึกษา :

บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด สำรวจแหล่งโบราณคดีเพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ตามโครงการขยายถนนทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด ของกรมทางหลวง

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, เส้นทางเดินทัพ

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 1 และ 2 ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช โดยแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 1 อยู่บนเทือกเขาสูงที่วางตัวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก มีห้วยปลาหลดและห้วยยะอุไหลผ่าน ด้านทิศใต้มีแนวทางเดินจากหมู่บ้านห้วยปลาหลด ผ่านดอยมะขามป้อมไปสู่หมู่บ้านมูเซอเก่าทางด้านทิศตะวันออก สันดอยกว้างและลาดลงไปทางทิศตะวันออกติดต่อกับแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 2 เทลาดไปยังหุบเขาเบื้องล่างที่มีห้วยปลาหลดและห้วยยะอุไหลผ่าน

จากการสำรวจของอาจารย์สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ (2528) พบโบราณวัตถุบริเวณดอยมะขามป้อม 1 (16.776837, 98.754647)  ได้แก่เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ทรงหม้อก้นกลม เศษภาชนะดินเผาไม่เคลือบ เศษเครื่องเคลือบแหล่งเตาเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 และ 20-22 ตามลำดับเศษไห เศษภาชนะน้ำต้น เครื่องเคลือบผลิตในประเทศจีน เวียดนามอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ขวานหินขัดไม่มีบ่า หินลับ เศษแหวนสำริด ลูกกระพรวนสำริด เครื่องมือเหล็กประเภทมีดปลายแหลม ปลายตัด มีดคล้ายดาบมีกั่น เคียว ขวาน สิ่ว และใบหอก จากเครื่องมือหินขัด และเศษภาชนะดินเผาที่พบ 

จากโบราณวัตถุที่พบ ทำให้สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 1 และ 2 เคยเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินใหม่ และน่าจะเป็นแหล่งที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินทัพระหว่างพม่า-ไทย (สมัยกรุงศรีอยุธยา) เพราะพบโบราณวัตถุประเภทอาวุธเหล็ก รวมทั้งพื้นที่บริเวณนี้เป็นช่องทางที่ต่อเนื่องมาจากด่านแม่ละเมาซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพระหว่างเมืองตากกับเมืองเมาะตะมะของพม่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22

พื้นที่แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อมได้พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสุโขทัย ต่อเนื่องมาในสมัยอยุธยา กล่าวคือ

เทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดตาก ในพื้นที่อำเภอเมืองต่อเนื่องไปอำเภอแม่สอดนั้นเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนจนจรดชายแดนไทย-พม่า เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในแหล่งโบราณคดีบนเทือกเขาถนนธงชัย นอกจากจะได้แก่แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม 1, 2 แล้ว ยังมีแหล่งโบราณคดีดอยมณฑา และวัดเชตะวัณคีรี บ้านแม่ละเมาซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินใหม่ที่มีการใช้เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และเครื่องประดับสำริด

นอกจากนี้ในสมัยสุโขทัย คราวที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ทรงสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีราวปี พ.ศ. 1792 คือมีการทำยุทธหัตถีระหว่างพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และปรากฏเจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูมที่อันเป็นเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของสมัยสุโขทัยที่ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก โดยเชื่อว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีสร้างขึ้นในเหตุการณ์คราวนี้ รวมทั้งโบราณสถานคอกช้างเผือก ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดที่สันนิษฐานว่าเป็นเพนียดช้างที่สร้างขึ้นเพื่อล้อมช้างเผือกที่พ่อขุนรามคำแหงมอบให้แก่พระเจ้าฟ้ารั่วแห่งเมืองเมาะตะมะ ณ ที่แห่งนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทั้งสองฝั่งของทางหลวงหมายเลข 12 ในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอแม่สอดนั้นปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยสุโขทัย ประกอบกับหลักฐานแหล่งโบราณคดีที่พบเครื่องถ้วยสมัยสุโขทัยตามแหล่งโบราณคดีบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช (ดอยมะขามป้อม 1,2 ดอยมณฑา) อุทยานแห่งชาติลานสาง (บ้านมูเซออุมยอม) คงเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยสุโขทัยในพื้นที่บริเวณนี้

ต่อเนื่องไปในสมัยอยุธยา แหล่งโบราณคดีดอยมะขามป้อม คงมีบทบาทในการเป็นเส้นทางที่เป็นเส้นทางเดินทัพระหว่างไทยกับพม่าที่สำคัญ ดังได้พบภาชนะดินเผาที่ใช้ในชีวิตประจำวันประเภทชาม จานทรงสูง เครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธที่ทำจากเหล็ก (บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด, 2552, 27-29.)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กองโบราณคดี กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 6. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2531.

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตาก. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการ, 2544.

โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ), รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีในเขตอุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ อุทยานแห่งชาติต้นกระบากใหญ่ ที่ ต.พะวอ อ.แม่สอด และต.แม่ท้อ จ.ตาก. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2528), มปน.

บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน (1935) จำกัด. รายงานเบื้องต้นการสำรวจและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในพื้นที่โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 12 ตาก - แม่สอด (105 เดิม). เอกสารอัดสำเนา, 2552.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง