บ้านโป่งตะขบ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ

ที่ตั้ง : โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ม.6 บ้านโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง

ตำบล : วังม่วง

อำเภอ : วังม่วง

จังหวัด : สระบุรี

พิกัด DD : 14.83555 N, 101.185555 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ป่าสัก

เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยวังม่วง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวอำเภอวังม่วงหรือบริเวณแยกวังม่วง ใช้ทางหลวงหมายเลข 2089 มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกหรือมุ่งหน้าไปทางตำบลซับสนุ่น อำเภอมวกเหล็ก ประมาณ 7 กิโลเมตร พบสี่แยก ให้เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านโป่งตะขบ ไปตามถนนลาดยางประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะพบวัดโป่งตะขบและโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ แหล่งโบราณคดีบางส่วนและพิพิธภัณฑ์บ้านโป่งตะขบตั้งอยู่ภายในโรงเรียน

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

จัดแสดงเป็นหลุมขุดค้นเปิดและพิพิธภัณฑ์บ้านโป่งตะขบภายในโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าชมหลุมขุดค้นเปิดได้ทุกวัน แต่หากเข้าชมพิพิธภัณฑ์ จำเป็นต้องติดต่อล่วงหน้าที่นายจำนงค์ เกษมดาย 087-1218095 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ, องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ลอนลูกคลื่น

สภาพทั่วไป

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีลักษณะเป็นพื้นที่เนินในพื้นที่แบบลอนลูกคลื่นลอนลาด ทางตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ตัวเนินดินแหล่งโบราณคดีส่วนที่อยู่ในโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ตั้งอยู่ริมทางน้ำธรรมชาติที่มีต้นน้ำอยู่ในแนวเทือกเขาทางด้านออกเฉียงใต้ของแหล่งโบราณคดี ไหลลงมาตามช่องเขา ผ่านพื้นที่ลอนลูกคลื่นเชิงเขารวมทั้งบริเวณเนินแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ จากนั้นไหลต่อไปทางทิศตะวันตก ผ่านตัวอำเภอวังม่วง จึงมีชื่อเรียกว่าห้วยวังม่วง จากนั้นจึงไหลไปทางทิศตะวันตกต่อไปจนระบายลงสู่แม่น้ำป่าสัก

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

148 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำป่าสัก, ห้วยวังม่วง

สภาพธรณีวิทยา

มีลักษณะเป็นพื้นที่เนินในพื้นที่แบบลอนลูกคลื่นลอนลาด ทางตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ทางตะวันตกของที่ราบสูงโคราช หินฐานเป็นหินปูนยุคเพอร์เมียน

ยุคทางโบราณคดี

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยโลหะ, สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย, สมัยเหล็ก

อายุทางโบราณคดี

ประมาณ 3,300-1,600 ปีมาแล้ว

อายุทางวิทยาศาสตร์

1,648– 1,578 ปีมาแล้ว รศ.สุรพล นาถะพินธุ ได้ส่งตัวอย่างถ่านในหลุมขุดค้นที่ 3 ไปหาค่าอายุที่ Radiocarbon Dating Lab oratory ของมหาวิทยาลัย Waikato ประเทศ New Zealand ได้ผลว่ามีอายุ 1,618 +/- 30 ปีมาแล้ว (สุรพล นาถะพินธุ มปป.)

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : พิเชษฐ์ กกฝ้าย, ธงชัย สาโค, สุรพล นาถะพินธุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

นายพิเชษฐ์ กกฝ้าย ชาวบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ได้มีหนังสือมายังสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา แจ้งเรื่องการพบโบราณวัตถุในพื้นที่ของหมู่บ้าน(สุรพล นาถะพินธุ มปป.) เดือนพฤศจิกายน2551 นายธงชัย สาโค นักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เดินทางมาสำรวจเบื้องต้นที่บ้านโป่งตะขบ และได้พบโบราณวัตถุหลายประเภทที่แสดงว่าบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และควรศึกษาเพิ่มเติมตามกระบวนการวิจัยทางโบราณคดี จึงประสานงานเพื่อทำความร่วมมือศึกษาแหล่งโบราณคดีนี้กับ รศ.สุรพล นาถะพินธุ ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (สุรพล นาถะพินธุ มปป.) วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2551 รศ.สุรพล นาถะพินธุ เดินทางมาพร้อมนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ไปสำรวจเบื้องต้นอีกครั้ง การสำรวจเบื้องต้นพบว่า แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ โดยพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของโรงเรียนบ้านโป่งตะขบในปัจจุบัน ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งใช้พื้นที่ทำไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย ที่ระดับผิวดินของแหล่งโบราณคดีมีโบราณวัตถุกระจายอยู่หนาแน่น โบราณวัตถุประเภทสำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดง ขวานหินขัดขนาดเล็ก และเศษกำไลข้อมือทำจากหินอ่อนสีขาว นอกจากนี้ ยังพบเศษกระดูกสัตว์หลายชนิด เช่น วัว-ควาย เก้ง กวาง และหมู โบราณวัตถุเหล่านี้บ่งชี้ว่าแหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบอาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (สุรพล นาถะพินธุ มปป.) รศ.สุรพล นาถะพินธุ ระบุว่าโบราณวัตถุหลายชนิดที่สำรวจพบที่บ้านโป่งตะขบในครั้งนี้ เหมือนกับที่เคยพบแล้วที่แหล่งโบราณคดีหลายแหล่งในภาคกลางของประเทศไทย และบางแห่งได้รับการขุดค้นแล้ว จึงเห็นว่า การศึกษาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ สามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการสร้างความรู้และความเข้าใจที่สมบูรณ์ขึ้น ได้เป็นอย่างดี ในเรื่องพัฒนาการของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก (สุรพล นาถะพินธุ มปป.) ดังนั้น สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา จึงร่วมมือกับ รศ.สุรพล นาถะพินธุ ดำเนินการศึกษาทางโบราณคดีที่แหล่งนี้ โดยจัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “ประวัติวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี” โดยมีองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่นร่วมเป็นผู้ดำเนินการโครงการวิจัยด้วย ได้แก่ อำเภอวังม่วง องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ และชุมชนบ้านโป่งตะขบ โครงการวิจัยนี้ ได้ปฏิบัติงานขุดค้นพื้นที่บางส่วนของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบในระหว่าง พ.ศ.2552-2554 (สุรพล นาถะพินธุ มปป.)

ชื่อผู้ศึกษา : สุรพล นาถะพินธุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.ศิลปากร, อำเภอวังม่วง, องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง,โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ, ชุมชนบ้านโป่งตะขบ

ผลการศึกษา :

โครงการวิจัยเรื่อง “ประวัติวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี” ได้ขุดค้นพื้นที่ในพื้นที่ของโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี จำนวน 1 หลุมขุดค้น ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร รวมเป็นพื้นที่ขุดค้นขนาด 9 ตารางเมตร โดยตำแหน่งมุมตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมขุดค้นอยู่ที่ประมาณพิกัด UTM 735076E / 1641295N หรือที่ประมาณ รุ้ง 14 องศา 50 ลิปดา 08.30 ฟิลิบดา เหนือ แวง 101 องศา 11 ลิปดา 04.10 ฟิลิบดา ตะวันออก ตั้งชื่อว่าหลุมขุดค้นหมายเลข 1 หรือ Operation 1 (OP.1)(สุรพล นาถะพินธุ มปป.) รศ.สุรพล นาถะพินธุ ได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์และจำแนกประเภทหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญไว้ดังนี้ (สุรพล นาถะพินธุ 2552 ; นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์ 2556 : 20) 1.เศษภาชนะดินเผา ได้แก่ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมลายกดประทับให้เป็นลายจุดต่อเนื่องกัน ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเขียนสีเป็นเส้นสั้นๆ สีแดง หรือเป็นจุดสีแดง 2.เครื่องมือหินขัด ได้แก่ ขวานหินขัดขนาดเล็ก สะเก็ดหินที่แตกมาจากขวานหินขัด 3.ลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเล ลูกปัดที่ทำจากหินอ่อนสีขาว และเปลือกหอยกาย 4.โบราณนิเวศวัตถุ ได้แก่ กระดูกสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น ฟัน และกระดูกสัตว์ต่างๆ ของหมู เก้ง กวาง วัว ควาย ลิง และสุนัข รวมถึงเปลือกหอยประเภทต่างๆ จำนวนมาก และกระดิงเต่า 5.ร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย กิจกรรมตามประเพณีความเชื่อ การดำรงชีวิตและการอยู่อาศัย โดยพบร่องรอยที่สำคัญคือ หลุมฝังศพ 2 หลุม อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีการฝังศพของคนสมัยโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ซึ่งพบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือการฝังศพผู้ตายในหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ขุดลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วใช้ดินฉาบหนาเฉลี่ยประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นผนังของหลุมฝังศพทั้ง 4 ด้าน ลักษณะคล้ายให้เป็นโลงศพ โดยวางศพให้อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว มีสร้อยลูกปัดทำจากเปลือกหอยสวมที่คอ แล้วมีการวางเครื่องปั้นดินเผาสำหรับอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยมีการวางไว้บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้าของผู้ตาย และวางขวานหินขัด 2 ชิ้น ที่บริเวณต้นขาข้างขวาของผู้ตาย

ชื่อผู้ศึกษา : วีรศักดิ์ ประสพบุญ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

วีรศักดิ์ ประสพบุญเสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรื่อง “การทำฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาที่ตกแต่งลวดลายจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Access 2007” วีรศักดิ์ ประสพบุญ (2552) ใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Microsoft Access 2007 มาช่วยทำฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาที่ตกแต่งลวดลายจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ โดยได้เก็บและออกแบบเขตข้อมูลให้เหมาะสมและเข้าใจง่าย พบว่าโปรแกรมดังกล่าวสามารถช่วยจัดระเบียบข้อมูลได้เป็นอย่างดี ทำให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ข้อมูลของเศษภาชนะดินเผาได้อย่างละเอียด ทั้งข้อมูลขนาด น้ำหนัก ความหนา สีผิว สีเนื้อใน การตกแต่งลวดลาย การตกแต่งผิวด้วยวิธีอื่นๆ และภาพถ่ายของเศษภาชนะดินเผาแต่ละชิ้น ผู้ศึกษายังแบ่งลวดลายตกแต่งกลุ่มลายขีดและกดประทับของเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ออกเป็น 6 ลายหลัก (วีรศักดิ์ ประสพบุญ 2552 ; ธนภณ เกียรติกุล 2553 : 11) ได้แก่ ลายขีดด้วยเครื่องมือปลายแหลม ลายกดประทับด้วยเครื่องมือปลายแหลม ลายกดประทับด้วยเครื่องมือปลายแบน ลายกดประทับด้วยเชือก และลายกดประทับในรูปแบบอื่นๆ ด้วยวัสดุบางอย่างที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้

ชื่อผู้ศึกษา : สุรพล นาถะพินธุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.ศิลปากร, อำเภอวังม่วง, องค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง, โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ, ชุมชนบ้านโป่งตะขบ

ผลการศึกษา :

โครงการวิจัยเรื่อง “ประวัติวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ต.วังม่วง อ.วังม่วง จ.สระบุรี” ขุดค้นต่อเนื่องจากปี 2552 โดยได้ขยายพื้นที่ขุดค้นเดิมออกไปทางใต้อีก 3 เมตร ให้เป็นหลุมขุดค้นที่ 2 ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร หรือมีพื้นที่ขนาด 9 ตารางเมตร โดยตำแหน่งมุมตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมขุดค้นอยู่ที่ประมาณพิกัด UTM 735076E / 1641292N หรือที่ประมาณ รุ้ง 14 องศา 50 ลิปดา 08.20 ฟิลิบดา เหนือ แวง 101 องศา 11 ลิปดา 04.10 ฟิลิบดา ตะวันออก ตั้งชื่อว่าหลุมขุดค้นหมายเลข 2 หรือ Operation 2 (OP.2) (สุรพล นาถะพินธุ มปป.) พื้นที่ขุดค้นในบริเวณโรงเรียนบ้านโป่งตะขบจึงมีขนาดรวมคือ กว้างตามแนวตะวันออก – ตะวันตก 3 เมตร ยาวตามแนวเหนือ – ใต้ 6 เมตร หรือมีพื้นที่ขุดค้นรวม 18 ตารางเมตร โดยตำแหน่งพิกัด UTM ของมุมตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่ขุดค้นทั้ง 2 หลุมรวมกัน คือประมาณ 735076E / 1641292N หรือที่ประมาณ รุ้ง 14 องศา 50 ลิปดา 08.20 ฟิลิบดา เหนือ แวง 101 องศา 11 ลิปดา 04.10 ฟิลิบดา ตะวันออก(สุรพล นาถะพินธุ มปป.)

ชื่อผู้ศึกษา : ฐิติมา แสงสุริยากาศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาซากสัตว์, ศึกษาเครื่องประดับ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ฐิติมา แสงสุริยากาศ (2553) เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรื่อง“การศึกษารูปแบบลูกปัดเปลือกหอยจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี” โดยศึกษาลูกปัดเปลือกหอยที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ (จ.สระบุรี) บ้านโป่งมะนาว (จ.ลพบุรี) และบ้านใหม่ชัยมงคล (จ.นครสวรรค์) แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ พบลูกปัดเปลือกหอยรูปแบบเดียวคือ แบบแผ่นแว่นกลม แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ลูกปัดเปลือกหอยที่พบเกือบทั้งหมดเป็นแบบแว่นกลม มีส่วนน้อยที่เป็นแบบทรงกระบอก แหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล ลูกปัดเปลือกหอยที่พบเกือบทั้งหมดเป็นแบบแว่นกลม ส่วนน้อยเป็นรูปแบบตัวไอ (I) และลูกปัดทรงกระบอกที่หน้าตัดเป็นรูปวงรี ครึ่งวงกลม และรูปหยดน้ำ ผลการศึกษาเปรียบเทียบลูกปัดแบบแผ่นแว่นกลมจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ บ้านโป่งมะนาว และบ้านใหม่ชัยมงคล โดยศึกษาจากคุณลักษณะย่อยด้านขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความหนาของลูกปัด พบว่า ลูกปัดของทั้ง 3 แหล่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางและความหนาแบบคละเคล้ากัน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนับสำคัญทางสถิติและวัฒนธรรม ลูกปัดของทั้ง 3 แหล่งมีความหนาที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่หนาไม่เกิน 0.1 เซนติเมตร เช่นเดียวกับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 0.7 เซนติเมตร พบมากที่สุดคือเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 0.2-0.5 เซนติเมตร

ชื่อผู้ศึกษา : ธนภณ เกียรติกุล

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ธนภณ เกียรติกุลเสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรื่อง“การศึกษาลวดลายภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ” ธนภณ เกียรติกุล (2553) ศึกษาแปลความลวดลายบนภาชนะดินเผาได้ดังนี้ ภาชนะที่มีลายกดประทับด้วยเชือกและขีดเป็นหลักมีจำนวนร้อยละ 75 และยังมีลายอื่นๆ รวมทั้งลายผสมผสานให้เห็นรูปแบบย่อยต่างๆ อีกด้วย โดยลายรูปแบบย่อยเป็นลายที่ประกอบด้วยลายหลักตั้งแต่ 2 ลายหลักขึ้นไป โดยพบว่าลายขีดเป็นลายหลักพื้นฐานในการผสมกับลายหลักอื่นๆ อาจเป็นไปได้ว่าเนื่องจากลายขีดนั้นเป็นการตำแต่งโดยขีดเป็นเส้นบนผิวภาชนะ จึงเหลือพื้นที่ว่างสำหรับการตกแต่งลายเพิ่มลงไปได้ หรืออาจทำลายขีดเป็นกรอบ แล้วจึงเพิ่มลายหลักอื่นๆ จนเต็มพื้นผิว ลายประเภทย่อยที่มีความโดดเด่นชัดเจนคือ ลายขีดและลาดกดประทับแบบเกล็ดปลาจำนวนร้อยละ 9 ซึ่งมีปริมาณมากที่สุดในกลุ่มลายที่มีการผสมกันตั้งแต่ 2 ลายขึ้นไป และยังพบมากเป็นอันดับสามจากตัวอย่างทั้งหมด รองจากลายกดประทับด้วยเชือกและลายขีด แสดงให้เห็นว่าลายขีดและลายกดประทับแบบเกล็ดปลา อาจมีความสำคัญมากกว่าลายผสมรูปแบบอื่นๆ หรืออาจแพร่หลายกว่ารูปแบบอื่นๆ ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง ลายขีดและลายกดประทับด้วยเครื่องมือปลายแหลม และลายขีดและลายกดประทับด้วยเครื่องมือปลายแหลม เป็นลายประเภทย่อยที่มีปริมาณรวมกันประมาณร้อยละ 5 ส่วนลายประเภทย่อยแบบอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วนั้น มีปริมาณน้อยมากจนไม่สามารถวิเคราะห์และแปลความได้ ส่วนเมื่อพิจารณาการแพร่กระจายตามแนวดิ่ง (vertical distribution) ของเศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายขีดและลายกดประทับแบบย่อยแบบต่างๆ พบว่าแบบย่อยที่พบปริมาณมากทุกแบบ รวมทั้งที่พบในปริมาณมากกว่าร้อยละ 1 ขึ้นไป ล้วนพบในทุกระดับชั้นทับถมหลัก จึงสามารถสรุปได้ว่า ชั้นทับถมหลักทุกชั้นเป็นผลมาจากการทำกิจกรรมของคนในวัฒนธรรมเดียวกันทั้งสิ้น และอาจมีอายุอยู่ในช่วงเดียวกันหรือไล่เลี่ยกัน จึงสามารถสรุปได้ว่า แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ มีร่องรอยการอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่างๆ ของวัฒนธรรมสมัยโบราณวัฒนธรรมเดียวตลอดสมัย

ชื่อผู้ศึกษา : ลลิตา อัศวสกุลฤชา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

ลลิตา อัศวสกุลฤชา(2553) เสนอสารนิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เรื่อง“การศึกษาวิธีการกำจัดโซเดียมคลอไรด์ โซเดียมซัลเฟต และแคลเซียมคาร์บอเนตที่ปรากฏในภาชนะดินเผา : กรณีศึกษาเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง จังหวัดสระบุรี” โดยศึกษาวิธีกำจัดเกลือที่ปรากฏในภาชนะดินเผาแบบต่างๆ ได้แก่ การกำจัดเกลือในโซดา การกำจัดเกลือในน้ำกลั่น การกำจัดเกลือโดยใช้เครื่อง Ultrasonic tank การกำจัดเกลือโดยการเพิ่มอุณหภูมิโดย Water bath และการกำจัดเกลือโดยการเพิ่มความดันโดยเครื่อง Desiccators การศึกษาพบว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการกำจัดเกลือในโซดา โดยกำจัดได้ทั้งเกลือคลอไรด์ เกลือซัลเฟต และเกลือคาร์บอเนต นอกจากนี้ยังทำให้หินปูนที่เกาะบนผิวภาชนะเปื่อยยุ่ย โดยที่ไม่ส่งผลต่อภาชนะดินเผา

ชื่อผู้ศึกษา : สุกฤษฏิ์ อรรณพานุรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2555

วิธีศึกษา : ศึกษาภาชนะดินเผา, จัดการข้อมูลทางโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

สุกฤษฏิ์ อรรณพานุรักษ์ (2555) เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “การออกแบบและสร้างฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี”

ชื่อผู้ศึกษา : สุรพล นาถะพินธุ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : ขุดค้น

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรมศิลปากร, โรงเรียนบ้านโป่งตะขบ

ผลการศึกษา :

โครงการวิจัยเรื่อง “การกระจายตัวของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก บริเวณภาคกลางตอนล่าง ประเทศไทย” ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก ทุนเมธีวิจัยอาวุโส ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ดำเนินการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่พบแล้วและขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมระหว่างเดือนพฤศจิกายน – มิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยการดำเนินการครั้งนี้ ยังได้ร่วมมือกับสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ดำเนินการ “โครงการศึกษาวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี” ไปพร้อมกันด้วย(สุรพล นาถะพินธุ, มปป.) โครงการวิจัยเรื่อง “การกระจายตัวของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก บริเวณภาคกลางตอนล่าง ประเทศไทย” ได้ขุดค้นพื้นที่หลุมขุดค้นหมายเลข 2 ในเขตโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ซึ่งยังขุดค้นไม่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมทั้งขุดค้นพื้นที่ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ และห่างจากหลุมขุดค้นเดิมที่อยู่ในเขตโรงเรียน 265 เมตร โดยได้ขุดค้นพื้นที่จำนวน 1 หลุมขุดค้น ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร รวมเป็นพื้นที่ขุดค้นขนาด 9 ตารางเมตร โดยตำแหน่งมุมตะวันตกเฉียงใต้ของหลุมขุดค้นอยู่ที่ประมาณพิกัด UTM 735327E / 1641377N หรือที่ประมาณ รุ้ง 14 องศา 50 ลิปดา 10.90 ฟิลิบดา เหนือ แวง 101 องศา 11 ลิปดา 12.50 ฟิลิบดา ตะวันออก ตั้งชื่อว่าหลุมขุดค้นหมายเลข 3 หรือ Operation 3 (OP.3) พื้นที่นี้เป็นไร่อ้อยของ นายจรัล ทิวาวรรณ์ ราษฏรบ้านโป่งตะขบและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลวังม่วง(สุรพล นาถะพินธุ มปป.)

ชื่อผู้ศึกษา : นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2556

วิธีศึกษา : ศึกษาการจัดการ/พัฒนาแหล่งโบราณคดี

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร

ผลการศึกษา :

นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์ (2556) เสนอวิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “แนวทางการพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย”โดยเสนอกระบวนการพัฒนาพิพิธภัณฑ์และแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ทั้งด้านวิชาการ ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การจัดการและการบริหารพิพิธภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย, สุสาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 15 ไร่ โดยพื้นที่ของแหล่งโบราณคดีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของโรงเรียนบ้านโป่งตะขบในปัจจุบัน ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของแหล่งโบราณคดีเป็นพื้นที่ของราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งใช้พื้นที่ทำไร่ข้าวโพดและไร่อ้อย ที่ระดับผิวดินของแหล่งโบราณคดีมีโบราณวัตถุกระจายอยู่หนาแน่น

            ข้อมูลจากการสำรวจพบโบราณวัตถุประเภทสำคัญได้แก่ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ เศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยการทาน้ำดินสีแดง ขวานหินขัดขนาดเล็ก และเศษกำไลข้อมือทำจากหินอ่อนสีขาว นอกจากนี้ ยังพบเศษกระดูกสัตว์หลายชนิด เช่น วัว-ควาย เก้ง กวาง และหมู  ข้อมูลจากการขุดค้นของ รศ.สุรพล นาถะพินธุ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ (สุรพล นาถะพินธุ 2552 ; สุรพล นาถะพินธุ มปป. ; นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์2556 : 20) ดังนี้

            1.เศษภาชนะดินเผา ได้แก่ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายขีดเป็นเส้นคดโค้งผสมลายกดประทับให้เป็นลายจุดต่อเนื่องกัน ลักษณะคล้ายเกล็ดปลา ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเขียนสีเป็นเส้นสั้นๆ สีแดง หรือเป็นจุดสีแดง

            2.เครื่องมือหินขัด ได้แก่ ขวานหินขัดขนาดเล็ก สะเก็ดหินที่แตกมาจากขวานหินขัด

            3.ลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเล ลูกปัดที่ทำจากหินอ่อนสีขาว และเปลือกหอยกาย

            4.โบราณนิเวศวัตถุ ได้แก่ กระดูกสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น ฟัน และกระดูกสัตว์ต่างๆ ของหมู เก้ง กวาง วัว ควาย ลิง และสุนัข รวมถึงเปลือกหอยประเภทต่างๆ จำนวนมาก และกระดิงเต่า

            5.ร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ ประกอบด้วย กิจกรรมตามประเพณีความเชื่อ การดำรงชีวิตและการอยู่อาศัย โดยในหลุมขุดค้นหมายเลข 1 พบร่องรอยที่สำคัญคือ หลุมฝังศพ 2 หลุม อันแสดงให้เห็นว่าประเพณีการฝังศพของคนสมัยโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ซึ่งพบเป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือการฝังศพผู้ตายในหลุมสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ขุดลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วใช้ดินฉาบหนาเฉลี่ยประมาณ 1 เซนติเมตร เป็นผนังของหลุมฝังศพทั้ง 4 ด้าน ลักษณะคล้ายให้เป็นโลงศพ โดยวางศพให้อยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว มีสร้อยลูกปัดทำจากเปลือกหอยสวมที่คอ แล้วมีการวางเครื่องปั้นดินเผาสำหรับอุทิศให้แก่ผู้ตาย โดยมีการวางไว้บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้าของผู้ตาย และวางขวานหินขัด 2 ชิ้น ที่บริเวณต้นขาข้างขวาของผู้ตาย

            ในหลุมขุดค้นหมายเลข 3 พบหลุมฝังศพที่มีโครงกระดูกถึง3 โครง ฝังซ้อนทับกัน แยกได้เป็นโครงกระดูกผู้ใหญ่ อาจเป็นเพศชาย 1 โครง วางอยู่บนสุด ถัดมาเป็นโครงกระดูกวัยรุ่น ยังไม่ทราบเพศ 1 โครง และล่างสุดเป็นโครงกระดูกเด็กอายุน้อย 1 โครง ข้างและใต้ขาขวาของโครงกระดูกที่บนสุด มีเครื่องมือเหล็กวางเป็นของอุทิศให้ศพ รวม 3 ชิ้น แบ่งเป็นขวานบ้อง 1 เล่ม ใบหอก 1 เล่ม และมีดขอ 1 เล่ม ที่ขอบหลุมศพด้านซ้ายมือของโครงกระดูก มีภาชนะดินเผาวางเป็นของอุทิศไม่น้อยกว่า 5 ใบ และที่ปลายเท้ามีภาชนะดินเผา 1 ใบ

            รศ.สุรพล นาถะพินธุ (มปป.) ระบุว่าแหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายโบราณวัตถุหลายชนิดที่พบที่บ้านโป่งตะขบเหมือนกับที่เคยพบแล้วที่แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหลายแหล่งในภาคกลางของประเทศไทย และบางแห่งได้รับการขุดค้นแล้ว

            โครงการวิจัยฯ ที่ดำเนินการโดย รศ.สุรพล นาถะพินธุ ได้ส่งตัวอย่างถ่านในหลุมขุดค้นที่ 3 ไปหาค่าอายุที่ Radiocarbon Dating Lab oratory ของมหาวิทยาลัย Waikato ประเทศ New Zealand ได้ผลว่ามีอายุ 1,618 +/- 30 หรือ ระหว่าง 1,648– 1,578 ปีมาแล้ว (สุรพล นาถะพินธุ, มปป.)

            โดยสรุปแล้ว แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบเป็นชุมชนโบราณที่ปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยและหลักฐานเกี่ยวกับการฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโลหะหรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ฝังศพตั้งอยู่ใกล้กัน สามารถแบ่งวัฒนธรรมออกได้เป็น 3 สมัยย่อย

            วัฒนธรรมสมัยย่อยที่ 1 อายุประมาณ 3,300 ปีมาแล้ว หลักฐานสำคัญได้แก่ การฝังศพในหลุมมีดินฉาบผนังหลุมวัฒนธรรมสมัยย่อยที่ 2 อายุประมาณ 2,900 ปีมาแล้วและวัฒนธรรมสมัยย่อยที่ 3 อายุประมาณ 1,600 ปีมาแล้วหลักฐานสำคัญของสมัยย่อยที่ 2 และ 3 คือ การฝังศพในหลุม

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ศุภรัตน์ ตี่คะกุล, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ฐิติมา แสงสุริยากาศ. “การศึกษารูปแบบลูกปัดเปลือกหอยจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ธนภณ เกียรติกุล. “การศึกษาลวดลายภาชนะดินเผาที่แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

นิติพัฒน์ แก้วประสิทธิ์. “แนวทางการพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.

ลลิตา อัศวสกุลฤชา. “การศึกษาวิธีการกำจัดโซเดียมคลอไรด์ โซเดียมซัลเฟต และแคลเซียมคาร์บอเนตที่ปรากฏในภาชนะดินเผา : กรณีศึกษาเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง จังหวัดสระบุรี.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะ   โบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

วีรศักดิ์ ประสพบุญ.“การทำฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาที่ตกแต่งลวดลายจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ โดยใช้โปรแกรม Microsoft Access 2007.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

สุกฤษฏิ์ อรรณพานุรักษ์.“การออกแบบและสร้างฐานข้อมูลเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.

สุรพล นาถะพินธุ. รายงานความก้าวหน้าการปฏิบัติงานโครงการวิจัย เรื่อง ประวัติวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แหล่งโบราณคดีโรงเรียนบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). มปท., 2552.

สุรพล นาถะพินธุ. รายงานเบื้องต้นของการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี. (เอกสารอัดสำเนา). มปท., มปป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี