โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : เลขที่ 391 ม.5 บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน
อำเภอ : เชียงแสน
จังหวัด : เชียงราย
พิกัด DD : 20.244175 N, 100.107837 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนน้อย ริมทางหลวงหมายเลข 1129 (เชียงแสน-เชียงของ) ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสน มาทางทิศใต้ตามทางหลวงหมายเลข 1129 ประมาณ 3.2 กิโลเมตร จะพบวัดพระธาตุผาเงาทางขวามือ
วัดพระธาตุผาเงาเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงแสนและจังหวัดเชียงราย เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในพื้นที่ มีพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาสักการะและเยี่ยมชมมากมาย สภาพภายในวัดสงบร่มรื่ม โบราณสถานและโบราณวัตถุภายในวัดอยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แม้ว่าบางส่วนจะเริ่มเสื่อมสภาพและขาดการอนุรักษ์ไปบ้าง เช่น ส่วนฐานของพระธาตุที่อิฐบางส่วนแตกหลุดออกและมีต้นไม้ขึ้นบนพระธาตุ
นอกจากนี้ บนดอยคำสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ทั้งยังเป็นจุดชมทัศนียภาพอันสวยงามของเมืองเชียงแสนและแม่น้ำโขงอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะพระธาตุผาเงาและหลวงพ่อผาเงาได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่วิหารหลวงพ่อผาเงาเปิดให้เข้าไปภายในเฉพาะช่วงเวลาประมาณ 8.00-17.00 น.
วัดพระธาตุผาเงา เลขที่ 391 ม.5 บ้านสบคำ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย 57150 โทรศัพท์ 053-777-151 โทรสาร 053-777-152
วัดพระธาตุผาเงา
วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนน้อย บริเวณสบคำ ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสนมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 3 กิโลเมตร ปัจจุบันวัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็กๆ ทอดยาวลงมาตั้งแต่บ้านจำปี ผ่านบ้านดอยจันและมาสิ้นสุดที่บ้านสบคำ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกดอยลูกนี้ว่า “ดอยคำ” แต่ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “ดอยจัน” สภาพทั่วไปบนเขาเป็นป่าไม้
บนดอยคำมีพระธาตุโบราณประดิษฐานอยู่ 3 แห่ง คือ พระธาตุผาเงา พระธาตุจอมจัน และพระธาตุเจ็ดยอด ปัจจุบันมีการบูรณะให้เป็นสถานที่สักการะบูชาแก่ผู้มาแสวงบุญเป็นจุดๆ
แม่น้ำโขง
วัดพระธาตุผาเงา ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสนน้อย บริเวณสบคำ ห่างจากคูเมืองด้านทิศใต้ของเมืองเชียงแสนมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 3 กิโลเมตร ปัจจุบันวัดตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงมาทางทิศใต้ประมาณ 400 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาเล็กๆ ทอดยาวลงมาตั้งแต่บ้านจำปี ผ่านบ้านดอยจันและมาสิ้นสุดที่บ้านสบคำ แต่ก่อนชาวบ้านเรียกดอยลูกนี้ว่า “ดอยคำ” แต่ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า “ดอยจัน” สภาพทั่วไปบนเขาเป็นป่าไม้
วัดพระธาตุผาเงา แต่เดิมเคยเป็นวัดร้าง จนราวปี พ.ศ.2519 วัดสบคำ ริมน้ำโขง ถูกน้ำกัดเซาะ พังทลายลงทุกปี คณะศรัทธาจึงได้ย้ายวัดขึ้นมาสร้างบนเนินดอยคำ (ดอยจัน) บริเวณวัดร้างซึ่งไม่ไกลจากวัดสบคำมากนัก
สถานที่ก่อสร้างวัดใหม่หรือบริเวณวัดร้างมีถ้ำที่เรียกว่า ถ้ำผาเงา และมีก้อนหินขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายองค์เจดีย์
การปรับพื้นที่วัดร้างเพื่อสร้างวัดใหม่ใน พ.ศ.2519 ชาวบ้านพบโบราณวัตถุจำนวนมากและฐานวิหารเดิม รวมทั้งพบพระพุทธรูปประธานปูนปั้นที่ฝังอยู่ใต้ฐานชุกชีพระประธานองค์เก่าภายในวิหาร ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อผาเงา”
จากพงศาวดารโยนกระบุว่าขุนผาพิงหรือขุนพิง (พระองค์พิง) ผู้ครองนครโยนก องค์ที่ 23 ช่วงปี พ.ศ.494-512 เป็นผู้สร้างเจดีย์ไว้บนหินก้อนใหญ่ที่เชิงเขาดอยจัน ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงพระธาตุผาเงาในวัดนี้ พระธาตุผาเงาได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก คาดว่าน่าจะมีการบูรณะมาบ้าง เพราะพระธาตุองค์นี้ตั้งอยู่ที่ลาดต่ำสุดของภูเขา ซึ่งง่ายต่อการดูแลซ่อมแซม
ส่วนผู้สร้างพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอดที่อยู่บนดอยเดียวกับพระธาตุผาเงานั้น พงศาวดารกล่าวว่า เมื่อขุนลังได้ขึ้นครองเมือง “เวียงเปิกสา” (เมืองเชียงแสนน้อย) ช่วงปี พ.ศ.996-1007 พระองค์ได้ชักชวนไพร่บ้านชาวเมืองทั้งหลายให้ช่วยกันสร้างเจดีย์ไว้บนยอดดอยคำ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่า “ตอดจันทร์” เจดีย์นี้คือพระธาตุจอมจันและพระธาตุเจ็ดยอด เจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้เสื่อมสภาพทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์ที่ขุดเจาะทำลาย เหลือเป็นร่องรอยซากฐานประมาณ 5 เมตร
ปัจจุบันวัดพระธาตุผาเงาเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตามประวัติวัดระบุว่าก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2542 ส่วนโบราณสถานภายในวัดพระธาตุผาเงายังไม่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
บนดอยคำมีพระธาตุโบราณประดิษฐานอยู่ 3 แห่ง คือ พระธาตุผาเงา พระธาตุจอมจัน และพระธาตุเจ็ดยอด ปัจจุบันมีการบูรณะให้เป็นสถานที่สักการะบูชาแก่ผู้มาแสวงบุญเป็นจุดๆ
บริเวณจุดเชิงเขาด้านล่าง ณ พระธาตุผาเงา เป็นสถานที่สร้างวิหาร พระธาตุจอมจันเป็นที่สร้างอุโบสถ (อุโบสถเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานพิธีถวายอุโบสถเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2547) ส่วนพระธาตุเจ็ดยอดเป็นสถานที่สร้างพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ (สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี)
ภายในวัดพระธาตุผาเงามีหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่
พระธาตุผาเงา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของเชิงเขาดอยคำ ภายในวัดพระธาตุผาเงา ข้างวิหารหลวงพ่อผาเงา เป็นพระธาตุหรือเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ ผังแปดเหลี่ยม ประดิษฐานอยู่บนก้อนหินแกรนิตขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเอนลาด คล้ายเงาของพระธาตุที่ตั้งอยู่ สูง 10 เมตร
ด้านล่างก้อนหินหน้าพระธาตุ (ด้านทิศตะวันออกของพระธาตุ) มีการก่อสร้างเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา สภาพทั่วไปของพระธาตุค่อนข้างสมบูรณ์ แต่บางส่วนเริ่มทรุดโทรม โดยเฉพาะส่วนฐานที่อิฐบางส่วนแตกหลุดออก พร้อมทั้งมีต้นไม้ขึ้นบนพระธาตุ
วิหารหลวงพ่อผาเงาและหลวงพ่อผาเงา วิหารหลวงพ่อผาเงาตั้งอยู่ข้างพระธาตุผาเงา หรือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2522 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2535 ก่อสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความกว้าง 10 เมตร ยาว 28 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สถาปัตยกรรมแบบล้านนา ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น มีหลังคาลดหลั่น 2 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินขอเคลือบ หน้าบันวิหารประดับลวดลายปูนปั้นศิลปะเชียงแสน บานประตูทำด้วยไม้สัก แกะสลักลวดลายเกี่ยวกับประเพณีสิบสองเดือนของล้านนา หน้าต่างทำด้วยไม้สักแกะสลักลวดลายเกี่ยวกับเรื่องราวพระเจ้าสิบชาติและพระเวสสันดรภายในวิหาร ฝาผนังประดับประติมากรรมนูนต่ำเกี่ยวกับพุทธประวัติ สัตว์ป่าหิมพานต์ ก่อสร้างขึ้นครอบวิหารเดิมด้วยอิฐโบราณที่มีอยู่เดิม ท้ายวิหารปรากฏส่วนซากฐานชุกชีก่ออิฐ ด้านบนฐานประดิษฐานพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก โดยปัจจุบันหลงเหลือเฉพาะส่วนพระองค์ (ลำตัว) และพระกร (แขน) ที่วางอยู่ด้านข้าง
ด้านหน้าพระประธานประดิษฐานพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งมีขนาดเล็กกว่า (อาจถูกฝังบรรจุอยู่ในฐานชุกชีเดิม) ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อผาเงา” ขนาดหน้าตักประมาณ 40 นิ้ว หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก จากการศึกษารูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปองค์นี้ที่ผ่านมาพบว่ามีลักษณะดั้งเดิมที่ไม่ได้รับการซ่อมแซมเพราะฝังจมดินอยู่ ยกเว้นพระหัตถ์น่าจะมีการปั้นปูนทับบ้างบางส่วน พุทธลักษณะแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ได้แก่ พระพักตร์รูปไข่ พระรัศมีเป็นเปลวที่มีเส้นคดโค้งแบบสุโขทัยต่างจากพระพุทธรูปโดยทั่วไปของเมืองเชียงแสน การทำพระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำลง พระนาสิกโด่ง พระวรกายไม่อวบอ้วน และสังฆาฏิเป็นเส้นเล็กๆ ทั้งหมดนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยมาก แต่ส่วนที่มีความแตกต่างอยู่บ้างคือลักษณะพระโอษฐ์ที่เล็ก ขมวดพระเกศค่อนข้างใหญ่ และการแย้มสรวลต่างจากพระพุทธรูปสุโขทัยแล้ว รวมทั้งพระหนุที่เป็นผมเกือบเป็นวงกลม เป็นลักษณะที่พบมากในศิลปะล้านนาที่เมืองเชียงแสน และส่วนหนึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับพระพุทธรูปหินทรายสกุลช่างพะเยากลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย โดยเฉพาะลักษณะพระโอษฐ์และพระนาสิกที่เป็นเส้นคมอย่างมาก ดังนั้นหลวงพ่อผาเงาจึงน่าจะจัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปเชียงแสน ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21