วัดกลางอ่างแก้ว


โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022

ที่ตั้ง : เลขที่ 13 ม.6 ต.ท่าจีน อ.เมืองสมุทรสาคร

ตำบล : ท่าจีน

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.544145 N, 100.248011 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางปะแก้ว

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ซิดซ้ายเข้าทางคู่ขนานจุดกลับรถใต้สะพาน วัดตั้งอยู่ฝั่งซ้ายมือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน อุโบสถเก่าปัจจุบันไม่ได้ใช้งาน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดกลางอ่างแก้ว, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดกลางอ่างแก้วเป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งทิศตะวันตก ด้านทิศตะวันออกของวัดติดแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศตะวันตกติดถนนข้างวัด ด้านทิศเหนือติดคลองบางปะแก้ว และโรงงานกระดาษ บริษัท เอเชียกราฟ จำกัด ด้านทิศใต้ติดถนนคู่ขนานพระราม 2 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน 

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำท่าจีน

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2410

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างวัดกลางอ่างแก้วที่แน่ชัด จากเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร (กองพุทธศาสนสถาน 2545) ระบุว่า เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2410 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2525  เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 60 เมตร เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน 79 ตารางวา

สิ่งสำคัญ ได้แก่ อุโบสถเก่า  หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำท่าจีน ลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านข้างและด้านหลังมีชายคาปีกนก รองรับโครงหลังคาด้วยเสาไม้กลม ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมา 1 ห้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น หน้าบันด้านหน้าแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หน้าบันหลังคา กับหน้าบันมุขด้านหน้า ตกแต่งด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา ฝาผนังอาคารทางสีขาว ด้านหน้ามีช่องประตูทางเข้า 2 ประตู ด้านหลังทึบ ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 6 บาน บานประตูและหน้าต่างเป็นไม้ทาสีเหลือง บริเวณโดยรอบพระอุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ ทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน เป็นซุ้มก่ออิฐถือปูนทรงมณฑปและซุ้มหน้านาง (สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี 2553 : 77-78)

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี