วัดน่วมกานนท์


โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022

ชื่ออื่น : วัดท่าหิน

ที่ตั้ง : เลขที่ 17 ม.5

ตำบล : ชัยมงคล

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.55785 N, 100.183909 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสุนัขหอน, คลองตาขำ, คลองปากบ่อ, คลองวัดน่วมกานนท์, คลองเต่าดำ, คลองจำปา

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

- จากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตามถนนหมายเลข 3097 ประมาณ 2 กิโลเมตร ขับตรงไปเลียบคลองตำขำ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเลียบคลองปากบ่อ ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ประมาณ 200 เมตร ข้ามสะพานข้ามคลองปากบ่อ แล้วเลี้ยวซ้ายวัดน่วมกานนนท์ตั้งอยู่ทางขวามือ

- หรือ จากอำเภอบ้านแพ้ว เดินทางต่อไปทางถนนหมายเลข 3097 ระยะทางประมาณ 260 เมตร เลี้ยวซ้ายไปยังถนน สค.4011 ระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายตามถนนเลียบคลองตาขำ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเลียบคลองปากบ่อ ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย ประมาณ 200 เมตร ข้ามสะพานข้ามคลองปากบ่อ แล้วเลี้ยวซ้ายวัดน่วมกานนนท์ตั้งอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปูชนียสถานวัตถุสำคัญของทางวัดคือ หลวงพ่อหาย และพระพุทธชัยมงคลพระนอนองค์ใหญ่ที่สุดในสมุทรสาคร   

หลวงพ่อหาย มีประวัติความเป็นมาคือเมื่อประมาณ พ.ศ. 2548 มีสามีภรรยาคู่หนึ่งได้นำเอาพระพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งเป็นไม้แกะยืนเท่าคนจริงมาฝากพระครูสาครพัฒนกิจ เจ้าอาวาสวัดน่วมกานนท์ เนื่องจากกำลังปลูกบ้าน เมื่อบ้านเสร็จก็จะมารับคืน ด้วยความคุ้นเคยกันพระครูจึงรับฝากไว้ แต่หลังจากนั้น 2 เดือนเศษ ตัวสามีได้ป่วยหนัก พระครูจึงได้แนะนำให้ถวายพระองค์ที่ฝากไว้แก่วัด เนื่องจากพระครูเห็นว่าพระองค์นี้มีขนาดใหญ่เท่าคนจริง ประทับยืนปางเปิดโลก แกะด้วยไม้มงคลเก่าแก่อายุประมาณ 200 กว่าปีในความเห็นของพระครู ซึ่งตามโบราณว่าพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณนั้น คนที่มีบุญบารมีวาสนาเท่านั้นถึงจะครอบครองได้และต้องเป็นในลักษณะให้คนได้กราบไหว้ได้ด้วย ด้วยเหตุนี้สามีภรรยาคู่นั้นจึงถวายพระพุทธรูปองค์นี้ให้กับทางวัด วันรุ่งขึ้นอาการป่วยหนักก็ดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบกันปากต่อปาก ชาวบ้านมากราบไหว้ขอพร โดยเฉพาะให้หายจากป่วยไข้ เมื่อสมหวังสมปรารถนาก็จะนำของมาถวาย เช่น ไข่ต้ม กล้วย และผลไม้ต่างๆ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดน่วมกานนท์

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นราบลุ่มริมแม่น้ำ ด้านทิศเหนือของวัดติดถนนเข้าหมู่บ้าน ด้านทิศใต้ติดคลองปากบ่อ (คลองที่เชื่อมระหว่างคลองตาจำกับคลองจำปา) ด้านทิศตะวันออกติดที่เอกชน และด้านทิศตะวันตกติดโรงเรียนวัดน่วมกานนท์ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 28 ไร่ 80 ตารางวา ที่ธรณีสงฆ์มีเนื้อที่ 13 ไร่ 34 ตารางวา

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

คลองปากบ่อ, คลองวัดน่วมกานนท์, คลองเต่าดำ, คลองตาขำ, คลองจำปา, คลองสุนัขหอน, แม่น้ำท่าจีน

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2460

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดน่วมกานนท์ ปัจจุบันเป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างที่แน่ชัดว่าสร้างสมัยใด ตามเอกสารประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.2460 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2510 (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 31) เดิมเรียกว่าวัดท่าหิน เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีถนน เวลาปลูกบ้านชาวบ้านจะบรรทุกหินทรายมาไว้ที่หน้าวัด แล้วจึงค่อยทยอยขนไป ชาวบ้านเลยเรียกวัดนี้ว่า “วัดท่าหิน” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดน่วมกานนท์ ตามชื่อและนามสกุลของผู้ถวายที่ดินให้วัด คือ นายตั๋ง(น่วม)  กานนท์  เดิมเป็นวัดเล็กๆ ชำรุดทรุดโทรม หลังคามุงจาก ปัจจุบันวัดได้รับการบูรณะและสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่แทบทั้งสิ้น

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี