วัดบางกระเจ้า


โพสต์เมื่อ 8 เม.ย. 2022

ที่ตั้ง : เลขที่ 1 บ้านบางกระเจ้า ม.6

ตำบล : บางกระเจ้า

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : สมุทรสาคร

พิกัด DD : 13.515563 N, 100.19748 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสุนัขหอน, คลองบางกระเจ้า

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากสมุทรสาคร ใช้ถนนพระราม 2 (ธนบุรี - ปากท่อ) มุ่งหน้าลงใต้ ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร หลักกิโลเมตรที่ 36+800 เมตร เลี้ยวซ้ายไปยังตำบลบางกระเจ้าข้ามสะพานข้ามคลองสุนัขหอน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พบสามแยกเลี้ยวขวาขับตรงไปประมาณ 500 เมตร วัดบางกระเจ้าตั้งอยู่ทางฝั่งขวา

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เป็นพุทธศาสนสถานที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดบางกระเจ้า

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

สภาพพื้นที่เป็นราบลุ่มริมแม่น้ำ ด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันตกของวัดติดกับคลองสุนัขหอน ทิศใต้ติดกับโรงเรียนวัดบางกระเจ้า และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลบางกระเจ้า ทิศตะวันออกติดกับที่ดินเอกชน มีเนื้อที่ตั้งวัด 18 ไร่

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

1-2 เมตร

ทางน้ำ

คลองสุนัขหอน, คลองบางกระเจ้า, แม่น้ำท่าจีน

สภาพธรณีวิทยา

ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2338

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดบางกระเจ้า เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด เอกสารหนังสือรับรองวัดระบุว่า วัดบางกระเจ้า ตั้งเมื่อ พ.ศ.2338 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2376 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 36)

อาคารเสนาสนะสำคัญคือ อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.2467 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร หลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 2 ชั้น ด้านหน้าและหลังทำเป็นหลังคาลดชั้นยื่นออกมา รองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนหกเหลี่ยมด้านละ 4 ต้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาปั้นปูนประดับกระจกสี หน้าบันมุขด้านหน้าปั้นปูนประดับกระจกทำเป็นกนกนาคล้อมรอบ ตรงกลางเป็นรูปพานพุ่มประดับกระจกสีลายธงชาติ ด้านล่างเป็นไม้ฉลุลายทรงสามเหลี่ยม มีประตูทางเข้าทั้งสองด้าน ด้านละ 2 ประตู บานประตูทาสีแดงไม่มีลวดลาย ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีช่องหน้าต่างด้านละ 4 ช่อง บานประตูหน้าต่างทาสีแดงกรอบเหลือง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืน และนั่ง แสดงปางต่างๆ ศิลปะรัตนโกสินทร์ โดยรอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาทรงดอกบัวล้อมรอบภายในมีเสมาทาสีทองปักอยู่ ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆัง 3  องค์ ได้รับการซ่อมแซมใหม่และทาสีทองทั้ง 3 องค์

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข

บรรณานุกรม

กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.

ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี