โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดหัวป่า, วัดดงปิ้ง
ที่ตั้ง : เลขที่ 27 ม.2 ถ.เศรษฐกิจ 1 ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร
ตำบล : นาดี
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.598019 N, 100.284993 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองสี่วาพาสวัสดิ์, คลองเจ็ดศอก
เส้นทางถนนพระราม 2 (ธนบุรี-ปากท่อ) กม. ที่ 29-30 แยกเข้าถนนเศรษฐกิจ 1 ไปทางกระทุ่มแบนระยะทางประมาณ 5 กม. วัดบางปิ้งตั้งอยู่ทางขวามือ
เป็นพุทธศาสนสถานที่มีการใช้งานในปัจจุบัน
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดบางปิ้ง
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ด้านทิศเหนือของวัดติดกับคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ทิศใต้ติดกับที่เอกชน ทิศตะวันออกติดกับที่เอกชน ทิศตะวันตกติดกับคลองเจ็ดศอก และถนนเศรษฐกิจ 1 มีเนื้อที่ตั้งวัด 17 ไร่
คลองสี่วาพาสวัสดิ์, คลองเจ็ดศอก, แม่น้ำท่าจีน
ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)
วัดบางปิ้ง เป็นวัดราษฎร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ.2414 เดิมชื่อวัดหัวป่า ในสมัยนั้นบริเวณรอบวัดเป็นป่า ส่วนมากจะมีต้นปิ้งจำนวนมาก ใช้ทำประโยชน์ได้ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดบางปิ้ง เดิมมีพระอุโบสถหลังแรก ผู้สร้างคือ เถ้าแก่หวานและนางจันทร์ ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถ ต่อมาพระอุโบสถหลังเดิมทรุดโทรมจนใช้การไม่ได้ นายพุ่ม-นางรอด จันจู ได้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ เป็นเงินหนึ่งแสนสามหมื่นบาทถ้วน วัดได้รับการบูรณะและพัฒนามาโดยตลอด (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 42) อุโบสถหลังปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2536 พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อปู่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่และพุทธลักษณะสวยงามมาก ประวัติความเป็นมาของพระประธานในอุโบสถ ผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าว่า “มีนายโต๊ะ นายยัง แจวเรือไปขายของที่บางกอก กรุงเทพฯ แถวบางกอกน้อย สมัยที่ยังไม่เจริญ ไปพบพระพุทธรูปตั้งอยู่กลางป่าเป็นวัดร้างสมัยนั้น ปัจจุบันนี้คือวัดสังข์กระจายในสมัยปัจจุบัน นายโต๊ะและนายยัง จึงขอชาวบ้านมา โดยการใช้กระดานท้องเรือรองใต้ฐานและเอาเชือกขว้างแล้วล่มเรือให้น้ำเข้า เอาพระลงเรือ แล้วก็วิดน้ำออก แล้วก็แจวเรือกลับมายังบางปิ้ง ที่ฐานพระมีชื่อพรหมมาทองคำ จึงเรียกติดปากกันมาว่า “‘หลวงปู่ทองคำ’ อายุราว 300 ปี สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย”
วิหารหลวงปู่ชิต เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ปูนปั้นทับสันหลังคา มีประตูทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ผนังด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง ภายในวิหารประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ชิต หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หลวงปู่ชิตเป็นหลวงพ่อที่เคารพนับถือกันมาก เพราะเมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์ที่โด่งดังในการสักยันต์ มีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นทหารจำนวนมาก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาแผนโบราณ ใครเจ็บไข้ได้ป่วยสมัยนั้นมักจะมาให้หลวงพ่อรักษาอยู่เป็นประจำ
กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.