โพสต์เมื่อ 7 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : วัดป้อม
ที่ตั้ง : เลขที่ 957 เทศบาลนครสมุทรสาคร
ตำบล : มหาชัย
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.546231 N, 100.271875 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
- จากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าลงใต้ เข้าตัวเมืองสมุทรสาครโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3091 (เศรษฐกิจ 1) ระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าซอยราษฎร์บรรจบ ขับตรงไประยะทางประมาณ 200 เมตร วัดป้อมวิเชียรฯ ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ
- จากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าลงใต้ เข้าตัวเมืองสมุทรสาครโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3091 (เศรษฐกิจ 1) ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงสี่แยกไฟแดงใหญ่ เลี้ยวขวาไปยังถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3242 ระยะทางประมาณ 200 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าเส้นถนนเจษฎางค์ ระยะทางประมาณ 250 เมตร วัดป้อมวิเชียรฯ ตั้งอยู่ทางขวามือ
เป็นพุทธศาสนสถานสำคัญแห่งหนึ่งในตัวจังหวัดสมุทรสาคร
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, วัดป้อมวิเชียรโชติการาม
สภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง วัดป้อมตั้งอยู่ในตัวจังหวัดสมุทรสาคร ในเขตเทศบาลนครสมุทรสาคร ริมแม่น้ำท่าจีนในส่วนโค้งตวัดของแม่น้ำ ใกล้กับคลองสนามชัย และใกล้กับปากแม่น้ำท่าจีนที่ไหลลงสู่อ่าวไทย
ด้านทิศเหนือของวัดติดถนนวิเชียรโชฎก ด้านทิศใต้ติดป้อมวิเชียรและแม่น้ำท่าจีน ด้านทิศตะวันตกติดชุมชน ที่ดินเอกชน ด้านทิศตะวันออกติดถนนซอยราษฎร์บรรจบ ป้อมวิเชียรโชฎก สวนสาธารณะ 60 พรรษา และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ศาลากลางจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร
แม่น้ำท่าจีน
ดินชุดท่าจีน เป็นดินเค็มชายฝั่งทะเล ลักษณะเป็นดินเลน เนื้อดินเหนียวและเค็มจัด เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เป็นดินเค็มเพราะน้ำทะเลท่วมถึง และระดับน้ำใต้ดินขึ้นมาสูงเกือบถึงหน้าดินตลอดปี (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ 2543 : 3)
วัดป้อมวิเชียรโชติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ติดกับป้อมวิเชียรโชฎก ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัดว่าสร้างสมัยใด เชื่อกันว่าเริ่มสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2323 โดยชุมชนชาวรามัญ ที่แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของชาวรามัญซึ่งอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ชาวรามัญเป็นผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เมื่อมาอยู่รวมกันแล้วอาจสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา และตั้งชื่อวัดตามหมู่บ้าน หรืออาจสร้างวัดขึ้นพร้อมกับป้อมวิเชียรโชฎก โดยป้อมวิเชียรโชฎก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2371 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อได้สร้างป้อมและหมู่บ้านแล้ว จึงได้สร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่ประกอบบุญกุศล
วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ชาวบ้านมักเรียกว่า “วัดป้อม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2328 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร ผูกพัทธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2418 พระมหาสมัย กมโล เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ได้เริ่มปรับปรุงวัด ตั้งแต่ พ.ศ.2508 เป็นต้นมา เนื่องจากสภาพพื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี และการคมนาคมใช้ทางเรือเพียงอย่างเดียว เสนาสนะทรุดโทรม จึงได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทย ยกพื้นสูง เพื่อหนีน้ำท่วม โดยสร้างด้วยไม้จำนวน 10 หลัง ล้อมรอบหอฉันและหอสวดมนต์ ซึ่งก่อสร้างด้วยไม้เช่นกัน การสร้างวัดในลักษณะนี้ เป็นรูปแบบการก่อสร้างวัดแบบชาวรามัญ แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2530 พระรามัญมุนี (พระมหาสมัย กมโล) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เมื่อ พ.ศ.2536 และมรณภาพลงเมื่อ พ.ศ.2537 พระครูวิเชียรโชติคุณ (สมพงษ์ สุวโจ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (พ.ศ.2537-ปัจจุบัน) ได้มีการปรับปรุงพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยยกกุฎิ หอฉัน หอสวดมนต์ หอพระไตรปิฎกให้สูงขึ้น ปรับถมพื้นที่วัดเพื่อป้องกันน้ำท่วม (กองพุทธศาสนสถาน 2545 : 50) ปรับปรุงภูมิทัศน์วัดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน วัดป้อมวิเชียรโชติการาม ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ.2539
กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ. วัฒนธรรม พัฒนาการ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรสาคร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2543.
ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด. เอกสารโรเนียว. จัดเก็บอยู่ในสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, ม.ป.ป.
สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.