โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : ถนนศรีวิชัย
ที่ตั้ง : ถ.ทางขึ้นดอยสุเทพ (ถนนศรีวิชัย) (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004) (ต่อเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ – ดอยสุเทพ) ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่
ตำบล : สุเทพ
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.81075 N, 98.947521 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ปิง
จากพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ตรงไป 50 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระปกเกล้า ตรงไป 650 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีภูมิ ตรงไป 260 เมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนมณีนพรัตน์ ตรงไป 260 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 107 ตรงไป 500 เมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้างเผือก ซอย 4 ตรงไป 500 เมตร จะถึงถนนศรีวิชัย
ปัจจุบันถนนขึ้นดอยสุเทพเป็นเส้นทางสำคัญในการใช้เดินทางสู่ดอยสุเทพและวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ระหว่างทางถนนขึ้นดอยสุเทพมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่สามารถแวะได้ตลอดทาง ที่สำคัญ เช่น
1.แหล่งท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยตึงเฒ่า น้ำตกศรีสังวาล น้ำตกมณฑาธาร น้ำตกห้วยแก้ว อนุสาวรย์ครูบาศรีวิชัย วังบัวบาน ผาเงิบ และสวนสัตว์เชียงใหม่ เป็นต้น
2.พระธาตุดอยสุเทพ เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองเชียงใหม่ที่ชาวเชียงใหม่และประชาชนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ รอบองค์พระธาตุยังเป็นจุดชมวิวตัวเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
3.พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์เพื่อทรงงาน และเยี่ยมราษฎรในเขตภาคเหนือ และเปิดให้ประชาชนเข้าชม เวลา 08.00 – 16.00 น.ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ยกเว้นเมื่อมีเมื่อการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมาประทับแรมในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม
4.จุดชมวิวดอยปุย สามารถมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ด้านล่าง มีร้านขายของของชาวเขาให้นักท่องเที่ยวจับจ่ายได้ตามสะดวก
5.ขุนช่างเคี่ยน อยู่เลยจากหมู่บ้านม้งดอยปุยขึ้นไป ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.จะมีดอกพญาเสือโคร่งบานเต็มสองข้างทาง (This road is mine 2559)
แขวงการทางเชียงใหม่ที่ 2 สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่)
สภาพโดยทั่วไปของถนนขึ้นดอยสุเทพเมื่อแรกสร้างเป็นถนนดินลูกรัง มีระยะทาง 11.530 กิโลเมตร เป็นถนนแคบ ทางลื่น และไม่มีไฟฟ้า บ้านเรือนกลมกลืนกับธรรมชาติ คนกับวัดมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน มีการทำบุญตักบาตรทุกวัน จุดประสงค์ของคนที่เดินทางขึ้นมาบนดอยสุเทพ คือ เพื่อมาทำบุญ แต่ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเป็นถนนลาดยาง มีการต่อสายไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น จุดประสงค์ในการเดินทางขึ้นมาบนดอยสุเทพจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ เพื่อการท่องเที่ยว (ห้างหุ้นส่วนจำกัด โบราณนุรักษ์ 2553 : 42)
ปัจจุบันถนนขึ้นดอยสุเทพ เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 มีลักษณะเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจรสวนทาง ผ่านดอยสุเทพจนถึงพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ระยะทางรวม 16.277 กิโลเมตร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1004 2559) ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 6 กิโลเมตร
แม่น้ำปิง
สภาพธรณีวิทยาในแอ่งที่ราบเชียงใหม่มีความหลากหลายมากทั้งหินอัคนีแทรกซ้อน หินภูเขาไฟ หินแปรและหินตะกอนอายุต่างๆมากกว่า 600 ล้านปี จนถึงชั้นตะกอนหินทรายที่ยังไม่แข็งตัวบนที่ราบกลางแอ่งสมัยรีเซนต์ (Recent) ที่มีอายุประมาณ 10,000-20,000 ปีมาแล้ว ซึ่งได้แก่พื้นที่ราบส่วนใหญ่ที่ปัจจุบันกลายเป็นที่นาและที่อยู่อาศัย (สรัสวดี อ๋องสกุล 2543 : 2-3)
ชื่อผู้ศึกษา : หลวงศรีประกาศ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2499
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
จากบทความเรื่อง “ประวัติถนนขึ้นดอยสุเทพ” ที่หลวงศรีประกาศเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2499 ทำให้ทราบว่าในสมัยที่ยังไม่มีการสร้างถนนศรีวิชัยขึ้นดอยสุเทพนั้น เดิมใช้เส้นทางตัดตรงทางสวนดอก หากเป็นผู้มีเงินหรือชั้นเจ้านายก็จะนั่งช้าง ม้า หรือใช้คนหามขึ้นไป นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัญหาในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับเงิน เทคนิคการสร้าง ปัญหาการตัดไม้ต้องห้าม รวมถึงเหตุการณ์ที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์อีกด้วย การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนี้ครูบาศรีวิชัยได้สร้างวัดขึ้นตามรายทาง คือ วัดศรีโสดา(วัดโสดาบัน) วัดสกิทาคามี วัดอนาคามี และวัดอรหันตา(วัดพระธาตุดอยสุเทพ)ชื่อผู้ศึกษา : ประวิทย์ ตันตลานุกุล
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2542
วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์
ผลการศึกษา :
หนังสือ “ตำนานวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เชียงใหม่” เป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติพระธาตุดอยสุเทพเกี่ยวกับการสร้างวัดตั้งแต่ในสมัยพระเจ้ากือนา การบูรณะวัดพระธาตุในครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเกษเกล้า (พ.ศ.2068) การสร้างเพิ่มเติมในบริเวณต่างๆของวัด ตลอดจนการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ รวมถึงรายนามเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯตั้งแต่แรกจนปัจจุบันชื่อผู้ศึกษา : ห.จ.ก.โบราณนุรักษ์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห.จ.ก.โบราณนุรักษ์ โดยความควบคุมของสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ สำรวจและขุดค้นบริเวณพื้นที่ดอยสุเทพทำให้พบเส้นทางหลักที่ใช้ขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ 4 เส้นทางหลัก ดังนี้ 1.เส้นทางห้วยอุโมงค์ 2.เส้นทางผาลาด 3.เส้นทางขุนช่างเคี่ยน 4.เส้นทางถนนศรีวิชัยจากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า ถนนขึ้นดอยสุเทพในสมัยโบราณนั้นมี 3 เส้นทาง คือ
1.เส้นทางห้วยอุโมงค์ เป็นเส้นทางโบราณที่สันนิษฐานว่าใช้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาหรือก่อนหน้านั้น เส้นทางเริ่มจากวัดอุโมงค์ ผ่านโบราณสถานริมถนนศรีวิชัย โบราณสถานริมห้วยอุโมงค์ และโบราณสถานใกล้โบสถ์เซนต์หลุยส์ สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณสถานเหล่านี้เป็นวัดบริวารของพระธาตุดอยสุเทพและเป็นที่พักระหว่างทางขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ
2.เส้นทางผาลาด เป็นเส้นทางที่ใช้กันอย่างน้อยในสมัยพระเจ้ากือนา แต่คงใช้กันมากในสมัยพญาสามฝั่งแกน เนื่องจากพญาไสลือไท (พ.ศ.1942-1962) ได้มาตั้งเวียงเจ็ดลินและได้เสด็จไปที่ผาลาด เส้นทางนี้ประกอบด้วยวัดผาลาด โบราณสถานวัดสามยอด และโบราณสถานวัดต้นหนุน
3.เส้นทางขุนช่างเคี่ยน สำรวจพบโบราณสถาน 2 แห่ง ตั้งอยู่บนละสันเขา สันนิษฐานว่าเป็นวัดบริสารของวัดพระธาตุดอยสุเทพทางด้านทิศเหนือ สำหรับคนที่เดินทางมาจากอำเภอแม่ริม
สำหรับถนนศรีวิชัยเป็นเส้นทางตัดใหม่ในสมัยครูบาศรีวิชัย ทำให้มีการสร้างโบราณสถานขึ้นตามรายทาง เพื่อเป็นการทำบุญและเป็นที่พักระหว่างทาง เช่น กู่ฝังศพ วัดอนาคามี ม่อนพญาหงส์ โบราณสถานใกล้กับหอดูดาว และแหล่งทำอิฐ (ห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณุรักษ์ 2553 : 187-189)
ถนนขึ้นดอยสุเทพสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477 มีท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เป็นประธานฝ่ายฆราวาส (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 4427) โดยการเริ่มขุดที่บริเวณหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ในปัจจุบัน ใกล้กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว
เมื่อข่าวการสร้างถนนกระจายออกไป ชาวพุทธในภาคเหนือที่เลื่อมใสครูบาศรีวิชัย จึงมาร่วมมือกันสร้างถนนเป็นจำนวนมากจนเกินความต้องการ ครูบาศรีวิชัยจึงได้กำหนดให้สร้างถนนหมู่บ้านละ 10 วา และภายหลังได้ลดลงเหลือ 2 – 3 วา เท่านั้น (ประวิทย์ ตันตลานุกุล 2542 : 29-30)
ถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2478 รวมระยะทางทั้งสิ้น 11 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 เดือน กับ 22 วัน (บุปผา คุณยศยิ่ง 2542 : 4427)
บุปผา คุณยศยิ่ง. “พระธาตุดอยสุเทพ,วัด.” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม 9. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542. : 4423-4427.
ประวิทย์ ตันตลานุกูล. ตำนานพระธาตุดอยสุเทพ นครเชียงใหม่. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์แสงศิลป์, 2547.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ชุมชนโบราณในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2543.
หลวงศรีประกาศ. อนุสรณ์หลวงศรีประกาศ. เชียงใหม่ : บริษัทคนเมืองการพิมพ์, 2512.
ห้างหุ้นส่วนจำกัดโบราณุรักษ์. รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดี โครงการสำรวจและขุดแต่งทางโบราณคดีในพื้นที่ดอยสุเทพ. (เอกสารอัดสำเนา), 17 สิงหาคม 2553.