ปราสาทศีขรภูมิ


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : ปราสาทบ้านระแงง, ปราสาทบ้านปราสาท

ที่ตั้ง : บ้านปราสาท ต.ระแงง อ.ศีขรภูมิ

ตำบล : ระแงง

อำเภอ : ศีขรภูมิ

จังหวัด : สุรินทร์

พิกัด DD : 14.944567 N, 103.798322 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : มูล

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำพอก

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

สำหรับการเดินทางมายังปราสาท ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 226 โดยอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอศีขรภูมิไปอีก 1 กิโลเมตร เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-18.00 น. ค่าธรรมเนียม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

กรมศิลปากร บูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงภูมิทัศน์ปราสาทศีขรภูมิจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสุรินทร์

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ชาวอำเภอศีขรภูมิยังคงสืบสานประเพณีการฉลองปราสาทศีขรภูมิมาอย่างต่อเนื่อง   โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันสมัย มีการแสดงแสง สี เสียงประกอบ โดยใช้ชื่องานว่า “สืบสานตำนานพันปี ปราสาทศีขรภูมิ” สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ โทร.0-4451-9557, 0-4451-3358

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลระแงง

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

- กรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3712 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 (ในขณะนั้นยังไม่ได้ประกาศขอบเขตโบราณสถาน)

- กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98  ตอนที่ 104 วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2524 หน้า 2034  เนื้อที่โบราณสถานประมาณ 10  ไร่  2  งาน  27  ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

ปราสาทศีขรภูมิ ได้รับการขุดแต่ง บูรณะ และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว โดยกรมศิลปากร ปัจจุบันเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

อำเภอศีขรภูมิ เป็นอำเภอทางตอนกลางของจังหวัดสุรินทร์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม  แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอนสลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน  แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

142 เมตร

ทางน้ำ

ลำพอก, แม่น้ำมูล

สภาพธรณีวิทยา

สภาพของดินในอำเภอศีขรภูมิ เป็นดินปนทราย ธรณีสัณฐานเป็นหินทรายในหมวดหินโคกกรวด กลุ่มหินโคราช ยุคครีเทเชียส (กรมทรัพยากรธรณี 2553)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยเขมร, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยล้านช้าง, สมัยบาปวน, สมัยนครวัด

อายุทางโบราณคดี

พุทธศตวรรษที่ 17, พุทธศตวรรษที่ 22

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2503, พ.ศ.2504

วิธีศึกษา : สำรวจ

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากรได้ดำเนินการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถาน ใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มเติมใน พ.ศ.2503 และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในเวลาต่อมา

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ขุดแต่ง, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

กรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะ ปราสาทศีขรภูมิ จนเป็นที่แล้วเสร็จ

ชื่อผู้ศึกษา : สมมาตร ผลเกิด

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ศึกษาสถาปัตยกรรม, ศึกษาเอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : มหาวิทยาลัยศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมมาตร ผลเกิด เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์” เพื่อสำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร

ชื่อผู้ศึกษา : สมิทธิ ศิริภัทร์, มยุรี วีระประเสริฐ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : ประวัติศาสตร์ศิลปะ, ประวัติศาสตร์, ศึกษาอกสาร/จารึก

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ธนาคารไทยพาณิชย์, กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

สมิทธิ ศิริภัทร์ และ มยุรี วีระประเสริฐ ได้รวบรวมรายละเอียดของทับหลัง ในศิลปะลพบุรีที่พบในประเทศไทยเกือบทุกชิ้น ทำการวิเคราะห์และเปรียบเทียบทับหลังทุกสมัยที่ค้นพบภายในประเทศและประเทศกัมพูชา ว่ามีลักษณะคล้ายคลึงหรือแตกต่าง อย่างไรโดยละเอียด และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในที่สุด

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2533

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, ปรับปรุงภูมิทัศน์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ขุดลอกคูล้อมโบราณสถานและบาราย และทำถนนลาดยางเข้าสู่โบราณสถานปราสาทหินศรีขรภูมิ

ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2560

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ปราสาทศีขรภูมิ เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ศิลปะเขมรอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 และคงดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 สมัยอยุธยาตอนปลาย  ประกอบด้วยปรางค์จำนวน 5 องค์ก่อด้วยอิฐและหินทราย ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำรูปตัวยู (U) ล้อมรอบโดยเว้นด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง และมีปรางค์บริวาร 4 องค์ ล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ  รูปแบบของผังเป็นการแสดงลักษณะของการจำลองภูเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ผังลักษณะในประเทศกัมพูชาจะปรากฏอยู่ทั่วไป เช่น ปราสาทตาแก้ว ปราสาทแปรรูป และ ปราสาทนครวัด เป็นต้น โดยลักษณะทางสถาปัตยกรรม มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. ปรางค์ประธาน มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว คือทางด้านทิศตะวันออก ทับหลังเหนือกรอบประตูทางเข้าจำหลักภาพศิวนาฏราชบนแท่น มีหงส์แบก 3 ตัว อยู่เหนือเศียรเกียรติมุขซึ่งใช้มือจับ เท้าสิงห์ข้างละตัวยืนผงาดชูท่อนทวงมาลัยแยกเป็นวงโค้งออกไปทั้งสองข้างปลาย ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้เป็นวงโค้ง 3 วงลดหลั่นกัน ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ รูปฤษี และ รูปหงส์ ใต้ท่อนพวงมาลัยทำลายใบไม้ม้วนเป็นวงโค้งรูปไข่ ภายในวงโค้งแกะสลักเป็นเทพนรสิงห์ มีภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางบรรพตี (พระอุมา) อยู่ด้านล่าง เสาประดับกรอบประตูสลักเป็นลวดลายเทพธิดา ลายก้ามปูและรูปทวารบาล บริเวณหน้าบันเป็นอิฐปรากฎร่องรอยของการประดับลวดลายปูนปั้น

ทับหลังของปราสาทประธานสลักภาพเล่าเรื่อง "ศิวนาฏราช" ที่มีความงดงามและใกล้เคียงกับต้นฉบับที่ประเทศกัมพูชาค่อนข้างมาก  กล่าวคือ พระศิวะแสดงท่าร่ายรำอยู่เหนือหงส์ซึ่งหมายถึงสวรรค์ ดังนั้นการฟ้อนรำในครั้งนี้จึงหมายถึงการฟ้อนรำบนเขาไกรลาส พระศิวะมี 10 กร ทรงจีบพระหัตถ์โดยไม่ถือสิ่งของใด ๆ  ส่วนลายใบไม้ที่ห้อยลงมาจากท่อนพวงมาลัยเป็นภาพเทพต่าง ๆ  ด้านขวาเป็นเทวสตรีประทับบนดอกบัวทรงดอกบัวและไม้เท้าหัวคนไว้ในพระหัตถ์ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งน่าจะหมายถึงพระอุมา ถัดมาเป็นพระนารายณ์มี 4 กรถือจักรและสังข์ คธา และธรณี  ด้านซ้ายสุดเป็นพระคเณศและพระพรหมกำลังตีฉิ่ง ที่เสี้ยวเหนือท่อนพวงมาลัยทางด้านขวา เป็นภาพกิราตารชุนนะมูรติ หรือการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกับพระอรชุน ส่วนหนึ่งของมหาภารตะยุทธ ด้านขวา “เป็นภาพการต่อสู้ระหว่างพระศิวะกับพระวิษณุในปางศารเภศภมูรติ” (สมมาตร์ ผลเกิด, 2534 : 109 – 110) และลายใบไม้สามเหลี่ยมภายในเป็นรูปหงส์  อย่างไรก็ตาม ภาพบุคคลและเรื่องราวของทับหลังชิ้นนี้ ยัง เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป

ลักษณะผ้านุ่งของพระศิวะ และเทวบุรุษองค์อื่น ๆ มีขอบชายผ้าพับย้อนออกมาทางด้านล่างของพระนาภีและชายผ้ารูปหางปลาที่ทับซ้อนกัน 2 ชั้น ตลอดจนความนิยมสลักภาพเล็ก ๆ จนเต็มทั้งพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าทับหลังชิ้นนี้น่าจะสลักขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปะแบบบาปวนกับนครวัด หรือราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

ทับหลังเรื่อง ศิวนาฏราช หรือพระอิศวรทรงฟ้อนรำ “ซึ่งวรรณคดีในศาสนาพราหมณ์ได้กล่าวถึงการฟ้อนรำของพระองค์ว่ามีบทบาทสำคัญมาก กล่าวคือ เป็นการแสดงถึงพลังในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล 5 ประการ คือ การสร้าง การดูแล รักษาให้คงอยู่ การทำลาย การปิดบัง (โดยภาพลวงหรือการแสดงมายา) และการอนุเคราะห์” (สมิทธิ ศิริภัทร์ และมยุรี วีระประเสริฐ, 2533 : 155) ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูเชื่อกันว่า จังหวะการร่ายรำของพระศิวะนั้น อาจจะบันดาลผลดีผลร้ายแก่โลกได้  หากพระองค์ร่ายรำในจังหวะที่พอดีจะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข หากร่ายรำในจังหวะที่รุนแรงจะเป็นผลร้าย นำภัยพิบัติมาสู่โลก

2. ปรางค์บริวารมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม  องค์ปรางค์ไม่มีมุข มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเช่นเดียวกับปรางค์ประธาน พบทับหลัง 2 ชั้น ชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าช้างและคชสีห์ อีกชิ้นหนึ่งเป็นภาพพระกฤษณะฆ่าคชสีห์ (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์) ที่ปรางค์บริวารองค์ทิศตะวันตก พบจารึกหินทรายที่ผนังกรอบประตูเป็นจารึกอักษรธรรมอีสานภาษไทย-บาลี เรื่องราวที่จารึกกล่าวถึงกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาร่วมกันบูรณะโบราณสถานแห่งนี้

จารึกอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย-บาลี ได้รับการอ่านและแปลจาก นายพิเชษฐ์ชัยพร และนายเทิม มีเต็ม (สมมาตร์ ผลเกิด, 2534 : 42-43) ได้ความว่า ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้าวพระยาในท้องถิ่น ได้บูรณะปราสาทหินบ้านระแงง โดยเข้าใจว่าเป็นพระมหาธาตุของศาสนาพุทธ "

นอกจากทับหลังสลักภาพศิวนาฏราชแล้ว ที่ปราสาทศีขรภูมิแห่งนี้ยังพบทับหลังอีก 2 ชิ้น ที่มีรูปแบบศิลปะในสมัยเดียวกัน แกะสลักเล่าเรื่อง กฤษณาวตาร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ รายละเอียดของแต่ละชิ้นมีลักษณะดังนี้

ชิ้นที่ 1 เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์ การจัดองค์ประกอบ แบ่งทับหลังออกเป็น 2 ส่วน ตามแนวนอน ส่วนบนมีขนาดเล็กกว่าส่วนล่าง ส่วนนี้แกะสลักเป็นภาพฤษี 5 ตน นั่งในท่าโยคาสนะภายในซุ้มเรือนแก้ว ส่วนล่าง ตรงกึ่งกลางแกะสลักภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับเท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยลงมาคายท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ปลายท่อนพวงมาลัยม้วนออกเป็นลายคล้ายเศียรนาคสามเศียร เศียรบน คายท่อนพวงอุบะที่ม้วนขึ้นไปยังส่วนบนสุดของทับหลัง ใต้ท่อนพวงมาลัยทำเป็นลายใบไม้ม้วนเป็นวงสองวงคล้ายเลขแปด ทับหลังชิ้นนี้มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ แกะสลักอย่างประณีตสวยงาม

ชิ้นที่ 2 เป็นทับหลังแกะสลักภาพพระกฤษณะต่อสู้กับช้างและสิงห์เช่นเดียวกับชิ้นที่ 1 การจัดองค์ประกอบคล้ายคลึงกัน ตรงกลางทับหลังแกะสลักเป็นภาพพระกฤษณะใช้มือขวาจับเท้าสิงห์และมือซ้ายจับ เท้าช้าง ชูขึ้นในจังหวะร่ายรำ หัวสิงห์และช้างห้อยหัวลงมาคาย ท่อนพวงมาลัยแยกออกไปเป็นวงโค้งทั้งสองข้าง ส่วนปลายของท่อนพวงมาลัยด้านขวาหักหายไป ส่วนด้านซ้ายลบเลือน มีลักษณะที่ยังแกะสลักไม่เสร็จ เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ สามเหลี่ยม ส่วนภายในวงโค้งทำเป็นลายใบไม้ม้วน

กรมศิลปากร ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะปรับปรุงภูมิทัศน์ระหว่างปี พ.ศ. 2528-2534

 

การกำหนดอายุและราละเอียดอื่นๆ

เมื่อปี พ.ศ. 2472 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา และได้เสด็จมาที่ปราสาทแห่งนี้ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า “ที่ปราสาทบ้านระแงงนี้ องค์ปรางค์ทั้งใหญ่น้องก่อด้วยอิฐ เครื่องประดับองค์ปรางค์ กรอบประตูและทับหลังประตูหน้าต่างและยอดเปนศิลา อย่างเดียวกันกับเมืองต่ำ เปนของสร้างในพระพุทธศาสนา รู้ได้โดยที่ทับหลังประตูปรางค์องค์ใหญ่มีรูปพระโพธิสัตว์โลเกศวรอยู่เปนสำคัญ และคำจารึกที่กรอบประตูปรางค์องค์เล็กข้างใต้ก็บอกว่า สิตามะกะ ระมาสมะนาดชาติพิรมย สมสตปสิกราชาเจ้า สงฆราชากกุลวงษา พร้อมกับพระญาติวงศ์สร้างไว้ในพระพุทธศาสนา” (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ 2531 : 39) แต่ปรากฏว่า ความคิดเห็นดังกล่าว คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องซึ่ง ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แสดงความคิดเห็นขัดแย้ง ไว้ในบทนำหนังสือจดหมายเหตุการณ์เสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ. 2472 โดยกล่าวว่า (หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ 2531 : 12 – 13)

ข้าพเจ้าเข้าใจว่าปราสาทอิฐบ้านระแงงนี้ สร้างขึ้นในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ราว พ.ศ. 1650 ทั้งนี้ถ้าเราสังเกตดูภาพสลักบนทับหลังศิลาปรางค์องค์กลางแล้วจะเห็นได้ว่า ภาพบุคคลหลายกรกำหลังฟ้อนรำอยู่นั้น คงเป็นพระศิวนาฏราชหรือพระอิศวรทรงฟ้อนรำแทนที่จะเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่าถ้าเราดูรูปเทวดานั่งในแถวที่ถัดลงไปจากทางด้าน ขวามือของเราจะเห็นว่า มีรูปพระคเณศ พระพรหม พระนารายณ์ และพระลักษมีตามลำดับ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พระอิศวรซึ่งเป็นเทวดาที่สูงสุดอีกองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์จะไปอยู่เสียที่ ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า รูปเทวดาองค์สำคัญซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ และอยู่ข้างบนนี้ คงเป็นพระศิวนาฏราช มิใช่พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นแน่”

เกี่ยวกับยุคสมัยของปราสาท น. ณ ปากน้ำ ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “ปราสาทศีขรภูมิ ซึ่งเดิมเรียกกันว่าปราสาทบ้านระแงงอยู่ในสุรินทร์ สมัยก่อนยึดเป็นทฤษฎีกันว่า เป็นปราสาทก่ออิฐที่เก่าแก่ที่สุด แต่หลังจากการศึกษาระบบปราสาทก่ออิฐอย่างละเอียด ข้าพเจ้าตระหนักความจริงว่า เราต้องคำนึงถึงรูปทรงและเทคนิคการก่อสร้าง รวมทั้งทับหลังเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัย อันปราสาทศีขรภูมินี้ ทับหลังขององค์ปราสาทองค์กลาง มีรูปหน้าเกียรติมุขปรากฏอยู่บอกว่าเป็นฝีมือช่างรุ่นหลังชัยวรมันที่ 2 ลงมาด้วยรัชกาลนี้นำเอาหน้าเกียรติมุขหรือหน้ากาลแบบนี้มาจากชวา แต่เมื่อพิจารณาถึงรูปทับหลังทั้งหมดประกอบกับรูปนางอัปสร สองข้างประตู ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นศิลปะรุ่นเดียวกับนครวัดในสมัยเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งกำหนดได้ว่าไม่มีอายุสูงไปกว่านี้ จากการศึกษาถึงช่วงบนของยอดปราสาทอันมีรูปร่างพิกล ผิดแบบแผนปราสาทขอมทั่วไปจึงพบว่า ส่วนบนเป็นของเสริมสร้างขึ้นในสมัยหลังโดยมิใช่ฝีมือช่างขอมอาจต่อเติมขึ้น ในสมัยอยุธยานี้เอง”

ส่วน Smitthi Siribhadra และ Elizabeth Moore (Palaces of Gods Khmer Arts Architecture in Thailand 1992 : 219) ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า รูปแบบของทับหลังและลวดลายแกะสลักด้วยหินทรายของปราสาทศีขรภูมินั้น มีอายุอยู่ในสมัยนครวัดราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ส่วนยอดของปราสาทได้ต่อเดิมขึ้นใหม่โดยชนชาวลาวในสมัยหลัง

จากลวดลายที่เสาและทับหลังของปราสาทประธานและปราสาทบริวารทั้ง 4 องค์ มีลักษณะปะปนกันระหว่างรูปแบบศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ. 1550-1650) และแบบนครวัด (พ.ศ.1650-1700)  จึงอาจกล่าวได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คงสร้างขึ้นในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 หรือต้นสมัยนครวัดโดยสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย และคงถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนาตามที่มีหลักฐานการบูรณปฏิสังขรณ์  ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ภาวิณี รัตนเสรีสุข, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2553.

กรมศิลปากร. โครงการและรายงานการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ.2502 ภาค 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2503.

กรมศิลปากร.ทำเนียบโบราณสถานขอมในประเทศไทย เล่ม 3 จังหวัดสุรินทร์ เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 1/2538 กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อาร์ตโปรเกส, 2538.

กรมศิลปากร. ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งและพับลิชชิ่ง, 2550.

คณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.

จรรยา มาณะวิท, สิริกุล พิชัยจุมพล, และสาวิตรี พิสณุพงศ์. แหล่งท่องเที่ยวอีสานล่าง. เอกสารกองโบราณคดี หมายเลข 8/2533 กรุงเทพ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.

ธวัช ปุณโณทก. "จารึกปราสาทหินบ้านระแงง." ศิลาจารึกอีสานสมัยไทย - ลาว : ศึกษาทางด้านอักขรวิทยาและประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : คุณพินอักษรกิจ, 2530 : 413-414.

พรชัย สุจิตต์ “ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรกัมพูชาโดยสังเขป” โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทย”  กรุงเทพ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2545.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ปราสาทขอมในดินแดนไทย:ความเป็นมาและข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), 2551.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ. ศิลปะสมัยลพบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2547.

ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 04 มิถุนายน 2557. แหล่งที่มา          http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

สมิทธิ ศิริภัทร์, มยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง : Lintels. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2533.

สมมาตร ผลเกิด. “การศึกษาปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2529.

สมเดช ลีลามโนธรรม. “ประวัติศาสตร์โบราณคดีจังหวัดสุรินทร์.” เอกสารประกอบการประชุมสัมมนาถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการและฆราวาสผู้สนับสนุนวัด โครงการดูแลทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติของพระสังฆาธิการ สำนักศิลปากรที่ 12 นครราชสีมา, วันที่ 24 มิถุนายน 2554.

หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์.จดหมายเหตุการเสด็จตรวจโบราณวัตถุสถาน มณฑลนครราชสีมา ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พ.ศ.2472 กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2531.

Smitthi Siribhadra, and Elizabeth Moore. Palaces of Gods Khmer Arts Architecture in Thailand. River Books, 1992.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี