โพสต์เมื่อ 11 ส.ค. 2021
ชื่ออื่น : ผาช้าง, เพิงผาช้าง
ที่ตั้ง : อยู่ในอุทยานแห่งชาติออบหลวง เขตติดต่อระหว่าง ต.หางดง อ.ฮอด และ ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง
ตำบล : บ้านแปะ
อำเภอ : จอมทอง
จังหวัด : เชียงใหม่
พิกัด DD : 18.229444 N, 98.486111 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่แจ่ม
จากจังหวัดเชียงใหม่เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ถึงอำเภอฮอด แล้วเลี้ยวขวาตรงหอนาฬิกาไปตามทางหลวงสายฮอด-แม่สะเรียง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108) จากอำเภอฮอดไปอีก 17 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบหลวง (ระยะทางจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ถึงอุทยานฯประมาณ 105 กิโลเมตร)
ปัจจุบัน “ออบหลวง” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติออบหลวง สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะภาพเขียนสีที่ผาช้างเป็นจุดท่องเที่ยวหลักแห่งหนึ่งภายในอุทยานฯ
นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวและจองที่พักของอุทยานฯได้ที่ อุทยานแห่งชาติออบหลวง ตู้ ปณ.2 ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 50240 โทรศัพท์ 081-602-1290, 053-315-302 โทรสาร 053-317-497 อีเมล obluang@fca16.com
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมศิลปากร
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขา มีหน้าผาสูงชันและโขดหินใหญ่น้อยมากมาย บริเวณที่พบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่บนตะพักลำน้ำระดับสูง (high terrace) ของภูเขาด้านทิศเหนือของลำน้ำแม่แจ่มหรือที่เรียกว่า “ดอยผาช้าง” บริเวณลำน้ำแจ่มไหลผ่านช่องผาแคบๆและสูงชัน เรียกว่า “ออบหลวง” (The Great Gorge)
ลำน้ำแม่แจ่ม
หินที่เป็นองค์ประกอบหลักของพื้นที่นี้ได้แก่ แกรนิตและแกรไดออไรท์สลับบะซอลท์ และหินตระกูลแกรนิตชนิดมิกมาไทต์ ในปวงหินปลูโตนิค ของยุคครีเตเชียสและไทรแอสสิค (Granite Grano-diorite with Basalt and Migmatite of the Cretaceous to Triassic) บนผิวของลานตะพักมีชั้นดินตื้นๆที่เกิดจาการสลายตัวพุผังของหินต้นกำเนิดในพื้นที่ แต่ในบริเวณเพิงผาบางแห่งมีชั้นทับถมหนามากกว่า 7-8 เมตร หน้าดินโดยทั่วไปไม่มีพืชเล็กปกคลุมดิน และมีลักษณะถูกชะล้างโดยน้ำฝนค่อนข้างรุนแรง ตามหุบร่องระหว่างเนินตะพักต่างๆมักมีร่องน้ำไหลแคบๆอยู่มาก พืชพรรณประกิบด้วยไม้ยืนต้นของป่าแดงแล้ง (Dipterocarp type) และป่าไผ่ริมน้ำ
ในท้องน้ำแม่แจ่มมีเกาะแก่งหินขนาดใหญ่มากมาย บนชายหาดริมฝั่งหลายแห่งมีก้อนหินกลมมนประเภทกรวดท้องน้ำ (cobbles, pebbles) ของหินควอทไซท์ (Quartzite) ควอทซ์-แจสเปอร์ (Quartz-Jasper) และหินชนิดอื่นๆอยู่หนาแน่น หินหรวดเหล่านี้คงจะถูกน้ำพัดพามาจากพื้นที่สูงทางต้นน้ำแม่แจ่ม
ชื่อผู้ศึกษา : พาสุข ดิษยเดช, สายันต์ ไพรชาญจิตร์, ประทีป เพ็งตะโก, สุวิทย์ ชัยมงคล, ระพีพรรณ เมืองดี, อรัญญา เมืองดี, ทนงศักดิ์ ชัยเรืองฤทธิ์, ยุพา เขียวธง
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2527
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจบริเวณออบหลวง พบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณเพิงผาและที่ลาดเชิงเขา หลักฐานที่พบมีทั้งเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน มีส่วนผสมของทรายในเนื้อภาชนะสูง ลวดลายสำคัญที่พบเป็นลายเชือกทาบและลายขีด (corded-mark and incised potsherds) ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายพาน (pedestaled bowls) เครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ (flaked cobble tools) ทั้งประเภท scraper sumatralith สะเก็ดหิน และเครื่องมือหินขัด ที่เพิงผาโดยเฉพาะบริเวณผาช้างพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะดินเผาผิวขัดมันสีน้ำตาลเข้มบนผิวดิน นอกจากนั้นยังพบภาพเขียนสีแดงอมดำเข้มและสีขาว วาดเป็นรูปสัตว์และคนอยู่หลายภาพ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก 2527)ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์, มาริแอล ซังโตนี, ฌ็อง ปิแอร์ ปอโทร, ริชาร์ด เมดาว์, สเตฟาน วาเช
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2528, พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, ศึกษาโลหะ, ศึกษาภาชนะดินเผา, ศึกษากระดูกคน, ศึกษาศิลปะถ้ำ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ประเทศฝรั่งเศส (Centre National de La Recherche Scientifique)
ผลการศึกษา :
คณะทำงานจากโครงการโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ไทย-ฝรั่งเศส (Thai-French Prehistoric Research Project) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ประเทศฝรั่งเศส (Centre National de La Recherche Scientifique) และโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีออบหลวง (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531) โดยมีจุดประสงค์ของการศึกษาคือสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการศึกษาวิวัฒนาการของประชากรมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนเกษตรกรรมระยะต้นในสังคมนายพรานจนถึงสมัยโลหะในสังคมเกษตรกรรม ทั้งทางด้านมานุษยวิทยากายภาพและพัฒนาการด้านวัฒนธรรม ส่วนเป้าหมายของการศึกษาคือสอบค้นหลักฐานสำหรับการกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีสมัยต่างๆในประเทศไทย โดยวิธีการหาอายุสัมพันธ์ (Relative Chronology) และวิธีทางวิทยาศาสตร์ (Chronometric Dating) จากการสำรวจอย่างละเอียดต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2527 ใน 3 พื้นที่ พบหลักฐานทางโบราณคดี ดังนี้ 1.ผาช้าง (Rock-shelter of Phachang) อยู่ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300-400 เมตร พบสะเก็ดหิน เครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ และมีดินทับถมอยู่หนามาก บางส่วนที่ชิดเพิงผาเป็นหลุม (sinkhole) ลึกประมาณ 2-2.5 เมตร 2.บริเวณลานตะพักกว้างทางทิศตะวันออกของออบหลวง และอยู่ห่างจากผาช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 เมตร พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาหรือเครื่องประดับสำริด และหอยเบี้ยเจาะรู อย่างละ 1 ชิ้น ผู้สำรวจสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้อาจถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่พักแรมชั่วคราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ 3.บริเวณหลุมฝังศพหมายเลข 1 อยู่บนลานตะพักสูงเหนือออบหลวง พื้นที่บริเวณนี้ถูกล้อมรอบด้วยโขดหินขนาดใหญ่ ตรงกลางลานมีโขดหินขนาดย่อมอยู่แห่งหนึ่ง จากการสำรวจพบเครื่องมือหินขัดทั้งสมบูรณ์และแตกหัก สะเก็ดหินที่เกิดจากการกะเทาะเครื่องมือหิน และเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่บนผิวดิน โดยเฉพาะบริเวณรอบโขดหินกลางพื้นที่จะพบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น ผู้สำรวจจึงทดลองขูดผิวดินข้างโขดหินบริเวณที่พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น ก็พบภาชนะดินเผาเกือบเต็มใบและสามารถนำเศษชิ้นส่วนที่พบบนผิวดินมาต่อเข้าด้วยกันได้ ทางคณะสำรวจจึงเลือกพื้นที่บริเวณนี้ขุดค้น ผลการขุดค้นพบหลุมฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ คือโครงกระดูกหมายเลข 1 และวัตถุอุทิศได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องประดับที่ทำจากสำริดและเปลือกหอยทะเลชื่อผู้ศึกษา : J.R. Bourhis
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษาโลหะ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.แรนส์ (ฝรั่งเศส)
ผลการศึกษา :
J.R. Bourhis นักวิจัยประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแรนส์ ประเทศฝรั่งเศส วิเคราะห์ส่วนผสมของกำไลสำริด 5 ตัวอย่าง จากแหล่งโบราณคดีออบหลวง ด้วยวิธี Electrolysis และ Spectrography พบว่ากำไลสำริดมีดีบุกผสมอยู่ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ 5-13 % (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531 : 51-52)ชื่อผู้ศึกษา : สายันต์ ไพรชาญจิตร์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2529
วิธีศึกษา : ศึกษากระดูกคน
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร, ม.บอร์โดซ์ 1 (ฝรั่งเศส)
ผลการศึกษา :
สายันต์ ไพรชาญจิตร์ ศึกษาฟันโครงกระดูกหมายเลข 1 แหล่งโบราณคดีออบหลวง ณ ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยากายภาพ ม.บอร์โดซ์ 1 ประเทศฝรั่งเศส พบว่าเจ้าของโครงกระดูกตายเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย (adolescent) ต่อกับวัยผู้ใหญ่ (young adult) ประมาณไม่เกิน 30 ปี นอกจากนั้นยังได้วัดขนาดฟันทั้ง 32 ซี่ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531 : 49)แหล่งโบราณคดีออบหลวงเป็นแหล่งโบราณคดีในภาคเหนือของไทยแห่งแรกที่พบหลักฐานเกี่ยวกับสำริดและโลหวิทยา พื้นที่ออบหลวงพบหลักฐานทางโบราณคดี 3 บริเวณด้วยกัน (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2527; 2531) คือ บริเวณผาช้าง บริเวณลานตะพักกว้างทางทิศตะวันออกของออบหลวง และบริเวณหลุมฝังศพหมายเลข 1
1.บริเวณผาช้าง อยู่ห่างจากออบหลวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 300-400 เมตร สภาพพื้นที่เป็นเพิงผาสูงประมาณ 15 เมตร ผนังเพิงผาตั้งเอียงทำมุมกับพื้นดินประมาณ 75 องศา ยาวประมาณ 10 เมตร วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เจ้าหน้าที่โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีบริเวณเพิงผาและที่ลาดเชิงเขา หลักฐานที่พบมีทั้งเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน มีส่วนผสมของทรายในเนื้อภาชนะสูง ลวดลายสำคัญที่พบเป็นลายเชือกทาบและลายขีด (corded-mark and incised potsherds) ชิ้นส่วนของภาชนะดินเผารูปทรงคล้ายพาน (pedestaled bowls) เครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินกรวดท้องน้ำ (flaked cobble tools) ทั้งประเภท scraper และ sumatralith สะเก็ดหิน และเครื่องมือหินขัด ที่เพิงผาโดยเฉพาะบริเวณผาช้างพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะดินเผาผิวขัดมันสีน้ำตาลเข้มบนผิวดิน นอกจากนั้นยังพบภาพเขียนสีแดงอมดำเข้มและสีขาว วาดเป็นรูปสัตว์และคนอยู่หลายภาพ (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก 2527 ; สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531)
ภาพเขียนสีที่เพิงผาช้างมีลักษณะการเขียนภาพ 2 แบบ คือ การเขียนเป็นภาพลายเส้นและการเขียนภาพลงสีทึบ การเขียนจะระบายหรือเขียนสีหนามาก สีที่ใช้คือสีแดงและสีขาว โดยภาพเขียนสีแดงเขียนเป็นรูปคนและสัตว์ แต่ลบเลือนมาก และภาพเขียนสีขาวเขียนเป็นรูปคนช้าง ซึ่งจากการขุดค้นพบก้อนแร่เฮมาไทต์ที่มีร่องรอยฝนหลายก้อนในชั้นทับถมระดับล่าง จึงอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยในระยะแรก เป็นผู้วาดภาพเขียนสีเหล่านี้ ซึ่งกำหนดอายุไว้ประมาณ 8,500-7,500 ปีมาแล้ว (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ 2529 : 63 ; สุภาพร นาคบัลลังก์ และชินณวุฒิ วิลยาลัย 2550 : 53)
ขนาดของภาพมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามตำแหน่งบนผนังเพิงผา (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก 2527) ได้แก่
ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 อยู่ทางทิศใต้ของผนัง ภาพที่เขียนเป็นภาพคน 1 คน ยืนมองเห็นด้านหน้า ขากางออก ผมคล้ายกับมัด 2 ข้าง ลักษณะการเขียนเป็นการเขียนภาพลายเส้นแสดงโครงร่างด้านนอก ถัดจากภาพคนไปทางด้านเหนือเป็นภาพคล้ายดอกไม้ 1 ดอก เขียนเป็นภาพลายเส้นเช่นเดียวกัน บริเวณรอบๆภาพยังมีร่องรอยของสีที่ยังติดอยู่เป็นจุดๆ ซึ่งอาจเป็นภาพเขียนที่สีกะเทาะหลุดออกไป ภาพกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งสูงตั้งแต่ 1.6-2.7 เมตร จากพื้นเพิงผา
ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 2 อยู่ห่างไปทางทิศเหนือของกลุ่มภาพเขียนสีที่ 1 ประมาณ 2 เมตร ประกอบไปด้วยภาพสัตว์ โดยเป็นช้างตัวเล็ก 1 ตัว ตัวใหญ่ 1 ตัว เขียนเป็นภาพลายเส้น และภาพสัตว์คล้ายนก ซึ่งวาดโดยการระบายสีทึบ บริเวณรอบๆภาพนี้มีจุดสีกระจายอยู่ทั่วไป คงมีการเขียนเป็นภาพอื่นๆอีกแต่สีหลุดหายไป ภาพกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งสูงตั้งแต่ 1.3-2.6 เมตร จากพื้นเพิงผา
จากการสำรวจและขุดค้นที่เพิงผาช้างพบว่าชั้นทับถมระดับล่างปรากฏเครื่องมือหินกะเทาะแบบโหบิเนียน (Hoabinhian) กระดูกสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์ป่า เช่น เก้ง กวาง วัวป่า เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่ากระดูกสัตว์บางชิ้นมีร่องรอยตัดและเผาไฟ ผู้ขุดค้นสันนิษฐานว่าชั้นทับถมระดับนี้น่าจะเป็นของกลุ่มคนที่ยังชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า ในช่วงสมัยโฮโลซีนตอนต้น หรือเมื่อประมาณ 8,500-7,500 ปีมาแล้ว (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ 2529 ; สุภาพร นาคบัลลังก์ และชินณวุฒิ วิลยาลัย 2550) แต่มีเครื่องหินกะเทาะที่เป็นหินกรวดขนาดกลางบางส่วนที่อาจมีอายุเก่าถึง 28,000 ปีมาแล้ว (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2529 : 57 ; อุษณีย์ ธงไชย 2550 : 7)
2.บริเวณลานตะพักกว้างทางทิศตะวันออกของออบหลวง และอยู่ห่างจากเพิงผาช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 150 เมตร พบเศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนสำริด 1 ชิ้น และหอยเบี้ยเจาะรู 1 ชิ้น ผู้สำรวจสันนิษฐานว่าพื้นที่นี้อาจถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือที่พักแรมชั่วคราวของคนก่อนประวัติศาสตร์
3.บริเวณหลุมฝังศพหมายเลข 1 บนลานตะพักสูงเหนือออบหลวง พื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยโขดหินขนาดใหญ่ ตรงกลางลานมีโขดหินขนาดย่อมอยู่แห่งหนึ่ง จากการสำรวจพบเครื่องมือหินกะเทาะ (ทำจากหินควอทไซท์เป็นส่วนมาก) แกนหินและสะเก็ดหิน (ทำจากหินควอทไซท์ เชิร์ท แจสเปอร์ ควอทซ์ หินทรายแป้ง) ขวานหินขัดไม่มีบ่า (ทำจากหินชนวนและหินเถ้าภูเขาไฟ) ชิ้นส่วนสำริด หอยเบี้ยเจาะรู (หอยทะเล) นอกจากนั้นยังพบเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่บนผิวดิน โดยเฉพาะบริเวณรอบๆโขดหินพบเศษกลางพื้นที่พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่นกว่าบริเวณอื่น ผู้สำรวจจึงทดลองขูดผิวดินข้างโขดหินบริเวณที่พบเศษภาชนะดินเผาหนาแน่น พบภาชนะดินเผาเกือบเต็มใบและสามารถนำเศษชิ้นส่วนที่พบบนผิวดินมาต่อเข้าด้วยกันได้ ทางคณะสำรวจจึงเลือกพื้นที่บริเวณนี้ขุดค้น
การขุดค้นพบหลุมฝังศพมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่ระดับ 40 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน หรือ 55-65 เซนติเมตรจากผิวดินเดิม ขนาดของหลุมศพยาว 2 เมตร กว้าง 75-85 เซนติเมตร ภายในหลุมฝังศพพบโครงกระดูกมนุษย์ 1 โครง (โครงกระดูกหมายเลข 1) และวัตถุอุทิศให้กับผู้ตาย (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531)
โครงกระดูกหมายเลข 1 สภาพผุเปราะมาก กระดูกที่พบมีเพียงกระดูกแขนทั้ง 2 ข้าง กระดูกต้นขาทั้ง 2 ข้าง นิ้วมือซ้าย 2 ชิ้น และฟัน 32 ซี่ กระดูกปลายเท้าถูกรบกวนในสมัยหลัง แขนทั้ง 2 ข้าง อายุของเจ้าของโครงกระดูกเมื่อเสียชีวิตอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลาย (adolescent) ต่อกับวัยผู้ใหญ่ (young adult) อายุโดยประมาณไม่เกิน 30 ปี (ศึกษาอายุจากฟัน)
รูปแบบการฝังศพ การฝังศพผู้ตาย ขุดเป็นหลุมยาวประมาณ 2 เมตร กว้าง 75-85 เซนติเมตร ลึกลงไปจากผิวดิน 55-65 เซนติเมตร วางร่างผู้ตายไว้ที่ก้นหลุมในท่านอนหงายเหยียดยาว แขนทั้ง 2 ข้างวางแนบลำตัว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก อาจมีการสวมเครื่องประดับบริเวณคอ เนื่องจากพบลูกปัดเปลือกหอย 62 เม็ด และลูกปัดทำจากหินคาร์เนเลียน 1 เม็ด อยู่ในตำแหน่งคอ ที่แขนข้างขวาสวมกำไลสำริด 5 วง กำไลเปลือกหอย 1 วง ส่วนข้างซ้ายสวมกำไลสำริด 9 วง กำไลเปลือกหอย 1 วง มีการฝังภาชนะดินเผาร่วมกับร่างผู้ตายด้วย โดยวางอยู่บริเวณใต้เข่าลงไปจรดปลายเท้า นอกจากนี้ยังพบแถบสำริดม้วนกลม 2 ชิ้น ระหว่างกระดูกต้นขาทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจแสดงถึงความเชื่อหรือประเพณีในการจงใจทำลายของ (Killing Cutt.) ก่อนใส่ลงในหลุมศพด้วย ใต้แถบสำริดพบก้อนดินเทศ 2 ก้อน
เครื่องประดับ ที่พบร่วมกับโครงกระดูกหมายเลข 1 ได้แก่
ลูกปัดเปลือกหอย ลักษณะกลมแบน ทำจากเปลือกหอยทะเล พบจำนวน 62 เม็ด ใช้เป็นเครื่องประดับส่วนคอของผู้เสียชีวิต
ลูกปัดหินคาร์เนเลียน สีส้ม ทรงกระบอก พบจำนวน 1 เม็ด ใช้เป็นเครื่องประดับส่วนคอของผู้เสียชีวิต
กำไลเปลือกหอย ทำจากหอยมือเสือ พบว่าสวมที่แขนซ้าย 1 วง และแขนขวา 1 วง โดยวงที่แขนขวามีการเจาะปลายทั้ง 2 ข้างเป็นรู สันนิษฐานว่ามีการเชือกหรือวัสดุอื่นร้อยหรือผูกต่อกัน หลักฐานประเภทเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเล ชี้ให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างไกล ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
กำไลสำริด พบสวมที่แขนซ้ายของผู้ตาย 9 วง และแขนขวา 5 วง โดยทั้ง 14 วง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
แบบที่ 1 – ตัวกำไลแคบและบาง ด้านตัดเป็นรูปไข่กึ่งสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน พบที่แขนซ้าย 2 วง แขนขวา 4 วง
แบบที่ 2 – ตัวกำไลกว้างและหนากว่าแบบที่ 1 ด้านตัดเป็นรูปสีเหลี่ยมผืนผ้ายาวเรียว พบที่แขนซ้าย 7 วง แขนขวา 1 วง
แถบสำริด ลักษณะเป็นแถบสำริดม้วนกลมคล้ายเลข ๑ ถูกหักม้วนโดยตั้งใจ พบ 2 ชิ้น วางอยู่ระหว่างกระดูกต้นขาทั้ง 2 ข้าง
J.R. Bourhis นักวิจัยประจำศูนย์วิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแรนส์ ประเทศฝรั่งเศส วิเคราะห์ส่วนผสมของกำไลสำริด 5 ตัวอย่าง จากแหล่งโบราณคดีออบหลวง ด้วยวิธี Electrolysis และ Spectrography พบว่ากำไลสำริดมีดีบุกผสมอยู่ในสัดส่วนที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ 5-13 % สัดส่วนดีบุกและสิ่งเจือปนอื่นๆในสำริดคล้ายคลึงกับสำริดที่พบในแหล่งโบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531 : 51-52 ; 60)
ภาชนะดินเผา พบว่าวางอยู่ช่วงใต้เข่าลงไปจนถึงปลายเท้าของผู้ตาย ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนแตกหัก จากการศึกษาของผู้วิเคราะห์พบว่ามีด้วยกันอย่างน้อย 14 ใบ มีทั้งภาชนะทรงคล้ายพาน ภาชนะก้นกลม และภาชนะหม้อมีสันและคอสูง ส่วนใหญ่มีการตกแต่งที่ผิวภาชนะเป็นลายเส้นคู่ขนานตัดทแยงกันเป็นคู่ ทำให้เกิดตารางรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ช่วงล่างของภาชนะมักทำเป็นลายเชือกทาบ นอกจากนั้นยังมีการตกแต่งเป็นลวดลายขีดเส้นคู่ขนานตัดทแยงกันและลายเชือกทาบ ลายขีดเส้นคู่ขนานสลับแถบเส้นขูดเป็นชุด ชุดละ 4-5 เส้น ตามแนวนอนเหนือแนวตั้ง เป็นลูกคลื่น หรือเป็นรูปบั้ง (chevrons) ลายซี่หวีขูดตามแนวนอนและแนวตั้ง ลายตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ ลายประดับกลุ่มนี้มักพบบนส่วนด้านข้างของภาชนะคล้ายพาน ส่วนคอ และส่วนไหล่ของหม้อก้นกลมและหม้อมีสัน
การกำหนดอายุหลุมฝังศพหมายเลข 1 จากลักษณะของภาชนะดินเผาที่มีร่องรอยการใช้แป้นหมุนอย่างช้าในการขึ้นรูป โดยเฉพาะส่วนฐานของภาชนะคล้ายพาน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของภาชนะดินเผาสมัยสำริด โดยอาจมีอายุอยู่ในช่วง 1,500-500 ปีก่อนคริสตกาล (3,500-2,500 ปีมาแล้ว) (สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และคณะ 2531 : 60) โดยเทียบกับอายุของสมัยสำริดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
สายันต์ ไพรชาญจิตร์. “ไม้สัก ผักหวาน และโบราณคดีที่ออบหลวง.” อนุสาร อ.ส.ท. 27 (4) : 59-65.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และประทีป เพ็งตะโก. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่วนอุทยานออบหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่. รายงานทางวิชาการฉบับที่ 2 ปีที่ 3. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2527.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์, พาสุข ดิษยเดช, และสุพจน์ พรหมมาโนช. เมืองและแหล่งชุมชนโบราณในล้านนา. ประโชติ สังขนุกิจ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี, 2539.
สายันต์ ไพรชาญจิตร์, มาริแอล ซังโตนี, และฌ็อง ปิแอร์ ปอโทร. “รายงานการสำรวจและขุดค้น พุทธศักราช 2528.” ใน โบราณคดีภาคเหนือ เหมืองแม่เมาะ ออบหลวง บ้านยางทองใต้. หน้า 36-68. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการ กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2531.
สุภาพร นาคบัลลังก์ และชินณวุฒิ วิลยาลัย. “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในล้านนา.” ใน จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. สุภาพร นาคบัลลังก์ และสินีนาฏ สมบูรณ์อเนก, บรรณาธิการ. หน้า 39-58. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้งศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
อุษณีย์ ธงไชย. “บทนำ.” ใน จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. สุภาพร นาคบัลลังก์ และสินีนาฏ สมบูรณ์อเนก, บรรณาธิการ. หน้า 1-24. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้งศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.