โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ชื่ออื่น : วัดป่าเขาหินตัด
ที่ตั้ง : ม.5 บ้านคลองตะแบก ต.ป่าเขาหินตัด อ.สีคิ้ว
ตำบล : ลาดบัวขาว
อำเภอ : สีคิ้ว
จังหวัด : นครราชสีมา
พิกัด DD : 14.86575 N, 101.68035 E
ถนนที่เข้าสู่วัดป่าเขาหินตัดอยู่ที่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 206-207 ข้างสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอสีคิ้ว ตรงข้ามกับวัดเขาทองวนารามหรือวัดภูเขาทองและแหล่งหินตัดโบราณ ริมถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว อยู่ห่างจากต่างระดับสีคิ้วไปทางทิศตะวันตก (หรือไปทางอำเภอปากช่อง) ตามถนนมิตรภาพประมาณ 2.5 กิโลเมตร (อยู่ฝั่งด้านทิศเหนือของถนนมิตรภาพ)
แหล่งตัดหินโบราณภายในวัดป่าเขาหินตัดนับว่าเป็นแหล่งความรู้ทางประวัติโบราณคดีและธรณีวิทยาที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอสีคิ้ว ได้รับการดูแลรักษาจากทางวัด เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ มีเก้าอี้สำหรับนั่งพักอยู่รอบบ่อ อย่างไรก็ตาม ที่แหล่งนี้ยังไม่มีการติดตั้งป้ายให้ข้อมูล แม้ว่าจะมีป้าย “แหล่งหินตัดโบราณ” วางอยู่ปากบ่อ แต่ก็มีสภาพผุพัง
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวควบคู่ไปกับวัดป่าเขาหินตัดได้ เนื่องจากมีทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นสถานที่ร่มรื่นเงียบสงบเหมาะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและปฏิบัติธรรม ตลอดไปจนถึงพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวควบคู่ไปกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นโดยรอบ โดยเฉพาะแหล่งหินตัดโบราณริมถนนมิตรภาพและปราสาทหินในอำเภอสีคิ้ว ซึ่งจะทำให้เห็นกระบวนการก่อสร้างปราสาทหินตั้งแต่ขั้นตอนการหาและคัดเลือกวัตถุดิบ การตัดหิน การขนส่ง ไปจนถึงการก่อสร้าง
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดป่าเขาหินตัด
ลักษณะพื้นที่ของแหล่งตัดหินโบราณวัดป่าเขาหินตัดมีลักษณะเป็นเขาหินทรายขนาดย่อม (เป็นหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช) ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ตั้งอยู่ห่างจากลำตะคองมาทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร แต่จากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าเนินเขาลูกนี้เป็นแนวเขายาวต่อเนื่องมาจากแหล่งหินตัดริมถนนมิตรภาพที่อยู่ทางทิศใต้ โดยพื้นที่ระหว่างเขาทั้งสอง (บริเวณที่เป็นถนนมิตรภาพและทุ่งนาริมถนน) เป็นเนินสูง
สภาพโดยทั่วไปบนเขาเป็นป่าไม้ มีก้อนหินทรายขนาดใหญ่รวมทั้งหินทรายที่โผล่พ้นดิน (outcrop) ปรากฏอยู่ทั่วไป และเป็นที่ตั้งของวัดป่าเขาหินตัด ซึ่งเป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ 18 มิถุนายน 2547
ลำตะคอง, แม่น้ำมูล
เป็นเนินเขาหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช
ลักษณะพื้นที่ของแหล่งตัดหินโบราณวัดป่าเขาหินตัดมีลักษณะเป็นเขาหินทรายขนาดย่อม (เป็นหินทรายในหมวดหินภูพาน กลุ่มหินโคราช) ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา ตั้งอยู่ห่างจากลำตะคองมาทางทิศใต้ประมาณ 800 เมตร จากแผนที่ทางภูมิศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าเนินเขาลูกนี้เป็นแนวเขายาวต่อเนื่องมาจากแหล่งหินตัดริมถนนมิตรภาพที่อยู่ทางทิศใต้ โดยพื้นที่ระหว่างเขาทั้งสอง (บริเวณที่เป็นถนนมิตรภาพและทุ่งนาริมถนน) เป็นเนินสูง
สภาพโดยทั่วไปบนเขาเป็นป่าไม้ มีก้อนหินทรายขนาดใหญ่รวมทั้งหินทรายที่โผล่พ้นดิน (outcrop) ปรากฏอยู่ทั่วไป และเป็นที่ตั้งของวัดป่าเขาหินตัด ซึ่งเป็นวัดราษฎร์สังกัดมหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ 18 มิถุนายน 2547
แหล่งหินตัดในวัดป่าเขาหินตัด เป็นแหล่งวัตถุดิบหินทรายแหล่งหนึ่งของมนุษย์สมัยโบราณ สำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ โดยเฉพาะปราสาทในวัฒนธรรมเขมรในเขตอำเภอสีคิ้วและอำเภอสูงเนินในปัจจุบัน เช่น ปราสาทเมืองแขก ปราสาทหัวสระ ปราสาทโนนกู่ เป็นต้น สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับแหล่งหินตัดริมถนนมิตรภาพ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-18
แหล่งตัดหินสมัยโบราณที่เห็นได้ชัดอยู่บนเขาบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ในเขตหมู่เสนาสนะหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆของวัด โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับเขตสังฆาวาสหรือหมู่กุฏิสงฆ์ที่ปรากฏพื้นหินทรายสีเทาที่เป็นหินโผล่อยู่ทั้งบริเวณ (พื้นภายในวัดส่วนใหญ่จะมีการลาดปูนซีเมนต์) ด้านทิศตะวันตกของพื้นที่นี้มีบ่อน้ำ 1 บ่อ ขนาดกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวประมาณ 12 เมตร ลึกลงไปจากพื้นปัจจุบันประมาณ 50 เซนติเมตร (ขณะสำรวจมีน้ำอยู่เกือบเต็มบ่อ) วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ (ด้านกว้างอยู่ทางทิศเหนือและใต้) โดยด้านทิศเหนือของบ่อมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่
บ่อน้ำแห่งนี้น่าจะเป็นบ่อหรือหลุมที่เกิดจากการสกัดเอาก้อนหินทรายออกไปเพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารของคนในอดีต โดยสังเกตจากร่องรอยเครื่องมือเหล็กที่ใช้สกัดหินบริเวณผนังบ่อ และก้อนหินทรายรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กระจัดกระจายอยู่ตามขอบบ่อ ซึ่งน่าจะเป็นก้อนหินทรายที่สกัดเสร็จเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่ถูกเคลื่อนย้ายออกไป