วัดบางปรง


โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020

ชื่ออื่น : วัดบางปรงธรรมโชติการาม

ที่ตั้ง : ม.9 บ้านบางปรง ต.บางพระ อ.เมืองฉะเชิงเทรา

ตำบล : บางพระ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ฉะเชิงเทรา

พิกัด DD : 13.663187 N, 101.035419 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : บางปะกง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองบางพระ

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดบางปรงธรรมโชติการามตั้งอยู่ในเขตตัวเมืองฉะเชิงเทรา จากบริเวณสามแยกเลี่ยงเมือง (ถ.บางปะกง-ฉะเชิงเทรา หรือทางหลวงหมายเลข 304 ตัดกับ 314) ให้มุ่งหน้าไปทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าถนนมอเตอร์เวย์ ประมาณ 750 เมตร เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทางเข้าบ้านลัดยายหรั่ง ประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะพบวัดบางปรงธรรมโชติการามอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดบางปรงธรรมโชติการาม เป็นวัดที่มีความสำคัญและเป็นวัดประจำบ้านบางปรง ได้รับการเคารพสักการะและทำนุบำรุงจากพุทธศาสนิกชนเรื่อยมา

อุโบสถหลังเก่าที่เป็นโบราณสถานมีสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่ค่อนข้างทรุดโทรม ผิวปูนผนังทั้งด้านนอกและด้านในหลุดร่อนจนบางจุดเห็นอิฐภายใน สาเหตุหลักน่าจะมาจากน้ำและความชื้น ด้านข้างมีสิ่งของวางอยู่ระเกะระกะ หลังคาพาไลบางส่วนชำรุด ส่วนหลวงพ่ออู่ทอง พระประธานในอุโบสถหลังเก่า เป็นที่เคารพสักการะของชาวบางปรงเป็นอย่างมาก ได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนปัจจุบันมีสภาพงดงามสมบูรณ์

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดบางปรงธรรมโชติการาม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

วัดบางปรงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนพิเศษ 129ง วันที่ 26 ธันวาคม 2545 เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน (โบราณสถานวัดบางปรง)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดบางปรงเป็นพุทธศาสนสถานที่ยังคงมีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในเขตตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มจากการสะสมตัวของตะกอนน้ำพา วัดตั้งอยู่ริมคลองบางพระ (อยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของคลอง) ซึ่งจะไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกงที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของวัดประมาณ 2.8 กิโลเมตร สภาพโดยรอบวัดเป็นชุมชนบ้านบางปรงและพื้นที่เกษตรกรรม

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

18 เมตร

ทางน้ำ

คลองบางพระ, แม่น้ำบางปะกง

สภาพธรณีวิทยา

ตะกอนชายฝั่งทะเลในสมัยโฮโลซีน โดยอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดบางปรง หรือวัดบางปรงธรรมโชติการาม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตามประวัติกล่าวว่าตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2450 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาที่ผ่านมาและการสำรวจในครั้งนี้ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดบางปรงอาจสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

หลักฐานทางโบราณคดีในวัดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้แก่ อุโบสถ (หลังเก่า) ตั้งอยู่ติดกับอุโบสถหลังใหม่ (ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถหลังใหม่)   

อุโบสถ (หลังเก่า) ปัจจุบันเป็นวิหาร มีลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีพาไลโดยรอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่คลองบางพระ หลังคาอุโบสถเป็นทรงจั่วมุขลดมุงกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดปลา หน้าบันทั้งหน้าและหลังประดับลายเทพนม ล้อมรอบด้วยลายเครือเถา พื้นปิดกระจกสี (สีฟ้าหรือสีน้ำเงินเป็นหลัก) คอสองประดับด้วยปูนปั้นลายใบไม้ ที่ผนังสกัดหน้าด้านนอกทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย มีเสมาทำจากหินทรายสีแดงประดิษฐานอยู่ในซุ้มทรงกูบด้านหน้าซุ้มพระพุทธรูป ผนังอุโบสถค่อนข้างหนา มีช่องประตูที่ด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ช่อง ช่องหน้าต่างที่ด้านข้างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ทาสีแดง

ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อใด จากลักษณะสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

ภายในอุโบสถหลังเก่าประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์และรูปปั้นพระสงฆ์ (หลวงพ่อมี หลวงพ่ออุปัชฌาหมวดอยู่ หลวงพ่อเล็ก น้อยใจบุญ และพระวินัยสารเวที) ที่สำคัญที่สุดคือพระประธาน “หลวงพ่ออู่ทองศักดิ์สิทธิ์” เป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะสมัยอู่ทอง เนื้อสำริด 

ประวัติหลวงพ่ออู่ทองศักดิ์สิทธิ์ ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่อยู่คู่กับอุโบสถหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นวิหาร) เป็นพระพทุธรูปศิลปะอู่ทอง ที่ได้ชื่อว่าเป็น หลวงพ่ออู่ทองศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่ออู่ทองศักดิ์สิทธิ์แล้วได้ดังประสงค์ มีทั้งขอด้านการศึกษาเล่าเรียน หน้าที่การงาน การทำมาหากินในทางสุจริต เช่นเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ทำไร่ ทำสวน ทำมาค้าขาย และข้าราชการ เป็นต้น รวมถึงขอพรเกี่ยวกับสุขภาพการเจ็บป่วย

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี