วัดถนนคต


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ชื่ออื่น : วัดถนนคด

ที่ตั้ง : ม.11 บ้านถนนคต ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว

ตำบล : สีคิ้ว

อำเภอ : สีคิ้ว

จังหวัด : นครราชสีมา

พิกัด DD : 14.891772 N, 101.689944 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ลำตะคอง

เขตลุ่มน้ำรอง : ลำตะคองหลง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดถนนคตอยู่ใกล้กับตัวอำเภอสีคิ้ว โดยตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอ หรือจากถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) บริเวณต่างระดับสีคิ้ว ใช้ทางหลวงหมายเลข 201 (สีคิ้ว-ด่านขุนทด) มุ่งหน้าด้านทิศเหนือสู่อำเภอด่านขุนทด ประมาณ 3.4 กิโลเมตร พบสี่แยกให้เลี้ยวขวาไปประมาณ 150 เมตร จะพบวัดถนนคตอยู่ทางขวามือ

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

อุโบสถวัดถนนคตเป็นโบราณสถานที่ยังคงใช้งานประกอบสังฆกรรมอยู่ในปัจจุบัน มีสภาพมั่นคงแข็งแรง แต่อาจจะขาดการดูแลทำความสะอาด

กิจกรรมอื่นๆ ที่ดำเนินการภายในวัด ได้แก่ การปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางศาสนาตลอดทั้งปี เป็นที่ตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และเป็นที่ตั้งโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลสีคิ้ว

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม แต่หากต้องการเข้าชมภายในอุโบสถ ต้องติดต่อกับทางวัดล่วงหน้า

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดถนนคต

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดถนนคต (วัดถนนคด) ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 113 ตอนพิเศษ 50ง วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2539

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

วัดถนนคตตั้งอยู่บนพื้นที่สูงในส่วนที่ต่อกับที่ราบลุ่มริมลำตะคองหลง วัดตั้งอยู่ห่างจากลำตะคองหลงมาทางทิศเหนือประมาณ 550 เมตร และห่างจากลำตะคองมาทางทิศเหนือประมาณ 1.3 กิโลเมตร

สภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันวัดถนนคตเป็นวัดที่ยังใช้งานอยู่ มีความเงียบสงบร่มรื่น โบราณสถานที่สำคัญคืออุโบสถ

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

243 เมตร

ทางน้ำ

ลำตะคอง, ลำตะคองหลง

สภาพธรณีวิทยา

หินทรายในหมวดหินพระวิหาร (JPkw) ในยุค Jurassic-Cretaceous อายุระหว่าง 135-150 ล้านปี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2442

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามประวัติวัดกล่าวว่าวัดถนนคตก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2442 โดยชาวยวน โดยมีหลักฐานคือรูปแบบศิลปกรรมของอุโบสถ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ.2464

สภาพโดยทั่วไปในปัจจุบันวัดถนนคตเป็นวัดที่ยังใช้งานอยู่ มีความเงียบสงบร่มรื่น โบราณสถานที่สำคัญคืออุโบสถ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างโดยชาวยวน ลักษณะเป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ฐานสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผนังก่อทึบหนา มีบันไดขึ้นสู่อุโบสถและประตูเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีช่องหน้าต่างที่ด้านยาว (ด้านทิศเหนือและใต้) ด้านละ 3 บาน กรอบและบานประตูหน้าต่างเป็นไม้ มีเสาพะไลสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูนล้อมรอบอุโบสถที่ด้านนอก 19 ต้น (ด้านหน้า 4 ต้น ด้านหลัง 5 ต้น และด้านข้างด้านละ 5 ต้น) รองรับปีกนกทั้ง 4 ด้าน พื้นด้านนอกอุโบสถปัจจุบันเป็นพื้นซีเมนต์

เครื่องบนเป็นไม้ หลังคาทรงจั่วปีกนก มุงด้วยกระเบื้องลอนสีแดง หน้าบันด้านหน้าประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ขนาบข้างด้วยเทวดา 2 องค์ (ซ้าย-ขวา) ล้อมรอบด้วยลายเครือวัลย์ หน้าบันด้านหลังประดับลวดลายปูนปั้นรูปเทวดา 2 องค์ ยกโต๊ะหรือแท่นเครื่องสูง ล้อมรอบด้วยลายเครือวัลย์

โดยรอบอุโบสถมีเสมาหินทรายและลูกนิมิตล้อมรอบอยู่ 8 ใบ/ลูก โดยเสมาปักอยู่บนแท่นปูนสูงเหนือพื้นดินเล็กน้อย และมีลูกนิมิตที่ฝังในพื้นดินและแท่นปูนเคียงคู่กับเสมา (ลูกนิมิตฝังอยู่ด้านในหรือด้านที่ใกล้กับอุโบสถมากกว่า) โดยลูกนิมิตโผล่พ้นดินขึ้นมาเกือบครึ่งลูก

จากการเปรียบเทียบแผนผังเขตโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรพบว่า ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถซึ่งในแผนผังประกาศขึ้นทะเบียนไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ แต่ขณะสำรวจพบว่ามีการก่อสร้างหอระฆังขึ้นมาเพิ่มเติม

รายนามเจ้าอาวาสวัดถนนคต

1. พระครูคำภา พ.ศ.2442-2452

2. พระอาจารย์อวย พ.ศ.2456-2466

3. พระอาจารย์สิงหา พ.ศ.2466-2471

4. พระมหาทอง พ.ศ.2472-2474

5. หลวงพ่อจำปา พ.ศ.2476-2480

6. พระอาจารย์ตา พ.ศ.2482-2485

7. พระอาจารย์ลุน พ.ศ.2487-2488

8. หลวงพ่อโปด พ.ศ.2490-2498

9. พระมหาสุนทร พ.ศ.2499-2503

10. พระอธิการโสภา พ.ศ.2516-2523

11. หลวงพ่อโปย พ.ศ.2523-2530

12. หลวงพ่อทองดี พ.ศ.2530-2531

13. พระอธิการบุญส่ง พ.ศ.2531-2540

14. พระครูปทีปนันทคุณ พ.ศ.2540-ปัจจุบัน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี