ตั้งอยู่ ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี ภายในเทือกเขางูมีถ้ำหินปูนจำนวนมาก ถ้ำเหล่านี้ถูกใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 จนกระทั่งปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีสำคัญ ได้แก่ ถ้ำฤๅษี ถ้ำฝาโถ ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำระฆัง ที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีสมัยทวารวดีและสมัยอยุธยา รอยพระพุทธบาทสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานบนยอดเขางู รวมทั้งจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ๑๑๘ จปร. ที่สลักอยู่บริเวณปากถ้ำระฆังหรือถ้ำค้างคาว
ตั้งอยู่ที่โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เลขที่ 5 ม.10 ซอยปล่องเหลี่ยม 7 บ้านปล่องเหลี่ยม ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร "ปล่องเหลี่ยม" เดิมเป็นปล่องไฟของโรงงานน้ำตาล ซึ่งในอดีตเรียกกันว่า “โรงหีบนครชัยศรี” ของบริษัทน้ำตาลอินโดจีน ประเทศอังกฤษ สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 มีนายจอห์น คอสเตเกอร์ เป็นผู้จัดการทั่วไป นาย จี.เอฟ.ฮิกส์ เป็นผู้จัดการโรงงาน
ตั้งอยู่ ถ.ลุวัง เทศบาลเมืองระนอง ต.เขานิเวศน์ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เป็นบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งรัตนรังสรรค์ ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2433 และรื้อถอนไปเมื่อ พ.ศ.2507 เพื่อก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่
ม.5 บ้านเขาเกตุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ผาเสด็จพักเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสระบุรี มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประวัติการคมนาคมไทย โดยเฉพาะกิจการการรถไฟ เป็นเส้นทางผ่านของทางรถไฟสายแรกของไทยที่มุ่งสู่อีสาน คือทางรถไฟสายพระมหานคร-นครราชสีมา ก่อสร้างโดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ม.1 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี คุกขี้ไก่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกองทหารฝรั่งเศสที่เข้ามายึดเมืองจันทบุรีในช่วงนั้น (พ.ศ.2436) ใช้เป็นป้อมปืนและที่คุมขังคน โดยขังคนไว้ด้านล่างและเลี้ยงไก่ไว้ด้านบน ให้ไก่อุจจาระรดศีรษะนักโทษ จึงได้ชื่อว่าคุกขี้ไก่
ม.1 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกองทหารฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อเป็นกองบัญชาการและที่พักนายทหารที่รักษาปากน้ำแหลมสิงห์ เมื่อสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี (พ.ศ.2436) ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทาสีแดง จึงถูกเรียกว่าตึกแดง
ม.11 บ้านถนนคต ต.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ตามประวัติวัดกล่าวว่าวัดถนนคตก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2442 โดยชาวยวน โดยมีหลักฐานคือรูปแบบศิลปกรรมของอุโบสถ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ.2464
โรงพยาบาลระยอง เลขที่ 138 ถ.สุขุมวิท ต.ท่าประดู่ (เทศบาลนครระยอง) อ.เมืองระยอง จ.ระยอง จากประวัติระบุว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ของวัดโบราณชื่อ “วัดจันทอุดม” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก๋ง” เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดเก๋งเป็นพระอารามแห่งแรกที่จัดการศึกษาเทียบเท่าระดับมัธยมขึ้นในจังหวัดระยอง เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีต่างๆ เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ
ถ.สุขุมวิทนครระยอง 62 (ถ.หลักเมือง) ต.ท่าประดู (เทศบาลนครระยอง) อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เสาหลักเมืองของจังหวัดระยองสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2438 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ศาลเป็นศาลไม้ ต่อมาราว พ.ศ.2468 เสาหลักเมืองและศาลชำรุดและหักลง ชาวบ้านจึงช่วยกันทำการปักลงที่เดิม แต่ยังไม่มีการสร้างอาคารคลุม คงปล่อยให้อยู่กลางแดดกลางฝนตามสภาพเดิม จน พ.ศ.2532 ชาวระยองเห็นควรปรับปรุงหลักเมืองและศาลหลักเมืองให้มั่นคงแข็งแรง
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ปัจจุบันอยู่ในสถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย อ.เมืองหนองคาย เป็นอนุสรณ์สถานที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2429 เพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารที่เสียสละชีวิตปกป้องประเทศจากเหตุการณ์ปราบฮ่อเมื่อ พ.ศ.2420-2428
ตั้งอยู่ที่แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นวัดประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ตั้งอยู่แขวงวัดราชบพพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ พลับพลานี้สร้างไว้สำหรับรับเสด็จพระเจ้าแผ่นดินในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินมาโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เพื่อมาพระราชทานผ้าพระกฐิน ตั้งอยู่บนกำแพงวัดใกล้กับสีมามุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือด้านถนนเฟื่องนครตัดกับถนนราชบพิธ
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระมหาเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมหลักของวัดราชบพิธ อยู่ตำแหน่งกึ่งกลางของอาคารบนฐานไพที ภายในวงล้อมของพระระเบียงกลมและพระวิหารทั้ง 4 ทิศ สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักสำคัญในการเคารพบูชา ทั้งองค์เจดีย์และฐานคูหาประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ทั้งองค์
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระระเบียงหรือระเบียงคดตั้งอยู่บนฐานไพทีของอาคารหลักในส่วนเขตพุทธาวาสของวัดราชบพิธ ผนังภายนอกของพระระเบียงบุกระเบื้องเบญจรงค์ ลายกรวยเชิงที่โคนผนัง ลายทั่วไปเป็นพุ่มข้าวบิณฑ์ เทพนมก้านแย่งพื้นเหลือง เป็นลายเดียวกับผนังพระอุโบสถ
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นศาลาขนาดเล็กตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารแต่ละหลังบนฐานไพทีในเขตพุทธาวาสของวัดราชบพิธฯ ตั้งอยู่ทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 2 คู่ รวม 8 หลัง เป็นอาคารแบบไทยประเพณี เป็นอาคารโถงโล่งมีปีกนกรอบ
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระวิหารทิศมี 2 หลัง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระเจดีย์ พระวิหารทิศนี้นับเป็นทางเข้าขนาดใหญ่เพื่อเข้าสู่บริเวณภายในพระระเบียงรอบพระเจดีย์วัดราชบพิธฯ
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร พระวิหารวัดราชบพิธฯ มีรูปทรงเป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถทั้งภายนอกและภายใน ต่างแต่ว่าบานประตูและบานหน้าต่างสลักด้วยไม้เป็นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เท่านั้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประทีปวโรทัย
แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอุโบสถที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่งของไทย รูปทรงภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทย ผนังบุกระเบื้องเบญจรงค์ บานประตูหน้าต่างประดับมุกเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภายในพระอุโบสถเป็นแบบยุโรปผสมแบบไทย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีถึง 6 พระองค์
เลขที่ 2 ถึงเลขที่ 30 ริมถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นตึกแถวที่สร้างขึ้นในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก ในพื้นที่เดิมของวังถนนหน้าพระลาน
ตั้งอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ม.7 บ้านกระเจาะ ถ.ตรัง-พัทลุง ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง เป็นเรือนรับรองที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. 2452 สำหรับเป็นที่พักระหว่างทางไปสู่น้ำตก