โพสต์เมื่อ 18 มิ.ย. 2021
ชื่ออื่น : เขางู
ที่ตั้ง : ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองราชบุรี
ตำบล : เกาะพลับพลา
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ราชบุรี
พิกัด DD : 13.574917 N, 99.777294 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหนองใหญ่
ใช้ทางหลวงหมายเลข 3087 (สายราชบุรี-จอมบึง-สวนผึ้ง) จากตัวจังหวัดราชบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8กิโลเมตร เมื่อพบสามแยกก็เลี้ยวขวา ไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบอุทยานหินเขางูและสวนสาธารณะเขางูอยู่ด้านซ้ายมือ
หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรี ห้ามมิให้มีการระเบิดย่อยหินบริเวณเทือกเขางูอีกต่อไป ทางจังหวัดราชบุรีจึงพัฒนาพื้นที่เป็น “อุทยานหินเขางู” จนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี โดยเป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้านธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเฉพาะพระพุทธรูปห้อยพระบาทในถ้ำฤๅษี ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “พระพุทธฉายถ้ำฤๅษีเขางู” มีการจัดงานนมัสการเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11นอกจากนี้ บริเวณยอดเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ยังเป็นจุดชมวิวที่สำคัญบนเทือกเขางูอีกด้วย
เทศบาลตำบลเขางู, กรมศิลปากร
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 หน้า 3696 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 174 หน้า 3776วันที่ 15 ตุลาคม 2517
แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ในถ้ำในเขาหินปูน ชื่อ “เขางู” ในอดีตเคยมีการอนุญาตให้ระเบิดย่อยหินที่เทือกเขางู แต่ปัจจุบันโดยมติคณะรัฐมนตรีได้ห้ามมิให้มีการระเบิดย่อยหินบริเวณเทือกเขางูอีกต่อไป
แม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างจากเทือกเขางูไปทางทิศตะวันออกประมาณ 4 กิโลเมตร และห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 3.3 กิโลเมตร มีคลองหนองใหญ่ อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.1 กิโลเมตร
เทือกเขางู เป็นเขาหินปูนลูกโดดในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง สภาพธรณีวิทยาประกอบด้วยหินปูนยุคเพอร์เมียน (Permian Period) อยู่ในช่วง 290-248 ล้านปีก่อน ของกลุ่มหินราชบุรี (Ratburi Group) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าหินปูนราชบุรี ยุคเพอร์เมียน (Permian Ratburi Limestone) ลักษณะหินปูนมีสีเทาอ่อนถึงดำ การเกิดของถ้ำ เกิดจากการกัดเซาะของน้ำใต้ดินเป็นเวลานาน ลักษณะดินที่ผิวดินเป็นตะกอนดินสีแดงและเศษหินขนาดต่างๆ (เด่นโชค มั่นใจ 2550; กรมทรัพยากรธรณี 2551)
ชื่อผู้ศึกษา : E.L. de Lajonquière
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2452
วิธีศึกษา : สำรวจ
ผลการศึกษา :
E.L. de Lajonquière เสนอรายงานการสำรวจและศึกษาศิลปวัตถุในประเทศไทย โดยได้จัดโบราณสถานสระแก้ว อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี, ศิลาสลักเป็นรูปมกรคายสิงโต พระพุทธรูปปางแสดงธรรม และธรรมจักร ที่พบในจังหวัดนครปฐม และพระพุทธรูปห้อยพระบาทที่ถ้ำงู จังหวัดราชบุรี เป็นกลุ่ม “ศิลปะฮินดูไม่ใช่เขมร”ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2517
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
แผนกสำรวจ กองโบราณคดี กรมศิลปากร สำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถานชื่อผู้ศึกษา : สุนิสา มั่นคง, ประคอง รักอู่, อรพินธุ์ การุณจิตต์
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2538
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2538 สุนิสา มั่นคง, ประคอง รักอู่ และอรพินธุ์ การุณจิตต์ สำรวจแหล่งโบราณคดีในจังหวัดราชบุรี รวมทั้งแหล่งโบราณคดีเทือกเขางู ทั้งถ้ำฤๅษี ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำฝาโถ เพื่อจัดทำทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วยศิลปากรที่ 2โบราณสถานบนเทือกเขางู มีลักษณะเป็นถ้ำในภูเขาหินปูน ถูกใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (ยอร์ช เซเดส์ 2472; 2504; ชะเอม แก้วคล้าย 2529) หรือพุทธศตวรรษที่ 13-14 (เกสรา จาติกวนิช 2545; ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547; พิริยะ ไกรฤกษ์ 2553) จนกระทั่งปัจจุบัน แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในบริเวณเทือกเขางูที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำฤๅษี ถ้ำฝาโถ ถ้ำจีน ถ้ำจาม และถ้ำระฆัง
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ได้แก่ ภาพสลักบนผนังถ้ำสมัยทวารวดี เช่น ภาพสลักพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท ระหว่างข้อพระบาทมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ในถ้ำฤๅษี, พระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ปางมหาปรินิพพาน ในถ้ำฝาโถ, พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางแสดงธรรมเทศนา ในถ้ำจีน, ภาพพุทธประวัติตอนยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี และพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ในถ้ำจาม (กรมศิลปากร 2534: 101) เป็นต้น พระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (๑๑๘ จปร.) สลักอยู่บริเวณปากถ้ำระฆังหรือถ้ำค้างคาว นอกจากนี้ในถ้ำต่างๆ ยังพบพระพุทธรูปหินทรายสมัยอยุธยาอีกหลายองค์ และรอยพระพุทธบาทสมัยอยุธยา ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขางู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22
รูปแบบภาพสลักพระพุทธรูปสมัยทวารวดีบนผนังถ้ำในเทือกเขางู โดยเฉพาะในถ้ำฤๅษีและถ้ำฝาโถ มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่ถ้ำอชันตา ในศิลปะอินเดีย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์ 2547; พิริยะ ไกรฤกษ์ 2553) ที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 11
นอกจากนี้ คติการสร้างศาสนสถานภายในถ้ำ ก็อาจได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะศาสนสถานที่เจาะเข้าไปในภูเขาหรือดัดแปลงถ้ำเป็นศาสนสถาน หรือที่เรียกว่า “เจติยสถาน” ซึ่งพบมาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 3-6) โดยเฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือถ้ำในสมัยคุปตะ เช่น ถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลรา เป็นต้น หรืออาจจะเป็นเหตุผลด้านภูมิประเทศและความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่
จากตำแหน่งที่ตั้งและหลักฐานทางโบราณคดีร่วมสมัยในพื้นที่ใกล้เคียง สันนิษฐานได้ว่า ถ้ำที่เทือกเขางูในสมัยทวารวดีนั้น อาจถูกใช้เป็นศาสนสถานที่อยู่ห่างไกลจากชุมชนหรือเมือง ในลักษณะของ “วัดป่า” เมืองดังกล่าวอาจเป็นเมืองคูบัว ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งในวัฒนธรรมทวารวดี ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร เช่นเดียวกับเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีอื่นๆ ที่มักพบศาสนสถานบนเขาที่อยู่ไกลออกจากเมือง เช่น ถ้ำเขาสมอคอน จังหวัดลพบุรี ถ้ำเขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในพื้นที่ไม่ไกลจากเขางู ยังพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น แนวคันดิน (ที่เชื่อกันว่าเป็นถนนโบราณ) เนินดินที่อาจเป็นพื้นที่ชุมชน (เพราะพบเครื่องมือเครื่องใช้จำนวนมาก เช่น ภาชนะดินเผา หินบด) ร่องรอยศาสนสถานก่ออิฐ ระฆังหินขนาดใหญ่ พระพิมพ์ดินเผา ในเขตตำบลเกาะพลับพลา เป็นต้น (กรมศิลปากร 2541: 25)
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: บริษัท แอดวานซ์ วิชั่น เซอร์วิส จำกัด, 2551.
กรมศิลปากร. ราชบุรี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2534.
สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรี กรมศิลปากร. คูบัว: ความสัมพันธ์กับชุมชนทวารวดีในบริเวณใกล้เคียง.กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด, 2541.
กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วยศิลปากรที่ 2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2538.
เกสรา จาติกวนิช. “พุทธประวัติในประติมากรรมทวารวดี.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
ชะเอม แก้วคล้าย. “จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี.” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 1: อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ 12-14, 68-71. กรุงเทพฯ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529.
เชษฐ์ ติงสัญชลี. “ศิลปะทวารวดี.” ใน ความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี, 39-43. สุพรรณบุรี : สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร, 2546.
เด่นโชค มั่นใจ. สภาพทางธรณีวิทยาและการสำรวจความมั่นคงของหน้าผาหินบริเวณเขางู ตำบลเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี.สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี, 2550.
พิริยะ ไกรฤกษ์. ทวารวดีและศรีวิชัยในทัศนะของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ., 25--?.
พิริยะ ไกรฤกษ์. รากเหง้าแห่งศิลปะไทย. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2553.
พิริยะ ไกรฤกษ์. อารยธรรมไทย: พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ศิลปะ เล่ม 1 ศิลปะก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2544.
ผาสุข อินทราวุธ. ทวารวดี: การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2542.
ยอร์ช เซเดส์. “หลักที่ 22 จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี.” ใน ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2: จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ และประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย, 35. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พิพรรฒนากร, 2472.
ยอร์ช เซเดส์. “จารึกที่ 22 จารึกในถ้ำฤษี เขางู.” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2: จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้ = Recueil des inscriptions du Siam deuxieme partie: inscriptions de Dvaravati, de Crivijaya et de Lavo, 20. กรุงเทพฯ:กรมศิลปากร, 2504.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. “การแบ่งยุคสมัยของงานประติมากรรมสมัยทวารวดี.” ใน ความก้าวหน้าในการศึกษาโบราณคดีและเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี, 35-38. สุพรรณบุรี: สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร, 2546.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะทวารวดี: วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2547.
สุภัทรดิศ ดิศกุล. “วิวัฒนาการของประติมากรรมสมัยทวารวดี.” วารสารโบราณคดี 5, 2 (ตุลาคม 2516): 195-207.
de Lajonquière, E.L. “Le domaine archaéologique de l'Indochine.” Bulletin de la archaéologiue de l'Indochine (1909),188-262.
de Lajonquière, M.L. “Essai d'inventaire archaéologique du Siam.” Bulletin de la archaeologiue de l'Indochine (1911-1912), 19-181.