โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถนนเฟื่องนคร
ตำบล : วัดราชบพิธ
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.749368 N, 100.497347 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ฝั่งตรงข้ามคลองเป็นสวนสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์ฯ ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ ติดกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย
วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
พระอุโบสถจะเปิดเป็นเวลา โดยในวันธรรมดาจะเปิดช่วงพระทำวัตรเช้า-เย็น คือ 09.00-10.00 น. และ 17.00-18.00 น. วันพระและช่วงปีใหม่พระอุโบสถจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-13.30 น. ส่วนพระวิหารจะเปิดเฉพาะเวลามีพิธีสำคัญ เช่น อุปสมบท หรือการถวายสังฆทานสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พ.ย.60 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แจ้ง เปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (เปิดพิเศษ) ให้เข้าชมทุกวัน แบ่งเป็นวันละ 2 รอบ คือ รอบแรก เวลา 08.00 น. - 10.00 น. รอบสอง เวลา 16.00 น. - 18.30 น. ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ประกาศการกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน (โบราณวัตถุสถานในวัดราชบพิธ) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5272 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
พระอุโบสถ วัดราชบพิธ เป็นอาคารด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ ในเขตพุทธาวาส หันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือประจันหน้าเข้ากับบันไดทางขึ้นฐานไพทีทางทิศเหนือ ใช้ประกอบศาสนกิจ
วัดราชบพิธฯ เป็นวัดหลวงในพระพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกาย ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคูเมืองเดิม ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม, คลองหลอดวัดราชบพิธ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระเจดีย์ ในเขตพุทธาวาส หันหน้าไปทางทิศเหนือ หรือประจันหน้าเข้ากับบันไดทางขึ้นฐานไพทีทางทิศเหนือ ซึ่งอันที่จริงแล้วถ้าพิจารณาจากชื่อ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” พระอุโบสถนี้อาจถือเป็นวิหารทางด้านทิศเหนือหลังหนึ่งเท่านั้น ด้วยสามารถใช้พื้นที่ทั่วไปในเขตมหาสีมารามประกอบศาสนกิจได้อยู่แล้ว คำว่า “อุโบสถ” เป็นคำที่เรียกโดยอนุโลมถึงอาคารที่ใช้สำหรับประกอบศาสนกิจเป็นประจำตามปรกติ (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 118)
รูปแบบอาคารตั้งหันหน้าไปทางทิศเหนือ ประจันกับบันไดขึ้นฐานไพทีด้านทิศเหนือ เป็นอาคารแบบมีมุขเด็จลดใต้ขื่ออาคาร ขนาดกว้าง 13.7 เมตร ยาว 21.65 เมตร (ไม่รวมพาไลและมุขเด็จ) แบ่งเป็น 7 ห้องเสา สูงจากพื้นจดขื่อ 9.80 เมตร (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 118)
รูปทรงภายนอกเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี มีเครื่องลำยอง คือหลังคามีการทำลดหน้าลดหลัง มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี ติดช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีตับหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น โดยตับก่อนสุดท้ายยื่นออกมาตั้งเสาพาไล ส่วนตับสุดท้ายเป็นตับสั้นๆ มีคันทวยยึดติดกับเสาพาไลเพื่อรองรับพาไลแบบแพ สามารถเดินได้ตลอดแนวพระระเบียงด้านนอก (เฉพาะทิศเหนือ
งานไทยประเพณีในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เช่นที่วัดราชประดิษฐ์ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่แต่เดิมนิยมใช้รูปเทพเจ้าเปลี่ยนทำหน้าบันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์มาประดับ พอมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่วัดราชบพิธ หน้าบันมุขเด็จแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ตัวลายประกอบเป็นกระขวนลายก้านขดหางโต ลวดลายทั้งหมดปิดทองประดับกระจกพื้นสีน้ำเงิน ส่วนหน้าบันอาคารทั้งด้านหน้าและหลังแกะสลักเป็นรูปจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยวประจำรัชกาลที่ 5 เปล่งรัศมี ประดิษฐานเหนือพานแว่นฟ้า ซึ่งวางบนแท่นพร้อมกับพานรองพระแสงขรรค์ชัยศรี 2 องค์ ทั้งหมดเทินอยู่บนเศียรช้าง 7 เชือก ที่ยืนบนแท่นอีกชั้นหนึ่ง กับมีราชสีห์และคชสีห์ประคองฉัตร 7 ชั้น ตั้งบนลูกแก้วกลมอีกข้างละตัว ส่วนตัวลายประกอบเป็นกระบวนลายก้านขดหางโต ลวดลายทั้งหมดปิดทองประดับกระจกพื้นสีน้ำเงิน ยกเว้นตัวราชสีห์คชสีห์ประดับกระจกสีแดง
ป้านลมทำนาคสะดุ้งประดับด้วยกระจกสีทั้งหมด ส่วนประตูและหน้าต่างมีซุ้มยอดมณฑปครึ่งซีกติดลวดลายปูนปั้นปิดทอง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ ในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2525
บานประตู 10 บาน หน้าต่าง 28 บาน ของพระอุโบสถ ด้านในเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ ด้านนอกประดับด้วยมุกเป็นลวดลายจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เฉพาะตราชั้นที่หนึ่งรวม 5 ดวง (นับจากดวงบนลงมา) (กรมศิลปากร 2531(ก) : 32-41) คือ
- นพรัตนราชวราภรณ์
- มหาจักรีบรมราชวงศ์
- ปฐมจุลจอมเกล้า
- ประถมาภรณ์ช้างเผือก
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
เฉพาะที่บานประตู เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 5 มีสายสะพายล้อมรอบวงกลมและมีสร้อยทับอยู่บนสายสะพาย พร้อมกับมีโบว์ห้อยดวงตราอยู่อีกชั้นหนึ่ง เหนือดวงตราดวงที่ 1 เป็นภาพพรหมจตุรพักตร์ และมีภาพเรียงเป็นคู่ๆ ใต้ดวงตราลงมาตามลำดับ (จากบนลงล่าง) (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 125-126)
ใต้ดวงตราดวงที่ 1 เป็นภาพเทวดาพนมมือ
ใต้ดวงตราดวงที่ 2 เป็นภาพนางอัปสรพนมมือ
ใต้ดวงตราดวงที่ 3 เป็นภาพกินรีพนมมือ
ใต้ดวงตราดวงที่ 4 เป็นภาพหนุมานเหาะ
ใต้ดวงตราดวงที่ 5 เป็นภาพอินทรชิตเหาะ
ระหว่างภาพและตราเป็นลายกระหนกเปลว ขอบรอบทั้ง 4 ด้านประดับกระหนกและลายประจำยามก้ามปู การประดับมุกชิ้นเล็กๆ ยังทำเป็นสร้อยทับบนเพชรแถบที่มีอักษร “จ.ป.ร.” ไขว้ และมีตราจักรีคั่นเป็นระยะ มีสร้อยลูกโซ่ร้อยทั้งสองข้างชายแถบแพรผูกหูกระต่าย มีตราห้อยตรงกลางแบบของจริง
บานประตูมุขที่พระอุโบสถนี้ เป็นบานมุกฝีพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ซึ่งทรงกำกับกรมช่างมุกเมื่อ พ.ศ.2421-2434 แต่เดิมก่อน พ.ศ.2465 บานประตูมุกพระอุโบสถนี้มีเฉพาะที่ด้านหน้ารวม 3 ประตู 6 บาน สำหรับบานประตูด้านหลังและบานหน้าต่าง เป็นบานไม้แกะสลักลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2545 : 42)
ใน พ.ศ.2465 หม่อมลม้าย เกษมศรี นำบานประตูหน้าต่างมุก ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ เป็นแม่งานทำค้างไว้มาถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้าจึงทูลขอพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อหาช่างประดับมุกซ่อมให้สำเร็จ และนำบานหน้าต่างไม้สลักเดิมของพระอุโบสถไปติดเปลี่ยนที่พระวิหาร (ยุทธนาวรากร แสงอร่าม 2545 : 42)
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม (2545 : 43) กำหนดอายุของบานประตูมุกและบานหน้าต่างไม้สลักนี้ว่า น่าจะทำขึ้นราว พ.ศ.2425-2432 เนื่องจากปรากฏเครื่องราชขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งสถาปนาเมื่อ พ.ศ.2425
ด้านข้างของซุ้มประตูแต่ละด้านเป็นรูปเซี่ยวกางถือง้าว ยืนอยู่บนหลังสิงห์ ส่วนด้านข้างของซุ้มหน้าต่างแต่ละด้านเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่กลางลายกระหนก ฝีมือประดับมุกดังกล่าวนี้ตามหลักฐานกล่าวว่าเป็นฝีพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ
ผนังภายในพระอุโบสถใต้หน้าต่างทำเป็นช่องลูกฟักประดับหินสีน้ำตาลและขาว เหนือขอบหน้าต่างประดับลายปูนปั้นทาสีปิดทอง ตรงกลางเป็นอักษรพระปรมาภิไธย “จปร” ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นรูปอุณาโลมมีอักษร “จ” สลับ เหนือซุ้มประตูช่องกลางภายในปั้นเป็นรูปพระราชลัญจกรประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรียกว่าตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม โดยจำลองแบบตรางาประจำรัชกาลของพระองค์อันประกอบด้วยเครื่องหมายสำคัญต่างๆ รวมกัน คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ จักร ตรี โล่ ช้างไอยราพต ช้างเผือก กฤช พระมหาสังวาลย์นพรัตน์ พระสายสร้อย เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฉัตรตั้งมีราชสีห์คชสีห์ประคองฉลองพระองค์ครุยและเครื่องหมายเบญจราชกกุธภัณฑ์ กับมีภาษิตคำว่า “สพฺเพสํ สงฺฆภูนํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา” ประกอบอยู่ด้วย มีการปิดทองภายในบางแห่ง
ที่ผนังชั้นบนระหว่างเสาคูหาเขียนแต่เดิมเป็นภาพพระพุทธประวัติ โดยการตกแต่งภายในเป็นฝีพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสายทั้งสิ้น ใน พ.ศ.2472 พระอุโบสถมีสภาพทรุดโทรมลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระนิศรานุวัดติวงศ์ เป็นแม่กองอำนวยการปฏิสังขรณ์ และได้มีการลบภาพพระพุทธประวัติเดิมออก และทำลวดลายดอกไม้ร่วงสีทองแทน รวมทั้งได้แก้ไขรูปแบบบางประการภายในพระอุโบสถ (พระพรหมมุนี 2555 : 61) และใน พ.ศ.2525 มหามงคลสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ได้บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม พระอุโบสถ และพระวิหาร เขียนลายดอกไม้ร่วงสีทองเต็มผนังภายใน
ลักษณะการตกแต่งภายในของพระอุโบสถโดยรวมเป็นศิลปะตะวันตก แบบกอธิก เพดานทำเป็นซุ้มโค้งแหลมรองรับด้วยเสาอิง ที่กลางเพดานมีการตกแต่งเป็นระนาบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมเรียงกันจำนวน 5 ช่อง ตรงกลางของแต่ละช่องประดิษฐ์เป็นลวดลายดอกไม้ดวงใหญ่ แล้วห้อมโคมไฟลงมาจากลาย ส่วนโค้งและฝ้าเพดานตกแต่งด้วยลานพันธุ์พฤกษาปูนปั้นแล้วปิดทอง โดยเป็นการออกแบบของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย (วิวัฒน์ เตมียพันธ์ 2517 : 72)
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธอังคีรส เป็นพระพุทธรูปประธาน ลักษณะเป็นพระพุทธรูปหล่อปางสมาธิ จีวรเป็นริ้ว หน้าตักกว้าง 2 ศอกคืบ กะไหล่ทองคำทั้งองค์ สิ้นเนื้อทองแปดหนัก 180 บาท เป็นทองคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้แต่งพระองค์เมื่อทรงพระเยาว์ ประดิษฐานบนฐานชุกชีหินอ่อนจากอิตาลี (กรมศิลปากร 2531(ก) : 36-37)
พระพุทธอังคีรส เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า แปลว่า มีรัศมีซ่านออกจากพระกาย (กรมศิลปากร 2531(ก) : 36) พระพุทธรูปองค์นี้เดิมที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเพื่อจะทรงนำไปประดิษฐานไว้ที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน (พระธรรมจินดาภรณ์ 2512 : 35)
ต่อมาโปรดให้หล่อฐานบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหาหนัก 48 บาท ขึ้นเป็นฐานรองรับพระพุทธรูป เศวตฉัตรที่กั้นอยู่เหนือองค์พระเดิมเป็นพระเศวตฉัตรกั้นพระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเลก้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงชักเชือกยกเศวตฉัตรนี้เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2457
ต่อมาเศวตฉัตรนี้ชำรุดลง สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) ได้ถวายพระราชกุศลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงทราบ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเศวตฉัตรถวายเป็นพุทธบูชาพระพุทธอังคีรสอีกคำรบหนึ่ง โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในวาระที่ฉลองพระชนมายุสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) 84 พรรษา วันที่ 1 มีนาคม 2525 (กรมศิลปากร 2531(ก) : 37)
ใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองที่ประดิษฐานพระพุทธอังคีรส พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้บรรจุพระบรมอัฐิ 6 พระองค์ ซึ่งเป็นพระบรมอัฐิส่วนที่ทรงได้รับไว้ครอบครองส่วนพระองค์ คือ พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัฐิสมเด็จพระศรีสุลาไลย และพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (กรมศิลปากร 2531(ก) : 37)
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ได้รับส่วนแบ่งพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ เกรงว่าจะไม่สามารถรักษาพระบรมอัฐิไว้ได้อยางสมพระเกียรติ จึงได้พร้อมใจกันนำมาถวายไว้ที่วัดราชบพิธ และสมเด็จพระสังฆราชโปรดให้บรรจุไว้ใต้ฐานบัลลังก์กะไหล่ทองนี้เช่นกัน จึงเป็นธรรมเนียมต่อมาว่าวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คณะพระประยูรญาติและข้าราชบริพารจะมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ณ พระอุโบสถนี้ (กรมศิลปากร 2531(ก) : 37)
ส่วนฐานชุกชีหินอ่อนที่ประดิษฐานพระพุทธอังคีรส ได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อัญเชิญมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2492 บรรจุพระบรมราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2528 และเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ฐานชุกชีหินอ่อนพระพุทธอังคีรสนี้ด้วยเช่นกัน
นอกจากพระพุทธอังคีรสแล้ว ยังมีพระนิรันตรายประดิษฐานบนฐานชุกชีเบญจาด้านหน้า ต่ำจากพระพุทธอังคีรสลงมา พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์กะไหล่ทอง มีเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎ ตัวเรือนแก้วติดกับฐานชั้นล่างขององค์พระพุทธรูป มีอักษรขอมจารึกพระคุณนามแสดงพระพุทธคุณลงบนกลีบบัวด้านหน้า 9 ด้านหลัง 9 คือตั้งแต่ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ถึง ภควา ที่ฐานล่างสุดมีที่สำหรับรองน้ำสรงพระ มีท่อรูปศีรษะโค ซึ่งหมายความว่าพระพุทธองค์เป็นโคตมโคตร
พระนิรันตรายเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริแบบอย่างสร้างขึ้น แล้วหล่อจำลองด้วยทองเหลืองกะไหล่ทองคำมีเรือนแก้วอยู่เบื้องหลัง 18 องค์ เพื่อพระราชทานพระอารามต่างๆ ในคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย แต่ยังไม่ได้กะไหล่ทองก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างกะไหล่ทองคำพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ พระราชทานไปยังพระอารามคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก เช่น วัดราชบพิธ วัดบวรนิเวศ และวัดราชประดิษฐ์ (กรมศิลปากร 2531(ก) : 41)
ปัจจุบันพระนิรันตรายที่วัดราชบพิธเป็นองค์ที่ทำขึ้นใหม่ เนื่องจากองค์ที่ได้รับพระราชทานถูกลักขโมยไป ฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระนิรันตรายเป็นฐานเบญจาซีกเล็ก เคยเป็นที่ทรงพระโกศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ (กรมศิลปากร 2531(ก) : 41)
กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุสถาน และภาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2513.
กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531(ก).
กรมศิลปากร. ศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 2531(ข).
กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2553.
ชัชพล ไชยพร (บรรณาธิการ). ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.
ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา). หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครอบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ : กรีนแมคพาย, 2547.
ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2544.
พรชนก ตันรัตนพงศ์. “ศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
พระธรรมจินดาภรณ์. ปาฐกถาเรื่องพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวข้องกับพุทธศิลปะอย่างไร. ม.ป.ท., 2512.
พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) และคณะ. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด, 2555.
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “การประดับตกแต่งส่วนสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนาด้วยลายเครื่องราช อิสริยาภรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
“เรื่องปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐ์และวัดราชบพิธ” เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงศึกษาธิการ, ร.7 ศ.9.1/1, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร.
วิทวัส เกตุใหม่. “การศึกษารูปแบบในการสร้างสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
สมคิด จิระทัศนกุล. พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สมคิด จิระทัศนกุล. “พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด๋จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. พระนคร : คุรุสภา, 2505.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2425.
สมศิริ อรุโณทัย. งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์กระเบื้องเคลือบเขียนสีที่ตกแต่งสถาปัตยกรรม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546.
สุดจิด สนั่นไหว. การศึกษาเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถระ), 2541.
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554.
วิวัฒน์ เตมียพันธ์. “วัดราชบพิธ” ใน อาษา. 3, 3 (2517).