ศาลหลักเมืองระยอง


โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022

ที่ตั้ง : ถ.สุขุมวิทนครระยอง 62 (ถ.หลักเมือง) ต.ท่าประดู (เทศบาลนครระยอง) อ.เมืองระยอง

ตำบล : ท่าประดู่

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : ระยอง

พิกัด DD : 12.680857 N, 101.280723 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : อ่าวไทย, ระยอง, คลองใหญ่

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

ศาลหลักเมืองระยองตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทนครระยอง 62 หรือถนนหลักเมือง ในตัวจังหวัดหรือในตัวเทศบาลนครระยอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

หลักเมืองและศาลหลักเมืองเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวระยอง ชาวระยองรวมถึงประชาชนทั่วไปให้ความเคารพสักการะเป็นอย่างมาก มีการบำรุงรักษาเป็นอย่างดี และมีการจัดงานสมโภชหลักเมืองในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

คณะกรรมการศาลเจ้าหลักเมืองระยอง

การขึ้นทะเบียน

ไม่ขึ้นทะเบียน

ภูมิประเทศ

ที่ราบ, ที่ราบชายฝั่ง

สภาพทั่วไป

ศาลหลักเมืองระยองตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทนครระยอง 62 หรือถนนหลักเมือง ในตัวจังหวัดหรือในตัวเทศบาลนครระยอง ห่างจากถนนสุขุมวิทสายปัจจุบันเข้ามาประมาณ 40 เมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่ง สภาพโดยทั่วไปเป็นเมือง มีบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งอยู่หนาแน่น

พื้นที่ศาลหลักเมืองมีขนาดกว้างประมาณ 15 เมตร ลึกประมาณ 40 เมตร พื้นเทปูน สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วยศาลหลักเมืองและศาลเจ้าจีน

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

13 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำระยอง, คลองใหญ่, อ่าวไทย

สภาพธรณีวิทยา

ที่ราบชายฝั่งทะเล เกิดจากการทับถมของตะกอนจากการกระทำของน้ำ

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2438

ประวัติการศึกษา

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2468, พ.ศ.2532

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์


ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ตามประวัติระบุว่าเสาหลักเมืองของจังหวัดระยองสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2438 ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ศาลเป็นศาลไม้ ต่อมาราว พ.ศ.2468 เสาหลักเมืองและศาลชำรุดและหักลง ชาวบ้านจึงช่วยกันทำการปักลงที่เดิม แต่ยังไม่มีการสร้างอาคารคลุม คงปล่อยให้อยู่กลางแดดกลางฝนตามสภาพเดิม

จน พ.ศ.2532 ชาวระยองเห็นควรปรับปรุงหลักเมืองและศาลหลักเมืองให้มั่นคงแข็งแรง เป็นศรีสง่า เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดระยอง จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงและได้มีการประชุมพิจารณาหลายครั้ง ในที่สุดก็เห็นพ้องตรงกันว่าสร้างศาลหลักเมืองเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงมณฑปจตุรมุข เพื่อประดิษฐานหลักเมืองระยองให้สง่างาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวระยอง

ในการก่อสร้าง ได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินทั้งสิ้น 3 ล้านบาทเศษ ครั้นเมื่อวันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2534 สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เสด็จเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์มณฑปหลักเมืองระยอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระสุหร่ายและเจิมแผ่นยันต์ยอดเสาหลักเมือง และได้อัญเชิญยอดเสาเข้าสวมไว้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2536 ขณะประกอบพิธีสวมได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขึ้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศิริมงคลเป็นอย่างมาก

พื้นที่ศาลหลักเมืองมีขนาดกว้างประมาณ 15 เมตร ลึกประมาณ 40 เมตร พื้นเทปูน สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วยศาลหลักเมืองและศาลเจ้าจีน

ศาลหลักเมืองและหลักเมือง ตั้งอยู่ริมถนนสุขุมวิทนครระยอง 62 ด้านหน้าศาลเจ้าจีน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงมณฑปจตุรมุข มีประตูและบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ตัวอาคารบุด้วยแห่นหินแกรนิต ส่วนยอดมณฑปทรงเจดีย์ย่อมุม ทาสีทอง ปิดทอง และประดับกระจกสีฟ้า ภายในศาลประดิษฐานเสาหลักเมือง ทำจากไม้ เม็ดยอดเป็นรูปดอกบัวตูม ปิดทองตลอดเสา ที่ผนังติดแผ่นหินสลักข้อมูลและแสดงภาพประวัติศาสตร์ของหลักเมืองระยอง พื้นที่สักการะอยู่ด้านลานหน้าศาลหรือทางทิศเหนือของศาล

ศาลเจ้าจีน อยู่ด้านทิศตะวันออกสุดของพื้นที่ และอยู่ด้านทิศตะวันออกของศาลหลักเมือง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สถาปัตยกรรมจีน ภายในประดิษฐานเจ้าพ่อหลักเมือง ป้ายเหนือประตูด้านหน้าระบุว่าศาลแห่งนี้สร้างเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2537

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี