โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : วัดราชบพิธ, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถนนเฟื่องนคร
ตำบล : วัดราชบพิธ
อำเภอ : เขตพระนคร
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
พิกัด DD : 13.748962 N, 100.497315 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม ฝั่งตรงข้ามคลองเป็นสวนสราญรมย์และวัดราชประดิษฐ์ฯ ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ ติดกับกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย
วัดเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
ประกาศการกำหนดบัญชีโบราณวัตถุสถาน (โบราณวัตถุสถานในวัดราชบพิธ) ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 64 หน้า 5272 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2492
พระวิหาร วัดราชบพิธ เป็นอาคารด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ ในเขตพุทธาวาส หันหน้าไปทางทิศใต้ หรือประจันหน้าเข้ากับบันไดทางขึ้นฐานไพทีทางทิศใต้ ใช้เป็นอาคารไว้พระไตรปิฎก หรือใช้เป็นหอไตรของวัด และในสมัยของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ยังกำหนดให้เป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคมอีกด้วย การที่พระวิหารถูกกำหนดให้เป็นที่ไว้พระไตรปิฎกนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน? สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงระบุว่าเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 (กรมศิลปากร 2531(ก) : 45)
วัดราชบพิธฯ เป็นวัดหลวงในพระพุทธศาสนา ธรรมยุติกนิกาย ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในแขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ด้านเหนือจรดถนนราชบพิธ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ด้านตะวันออกจรดถนนเฟื่องนคร ด้านตะวันตกจรดถนนอัษฎางค์ ริมคูเมืองเดิม ด้านใต้จรดคลองหลอดวัดราชบพิธ
แม่น้ำเจ้าพระยา, คลองคูเมืองเดิม, คลองหลอดวัดราชบพิธ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
พระวิหารเป็นอาคารด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ ในเขตพุทธาวาส ใช้เป็นอาคารไว้พระไตรปิฎก หรือใช้เป็นหอไตรของวัด และในสมัยของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ยังกำหนดให้เป็นที่ประชุมมหาเถรสมาคมอีกด้วย การที่พระวิหารถูกกำหนดให้เป็นที่ไว้พระไตรปิฎกนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงระบุว่าเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 5 (กรมศิลปากร 2531(ก) : 45)
อาคารตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ หรือประจันหน้าเข้ากับบันไดทางขึ้นฐานไพทีทางทิศใต้ เป็นอาคารลักษณะเดียวกับอุโบสถคือมุขเด็จลดใต้ขื่อหน้าอาคาร มีขนาดกว้าง 13.70 เมตร ยาว 21.65 เมตร สูงจดขื่อ 9.80 เมตร แบ่งเป็น 7 ห้อง (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 144)
รูปทรงเป็นแบบเดียวกันพระอุโบสถทั้งภายนอกและภายในคือ รูปแบบงานภายนอกเป็นแบบไทยประเพณี มีเครื่องลำยอง หลังคาทำลดหน้าลดหลัง ตับหลังคาซ้อนกัน 4 ชั้น พาไลเป็นแบบแพ สามารถเดินได้ตลอดแนวพระระเบียงด้านนอก (เฉพาะทิศใต้) หลังคาด้านหน้ามุขเด็จเป็นตับซ้อน 2 ชั้น ส่วนล่างของบันทำสาหร่ายรวงผึ้งปลายเป็นรูปเทพพนม หน้าบันมุขเด็จแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑเหมือนกับหน้าบันมุขเด็จพระอุโบสถ แต่ขนาดของพระนารายณ์ทรงครุฑจะมีขนาดเล็กกว่า และลายก้านขดหางโตซึ่งเป็นลายประกอบม้วนคนละทิศทางกัน (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 144 ; 146)
ส่วนหน้าบันอาคารแกะสลักเป็นรูปจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยวประจำรัชกาลที่ 5 ลักษณะเหมือนกับหน้าบันอาคารหลักของพระอุโบสถ แต่แตกต่างกันที่รัศมีของพระเกี้ยวมีจำนวนน้อยกว่าและกระบวนลายก้านขดหางโตที่ประกอบส่วนยอดของกรอบลายมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน ป้านลมอาคารทำนาคสะดุ้ง ประดับด้วยกระจกสีทั้งหมดเช่นเดียวกับบัวหัวเสาและซุ้มประตูหน้าต่าง (สุดจิต สนั่นไหว 2541 : 144 ; 146)
ซุ้มประตูหน้าต่างมีรูปแบบเดียวกันคือ เป็นมณฑปครึ่งซีกติดผนัง ประตูทางเข้าด้านหน้าทั้งหมด 3 ช่อง ประตูช่องกลางจะอยู่ตรงกับแนวมุขเด็จและมีขนาดใหญ่กว่าประตูด้านข้าง ส่วนหน้าต่างจะอยู่ระหว่างห้องเสาของอาคารทั้ง 7 ห้อง รวมมีหน้าต่าง 14 ช่อง
บานประตูและบานหน้าต่างสลักด้วยไม้ลงสี เป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ละดวงมีดาราสีทองอยู่กึ่งกลาง ล้อมรอบด้วยแพรแถบและสายสะพายซึ่งลงสีตามของจริง เป็นวงกลมมัดชายเดียวห้อยเบื้องล่าง และห้อยดวงตราทับลงบนชายที่ห้อยระหว่างวงของสายสะพายประดับลายพันธุ์พฤกษาเครือเถา โดยสายสะพายมีสีตามลำดับจากบนลงล่าง (ยุทธวรากร แสงอร่าม 2545 : 41-42) ดังนี้
- นพรัตนราชวราภรณ์ พื้นสีเหลือง ขอบสีเขียว ริ้วแดงและน้ำเงิน
- มหาจักรีบรมราชวงศ์ สีเหลืองหลวง
- ปฐมจุลจอมเกล้า สีชมพูล้วน
- ประถมาภรณ์ช้างเผือก พื้นสีแดง ขอบสีเขียว ริ้วสีเหลืองและน้ำเงิน
- ประถมาภรณ์มงกุฎไทย พื้นสีน้ำเงิน ขอบสีเขียว ริ้วสีเหลืองและแดง
รอบขอบบานทั้ง 4 ด้าน ทำเป็นลายก้านต่อดอกเครือเถา อกเลาเรียบมีลวดลายเฉพาะที่นมอกเลาทั้งบน กลาง และล่าง เป็นลายประจำยาม ทั้งบานและกรอบประตูหน้าต่างทาสีแดง กล่าวกันว่า ประตูและหน้าต่างของพระวิหารเดิมเป็นของพระอุโบสถ แต่เมื่อนำเอาบานมุกมาติดที่พระอุโบสถ จึงได้เอามาไว้ที่พระวิหาร
ใน พ.ศ.2525 มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้เขียนลายดอกไม้ร่วงที่ผนัง ปั้นตราอุณาโลมตราพระนามย่อ “จ” ที่ช่องระหว่างหน้าต่าง ปั้นตราแผ่นดินเหนือประตูกลาง เขียนลายรดน้ำหลังบานประตูทุกบาน เหมือนกันกับพระอุโบสถ พื้นใช้สีชมพูเพื่อให้ตรงกับสีเดิมซึ่งเป็นสีวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (กรมศิลปากร 2531(ก) : 44-45)
ภายในพระวิหารเป็นงานแบบตะวันตกแบบกอธิกเช่นเดียวกับพระอุโบสถ มีลวดลายเฉพาะที่เพดาน บัวกั้นผนังชั้นล่างและชั้นบน และกรอบประตูหน้าต่างส่วนที่เหลือเป็นสีขาว ไม่มีลวดลายใดๆ
ภายในพระวิหารประดิษฐานพระประทีปวโรทัย พระพุทธรูปปางมารวิชัยของเก่าที่ซ่อมขึ้นมาใหม่ เป็นพระประธาน โดยประดิษฐานบนฐานชุกชี หลังพระประธานเป็นตู้พระไตรปิฎกขนาดใหญ่ 3 ตู้ เป็นพระไตรปิฎกใบลาน บรรจุในกล่องไม้สัก บ้างทาน้ำมัน บ้างทาสี มีลวดลายทำด้วยเส้นทองเหลืองฝังลงในเนื้อไม้ มีตราของหลวง บางท่านกล่าวว่า อาจเป็นพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ยังเหลืออยู่ ตู้ไตรปิฎกนี้มีการบูรณะขึ้นใหม่ เมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดในปี พ.ศ.2525 โดยกรมศิลปากรได้ออกแบบตู้ใหม่ดังที่เห็นในปัจจุบัน ผู้ออกแบบคือ นาย อาวุธ เงินชูกลิ่น (กรมศิลปากร 2531(ก) : 44)
กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมด้วยแผนผัง ภาพปูชนียวัตถุสถาน และภาวรวัตถุ. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2513.
กรมศิลปากร. ประวัติวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2531(ก).
กรมศิลปากร. ศิลปกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 90 พรรษา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, 2531(ข).
กรมศิลปากร. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. จดหมายเหตุงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2553.
ชัชพล ไชยพร (บรรณาธิการ). ประมวลเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ 5 เรื่องวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2553.
ตำนานมหาดเล็ก (คัดจากต้นฉบับเดิม โดย นายวรการบัญชา). หนังสือที่ระลึกเนื่องในงานราชวัลลภฯ ครอบรอบหนึ่งร้อยสามสิบหกปี กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 11 พฤศจิกายน 2547 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์. กรุงเทพฯ : กรีนแมคพาย, 2547.
ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2544.
พรชนก ตันรัตนพงศ์. “ศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
พระธรรมจินดาภรณ์. ปาฐกถาเรื่องพระจอมเกล้าฯ เกี่ยวข้องกับพุทธศิลปะอย่างไร. ม.ป.ท., 2512.
พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) และคณะ. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : บริษัท แปลนพริ้นติ้ง จำกัด, 2555.
ยุทธนาวรากร แสงอร่าม. “การประดับตกแต่งส่วนสถาปัตยกรรมในพระพุทธศาสนาด้วยลายเครื่องราช อิสริยาภรณ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545.
“เรื่องปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐ์และวัดราชบพิธ” เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงศึกษาธิการ, ร.7 ศ.9.1/1, กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, กรมศิลปากร.
วิทวัส เกตุใหม่. “การศึกษารูปแบบในการสร้างสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
ศุภชัย เสริมสุขเจริญชัย. “งานตกแต่งภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม : การปรับเปลี่ยนสู่ศิลปะตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ 5.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555.
สมคิด จิระทัศนกุล. พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2547.
สมคิด จิระทัศนกุล. “พระอุโบสถและพระวิหารในสมัยพระบาทสมเด๋จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. พระนคร : คุรุสภา, 2505.
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 2. พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา, 2425.
สมศิริ อรุโณทัย. งานวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์กระเบื้องเคลือบเขียนสีที่ตกแต่งสถาปัตยกรรม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์, 2546.
สุดจิด สนั่นไหว. การศึกษาเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสมหาเถระ), 2541.
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554.
วิวัฒน์ เตมียพันธ์. “วัดราชบพิธ” ใน อาษา. 3, 3 (2517).