โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : ตึกแดง
ที่ตั้ง : ม.1 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์
ตำบล : ปากน้ำแหลมสิงห์
อำเภอ : แหลมสิงห์
จังหวัด : จันทบุรี
พิกัด DD : 12.481302 N, 102.062463 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : จันทบุรี, อ่าวไทย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองพลิ้ว
โบราณสถานตึกแดงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ใกล้กับโบราณสถานคุกขี้ไก่และท่าเทียบเรือแหลมสิงห์ โดยจากที่ทำการเทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 3149 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.4 กิโลเมตร จะพบตึกแดงอยู่ทางซ้ายมือ
ปัจจุบันตึกแดงเป็นสถานที่ท่องที่สำคัญแห่งหนึ่งของแหลมสิงห์ สังเกตได้จากระหว่างการสำรวจมีนักท่องเที่ยวเข้าชมและถ่ายภาพตึกแดงอยู่ตลอดเวลา ภายในอาคารมีการนำเสนอคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติเมืองจันทบุรี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ประวัติตึกแดง และปืนใหญ่ปากน้ำแหลมสิงห์ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมภายในอาคารได้ทุกวัน เวลา 8.30-16.30 น.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภายในอาคารจะมีการจัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของจันทบุรีและตึกแดงบ้างแล้ว แต่ก็เป็นส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังสามารถจัดแสดงเรื่องราวต่างๆและปรับปรุงการจัดแสดงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้อีกมาก อีกทั้งสภาพภายในอาคารผนังปูนและสีเริ่มหลุดร่อน
กรมศิลปากร, เทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 102 ตอนที่ 31 วันที่ 12 มีนาคม 2528
โบราณสถานตึกแดงตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลหาดแหลมสิงห์ ริมถนนทางหลวงหมายเลข 3149 โดยอยู่เกือบปลายสุดด้านทิศตะวันตกของหาด ใกล้กับท่าเทียบเรือแหลมสิงห์ ห่างจากโบราณสถานคุกขี้ไก่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทาสีแดง (จึงถูกเรียกว่าตึกแดง)
อ่าวไทย, แม่น้ำจันทบุรี, คลองพลิ้ว
เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดแหลมสิงห์ เกิดจากการทับถมของตะกอนป่าชายเลนหรือตะกอนที่ราบน้ำขึ้นถึง ที่ทับถมในยุคควอเทอร์นารี
โบราณสถานตึกแดงสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกองทหารฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อเป็นกองบัญชาการและที่พักนายทหารที่รักษาปากน้ำแหลมสิงห์ เมื่อสมัยฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรี (พ.ศ.2436)
ตึกแดง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทาสีแดง (จึงถูกเรียกว่าตึกแดง) หลังคาจั่วมุงกระเบื้องมีชายคาคลุมส่วนระเบียงอาคารทั้ง 4 ด้าน ที่หน้าจั่วถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยเสา โดยแบ่งเป็นด้านซ้ายและขวา แต่ละด้านประดับด้วยปูนปั้นรูปครึ่งวงกลม ภายในครึ่งวงกลมเจาะเป็นช่องแสงรูปกากบาท 6 ช่อง
ตัวอาคารมีช่องประตูทุกด้าน ด้านละ 2 ช่อง รวม 8 ประตู และมีช่องหน้าต่างที่ด้านยาว ด้านละ 6 ช่อง รวม 12 ช่อง บานประตูหน้าต่างเป็นไม้ ภายในอาคารแบ่งเป็น 5 ห้อง แต่ละห้องแบ่งออกจากกันด้วยผนังอิฐฉาบปูนและมีประตูกลางทะลุถึงกันตลอด ด้านบนของผนังแบ่งห้องเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมทะลุถึงกันทั้ง 2 ด้าน (ช่องระบายอากาศ) ที่ระเบียงรอบอาคารทั้ง 4 ด้าน มีรั้วไม้กั้นอยู่ด้านนอกและมีเสารองรับชายคา นอกจากนี้จากการสำรวจพบการอนุรักษ์อาคารโดยการรัดและขึงรอบอาคารด้วยสลิง
ตามรายงานของกรมศิลปากรระบุว่าตึกแดง กว้าง 7 เมตร ยาว 32 เมตร ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2528 เคยใช้ประโยชน์เป็นห้องสมุดประชาชนและศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ในปัจจุบันภายในจัดแสดงป้ายคำบรรยายเกี่ยวกับประวัติเมืองจันทบุรี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ประวัติตึกแดง และปืนใหญ่ปากน้ำแหลมสิงห์