โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ที่ตั้ง : สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย เลขที่ 813 ม.3 ถ.มีชัย ต.ในเมือง (เทศบาลเมืองหนองคาย) อ.เมืองหนองคาย
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : หนองคาย
พิกัด DD : 17.880256 N, 102.741372 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : โขง
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย (บริเวณข้างอาคารหลักของสถานี) ริมถนนมีชัย ภายในตัวจังหวัดหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย ในวันที่ 5 มีนาคมของทุกปี จังหวัดหนองคายจะประกอบพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดหนองคาย และเป็นการระลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของบรรพบุรุษที่ต่อสู้ปกป้องแผ่นดินให้พ้นจากการรุกรานของพวกฮ่อ
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ตั้งอยู่ภายในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองหนองคาย ริมถนนมีชัย ภายในตัวจังหวัดหรือในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย โดยอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ติดกับอาคารหลักของสถานีตำรวจด้านทิศตะวันตก สภาพโดยรอบเป็นชุมชนหนาแน่น ธรณีสัณฐานเป็นที่ราบริมแม่น้ำโขง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพา
แม่น้ำโขง
ที่ราบริมแม่น้ำโขง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2543
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
ตำรวจจังหวัดหนองคายบูรณปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า)อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) เป็นอนุสรณ์สถานที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ได้โปรดให้จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2429 เพื่อบรรจุอัฐิของเหล่าทหารที่เสียสละชีวิตปกป้องประเทศจากเหตุการณ์ปราบพวกฮ่อเมื่อ พ.ศ.2420-2428
ประวัติโดยย่อของการจัดสร้างอนุสาวรีย์มีดังนี้
เมื่อ พ.ศ.2420 พวกฮ่อได้ยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ และตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นั่น จากนั้นได้ตระเตรียมเสบียงอาหารไว้เพื่อโจมตีเมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย ซึ่งขณะนั้นพระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายไม่อยู่ จึงได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน พอได้รับข่าวศึกท้าวจันทร์ศรีสุราชก็มิได้เตรียมทัพไว้สู้ศึก ทำให้ราษฎรพากันอพยพครอบครัวหนีออกจากเมือง พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายอย่างง่ายดาย ส่วนท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยาพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัย พร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ ทรงทราบข่าวศึกฮ่อยกกองทัพเข้ามาตีเมืองหนองคาย จึงมีพระบรมราชโองการให้พระยามหาอำมาตย์ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปปราบฮ่อที่เมืองอุบลราชธานีอยู่แล้ว ยกกองทัพเข้าเมืองหนองคาย พร้อมทั้งทรงรับสั่งให้จับท้าวจันทน์ศรีสุราชและพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิต จากนั้นพระยามหาอำมาตย์จึงได้เกณฑ์กำลังจากเมืองนครพนม มุกดาหาร เขมราช นครราชสีมา และร้อยเอ็ดมาสมทบกันที่เมืองหนองคาย แล้วยกกองทัพออกไปตีพวกฮ่อจนถึงเมืองเวียงจันทน์ พวกฮ่อพ่ายแพ้พากันหนีเข้าป่า เมื่อบ้านเมืองสงบแล้วพระยามหาอำมาตย์จึงได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์มาเป็นเชลยลงมาไว้ที่เมืองหนองคาย แล้วจึงยกกองทัพกลับกรุงเทพฯ
พ.ศ.2427 พวกฮ่อรวบรวมกำลังกันได้อีกก็ยกกองทัพเข้าโจมตีเมืองต่างๆ อีกครั้ง ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้มหาดไทยเมืองนครราชสีมายกกองทัพไปปราบพวกฮ่อจนแตกหนีไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองขวางและทุ่งเชียงคำ
พ.ศ.2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชนุกูล และพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ยกกองทัพขึ้นไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันพุธ ขึ้น 14 ค่ำเดือน 4 เวลาประมาณ 2 โมงเช้า การรบถึงขั้นตะลุมบอนพวกฮ่อสู้ไม่ได้จึงถอยหนีไป พระยาราชนุกูลถูกลูกปืนของข้าศึกจนแข้งแตกเดินไม่ได้ ในเวลา 4 โมงเย็น พวกฮ่อรวบรวมกำลังกันยกกองทัพมาตีเพื่อยึดค่ายคืนอีกแต่ไม่สำเร็จ กองทัพไทยยกเข้าไปล้อมพวกฮ่อไว้นาน 7 วัน พวกฮ่อจึงขอเจรจาสงบศึกโดยขอให้ไทยยกกองทัพกลับ แล้วจะมอบสิ่งของในค่ายฮ่อให้ครึ่งหนึ่ง แต่กองทัพไทยไม่ยอมเพราะไม่ไว้ใจพวกฮ่อ
เพื่อให้การปราบพวกฮ่อเป็นไปอย่างรวดเร็วเด็ดขาด รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม คุมกองทัพขึ้นไปสมทบ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงดำรัสให้พระอมรวิไสยสรเดช (โต บุญนาค) ม.ร.ว.วรุณ พระยาสุริยเดช พระราชวรรินทร์ และพระเจริญราชอาณาเขตยกกองทัพไปสมทบ กองทัพไทยได้เอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในค่ายของพวกฮ่อจนแตกหนีไป กองทัพจึงได้ยก กองทัพกลับเมืองหนองคาย เมื่อเหตุการณ์ต่างๆ สงบลงแล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้นที่เมืองหนองคาย สำหรับบรรจุอัฐิทหารจากกรมกองต่างๆ ที่เสียสละชีพเพื่อชาติในการศึกครั้งนั้น ประกอบด้วย กรมทหารรักษาบรมมหาราชวัง กรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารนา กรมทหารอาสาใหญ่ กรมทหารอาสาวิเศษ กรมแปดเหล่า กรมฝรั่งแม่นปืน กรมทหารมาลา กรมสัสดี กรมเรือต้น กรมทหารมหาดเล็ก และกรมการหัวเมือง
ลักษณะอนุสาวรีย์เป็นศิลปะประยุกต์รูปแบบทรงเรขาคณิต ก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันทาสีขาว สูง 10.1 เมตร ส่วนฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 4 เมตร ปูด้วยแผ่นหินแกรนิต เหนือฐานขึ้นมาทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมใต้หน้าจั่วทั้ง 4 ด้าน คล้ายอาคารจำลองทรงจตุรมุข มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมสำหรับจารึกอยู่ทั้ง 4 ด้าน ตามขอบจั่วและช่องจารึกทาด้วยสีทอง ถัดจากส่วนนี้ขึ้นไปเป็นส่วนยอดทรงปิระมิดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนปลายยอดสุดทำเป็นลักษณะคล้ายบัวคลุ่มและลูกแก้วของเจดีย์ ทาด้วยสีทอง
ที่ด้านข้างอนุสาวรีย์ทั้ง 4 ด้าน มีจารึกอักษรไว้ 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาลาว มีรายละเอียดดังนี้
ด้านทิศตะวันออก จารึกตัวอักษรไทย ความว่า
อนุสาวรีย์นี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม แลแม่ทัพกรมกองได้พร้อมกันประดิษฐานขึ้นไว้ เพื่อให้เป็นที่ระลึกแห่งผู้ที่เป็นข้าราชการฝ่ายมณฑลชั้นในและกรมการหัวเมือง ซึ่งมีใจสมัครจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แฃบ้านเมืองของตน แลความองอาจกลัวหาญซึ่งมีอยู่ในสันดาน ซึ่งได้รับฉลองพระเดชพระคุณมาในการปราบปรามฮ่อฆ่าศึก ซึ่งได้มาแย่งชิงแผ่นดินสยาม ตั้งแต่ปีออกศึกศักราช 1246 แลปีศักราช 1247 เป็นที่น่าเสียใจเป็นอันมาก ซึ่งได้เสียชีวิตในความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน แลบ้านเกิดเมืองนอนของตน จึงได้นำอัฐิชื่อคนทั้งหรมกองต่างๆ ดังต่อไปนี้แล กรมทหารรักษาบรมมหาราชวัง กรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารนา กรมทหารอาษาใหญ่ กรมทหารอาษาวิเศษ กรมแปดเหล่า กรมฝรั่งแม่นปืน กรมทหารมาลา กรมสัสดี กรมเรือต้น กรมทหารมหาดเล็ก กรมการหัวเมือง มาบันจุไว้ในอนุสาวรีย์นี้ ขอให้ผลแห่งการซื่อสัตย์กตัญญู แลความจงรักภักดีต่อราชการของคนทั้งหลายเหล่านี้ จงเป็นผลให้ได้รับประโยชน์ในความสุขในปรโลกนั้นเทอญ
อนุสาวรีย์นี้ได้เปิดแต่จุลศักราช 1247 ควบ 1248 พระพุทธศักราชล่วงแล้ว
ด้านทิศใต้ จารึกตัวอักษรภาษาอังกฤษและตัวอักษรจีน เนื้อความเดียวกับจารึกตัวอักษรไทยด้านทิศตะวันออก
ด้านทิศตะวันตก จารึกตัวอักษรไทย ความว่า
• ปางนี้จักแสดงพจน์พร้อมผู้ภักดี ในอนุสาวรีย์ไว้เป็นที่ระฤกตาม
• ผู้กอบด้วยภักดีดั่งอาภรน์ประดับงาม ชีพมลายขจรนาม ปรากฎเกียรตินิรันดร
• ความภักดีฤาห่อนสูญ จีระอยู่ชั่วพุทธันดร สูญสุริย์จันทร์จึ่งจะสูญซึ่งความดี
• วายชีพท่ำกลางกิจโดยความสวามี ภักดีต่อธุลีละอองบาทบทมาลย์
• ปวงปราชคงจักซ้องศรับแสร้สาธุการ นับว่าเป็นทัยสูญบมิขลาดขยาดขยอน
• องอาจต่อราชกิจ มิได้คิดแก่ความมรณ์ คณะเทพย์ไกรสรจักชูช่วยอำนวยผล
• นำขันธ์เสวยศุข นฤทุกข์บได้ยล ศุขขติจงจักดลประโลกย์บ่แปรปรวน
ด้านทิศเหนือ จารึกตัวอักษรไทยและลาว ความว่า
ขออุทิศส่วนกุศลอันนี้ ให้แก่ผู้ที่ไปประโลกย์ ให้สำเร็จประโยชน์และความสุข อนึ่งในอนุสาวรีย์นี้ไม่ได้มีทรัพย์สิ่งของเงินทองอะไรต่างๆ มีอัฐิของผู้ที่เสียชีวิตในราชการเท่านั้น อย่าให้ผู้ใดเห็นไปว่ามีทรัพย์สิ่งของเงินทองและขุดรื้อทำลาย ถ้าผู้ใดมาขุดรื้อทำลายก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ทรัพย์ก็จะไม่ได้ ทั้งแรงก็จะเหนื่อย และของที่ควรเอาไว้เป็นที่ระฤกก็จะทลาย ได้ชื่อว่าไม่เป็นประโยชน์โดยแท้
ขอเตือนแก่ท่านทั้งหลายว่า สังขาระธรรมทั้งปวงมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เมื่อมีความเกิดแล้วก็ย่อมมีความดับเป็นคู่กันอยู่เป็นนิจ เพราะฉะนั้นควรที่ท่านทั้งหลายจะอุส่าห์บำเพ็ญกากุศลไว้สำหรับตนโดยความไม่ประมาท อนึ่งสัตว์ทั้งหลายที่ตายไปนานแล้วก็ดี ฤาที่จะตายต่อไปข้างหน้าก็ดี ฤาที่ตายแล้วอยู่ในที่นี่ก็ดี ท่านทั้งหลายย่อมเห็นโดยไม่มีความสงสัยเลย
พื้นรอบอนุสาวรีย์เป็นทรายล้าง ติดกับอนุสาวรีย์ด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งโต๊ะและเครื่องสักการะต่างๆ (ถือเป็นด้านหน้าในปัจจุบัน) รวมทั้งเสมาหินทราย 1 แผ่น ปักอยู่ที่พื้น ส่วนยอดโผล่พ้นพื้นดินขึ้นมาประมาณ 40 เซนติเมตร ทั้ง 2 ด้านของเสมามีจารึกตัวอักษรไทยน้อย ส่วนบนของเสมาสภาพสึกกร่อนและมีร่องรอยน้ำตาเทียน จากการสอบถามตำรวจและชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ได้ข้อมูลว่าเสมาใบนี้ปักอยู่ ณ ที่นี้นานแล้ว แต่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่แน่ชัด
รอบอนุสาวรีย์มีการก่อรั้วเตี้ยๆ ล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีช่องประตูด้านทิศเหนือและใต้ ช่องประตูด้านทิศใต้ทำเป็นช่องประตูโค้ง
ด้านทิศเหนือนอกรั้วอนุสาวรีย์ ประดิษฐานพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ขนาดเล็ก
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2543 โดยทางตำรวจจังหวัดหนองคาย
นอกจากอนุสาวรีย์ปราบฮ่อแห่งนี้แล้ว ยังมีอนุสาวรีย์ปราบฮ่ออีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นแห่งใหม่ ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารศาลากลางจังหวัดหนองคายหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ทำการมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม วิทยาลัยประชาคม-นานาชาติ สถาบันดำรงราชานุภาพ เป็นต้น) หรือห่างจากอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า) ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 110 เมตร
อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2492 โดยทางจังหวัดหนองคาย วัตถุประสงค์ของการจัดสร้างคือเพื่อให้อนุสาวรีย์ปราบฮ่อมีความโดดเด่นเป็นสง่า สมกับเป็นอนุสรณ์ของวีรบุรุษผู้กล้าหาญของประเทศ
ลักษณะอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) เป็นทรงปราสาทห้ายอด รูปทรงเจดีย์ด้านบนปราสาทเป็นเจดีย์เหลี่ยมตามแบบศิลปะพื้นถิ่น มีการคัดลอกจารึกจากอนุสารีย์ปราบฮ่อ (เก่า) มาติดตั้งอยู่ที่ตัวปราสาทแต่ละด้าน แต่จารึกบางด้านสลับกัน กล่าวคือ
จารึกด้านทิศเหนือของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) ตรงกับ จารึกด้านทิศเหนือของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า)
จารึกด้านทิศตะวันออกของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) ตรงกับ จารึกด้านทิศตะวันออกของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า)
จารึกด้านทิศตะวันตกของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) ตรงกับ จารึกด้านทิศใต้ของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า)
จารึกด้านทิศใต้ของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (ใหม่) ตรงกับ จารึกด้านทิศตะวันตกของอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ (เก่า)