โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ที่ตั้ง : ม.1 ต.ปากน้ำแหลมสิงห์ อ.แหลมสิงห์
ตำบล : ปากน้ำแหลมสิงห์
อำเภอ : แหลมสิงห์
จังหวัด : จันทบุรี
พิกัด DD : 12.48136 N, 102.065611 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : จันทบุรี, อ่าวไทย
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองพลิ้ว
โบราณสถานคุกขี้ไก่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ใกล้กับโบราณสถานตึกแดงและท่าเทียบเรือแหลมสิงห์ โดยจากที่ทำการเทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 3149 มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1.1 กิโลเมตร จะพบคุกขี้ไก่อยู่ทางขวามือ
คุกขี้ไก่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งบริเวณแหลมสิงห์ แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดจันทบุรี
โบราณสถานคุกขี้ไก่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลสภาพภูมิทัศน์เป็นอย่างดี มีการปลูกหญ้าและไม้ประดับรอบโบราณสถานสวยงามสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้มาพักผ่อนหย่อนใจ รอบตัวอาคารโบราณสถานมีทางเดินซีเมนต์รอบสำหรับนักท่องเที่ยว หน้าอาคารมีป้ายคำบรรยายให้ข้อมูลโบราณสถานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พื้นที่โบราณสถานไม่มีรั้วกั้นทำให้เข้าออกได้ตลอดเวลา นอกพื้นที่โบราณสถานล้อมรอบด้วยบ้านเรือนราษฎร
เทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์, กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50 ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539
คุกขี้ไก่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลหาดแหลมสิงห์ ริมถนนทางหลวงหมายเลข 3149 โดยอยู่เกือบปลายสุดด้านทิศตะวันตกของหาด ใกล้กับท่าเทียบเรือแหลมสิงห์
สภาพโดยทั่วไปของโบราณสถานได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลสภาพภูมิทัศน์เป็นอย่างดี มีการปลูกหญ้าและไม้ประดับรอบโบราณสถาน มีทางเดินซีเมนต์สำหรับนักท่องเที่ยวเดินชมรอบโบราณสถาน นอกพื้นที่โบราณสถานล้อมรอบด้วยบ้านเรือนราษฎร
อ่าวไทย, แม่น้ำจันทบุรี, คลองพลิ้ว
คุกขี้ไก่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลหาดแหลมสิงห์ เกิดจากการทับถมของตะกอนป่าชายเลนหรือตะกอนที่ราบน้ำขึ้นถึง ที่ทับถมในยุคควอเทอร์นารี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2515
วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์
ผลการศึกษา :
กรมศิลปากรบูรณปฏิสังขรณ์จนมีสภาพที่เห็นดังเช่นปัจจุบันคุกขี้ไก่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกองทหารฝรั่งเศสที่เข้ามายึดเมืองจันทบุรีในช่วงนั้น (พ.ศ.2436) ใช้เป็นป้อมปืนและที่คุมขังคน โดยขังคนไว้ด้านล่างและเลี้ยงไก่ไว้ด้านบน ให้ไก่อุจจาระรดศีรษะนักโทษ จึงได้ชื่อว่าคุกขี้ไก่
ตัวโบราณสถานเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผังที่ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 4 เมตร แต่ตัวอาคารมีการปาดมุมทั้ง 4 ด้าน ทำให้มีผังเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีประตูเข้าออกที่ด้านทิศตะวันตก 1 ประตู กรอบประตูเป็นไม้ มีช่องหน้าต่างเรียงทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 8 ช่อง แบ่งเป็นด้านบน 4 ช่อง และด้านล่างอีก 4 ช่อง นอกจากนี้ ที่มุมปาดของตัวอาคารยังมีช่องหน้าต่างอีก 2 ช่อง แบ่งเป็นช่องด้านบน 1 ช่อง และด้านล่าง 1 ช่อง ลักษณะหน้าต่างเมื่อดูจากภายนอกมีลักษณะสูงแคบเป็นทรงกระบอก แต่เมื่อมองจากด้านในช่องหน้าต่างจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส นอกจากนี้ที่ตัวอาคารส่วนกลางและส่วนบนยังปรากฏช่องสำหรับเสียบคานไม้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวว่าอาคารมี 2 ชั้น โดยชั้นบนเป็นพื้นไม้ เดิมใช้เป็นป้อมปืนของทหารฝรั่งเศส แต่ต่อมาชั้นล่างใช้เป็นที่ขังคน ส่วนชั้นบนไว้เลี้ยงไก่เพื่อให้ไก่ถ่ายอุจจาระใส่นักโทษ และเดิมเคยมีน้ำล้อมรอบอาคารทั้ง 3 ด้าน แต่น้ำเซาะผนังพังลงมา 1 ด้าน สภาพปัจจุบันบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2515