โพสต์เมื่อ 18 มิ.ย. 2021
ที่ตั้ง : โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เลขที่ 5 ม.10 ซอยปล่องเหลี่ยม 7 บ้านปล่องเหลี่ยม ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน
ตำบล : ท่าไม้
อำเภอ : กระทุ่มแบน
จังหวัด : สมุทรสาคร
พิกัด DD : 13.66739 N, 100.24437 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ท่าจีน
โบราณสถานปล่องเหลี่ยมตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม ในซอยปล่องเหลี่ยม 7 โดยหากมาจากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) บริเวณแยกอ้อมน้อย ให้ใช้ถนนเศรษฐกิจ 1 (ทางหลวงหมายเลข 3091) มุ่งหน้าอำเภอกระทุ่มแบน ประมาณ 3.4 กิโลเมตร จะพบซอยวัดท่าไม้ (ทางหลวงชนบท สามพราน 4014) ทางขวามือ ให้เลยไปกลับรถเพื่อเลี้ยวซ้ายเข้าซอยนี้ ไปตามถนนในซอยประมาณ 5 กิโลเมตร จะพบสี่แยกให้เลี้ยวซ้าย (มีป้ายปล่องเหลี่ยมและโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม) ตรงไปประมาณ 600 เมตร พบสี่แยกที่เชื่อมกับซอยปล่องเหลี่ยม 7 (แยก 2) ให้เลี้ยวขวา ประมาณ 100 เมตรพบทางเข้าสู่โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยมทางซ้ายมือ จอดรถหน้าโรงเรียนแล้วเดินไปโบราณสถานที่ตั้งอยู่หลังโรงเรียน ติดกับแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี
ปล่องเหลี่ยมเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญต่อจังหวัดสมุทรสาครและบ้านปล่องเหลี่ยมเป็นอย่างมาก เป็นโบราณสถานที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนคู่กับโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เป็นสิ่งสะท้อนถึงความเป็นเมืองเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของพื้นที่ด้านทิศเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร
ภายในพื้นที่โบราณสถานมีป้ายให้ข้อมูลสำหรับผู้สนใจ ทั้งประวัติพื้นที่ ประวัติการก่อสร้าง และลักษณะทางสถาปัตยกรรม นอกจากนั้นยังมีป้ายบอกทางเข้ามายังแหล่งตั้งแต่ถนนใหญ่เป็นระยะ ทำให้เดินทางได้สะดวก
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม สถานที่ติดต่อ โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม เลขที่ 5 หมู่ 10 ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โทรศัพท์ 034-869-481 โทรสาร 034-869-479
โรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม, องค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้, กรมศิลปากร
โบราณสถานปล่องเหลี่ยมตั้งอยู่ภายในโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม ในซอยปล่องเหลี่ยม 7 ต.ท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีน โดยรอบโรงเรียนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำสวน มีบ้านเรือนปลูกสร้างอยู่ประปราย โบราณสถานอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนฝั่งทิศตะวันตก โดยตั้งอยู่เหนือโค้งน้ำ (แม่น้ำท่าจีนอยู่ติดกับโบราณสถานด้านทิศใต้) มีสนามฟุตบอลชองโรงเรียนตั้งอยู่ด้านทิศเหนือ
แม่น้ำท่าจีน
ที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าจีนเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในสมัยโฮโลซีน
ปล่องเหลี่ยม (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 132) เดิมเป็นปล่องไฟของโรงงานน้ำตาล ซึ่งในอดีตเรียกกันว่า “โรงหีบนครชัยศรี” (Nakon-chei-See Factory) ของบริษัทน้ำตาลอินโดจีน (IndoChinese sugar company limited) ประเทศอังกฤษ สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีนายจอห์น คอสเตเกอร์ (John Costeker)เป็นผู้จัดการทั่วไป นาย จี.เอฟ.ฮิกส์ (G.F.Hick) เป็นผู้จัดการโรงงาน
โรงงานน้ำตาลอินโดจีนแห่งนี้นับว่าเป็นโรงงานเครื่องจักรไอน้ำขนาดใหญ่แห่งแรกในสยาม ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2413 มีการส่งเครื่องจักรจากอังกฤษเข้ามาใช้ในโรงงาน ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ของกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น หมอบรัดเลย์ บันทึกไว้ในจดหมายเหตุบางกอกกาเลนดาร์ (Bangkok Calendar) ว่า (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 133)
“...30 พฤศจิกายน เรือกลไฟยูนา (Una) ของอังกฤษ เข้ามาพร้อมกับเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน 14 ธันวาคม เริ่มติดตั้งเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน มีการเฉลิมฉลองกันตามสมควร”
โรงงานน้ำตาลอินโดจีนเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีวิศวกรโรงงาน 6 คน ผู้ช่วยวิศวกร 4 คน เจ้าหน้าที่ แผนกขนส่ง 1 คน และเจ้าหน้าที่ประจำรถไถเครื่องจักรไอน้ำ (steam ploughs) 1 คน นอกจากนี้ ยังมีคนงานจีนอีกจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งมากกว่าโรงหีบเล็กๆ แบบชาวบ้านแต่เดิมหลายสิบเท่า จึงทำให้ได้รับความสนใจจากพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เสด็จและเดินทางมาเยี่ยมชมโรงงาน จดหมายเหตุสยามรีโปสิตารี (Siam Repository) ของหมอสมิทบันทึกไว้ว่าทั้งสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ล้วนแล้วแต่เคยเสด็จมาเยี่ยมชมโรงงานแห่งนี้ (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 133)
ปัจจัยหลักที่ทำให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำตาลขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีนนี้ สืบเนื่องมาจากภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 3 น้ำตาลได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ พื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำนครชัยศรีหรือแม่น้ำท่าจีนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์จึงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแหล่งเพาะปลูกอ้อยขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงมีโรงงานหีบอ้อยทำน้ำตาลจำนวนมากมาตั้งดำเนินกิจการอยู่ ปัจจุบันยังคงมีชื่อหมู่บ้านและชื่อคลองปรากฏอยู่ เช่น บ้านโรงหีบ คลองบ้านอ้อมโรงหีบ เป็นต้น ซึ่งโรงงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือลำคลองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่สำคัญในการขนส่งสินค้าอ้อยหรือน้ำตาล (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 133)
ลักษณะการดำเนินกิจการของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน เริ่มต้นด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างตัวแทนของบริษัทกับรัฐบาลสยาม โดยสัญญามีใจความว่า รัฐบาลสยามอนุญาตให้บริษัทน้ำตาลอินโดจีนจัดตั้งโรงงานน้ำตาลทรายในบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำท่าจีน ตำบลดอนกะดี อำเภอตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี (ปัจจุบันคือ ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร) บริษัทมีสิทธิจับจองที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและตั้งโรงงานไม่น้อยกว่าสามพันไร่ โดยบริษัทจะซื้อที่ดินจากราษฎรที่ครอบครองอยู่ตามราคาที่สมควร และเสียภาษีที่ดินตามราคาปกติ การปลูกอ้อยนั้นบริษัทได้จัดการแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงเพาะปลูกขนาดย่อมๆ 20 แปลง แต่ละแปลงมีการตัดถนนผ่านเข้าไป เพื่อประโยชน์ในการใช้เครื่องจักรทำงานในไร่อ้อยและการลำเลี้ยงอ้อยจากแปลงปลูกมายังโรงงานโดยเกวียนเป็นพาหนะหลัก (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 133-134)
ในระยะต่อมาความต้องการน้ำตาลจากประเทศสยามลดลง ข้าวจึงเป็นสินค้าที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับน้ำตาลจากต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่า ชาวสยามจึงหันไปปลูกข้าวเพื่อการส่งออกแทน ทำให้โรงงานน้ำตาลในแถบนี้ลดปริมาณการผลิตลงและล้มเลิกไปในที่สุด เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลอินโดจีนในราว พ.ศ.2418 หรือ 5 ปีหลังจากเริ่มดำเนินการก็ได้หยุดกิจการลงเช่นกัน หลังจากนั้น พ.ศ.2482 นายใช้ ทองใบ เจ้าของที่ดินโรงงานเดิมแห่งนี้ ได้ยกที่ดินให้ปลูกสร้างโรงเรียนบ้านปล่องเหลี่ยม โดยคงเหลือเพียงปล่องไฟตั้งเด่นตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนคู่กับโรงเรียนจนถึงทุกวันนี้ (สุริยา สุดสวาท และคณะ 2553 : 134)
ตามข้อมูลเดิม ลักษณะของโบราณสถานเป็นปล่องไฟและฐานอาคารโรงงาน ลักษณะปล่องไฟเป็นปล่องไฟก่ออิฐถือปูนรูปแปดเหลี่ยมของโรงงานน้ำตาลอินโดจีน ตัวปล่องไฟตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดกว้างด้านละ 4 เมตร ตัวปล่องความสูงประมาณ 30 เมตร สอบเข้าหากันเล็กน้อย ฐานด้านทิศเหนือมีช่องโค้งเปิดเข้าสู่ที่ว่างภายในเชื่อมต่อกับปล่อง ด้านทิศตะวันออกมีการติดตั้งป้ายหินเข้ากับผนังอิฐ สลักตัวอักษรข้อมูลสังเขปของโบราณสถาน ผิวฉาบปูนของส่วนฐานหลุดร่อนออกเกือบทั้งหมด ส่วนตัวปล่องผิวฉาบปูนยังคงอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์
แต่จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2558 ไม่พบส่วนฐานอาคารแล้ว เนื่องจากซากดังกล่าวจมอยู่ในแม่น้ำท่าจีน (ข้อมูลจากกการสัมภาษณ์บุคลากรในโรงเรียน) นอกจากนี้ ชาวบ้านยังบอกเล่าว่าเคยพบเห็นปล่องไฟซึ่งเป็นโลหะทรงกลมจมอยู่ใต้แม่น้ำเช่นเดียวกัน และเดิมปล่องเหลี่ยมนี้ตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำท่าจีนประมาณ 40 เมตร ปัจจุบันระยะห่างระหว่างตัวปล่องไฟกับแม่น้ำท่าจีนเหลืออยู่เพียง 14 เมตร
กรมศิลปากร. “ปล่องเหลี่ยม.” ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 10 ธันวาคม 2558. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
สุริยา สุดสวาท และเดชา สุดสวาท. ทะเบียนโบราณสถานจังหวัดสมุทรสาคร. ราชบุรี : กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี, 2553.