วัดโน


โพสต์เมื่อ 5 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : วัดมโนธรรมาราม, วัดนางโน, วัดโน (ร้าง), พระปรางค์ในวัดโน(ร้าง), พระพุทธไสยาสน์ในวัดโน(ร้าง)

ที่ตั้ง : ม.3 บ้านม่วงชุม ต.ม่วงชุม (เทศบาลตำบลม่วงชุม) อ.ท่าม่วง

ตำบล : ม่วงชุม

อำเภอ : ท่าม่วง

จังหวัด : กาญจนบุรี

พิกัด DD : 13.960562 N, 99.599542 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : แม่กลอง

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

วัดโน (ร้าง) ตั้งอยู่ภายในวัดมโนธรรมาราม ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำแม่กลองกับตัวจังหวัดกาญจนบุรี ติดกับเขื่อนแม่กลอง โดยจากตัวจังหวัดบริเวณสามแยกหน้าศาลากลางจังหวัด ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 3429 (แยกออกจากถนนแสงชูโต) มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกหรือมุ่งหน้าแม่น้ำแม่กลอง เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองมาแล้ว จะพบสามแยกให้เลี้ยวซ้าย (จากศาลากลางจังหวัดจนถึงแยกนี้ ระยะทางประมาณ 1.7 กิโลเมตร) ใช้ถนนคอนกรีตที่มุ่งหน้าตำบลม่วงชุม ประมาณ 7.4 กิโลเมตร พบสามแยกให้เลี้ยวซ้ายข้ามคลองชลประทาน ไปตามถนนอีกประมาณ 1.1 กิโลเมตร จะพบวัดมโนธรรมารามอยู่ทางซ้ายมือ โบราณสถานตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

วัดมโนธรรมารามในปัจจุบันนับเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นวัดสายวิปัสสนา มีสภาพแวดล้อมที่สงบร่มรื่น ทิวทัศน์สวยงามเนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองในบริเวณที่เป็นเขื่อนแม่กลอง มีอุทยานวังมัจฉาสำหรับทำบุญให้อาหารปลา

โบราณสถานวัดโน (ร้าง) ภายในวัดมโนธรรมารามซึ่งได้แก่ พระปรางค์ พระพุทธไสยาสน์ และอุโบสถเก่า ล้วนแล้วแต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และดูแลเป็นอย่างดีจากทางวัด ได้รับการเคารพสักการะอย่างมากจากชาวกาญจนบุรีและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป มีการสร้างรูปเคารพและอาคารสิ่งก่อสร้างเพื่อประดิษฐาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย

ปัจจุบันวัดมโนธรรมาราม ได้ดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม อย่างหลากหลาย เช่น

1. การปฎิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ ถือธุดงควัตร (หนึ่งใจให้ธรรมะ)

2. สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดกาญจนบุรี แห่งที่ 4

3. ประกอบพิธีบูชาครู เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสริมบารมี

4. การฉลองพระปรางค์ และพระนอน ซึ่งเป็นโบราณสถานของวัด

5. สถานีวิทยุธรรมะชำระใจ 92.25 MHz

นอกจากนี้ วัดมโนธรรมารามยังตั้งอยู่ใกล้กับตัวจังหวัดกาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมาย เช่น วัดม่วงชุม วัดถ้ำเสือ วัดเขาน้อย เขื่อนแม่กลอง รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในตัวจังหวัด เช่น สะพานข้ามแม่น้ำแคว สุสานดอนรัก พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 พิพิธภัณฑ์อักษะเชลยศึกหรือพิพิธภัณฑ์สงครามวัดใต้ เมืองเก่ากาญจนบุรี วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมวัดมโนธรรมารามได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม มีป้ายบรรยายให้ข้อมูลประวัติวัดและโบราณสถาน

วัดมโนธรรมาราม (วัดนางโน) ม.3 บ้านม่วงชุม ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 71110

พระครูวิสุทธิกาญจนคุณ (เจ้าอาวาส) โทร. 081-736-2303, 034-602-026, 080-614-2285

พระอดุลย์ อตุโล (กองเลขานุการ) โทร. 086-165-0092, 086-337-1931

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

วัดมโนธรรมาราม, กรมศิลปากร

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

พระปรางค์และพระพุทธไสยาสน์ของวัดโน (ร้าง) หรือปัจจุบันคือวัดมโนธรรมาราม ได้รับการขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 96 หน้า 2678 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2500 เรื่อง การกำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

โบราณสถานวัดโน (ร้าง) อยู่ในพื้นที่ทางฝั่งทิศเหนือของวัดนางโนหรือวัดมโนธรรมารามในปัจจุบัน และตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองทางฝั่งทิศใต้ ภายในเขตเทศบาลตำบลม่วงชุม ใกล้กับตัวจังหวัดกาญจนบุรี (อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำแม่กลองกับตัวจังหวัด) สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

30 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำแม่กลอง

สภาพธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบริมแม่น้ำแม่กลอง เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำพาในยุคควอเทอร์นารี

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : อานนท์ เรืองเทศ

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2551, พ.ศ.2552

วิธีศึกษา : ขุดแต่ง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2551 - 22 กุมภาพันธ์ 2552 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้มอบหมายให้นายอานนท์ เรืองเทศ ดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณปรางค์ประธาน ผลการขุดแต่งพบว่าปรางค์ประธานองค์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ มีการสร้างหรือซ่อมขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย โดยมีลักษณะรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม-เพิ่มมุม ก่ออิฐถือปูน ฉาบปูนปิดทับทั่วทั้งองค์ มีฐานปัทม์ 3 ชั้นตั้งอยู่บนฐานเขียง บริเวณตอนกลางของเรือนธาตุตั้งอยู่บนชั้นฐานบนลูกแก้วอกไก่ มีซุ้มจระนำทั้งสี่ด้าน มียอดทรงเพรียวแหลมคล้ายฝักข้าวโพด ภายในองค์ปรางค์มีแกนไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ด้านในขององค์ปรางค์ปัจจุบัน ปรากฏร่องรอยขององค์ปรางค์ในสมัยก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นปรางค์ที่มีรูปแบบศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นตามประวัติและตำนานของวัดที่กล่าวว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น

ชื่อผู้ศึกษา : 66 ผู้สร้าง 2009 (หจก.)

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553

วิธีศึกษา : บูรณปฏิสังขรณ์, เสริมความมั่นคง

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร

ผลการศึกษา :

ระหว่างวันที่ 21 เมษายน 2553 - 16 ธันวาคม 2553 กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้มอบหมายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด 66 ผู้สร้าง 2009 ผู้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานพระปรางค์วัดมโนธรรม(วัดนางโน) ตามรูปแบบรายการที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมศิลปากร การบูรณะมีงานเสริมความมั่นคงของปรางค์ประธาน ติดตั้งนภศูลและสายล่อฟ้า และงานระบบระบายน้ำ งบประมาณ 230,000,000 บาท

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

วัดมโนธรรมารามหรือวัดนางโนเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2501 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ.2510 ตามประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากร เรียกโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในวัดนางโนว่า “วัดโน (ร้าง)”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประภาสต้นน้ำตกไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตอนช่วงพระองค์เสด็จกลับโดยทรงเรือพระที่นั่งล่องตามแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถึงต้นโพธิ์ใหญ่ท่าน้ำวัดนางโน ทรงรับสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งแล้วทอดพระเนตรสำรวจบริเวณวัด ในเวลานั้นวัดนางโนมีสภาพรกร้าง จึงมิได้เสด็จขึ้นมาบนวัด ก่อนเสด็จกลับพระองค์ได้ครัสว่า “ถ้ามีโอกาสจะกลับมาบูรณะวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”

จากประวัติที่เล่าขานกันและหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่า วัดโนหรือวัดมโนธรรมารามสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ชื่อผู้สร้างวัดไม่ปรากฏแน่ชัด คงเจริญรุ่งเรืองอยู่จนทรุดโทรมลงเมื่อครั้งศึกสงครามระหว่างไทยกับพม่า เมื่อเกิดสงครามประชาชนในหมู่บ้านก็อพยพหนีไปอาศัยอยู่ในถิ่นที่อื่น วัดก็ร้างไป จนเมื่อสงครามสงบ ประชาชนก็กลับมาอยู่ถิ่นเดิม และได้ช่วยกันบูรณปฎิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้ง โดยมีผู้หญิงชื่อ “นางโน” เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ ว่า “วัดนางโน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

มีเรื่องราวเล่าขานกันว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประภาสต้นน้ำตกไทรโยค จ.กาญจนบุรี ตอนช่วงพระองค์เสด็จกลับโดยทรงเรือพระที่นั่งล่องตามแม่น้ำแม่กลอง เมื่อถึงต้นโพธิ์ใหญ่ท่าน้ำวัดนางโน ทรงรับสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งแล้วทอดพระเนตรสำรวจบริเวณวัด ในเวลานั้นวัดนางโนมีสภาพรกร้าง จึงมิได้เสด็จขึ้นมาบนวัด ก่อนเสด็จกลับพระองค์ได้ครัสว่า “ถ้ามีโอกาสจะกลับมาบูรณะวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”

เมื่อ พ.ศ.2500 ได้มีประชาชนในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียง ได้มองเห็นความสำคัญของปูชนียวัตถุสถานอันเก่าแก่และสำคัญของวัด จึงได้ยื่นเรื่องต่อทางสังฆมนตรี ขอยกฐานะวัดนางโนซึ่งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2502 ในปัจจุบันวัดมโนธรรมารามเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมสำนักวิปัสสนากรรมฐานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี

แผนผังสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัด ไม่ได้วางตัวตามแนวทิศ แต่วางตัวเอียงไปตามแนวแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระปรางค์ พระพุทธไสยาสน์ และอุโบสถเก่า ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นใช้งานปัจจุบันประมาณ 2 เมตร

พระปรางค์ ตั้งอยู่ภายในวิหารคดที่มุงหลังคาด้วยกระเบื้องกาบกล้วย มีช่องประตูวิหาร 3 ด้าน (ด้านทิศตะวันตกไม่มีประตู เนื่องจากเป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์) แผนผังวางตัวเอียงไปตามแนวทิศเฉียงตามแม่น้ำแม่กลองที่ไหลผ่านด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

พระปรางค์ก่อด้วยอิฐถือปูน ปัจจุบันฉาบปูนตั้งแต่ส่วนเรือนธาตุขึ้นไปและทาสีขาว ผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 10.5 เมตร สูง 19.9 เมตร (พระปรางค์สูง 17 เมตร นภศูลสูง 2.9 เมตร) ส่วนฐานเป็นฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ย่อมุม ซ้อนกัน 3 ชั้น ตั้งอยู่บนฐานเขียง ในส่วนของชั้นเรือนธาตุมีลักษณะเป็นเรือนธาตุย่อมุม ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ บริเวณตอนกลางของเรือนธาตุแต่ละด้านมีซุ้มจระนำ 4 ทิศ ถัดจากส่วนเรือนธาตุขึ้นไปเป็นส่วนยอดของพระปรางค์มีลักษณะเป็นยอดทรงแท่งเพรียวคล้ายฝักข้าวโพด มีแถบนุนคาดเป็นรัดประคดและปิดประดับด้วยกลีบขนุนและบัวแถลงเป็นชั้นวิมาน 5 ชั้น ส่วนบนสุดเป็นนภศูลโลหะ

จากผลการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าพระปรางค์องค์นี้สร้างหรือซ่อมขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ราวพุทธศตวรรษที่ 23 ด้านในองค์ปรางค์ปัจจุบันปรากฏร่องรอยขององค์ปรางค์ในสมัยก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นปรางค์ที่มีรูปแบบศิลปะแบบสมัยอยุธยาตอนต้น สอดคล้องกับประวัติและตำนานของวัดที่กล่าวว่าวัดนี้สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น

ภายในระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่โดยรอบ (ยกเว้นส่วนที่เป็นวิหารพระพุทธไสยาสน์)

พระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ภายในวิหารตามแนวระเบียงคดด้านทิศตะวันตกของพระปรางค์ ตัววิหารก่ออิฐฉาบปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา

พระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศใต้ (หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากหันสิ่งก่อสร้างตามแนวแม่น้ำแม่กลอง) ก่อด้วยอิฐฉาบปูนลักษณะแบบพระพุทธรุปสมัยอยุธยา มีขนาดความยาวประมาณ 13 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร ปัจจุบันทาสีด้วยสีทอง (ปิดทอง?) เดิมด้านหลังองค์พระตรงที่ชิดกับผนังวิหารถูกลักลอบขุดเจาะหาโบราณวัตถุ ตั้งแต่พระเศียรถึงพระบาทปรากฏร่องรอยการซ่อมแซมเป็นบางส่วน

อุโบสถเก่า อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระปรางค์ นอกระเบียงคด หันหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่แม่น้ำแม่กลอง ปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว (ราว พ.ศ.2551-2552) เป็นฐานอาคารก่ออิฐถือปูน ยาวประมาณ 17 เมตร กว้างประมาณ 7 เมตร ปัจจุบันทาสีน้ำตาลหรือสีอิฐ ด้านบนทำเป็นห้องโปร่ง เสาก่ออิฐ ไม่มีผนัง ยกเว้นด้านท้ายที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยปัจจุบัน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา มีการก่อพนักหรือรั้วเตี้ยๆ เจาะช่องสี่เหลี่ยมตลอดแนวล้อมพื้นที่อาคารด้านบน

เบื้องซ้ายด้านหน้าของอุโบสถเก่า เป็นที่ตั้งของปรางค์องค์เล็ก ทาด้วยสีขาว ลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับพระปรางค์ประธาน (คงสร้างขึ้นคราวหลัง) ภายในมีโกฏิโลหะบรรจุอยู่

นอกจากโบราณสถานต่างๆ แล้ว ภายในวัดยังปรากฏสิ่งก่อสร้าง รูปเคารพตามศาสนาความเชื่อต่างๆ ของไทยอีกหลายองค์ รวมถึงบุคคลสำคัญต่างๆ เช่น พระศรีอริยเมตตรัย เจ้าแม่กวนอิม พระพรหม พระสังกัจจายน์ เห้งเจีย พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระรูปหล่อพระราชายาเจ้าดารารัศมี แม่ย่านางโน แม่ย่าตะเคียนทอง รวมถึงกายสังขารของหลวงพ่อแบน กนฺตสาโร (พระครูประสิทธิธรรมญาณ) ที่ไม่เน่าเปื่อย ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลวงพ่อแบน

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 กันยายน 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี