ตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน


โพสต์เมื่อ 18 มิ.ย. 2021

ที่ตั้ง : เลขที่ 2 ถึงเลขที่ 30 ริมถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ตำบล : พระบรมมหาราชวัง

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

พิกัด DD : 13.752545 N, 100.490656 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เจ้าพระยา

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้ประชาชนทั่วไปเช่าอาศัยและทำกิจการการค้าต่างๆ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานตึกแถวริมถนนหน้าพระลานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 29ง วันที่ 26 มีนาคม 2544 หน้า 8 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 งาน 70 ตารางวา

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

อาณาเขตทิศเหนือจรดมหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมศิลปากร ทิศตะวันออกจรดกรมศิลปากรแ ทิศใต้จรดถนนหน้าพระลาน และทิศตะวันตกจรดมหาวิทยาลัยศิลปากร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

3 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

ประวัติการศึกษา

ชื่อผู้ศึกษา : หจก.ประดิษฐ์ธนานุรักษ์

ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553, พ.ศ.2554

วิธีศึกษา : สำรวจ, ขุดค้น, บูรณปฏิสังขรณ์

องค์กรร่วม / แหล่งทุน : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ผลการศึกษา :

สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงริเริ่มโครงการปรับปรุงฟื้นฟูตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานขึ้น และดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปี 2554 เพื่อประโยชน์ทั้งด้านวิชาการ การอนุรักษ์ตามหลักสากล ความสง่างามทางภูมิทัศน์ และตอบสนองการใช้งานในปัจจุบัน ภายใต้แนวคิด “อนุรักษ์ พัฒนา ยั่งยืน”

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

แหล่งอยู่อาศัย

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ประวัติ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดเกล้าฯให้สร้างพระบรมมหาราชวังและพระบวรมหาราชวังขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และยังโปรดเกล้าฯให้สร้างถนนขึ้น 9 สาย[1] (คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 2525 : 49) หนึ่งในนั้นคือถนนหน้าพระลาน

ถนนหน้าพระลานเป็นถนนริมกำแพงด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง หรือด้านสนามหลวง ตั้งแต่ป้อมเผด็จดัสกรไปจนถึงถนนมหาราช จรดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่าพระหรือท่าช้าง แต่เดิมนั้นคงเป็นถนนที่มีขนาดใหญ่กว่าถนนสายอื่น ปูด้วยอิฐเรียงตะแคง เนื่องจากเป็นถนนสายสำคัญ เพราะเป็นเส้นทางรอบพระบรมมหาราชวังและเป็นเส้นทางเสด็จฯ นอกจากนี้ ถนนหน้าพระลานยังเป็นถนนประวัติศาสตร์ ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้ชะลอพระศรีสากยมุนีจากพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดสุทัศนเทพวราราม โดยการล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และขึ้นบนที่ประตูท่าพระ จากนั้นจึงแห่ไปตามถนนหน้าพระลาน

บริเวณพื้นที่ริมถนนหน้าพระลาน (รวมถึงริมถนนหน้าพระธาตุ และถนนมหาราช) ที่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ และตึกแถวถนนหน้าพระลานนั้น ในอดีตเป็นที่ตั้งของวัง 3 วัง แยกตามลักษณะที่ตั้งได้เป็น วังถนนหน้าพระลาน วังตะวันตก (คนทั่วไปนิยมเรียกว่า วังท่าพระ) วังถนนหน้าพระลาน วังกลาง และวังถนนหน้าพระลาน วังตะวันออก ทั้ง 3 วังนี้เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานพระราชโอรส 2 พระองค์ พระราชนัดดา 1 พระองค์ และมีเจ้านายเสด็จประทับต่อมาอีกหลายพระองค์ ทั้ง 3 วังหันหน้าออกถนนหน้าพระลาน ซึ่งเป็นถนนหน้าพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ และเป็นเส้นทางที่พระมหากษัตริย์เสด็จเข้าออกเป็นประจำ จึงนับได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญมากพื้นที่หนึ่ง เจ้านายที่เสด็จมาประทับ ณ วังเหล่านี้ จึงล้วนแต่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดและทรงเป็นบุคคลสำคัญในทางราชการ

หลังจากวังถนนหน้าพระลาน (วังกลางและวังตะวันออก) ถูกใช้พื้นที่เป็นสถานที่ราชการ คือโรงงานช่างสิปป์หมู่และกรมศิลปากรในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 แล้วนั้น ก็ได้มีการรื้อกำแพงวังด้านทิศใต้ (ริมถนนหน้าพระลาน) ออก แล้วสร้างเป็นตึกแถว (สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2452) เพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมืองต่างประเทศ (ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และช่างอนุรักษ์ กรมศิลปากร 2543 : 6) หรือเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของตึกแถวถนนหน้าพระลาน

ตึกแถวถนนหน้าพระลานเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ขนาด 29 ห้อง (หน้ากว้างประมาณห้องละ 3 เมตร และยาว 14.5 เมตร) หันด้านหน้าไปทางทิศใต้ ออกสู่ถนนหน้าพระลาน หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องว่าว คลุมตัวตึกแถว ด้านหน้าอาคาร (บริเวณด้านหน้าของหลังคา) ของคูหากลางและคูหาปลายทั้ง 2 ด้าน มีกระบังหน้า (Pediment) กระบังหน้าของคูหากลางมีความกว้าง 3 ห้อง ลักษณะเป็น Pediment ใหญ่ ลายปูนปั้นรูปดอกบัวคล้ายกับตึกแถวถนนมหาราชขนาบข้างด้วยแจกันปูนปั้น คอสอง (ส่วนที่อยู่ระหว่าง Pediment กับหัวเสา) ประดับลายเฟื่อง ส่วน Pediment ของคูหาปลาย ลวดลายเป็นชายผ้าหรือชายริบบิ้นขนาบข้างด้วยแจกันปูนปั้น

หน้าต่างของอาคาร (มีเฉพาะที่ชั้นบน) มีลักษณะโค้ง เป็นหน้าต่างบานแฝดอยู่ภายในกรอบวงโค้ง ช่องลมหน้าต่าง เป็นไม้ฉลุลาย บานหน้าต่างเป็นบานลูกฟักกระดานดุน ประตูมี 2 แบบ ประตูชั้นล่างเป็นบานเฟี้ยมอยู่ภายในกรอบวงโค้งเล็กน้อย ส่วนบนของประตูส่วนนี้ใส่เหล็กสั้นๆเป็นระยะตลอดความกว้างของประตู ประตูเป็นแบบบานลูกฟักกระดานดุน ประตูชั้นบนปรากฏเฉพาะที่ใต้ Pediment ของคูหากลางและคูหาปลาย โดยเป็นประตูโค้งครึ่งวงกลม ช่องแสงประตูติดกระจก ส่วนล่างของช่องแสงเป็นไม้สลักลายบานประตูเป็นบานลูกฟักกระดานดุน ส่วนระเบียงปรากฏตรงช่องที่มี Pediment เท่านั้น นั่นคือที่คูหากลางและคูหาปลาย

เสาของอาคารมี 3 แบบ คือ เสาอิงหรือเสาประดับอาคาร ซึ่งเป็นเสาเหลี่ยม มีรอยเซาะร่องตื้นๆตามแนวนอนของต้นเสา เสาลอยตัว เป็นเสากลมรับ Pediment มีลวดลายที่ปลายเสาเป็นลายก้นหอย และเสากลมลอยตัวไม่มีฐานและปลายเสา มีแต่รอยเซาะร่องตื้นตามแนวขวาง ปรากฏที่ชั้นล่างช่วงปลายและช่วงกลางของแถว ผนังมีรอยเซาะร่องตื้นตามแนวขวางเช่นเดียวกับเสาเหลี่ยมที่ประดับอาคาร พื้นปูกระเบื้องลาย

รูปแบบอาคารตึกแถวริมถนนหน้าพระลานอาจแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ ตามรายละเอียดของสถาปัตยกรรม (ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และช่างอนุรักษ์ กรมศิลปากร 2543) ดังนี้

            คูหาเน้นกลางอาคาร (บ้านเลขที่ 15-17) การออกแบบจงใจให้เป็นส่วนประธานของอาคาร โดยให้ความสำคัญมากที่สุด มีขนาดใหญ่ที่สุด (ใหญ่กว่าคูหาเน้นหัวและท้ายแถวด้วย) มีลักษณะเป็น Façade อาคาร โดยทำเป็นมุขระเบียงยื่นออกมากจากแนวผนัง ส่วนบนก่ออิฐฉาบปูนแผงจั่ว ด้านหน้าส่วนเน้นกลางอาคารมีความกว้างทั้งหมดประมาณ 8.5 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน (3 คูหา) ส่วนกลางมีความกว้างประมาณ 3.5 เมตร ขนาบด้วยห้องขนาดกว้างประมาณ 2.5 เมตร ทั้ง 2 ข้าง มุขชั้นล่างเป็นเสาลอยทรงกลมก่ออิฐฉาบปูนเรียบ เซาะร่องตามแนวนอนเป็นระยะ ตลอดความสูงเสา 4 ต้น ลักษณะเสาเป็นแบบ Doric Order ที่ชั้นบนทำมุขระเบียงยื่นออกมาจากผนังประมาณ 1 เมตร มีเสาลอย 4 ต้น รองรับแผงหน้าบัน เสาทั้ง 4 ต้น เป็นเสากลมก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ใช้หัวเสาแบบ Ionic Order ผนังอาคารชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนเรียบเซาะร่องตามแนวนอน แบ่งออกเป็น 3 คูหา เจาะช่องประตูคูหาละ 1 ช่อง ขนาดกว้างเกือบเท่าความกว้างคูหา สันนิษฐานว่าประตูเดิมน่าจะเป็นประตูบานเฟี้ยม ด้านบนบานประตูเป็นช่องลมโค้งแบบ Segmental Arch ผนังอาคารชั้นบนก่ออิฐฉาบปูนเรียบเซาะร่องตามแนวนอน แบ่งออกเป็น 3 คูหาตามชั้นล่าง ตรงกลางแต่ละคูหาทำซุ้มโค้งขนาดใหญ่เกือบเท่าความกว้างคูหา ภายในทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าออก ห้องกลางเป็นประตูบานเฟี้ยมไม้เปิด 2 ข้าง ข้างละ 2 ตอน ด้านบนเจาะช่องแสงโค้งครึ่งวงกลมตามรัศมีซุ้ม ภายในทำเป็นลายตะวัน อีก 2 คูหา (ขนาบข้าง) เป็นประตูบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ เหนือกรอบบานประตู เป็นไม้สี่เหลี่ยมยาวเท่าความกว้างประตู ภายในฉลุลาย ส่วนบนเป็นช่องแสงโค้งครึ่งวงกลมภายในทำลายตะวัน

            แผงหน้าบันก่ออิฐฉาบปูนปั้นลวดลาย ลักษณะเป็นซุ้มประตูย่อส่วนยอดโค้งแบบ  Segmental Arch ทั้ง 2 ข้างมีปีกประดับ และขนาบด้วยแจกันก่ออิฐฉาบปูนทั้ง 2 ข้าง ภายในหน้าบันแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตรงกลางเป็นกรอบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในปั้นปูนลายดอกบัว 3 ดอก ขนาบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมขนาดเล็กกว่าภายในปั้นปูนเป็นลายดอกบัว 1 ดอก ทั้ง 3 ส่วน กั้นด้วยก้านต่อดอกปูนปั้นภายในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าทางตั้ง ภายในเสาซุ้มปั้นปูนเป็นลายก้านต่อดอกในกรอบสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกัน ปีกทั้ง 2 ข้างภายในฉาบปูนผิวขรุขระ คานหัวเสา (รับชุดแผงจั่ว) ประดับลายพวงอุบะปูนปั้นต่อกันตลอดความยาวคาน

            คูหาเน้นหัวและท้ายแถว (บ้านเลขที่ 2 และ 30)  พื้นที่ภายในกว้าง 4 เมตร ยาว 7 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมุข มุขยื่นออกมาจากแนวผนังเล็กมาเล็กน้อย ด้านหน้ามุขยาว 3.5 เมตร ชั้นล่างเป็นเสาลอยวงกลม (รับระเบียงชั้น 2) ก่ออิฐฉาบปูนเรียบ เซาะร่องตามแนวนอน หัวเสาเป็นแบบ Doric order ผนังอาคารชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูนเรียบ เซาะร่องตามแนวนอนเลียนแบบการเรียงหิน ตรงกลางเจาะช่องประตูทางเข้าโค้งแบบ Segmental arch เป็นประตูบานเฟี้ยมแบบเปิดสองด้าน ด้านละสามตอน เหนือกรอบประตูทำซุ้มช่องลมโค้งเล็กน้อยแบบ Segmental arch ภายในใส่ลูกกรง (ซีกไม้) เป็นระยะ ตลอดความกว้างประตู ชั้นบนทำระเบียงยื่นออกมาจากผนังกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3.5 เมตร พื้นปูกระเบื้องลาย เสาลอยรับแผงจั่ว เป็นเสากลมก่ออิฐฉาบปูนเรียบ เป็นเสาแบบ Ionic order ผนังชั้นบนทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่เกือบเท่าความกว้างคูหาใช้เทคนิคการเรียงอิฐแบบสันโค้งจริง โดยใช้วิธีการเรียงหัวอิฐค่อยๆตั้งขึ้น ภายในซุ้มโค้งเจาะช่องประตูตรงกลาง 1 ช่อง เป็นประตูบานเฟี้ยมเปิดสองด้าน ด้านละสองตอน เหนือช่องประตูเป็นช่องแสงโค้งครึ่งวงกลม ภายในทำลายแบบลายตะวัน ผนังด้านยาวอาคาร (ด้านนอกอาคาร) ก่ออิฐฉาบปูนเซาะร่องทางแนวนอน แบ่งเป็น 2 ห้อง กั้นด้วยเสาอิง แต่ละห้องทำซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ภายในเจาะช่องหน้าต่างสองบาน ลักษณะเดียวกับผนังชั้นบนด้านหน้าคูหาทั่วไป

            แผงจั่วก่ออิฐฉาบปูนภายในปั้นลวดลาย ลักษณะเป็นแบบซุ้มประตูโค้ง Segmental Arch ย่อส่วนมีปีกประดับทั้งสองข้างขนาบด้วยแจกันก่ออิฐฉาบปูนทั้งสองข้าง ภายในแผงจั่วปั้นปูนเป็นลายผ้าจับจีบ ปล่อยชายล้อมด้วยเส้นลวดทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เสาซุ้มภายในปั้นปูนลายก้านต่อดอก บริเวณคานหัวเสาชั้นสองปั้นปูนเป็นลายพวงอุบะต่อกันตลอดแนวคาน

            คูหาทั่วไป (บ้านเลขที่ 3-14 และ 18-29 ) แต่ละคูหากว้างประมาณ 3 เมตร ลึกประมาณ 7 เมตร ผนังด้านหน้าและหลังอาคารเป็นผนังก่ออิฐฉาบปูน ทำเสาอิงกั้นระหว่างคูหา ผนังด้านฉาบปูนเรียบ ด้านหน้าเซาะร่องตามแนวนอน เลียนแบบการเรียงหิน ชั้นบนแต่ละคูหาทำเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมขนาดใหญ่เกือบเท่าความกว้างคูหา ใช้เทคนิคการเรียงอิฐแบบสันโค้งจริง โดยใช้วิธีการเรียงหัวอิฐค่อยๆเอียงตั้งขึ้น ภายในซุ้มโค้งทำหน้าต่างโค้งครึ่งวงกลม 2 ซุ้ม เป็นหน้าต่างบานเปิดคู่ลูกฟักไม้ เหนือกรอบบานหน้าต่างทำช่องแสงโค้งครึ่งวงกลม กรอบไม้ภายในฉลุลาย ด้านบนระหว่างซุ้มหน้าต่างเจาะช่องระบายอากาศวงกลม ภายในกรุไม้ฉลุลาย ชั้นล่างทำซุ้มประตูทางเข้าโค้งแบบ Segmental arch ประตูเป็นประตูบานเฟี้ยมแบบเปิดสองด้าน ด้านละสามตอน เหนือกรอบประตูทำซุ้มช่องลมโค้งเล็กน้อยแบบ Segmental arch ภายในใส่ลูกกรง (ซีกไม้) เป็นระยะ ตลอดความกว้างประตู ผนังด้านหลังอาคารแต่ละคูหาก่ออิฐฉาบปูนเรียบ ชั้นล่างเจาะเป็นช่องประตู 1 ช่อง ชั้นบนเจาะเป็นช่องหน้าต่าง บานเปิดคู่ลูกฟักไม้ตรงกลางระหว่างชั้น 1 และ2 ทำหลังคากันสาดโครงสร้างไม้ค้ำยันเหล็กดัด ภายในประดิษฐ์ลาย

ผนังกั้นระหว่างคูหา (ด้านยาวอาคาร) แบ่งออกได้เป็นสองแบบตามวัสดุและการใช้งาน คือ
            (1) เป็นผนังกันไฟก่ออิฐฉาบปูนสูงขึ้นไปถึงหลังคาโดยทำเป็นช่วงๆ ช่วงละ 3 คูหา (ระหว่างคูหาเลขที่ 5-6, 8-9, 11-12, 20-21, 23-24 และ26-27) ตรงกลางทำเสา (อิง) ก่ออิฐฉาบปูนแบ่งผนังออกเป็นสองห้อง ตรงกลางผนังชั้นล่างแต่ละห้องทำช่องโค้งแบบ Segmental arch เป็นช่องตัน (เดิมเป็นช่องโล่งทะลุถึงกันตลอด)

            (2) ผนังไม้คือผนังระหว่างคูหาที่นอกเหนือจากผนังก่ออิฐฉาบปูนข้างต้น ลักษณะเป็นผนังโครงสร้างไม้ ตรงกลางแนวยาวตั้งเสาไม้ขนาดหน้าตัด 15x15 เซนติเมตร เขล่าไม้ตามแนวนอนขนาด 8 เซนติเมตร ฝาเป็นฝาไม้เข้าลิ้นทางตั้ง ใช้ไม้หน้ากว้างขนาด 25 เซนติเมตร

พื้นที่อาคารตึกแถวถนนหน้าพระลานอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือส่วนตัวอาคารตึกแถวที่มีหลังคาทรงปั้นหยาคลุม และส่วนพื้นที่ด้านหลังที่หลังคาทรงปั้นหยาของตัวอาคารคลุมไปไม่ถึง

โครงสร้างฐานรากตึกแถว

สภาพของตึกแถวถนนหน้าพระลานได้เปลี่ยนแปลงและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาและลักษณะการใช้งาน ในปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ จึงริเริ่มโครงการปรับปรุงฟื้นฟูตึกแถวบริเวณถนนหน้าพระลานขึ้น และดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปี 2554 เพื่อประโยชน์ทั้งด้านวิชาการ การอนุรักษ์ตามหลักสากล ความสง่างามทางภูมิทัศน์ และตอบสนองการใช้งานในปัจจุบัน 

การทำงานขั้นตอนหนึ่งของโครงการคือการขุดค้นทางโบราณคดี วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ข้อมูลทางวิชาการ และประวัติพื้นที่ รวมทั้งเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อโบราณสถานจากการดำเนินงานของโครงการ

การขุดค้นในครั้งนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญมากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับตึกแถวริมถนนหน้าพระลานและสมัยก่อนหน้าการสร้างตึกแถว ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะหลักฐานของตึกแถว โดยเฉพาะส่วนโครงสร้างใต้ดินหรือฐานรากอาคาร

โครงสร้างฐานรากตึกแถวโดยรวมเป็นฐานใต้กำแพง (Strip footing) หรือที่สมัยโบราณเรียกว่า “คลองราก” ลักษณะเป็นฐานก่ออิฐสอปูนยาวต่อเนื่องไปตามความยาวของแนวกำแพงและผนัง เพื่อรับน้ำหนักจากกำแพง ส่วนตามแนวกว้างนั้นพบว่าก่ออิฐเรียงเหลื่อมกันออกไปทุกๆ 2-3 แถวของก้อนอิฐ ทำให้มีลักษณะคล้ายขั้นบันได แผ่ขยายหรือยื่นออกไปจากแนวตัวกำแพง 2-3 ขั้น (ยื่นออกไปทั้ง 2 ด้านของกำแพง) แต่ละขั้นเรียงด้วยอิฐ 2-4 แถว (ส่วนใหญ่ 3 แถว) ทำให้แนวอิฐแถวล่างสุดยื่นออกไปจากแนวตัวกำแพง 20-35 เซนติเมตร ทั้งนี้รวมแล้วส่วนฐานมีความลึก 7-10 แถวของก้อนอิฐ (อิฐแถวล่างสุดลึกลงไปจากพื้นปัจจุบันประมาณ 60 เซนติเมตร)

ลักษณะการเรียงอิฐของส่วนฐานรากจะเรียงสลับกันระหว่างแถวที่เรียงอิฐด้วยด้านยาวกับแถวที่เรียงอิฐด้วยด้านกว้าง หรือแบบ English (แต่ก็พบบ้างว่าบางแถวมีการเรียงอิฐผสมกันระหว่างด้านสั้นกับด้านยาว และระหว่างแถวที่ติดกัน ไม่ได้เรียงสลับกัน เช่น แถวที่ 1 เรียงอิฐโดยเอาด้านสั้นหันไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก แถวที่ 2 เรียงอิฐโดยเอาด้านสั้นหันไปทางทิศเหนือ-ใต้ และแถวที่ 3 ก็เรียงอิฐโดยเอาด้านสั้นหันไปทางทิศเหนือ-ใต้ เช่นเดียวกับแถวที่ 2 เป็นต้น

ด้านล่างของอิฐแถวล่างสุดของชุดฐานใต้กำแพง เป็นพื้นเทปูนผสมก้อนอิฐอย่างหยาบๆ มีความหนาประมาณ 7-10 เซนติเมตร (ฐานก่ออิฐใต้กำแพงและผนัง บางครั้งถูกเรียกว่า “แนวกันไฟ” ส่วนผนังก่ออิฐของตึกแถว ก็ถูกเรียกว่า “ผนังกันไฟ”) ใต้พื้นเทปูนพบท่อนไม้หรือเข็มไม้ขนาดต่างๆ ปักลงไปในดินรองรับแนวฐานตึกแถวตลอดแนว แต่ละต้นปักห่างกันเฉลี่ยประมาณ 30-40 เซนติเมตรตามแนวยาวกำแพง ส่วนแนวกว้างปักเรียงกัน 2-3 ต้น (ไม่สามารถศึกษาเข็มไม้ในส่วนนี้ได้อย่างละเอียด เนื่องจากไม่ได้ขุดค้นลงไปในระดับที่ลุกถึงตัวเข็มไม้ แต่อาจศึกษาได้จากเข็มไม้ด้านหลังตัวอาคารตึกแถวซึ่งจะกล่าวต่อไป)

ส่วนโครงสร้างฐานกำแพงที่พื้นที่ด้านหลังของตึกแถว (ในอดีตอาจมีเฉพาะส่วนกำแพง ไม่มีส่วนหลังคา) มีลักษณะเป็นฐานใต้กำแพงหรือแบบคลองราก ก่ออิฐสอปูนเหลื่อมออกมาจากตัวกำแพงเช่นเดียวกับฐานของตัวอาคารตึกแถว แต่ก่ออิฐเหลื่อมให้ฐานแผ่หรือยื่นออกมาเพียงขั้นเดียว โดยยื่นออกมาจากตัวกำแพงเฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าที่ชุดฐานกำแพงด้านหลังตึกแถวมีน้อยกว่าฐานใต้กำแพงและผนังของตัวตึกแถว อาจเป็นเพราะกำแพงด้านหลังตึกแถวรับน้ำหนักน้อยกว่า เนื่องจากไม่มีเครื่องบน

อิฐที่ใช้ก่อตัวกำแพงด้านหลังตึกแถวพบว่ามีขนาดแตกต่างกับอิฐส่วนฐานเล็กน้อย กล่าวคือ อิฐที่ใช้ก่อส่วนฐานอาคารตึกแถวถนนหน้าพระลาน (ทั้งส่วนตัวตึกและส่วนกำแพงด้านหลัง) มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร หนา 4-5 เซนติเมตร ส่วนอิฐที่ใช้ก่อตัวกำแพงด้านหลังอาคารมีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร หนาประมาณ 5-6 เซนติเมตร ทั้งยังมีสีแตกต่างกันเล็กน้อยด้วย สันนิษฐานว่าส่วนตัวกำแพงด้านหลังอาคารในปัจจุบัน อาจทำขึ้นคนละคราวกับส่วนฐาน หรืออาจได้รับการซ่อมแซมในภายหลังก็เป็นได้ หรืออาจเป็นไปได้ว่าอิฐทั้ง 2 ส่วนเป็นอิฐชุดเดียวกันหรือก่อสร้างในคราวเดียวกัน แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน คือส่วนฐานแช่อยู่ในดินนานจนทำให้สีต่างกับอิฐด้านบน

นอกจากนี้ ยังปรากฏร่องรอยของฐานใต้ผนังก่ออิฐสอปูนวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ในพื้นที่ด้านหลังตึกแถว โดยก่อยาวต่อเนื่องออกมาจากฐานใต้ผนังก่ออิฐหรือแนวกันไฟระหว่างคูหาของตัวอาคารตึกแถว ไปจนเชื่อมกับฐานกำแพงด้านหลัง (กำแพงด้านทิศเหนือ) ที่ติดกับโรงหล่อของกรมศิลปากร แต่ปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานดังกล่าวแล้ว เนื่องจากรถแบคโฮของโครงการฯ ได้รื้อสิ่งก่อสร้างบริเวณนี้ออกจนหมด รวมทั้งฐานก่ออิฐดังกล่าวด้วย

จากการขุดค้นพื้นที่ด้านหลังยังพบอีกว่า มีการใช้ท่อนไม้ยาวหรือเข็มไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-15 เซนติเมตร ปักหรือตอกลงไปในดินใต้ฐานแนวกำแพงและอาจรวมไปถึงภายนอก ขนานไปกับแนวกำแพง นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกว่าในพื้นที่ด้านหลังของตึกแถว พบเข็มไม้เฉพาะพื้นที่ด้านทิศตะวันออก และพบมากตามแนวฐานใต้กำแพงและผนังก่ออิฐหรือแนวกันไฟเท่านั้น ไม่พบในหลุมขุดค้นที่อยู่กลางคูหาตึกแถว อย่างไรก็ตาม เข็มไม้อาจถูกทำลายหรือรื้อถอนออกไปบางส่วน จากการปรับปรุงพื้นที่ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง

ข้อมูลที่ได้จากหลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวข้างต้น ทำให้สร้างภาพถึงขั้นตอนก่อสร้างส่วนฐานอาคารตึกแถวริมถนนหน้าพระลานได้ดังนี้

หลังจากที่มีการวางผังและตำแหน่งต่างๆ ของตึกแถวที่จะก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ก็ขุดดินเป็นแนวยาวตามตำแหน่งเพื่อทำโครงสร้างฐานอาคาร[1] (ขุดลึกลงประมาณ 70 เซนติเมตร จากพื้นใช้งานของตึกแถวในปัจจุบัน) จากนั้นก็ตอกเข็มไม้ลงไปในดินตามแนวยาวของฐานอาคารตึกแถวที่จะสร้าง ส่วนแนวกว้างอาจตอกเรียงกัน 2-3 ต้น โดยเข็มไม้แต่ละต้นมีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 30-40 เซนติเมตร เข็มไม้ดังกล่าวมีประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเลื่อนตัวของดิน รวมทั้งยังอาจใช้ในการรับและกระจายน้ำหนักที่ถ่ายเทลงมาจากผนังและฐานก่ออิฐ ทั้งนี้ การตอกเข็มไม้ลงไปในดิน อาจเหลือส่วนหัวเข็มให้โผล่พ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย

จากนั้นจึงเทปูนผสมก้อนอิฐหยาบๆ ลงไปตามแนวหลุมดินและเข็มไม้ที่ตอกไว้ เกลี่ยหรือฉาบให้พื้นปูนดังกล่าวมีความหนาประมาณ 7-10 เซนติเมตร และให้เรียบเสมอกัน (ในระดับเฉลี่ยประมาณ 60 เซนติเมตร จากพื้นใช้งานของตึกแถวในปัจจุบัน) เพื่อเป็นพื้นสำหรับรองการก่ออิฐของฐานตึกแถวที่จะทำในระดับเหนือขึ้นไป นอกจากนี้ พื้นปูนดังกล่าวยังหล่อทับหัวเข็มไม้ ทำให้เข็มไม้อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนตัวไปตามการเลื่อนตัวของดินและน้ำใต้ดิน หลังจากนั้นจึงเริ่มก่ออิฐบนพื้นปูนที่เทไว้ สำหรับเป็นฐานใต้กำแพงของอาคาร โดยให้อิฐแถวแรกที่ก่อ (หรือแถวล่างสุด) จนถึงแถวที่ 3 มีความกว้างเท่ากันและมีความกว้างมากที่สุด และจากแถวที่ 4-6 หรือ 4-7 ก็ก่อเรียงอิฐลดหลั่นกันเข้าไปเป็นขั้นบันได จนกระทั่งเสมอกับตัวกำแพง หลังจากนั้นจึงก่อกำแพงและทำเครื่องบน รวมทั้งถมดินทับส่วนฐานและทำพื้นอาคารตึกแถว

ส่วนที่ฐานใต้กำแพงที่อยู่ด้านหลังตึกแถวนั้น หลังจากการตอกเสาเข็มแล้ว อาจไม่มีการเทพื้นปูนรองรับฐานก่ออิฐ เนื่องจากไม่พบหลักฐาน (แต่อาจมีการเทพื้นปูนในลักษณะเดียวกับฐานใต้กำแพงตึกแถว แต่ถูกทำลายไปแล้วในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมทั้งจากการดำเนินการในโครงการฯ เนื่องจากพบว่าเข็มไม้บางส่วนที่พบในหลุมขุดค้นหมายเลข 26 ปักเลยออกมาภายนอกแต่ขนานไปกับแนวฐานกำแพง มีความเป็นไปได้ว่าเข็มไม้ดังกล่าวอาจรองอยู่ใต้พื้นเทปูน)

ส่วนโครงสร้างเสาของตึกแถวถนนหน้าพระลานนั้น การขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้พบแต่เพียงว่า ฐานเสาใช้อิฐขนาดเดียวกับส่วนฐานใต้กำแพงของตึกแถว ก่อเรียงสลับด้านยาวและสั้นในระหว่างแถว หรือแบบ English รองรับตัวเสา แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้มากไปกว่านั้น เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดีในครั้งนี้ยังทำได้ไม่เพียงพอ



[1] ข้อสันนิษฐานว่าเป็นการขุดเป็นร่องแนวยาว ไม่ขุดทั้งพื้นนั้น เนื่องจากพบฐานสิ่งก่อสร้างที่เก่ากว่าตึกแถวยังคงอยู่ระหว่างฐานตึกแถว ซึ่งจะกล่าวถึงในบทความถัดไป

 


[1] ได้แก่ ถนนหน้าจักรวรรดิวังหลวง ถนนหน้าจักรวรรดิวังหน้า ถนนเสาชิงช้า ถนนท่าช้างวังหลวง (ปัจจุบันคือ ถนนหน้าพระลาน) ถนนพระจันทร์ ถนนหน้าวัดมหาธาตุ ถนนหน้าโรงไหม ถนนท่าขุนนาง และถนนสามเพ็ง

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมแผนที่ทหาร. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2431-2474. กรุงเทพฯ: กองบัญชาการทหารสูงสุด, 2542.

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525(ก).

คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี. สมุดภาพสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2525(ข).

ชวนพิศ ทองแคล้ว และคณะ (บรรณาธิการ). ประชุมภาพประวัติศาสตร์แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2548.

ดวงจิตร จิตรพงศ์. ป้าป้อนหลาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระจันทร์, 2511.

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. “วังถนนหน้าพระลาน : ประวัติการครองวัง.” (ออนไลน์), 2558. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559 . ที่มา http://www.sac.or.th/databases/archaeology/sites/default/files/article/files/WangThaNonNaPhraLan.pdf

นริศรา จักรพงษ์ และไพศาล เปี่ยมเมตตาวัฒน์ (บรรณาธิการ). สมุดภาพรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: ริเวอร์ บุ๊คส์, 2535.

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณะ. องค์ประกอบทางกายภาพกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534.

บัณฑิต จุลาสัย, เทิดศักดิ์ เตชะกิจขจร, และพีรศรี โพวาทอง. แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450-2550. กรุงเทพฯ : สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, 2550.

พัชรี สาริกบุตร. เทคโนโลยี่สมัยโบราณ. กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2523.

ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และช่างอนุรักษ์ กรมศิลปากร. ตึกแถวริมถนนหน้าพระลาน. (รายงานสำรวจ) กรุงเทพฯ : ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และช่างอนุรักษ์, 2543.

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร (บรรณาธิการ). 200 ปี วังท่าพระ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.

ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 ประเภทอาคารของทางราชการ. กรุงเทพฯ: บริษัท หิรัญพัฒน์ จำกัด, 2538.

ฝ่ายอนุรักษ์โบราณสถาน กองโบราณคดี กรมศิลปากร. รายงานการสำรวจโบราณสถานในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 3 ประเภทวัง ศาลเจ้า อนุสาวรีย์ อาคารร้านค้า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2538.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 26 เรื่องตำนานวังเก่า. พระนคร: กรมศิลปากร, 2513.

MGR Online (นามแฝง). “โฉมใหม่ ‘หน้าพระลาน’ ย่านเก่ากลางกรุง.” (ออนไลน์), วันที่ 23 พฤษภาคม 2554. สืบค้นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2559. ที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000061304

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี