ตำหนักโปร่งฤทัย


โพสต์เมื่อ 15 ม.ค. 2022

ชื่ออื่น : พลับพลาช่อง

ที่ตั้ง : สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ม.7 บ้านกระเจาะ ถ.ตรัง-พัทลุง ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง

อำเภอ : นาโยง

จังหวัด : ตรัง

พิกัด DD : 7.55875 N, 99.78253 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : ตรัง

เขตลุ่มน้ำรอง : คลองโดนน้ำปลิว

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากตัวจังหวัดตรัง บริเวณสวนสาธารณะพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หรืออนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ใช้ถนนเพชรเกษม (ตรัง-พัทลุง) มุ่งหน้าไปทางตะวันออกหรือมุ่งหน้าจังหวัดพัทลุง ประมาณ 18.5 กิโลเมตร จะพบสวนพฤกษาสตร์เขาช่อง อยู่ทางขวามือ เลี้ยวเข้าสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง เมื่อจากนั้นเลี้ยวซ้้ายมุ่งหน้าตำหนักโปร่งฤทัย 8.00 น.

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

ตำหนักโปร่งฤทัย พลับพลาธารหทัยสำราญ และศาลาแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง มีป้ายของกรมศิลปากรให้ข้อมูลศาลาโปร่งฤทัยที่บริเวณศาลาแปดเหลี่ยม

โดยสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง เป็นส่วนหนึ่งของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่เข้าร่วมในโครงการป่าในเมือง "สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย" ของรัฐบาล ในการดำเนินงานจึงเน้นกิจกรรมป่าในเมือง กิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้แก่ผู้เข้ามาใช้บริการภายในสวนฯ กิจกรรมการเผยแพร่องค์ความรู้และจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ กิจกรรมด้านการจัดสวนพฤกษศาสตร์ ได้แก่การรวบรวมปลูกพรรณไม้เด่นๆ เช่น สวนรวบรวมพรรณไม้วงศ์ปาล์ม วงศ์กล้วยไม้ วงศ์กระดังงา เป็นต้น

สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 8.30-18.00 น. สามารถติดต่อสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง ได้ที่เบอร์ 075-573521  facebokk: www.facebook.com/khaochong.botanic  อีเมล: khaochong.botanic@gamil.com

นอกจากจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ แล้ว จุดเด่นที่น่าสนใจของสวนพฤกษศาสตร์เขาช่องและสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง คือ เป็นแหล่งรวบรวมพรรณไม้วงศ์ปาล์ม มีน้ำตกที่สวยงาม ได้แก่ น้ำตกโตนน้อย น้ำตกกะช่อง (น้ำตกโตนใหญ่) เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลลดหลั่นลงมาผ่านโขดหินซอกหิน และหน้าผาที่ความสูงชัน มีแอ่งด้านล่างรองรับเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ แม่น้ำไหลตลอดทั้งปี นอกจากนั้นยังมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ ศาลาที่ประทับ (ตำหนักโปร่งฤทัย) พลับพลาธารหทัยสำราญ พระปรมาภิไธยย่อ ปปร., ภปร. และพระนามาภิไธยย่อ สก.

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 50ง วันที่ 18 ธันวาคม 2539

ภูมิประเทศ

ภูเขา

สภาพทั่วไป

ตำหนักโปร่งฤทัย ไม่เหลือร่องรอยแล้ว กรมศิลปากรจึงได้กำหนดขึ้นทะเบียนศาลาริมทาง 2 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จคือ ศาลาแปดเหลี่ยมที่น้ำตกโตนน้อย และศาลาธารหทัยสำราญ ที่น้ำตกโตนใหญ่ (ศาาธารหทัยสำราญ ปัจจุบันมีสภาพผุพังและรกร้าง) โดยทั้งหมดตั้งอยู่ภายในพื้นที่ป่าไม้ของสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง และสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าเขาช่อง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบริมลำธาร และเนินเขาเล็ก ๆ ที่ขนาบด้วยภูเขาสูงชัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100–800 เมตร  สภาพสังคมพืชเป็นป่าดิบชื้น (Tropical rain forest)

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

82 เมตร

ทางน้ำ

คลองโดนน้ำปลิว, แม่น้ำตรัง

สภาพธรณีวิทยา

สวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด เทือกเขาที่มีหินอัคนียุคไทรแอสซิกเป็นองค์ประกอบหลัก แต่บริเวณที่ตั้งของโบรณสถาน ตั้งอยู่บนธรณีสัณฐานประเภทหินดินดาน ในกลุ่มหินแก่งกระจาน (กรมทรัพยากรธรณี 2550)

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยรัตนโกสินทร์, สมัยรัชกาลที่ 5, สมัยรัชกาลที่ 6, สมัยรัชกาลที่ 7

อายุทางโบราณคดี

พ.ศ.2452

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ที่พักชั่วคราว

สาระสำคัญทางโบราณคดี

เป็นเรือนรับรองที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อ พ.ศ. 2452 สำหรับเป็นที่พักระหว่างทางไปสู่น้ำตก เดิมเรียกว่า "พลับพลาช่อง" ต่อมาได้รับพระราชทานชื่อ "ตำหนักโปร่งหฤทัย" ในครั้งนั้น ลักษณะเป็นอาคารไม้ ทรงสี่เหลี่ยม มีมุขหลักยื่นที่ด้านหน้าทั้ง 2 ข้าง

ต่อมาเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้เสด็จมาประทับแรมที่ตำหนักโปร่งหฤทัยอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2458

สถานที่แห่งนี้ยังเคยได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภูเก็ตเมื่อปี พ.ศ. 2471 อีกด้วย

ในช่วงที่กรมศิลปากรสำรวจขึ้นทะเบียนตำหนักโปร่งหฤทัยเป็นโบราณสถานนั้น ตัวตำหนักได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว จึงได้กำหนดขึ้นทะเบียนศาลาริมทาง 2 แห่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จคือ ศาลาแปดเหลี่ยมที่น้ำตกโตนน้อย และศาลา(พลับพลา)ธารหทัยสำราญ ที่น้ำตกโตนใหญ่ (ศาลาธารหทัยสำราญ ปัจจุบันมีสภาพผุพังและรกร้าง)

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

กรมทรัพยากรธรณี. การจําแนกเขตเพื่อการจดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2550.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี