เจดีย์แดง


โพสต์เมื่อ 7 ส.ค. 2021

ชื่ออื่น : พระเจดีย์แดง

ที่ตั้ง : ม.2 บ้านไร่เพนียด

ตำบล : บ้านหม้อ

อำเภอ : เมือง

จังหวัด : เพชรบุรี

พิกัด DD : 13.078972 N, 99.93851 E

เขตลุ่มน้ำหลัก : เพชรบุรี, อ่าวไทย

เส้นทางเข้าสู่แหล่ง

จากบริเวณแยกถนนเพชรเกษมตัดเข้าเมืองเพชรบุรี ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าไปชะอำ ประมาณ 3.2 กิโลเมตร เลี้ยวขวา (ลอดใต้สะพาน) ใช้ทางหลวง 3179 (ถนนสมานประชากิจ) ประมาณ 900 เมตร จะพบเจดีย์แดงอยู่ทางขวามือ สามารถใช้ซอยข้างร้านก๋วยเตี๋ยวตาวีเจดีย์แดงเข้าสู่โบราณสถานได้

ประโยชน์ทางการท่องเที่ยว

เป็นแหล่งท่องเที่ยว

รายละเอียดทางการท่องเที่ยว

เจดีย์แดงเป็นโบราณปูชนียสถานสถานที่สำคัญของท้องถิ่น ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์ มีป้ายให้ข้อมูลโบราณสถานทั้งขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอและกรมศิลปากร ด้านหน้าเจดีย์มีศาลปูนขนาดเล็ก ระบุชื่อว่า “ศาลเจดีย์แดง” ภายในศาลมีเจว็ดไม้เป็นประธาน ด้านข้างศาลนี้ยังมีศาลพระภูมิขนาดเล็ก แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านในละแวกนั้นให้การเคารพสักการะเป็นอย่างมาก

ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

กรมศิลปากร, องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ

การขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร

รายละเอียดการขึ้นทะเบียน

1.ประกาศการกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 55 หน้า 4005 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2481 (เจดีย์แดง)

2.ประกาศการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 27 วันที่ 1 มีนาคม 2527 (เจดีย์แดง)

ภูมิประเทศ

ที่ราบ

สภาพทั่วไป

เจดีย์แดงเป็นโบราณสถานร้างที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และปรับปรุงภูมิทัศน์แล้ว พื้นที่โดยรอบยกเว้นด้านทิศใต้เป็นพื้นหญ้าซึ่งเป็นาอาณาบริเวณของโบราณสถาน พื้นที่ถัดออกไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นถนนคอนกรีตสำหรับรถยนต์สัญจร 2 ช่องทาง ถัดออกไปเป็นสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนราษฎร ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์หรือด้านทางเข้ามีศาลปูนขนาดเล็กหรือศาลเจดีย์แดงตั้งอยู่

โบราณสถานอยู่ห่างจากแม่น้ำเพชรบุรีมาทางทิศตะวันตกประมาณ 300 เมตร ชายทะเลอ่าวไทยอยู่ห่างจากเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 13.5 กิโลเมตร

ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

9 เมตร

ทางน้ำ

แม่น้ำเพชรบุรี, อ่าวไทย

สภาพธรณีวิทยา

ลักษณะพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลหรือที่ราบลุ่มน้ำขึ้นถึง ยุคควอเทอร์นารี

ยุคทางโบราณคดี

ยุคประวัติศาสตร์

สมัย/วัฒนธรรม

สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนปลาย, สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

อายุทางโบราณคดี

กลางพุทธศตวรรษที่ 23

ประวัติการศึกษา

ไม่พบผลลัพธ์

ประเภทของแหล่งโบราณคดี

ศาสนสถาน

สาระสำคัญทางโบราณคดี

ข้อมูลของสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ระบุว่า เจดีย์แดงมีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานสิงห์ มีทางเดินก่อด้วยอิฐรอบองค์เจดีย์ ส่วนฐานก่ออิฐสอดิน ขนาดกว้างประมาณ 17x17 เมตร ความสูงประมาณ 20 เมตร ฐานชั้นแรกเป็นชุดฐานเขียงซ้อนกัน 4 ชั้น เหนือชุดฐานเขียงเป็นฐานสิงห์ ถัดขึ้นไปเป็นฐานสี่เหลี่ยมบ่อมุมไม้ยี่สิบก่อขึ้นไปตรงๆ รองรับเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มประดับที่ผนังด้านนอกทั้ง 8 ด้าน ส่วนบนสุดของผนังตัดเรียบเสมอกันเหมือนยังไม่แล้วเสร็จ พื้นที่ภายในเรือนธาตุเป็นห้อง 8 เหลี่ยม มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก แต่ไม่มีร่องรอยการทำบันไดทางขึ้น จึงไม่สามารถทราบถึงลักษณะการใช้งาน

ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับประวัติการก่อสร้าง จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 23 ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานพงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างเจดีย์แดง มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าเสือ เมื่อครั้งยังทรงเป็นขุนหลวงสรศักดิ์เสด็จมาล้อมช้างในป่าเพชรบุรี ในปีจุลศักราช 1064 ปีมะเมีย จัตวาศก ตรงกับ พ.ศ.2245 (รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ถึงแม้ว่าในพงศาวดารไม่ได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์ แต่จาก ชื่อ “บ้านไร่เพนียด” อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์แดงนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้น่าจะเคยเป็นที่ตั้งของเพนียดคล้องช้างมาก่อน จึงมีความเป็นไปได้ว่าในคราวที่สมเด็จพระเจ้าเสือเสด็จมาทรงล้อมช้างที่เพชรบุรีนั้น อาจโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพนียดและเจดีย์แดงขึ้นมาด้วยก็เป็นได้

ผู้เรียบเรียงข้อมูล-ผู้ดูแลฐานข้อมูล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

บรรณานุกรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี