โพสต์เมื่อ 11 พ.ค. 2022
ชื่ออื่น : พระพุทธบาทหลังเต่า, วัดพระพุทธบาทหลังเต่า
ที่ตั้ง : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านเมืองพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ
ตำบล : เมืองพาน
อำเภอ : บ้านผือ
จังหวัด : อุดรธานี
พิกัด DD : 17.705291 N, 102.357501 E
เขตลุ่มน้ำรอง : ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด
ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เดินทางจากรุงเทพมหานครมายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่าเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก 67 กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
รอยพระบาทหลังเต่าตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. ภายในอุทยานมีสิ่งอำนวยความสะดวกคือ ศูนย์บริการข้อมูล หอประชุม ห้องสมุด บ้านพักรับรอง ห้องสุขา ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก รถสี่ล้อพลังงานไฟฟ้า
อัตราค่าเข้าชม นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
การติดต่ออุทยานฯ : อุทยานประวัติศาสตร์ ภูพระบาท ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 41160 โทรศัพท์ 042-219837, โทรสาร 042-219838, เว็บไซต์ http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/
กรมศิลปากร, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
พระบาทหลังเต่าอยู่ในกลุ่มโบราณสถานพระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ในเขตบ้านเมืองพาน ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ราบสันเขาทางตอนใต้ของภูพระบาท โบราณสถานสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่ พระพุทธบาทหลังเต่า เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 1 เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 2 เพิงหินใกล้พระบาทหลังเต่า 3 และถ้ำเกิ้งหรือถ้ำกวาง
พระบาทหลังเต่าเป็นรอยพระพุทธบาทเป็นรอยพระพุทธบาทธรรมชาติที่ได้รับการตกแต่ง โดยประดิษฐานอยู่บนลานหินบริเวณสันเขาทางทิศใต้ของภูพระบาท โดยเป็นลานหินกว้าง 5.5 เมตร ยาว 23 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 191)
ภูพานหรือภูพานคำเป็นเทือกเขาหินทรายที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทางตะวันตกของจังหวัดอุดรธานีและแอ่งสกลนคร
สภาพทั่วไปของภูพระบาทเป็นป่าโปร่ง มีพืชพรรณธรรมชาติประเภทไม้เนื้อแข็งขึ้นอยู่ทั่วไป เช่น ไม้มะค่า ไม้แดง ไม้ชิงชัง ไม้ประดู่ ไม้เต็งรัง บนภูพระบาทปรากฏลานหินโล่งกว้าง โขดหิน และเพิงหินทรายกระจัดกระจายอยู่จำนวนมาก เกิดจากการกระทำของน้ำและลมต่อหินทราย
ด้วยเหตุที่มีไม้เนื้อแข็งขึ้นปกคลุมค่อนข้างมาก ประกอบกับพืชพันธุ์ธรรมชาติอื่นๆ อีกมากมาย ภูพระบาทจึงจัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” เป็นแหล่งกำเนิดของลำธารหลายสาย เช่น ห้วยหินลาด ห้วยด่านใหญ่ ห้วยหินร่อง ห้วยนางอุสา และห้วยโคกขาด ซึ่งไหลลงไปทางทิศตะวันออกบรรจบกับแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
บริเวณที่ราบรอบภูเขาส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขาทางทิศตะวันออกของภูพระบาทเป็นหุบเขาใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าวและมันสำปะหลัง หุบเขานี้เรียกกันทั่วไปว่า หลุบพาน
ห้วยหินลาด, ห้วยด่านใหญ่, ห้วยหินร่อง, ห้วยนางอุสา, ห้วยโคกขาด, ห้วยโมง, แม่น้ำโขง
ภูพระบาทเป็นเนินเขาหินทราย ในแนวเทือกเขาภูพานน้อย บริเวณขอบที่ราบสูงด้านตะวันตกของอุดรธานี หินทรายมีสีขาว ส้ม เนื้อปนกรวด เม็ดกรวดประกอบด้วยควอตซ์ เชิร์ต หินทรายแป้งสีแดง หินอัคนีบางชนิด มีรอยชั้นขวาง มีหินดินดานและหินกรวดมนแทรกสลับ อยู่ในหน่วยหินภูพาน ชุดโคราช อยู่ช่วงล่าง-ช่วงกลางครีเตเชียส หรือประมาณ 90-140 ล้านปีมาแล้ว หินทรายในพื้นที่มีลักษณะโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา เนื่องจากมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละชั้น และได้ผ่านกระบวนการกัดกร่อนทางธรณีวิทยาโดยน้ำและลม ทำให้ได้ลักษณะธรณีสัณฐานที่แปลกตาหลายบริเวณ เช่น หอนางอุษา ถ้ำช้าง หีบศพพ่อตา หีบศพท้าวบารส หีบศพนางอุษา วัดพ่อตา ถ้ำพระ กู่นางอุษา บ่อน้ำนางอุสา เพิงหินนกกระทา พร้อมทั้งพบลักษณะทางธรณีวิทยากายภาพและธรณีโครงสร้างในหินทราย ซึ่งเป็นหินชั้นหรือหินตะกอนที่ชัดเจน เช่นการแสดงชั้นแทรกสลับกับชั้นกรวด การแสดงชั้นวางเฉียงระดับที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการไหลของน้ำ (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 38-39)
ลักษณะรูปร่างต่างๆ เกิดจากชั้นหินทราย และหินทรายปนกรวด มีเนื้อแตกต่างกัน ชั้นหินที่มีความคงทนสูงจะยื่นออกเป็นเพิงหิน หรือเป็นชั้นหินทับอยู่ข้างบน ส่วนชั้นหินที่มีความคงทนน้อยกว่าจะกร่อนหายไป หรือถูกกัดเซาะผุพังเป็นโพรง หรือเป็นส่วนคอดเว้าอยู่ใต้ชั้นหินแข็ง กลายเป็นเพิงหิน หรือผาหิน เช่นหอนางอุษา เป็นต้น
ชื่อผู้ศึกษา : เมธา วิจักขณะ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2535
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
บทความ “รอยอดีตบนภูพระบาท” กล่าวถึงร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีบนภูพระบาท รวมถึงพระพุทธบาทหลังเต่า (กองโบราณคดี 2535 : 21)ชื่อผู้ศึกษา : พิทักษ์ชัย จัตุชัย
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ, ศึกษาการตั้งถิ่นฐาน/การใช้พื้นที่
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : ม.ศิลปากร
ผลการศึกษา :
พิทักษ์ชัย จัตุชัย เสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี” เพื่อสำเร็จปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากรรอยพระบาทหลังเต่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนลานหินบริเวณสันเขาทางทิศใต้ของภูพระบาท โดยเป็นลานหินกว้าง 5.5 เมตร ยาว 23 เมตร ส่วนที่มาของชื่อพระพุทธบาทหลังเต่านั้น มาจากก้อนหินขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ที่มีลักษณะด้านบนโค้งและมีลวดลายคล้ายหลังเต่า ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธบาทที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกันว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า” (184)
พระพุทธบาทหลังเต่า มีลักษณะเป็นแอ่งหินรูปคล้ายฝ่าเท้า หันปลายเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยเป็นรอบพระพุทธบาทรูปทรงวงรีที่ก่อด้วยปูน ตรงกลางฝ่าพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัวบานกลีบแหลมซ้อนกันนูนขึ้นมา โดยรอบพระพุทธบาทมีขนาดกว้าง 0.71 เมตร ยาว 1.68 เมตร ก่อล้อมรอบด้วยศิลาแลง แต่ในปัจจุบันได้มีการบูรณะและนำศิลาแลงดังกล่าวออกไปแล้ว และรอยพระพุทธบาทก็มีความเสียหายมาก กล่าวคือ เหลือเพียงปูนในส่วนของบริเวณฝ่าพระบาทเท่านั้น (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 185)
นอกจากนี้ บริเวณลานหินด้านหน้าและบนก้อนหินขนาดใหญ่ด้านข้างพระพุทธบาทหลังเต่ายังมีการสกัดให้เป็นหลุมเรียงกันเป็นแนวยาว 15 เมตร กว้าง 12 เมตร (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 186)
เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของแผนผังพระพุทธบาทหลังเต่าแล้ว พบว่าพระพุทธบาทหลังเต่านี้ประกอบไปด้วยอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างครอบรอบพระพุทธบาท โดยมีอาคารที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชั้น (พิทักษ์ชัย จัตุชัย 2553 : 186) คือ
ชั้นที่ 1 เป็นห้องขนาดเล็กที่ครอบรอยพระพุทธบาทคล้ายอุปโมงค์แบบวัฒนธรรมลาว (ล้านช้าง)
ชั้นที่ 2 มีลักษณะเป็นโถงอาคารขนาดใหญ่ที่สร้างครอบคลุมทั้งพระพุทธบาทหลังเต่าและลานหินโดยรอบ ซึ่งคงจะเป็นอาคารเปิดโล่งที่มีโครงสร้างเป็นไม้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเสมือนศาลาหรืออาคารใหญ่ที่สามารถรองรับคนจำนวนมากที่มาประกอบพิธีกรรมหรือสักการะรอยพระพุทธบาทได้ และยังมีความเกี่ยวเรื่องกับอาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกุฏิหรือที่อยู่อาศัยบริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทหลังเต่าอีกด้วย
ทั้งพระพุทธบาทหลังเต่าและพระพุทธบาทบัวบานน่าจะมีรูปแบบไม่แตกต่างกันมากนัก จากลักษณะของรอยพระพุทธบาทหลังเต่า ประกอบกับเครื่องถ้วยที่พบในการขุดแต่งสันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในสมัยล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 (กองโบราณคดี 2535 : 21) และสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 24
ตำนานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง
พระพุทธบาทหลังเต่า ปรากฏเรื่องราวในตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีใจความว่า ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์โลก และได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ ดอยทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง พระพุทธองค์ได้เสด็จมายังภูพระบาทแห่งนี้ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยชองพญานาคผู้มีนิสัยพาลเกเร คือ พญานาคกุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ทรงปราบพญานาคทั้งสองจนยอมจำนน และมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มิลินทนาคได้กราบทูลขอรอยพระพุทธบาทสักการบูชา พระพุทธองค์จึงได้โปรดประทานรอยพระบาทขวาผินปลายพระบาทสู่เยื้องทิศอุดร แล้วเสด็จต่อไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต รอยพระบาทจึงปรากฏมานับแต่บัดนั้น
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2552.
กรมศิลปากร. ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมและระบบภูมิสารสนเทศ โครงการสำรวจแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์) เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.gis.finearts.go.th/gisweb/viewer.aspx
กองโบราณคดี. แหล่งโบราณคดีประเทศไทย เล่ม 3. เอกสารกองโบราณคดีหมายเลข 11/2532. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532ก.
กองโบราณคดี. ศิลปะถ้ำในอีสาน กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2532ข.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2535.
กองโบราณคดี. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2537.
ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2542.
บังอร กรโกวิท. “ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2519.
พเยาว์ เข็มนาค. ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2539.
พเยาว์ เข็มนาค และมนต์จันทร์ น้ำทิพย์. ศิลปะถ้ำ “กลุ่มบ้านผือ” จังหวัดอุดรธานี. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2533.
พัชรี สาริกบุตร. “เพิงหินใกล้วัดพระพุทธบาทหลังเต่า.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2560. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html
พิทักษ์ชัย จัตุชัย. “การวิเคราะห์การใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี : จากหลักฐานทางโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์) บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2553.
สถาพร ขวัญยืน และคณะ. ศิลปะบนผนังหิน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี. กรุงเทพฯ : โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2528.
สมัย สุทธิธรรม. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ 1999 จำกัด, 2546.
สุมิตร ปิติพัฒน์. บ้านผือ ร่องรอยจากอดีต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2520.
สุรีรัตน์ บุบผา. “การศึกษาเปรียบเทียบแหล่งศิลปะถ้ำระหว่างกลุ่มผาแต้มกับกลุ่มบ้านผือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2539.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. ภูพระบาท : อดีตกาลผสานธรรมชาติ. เอกสารประกอบการอบรมยุวมัคคุเทศก์ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท (พ.ศ. 2543) ณ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 13-15 มี.ค. 2543. อุดรธานี : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 7 ขอนแก่น, 2543.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี และคณะ. อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อุดรธานี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542.