โพสต์เมื่อ 6 เม.ย. 2022
ชื่ออื่น : เพิงผาโต๊ะช่อง
ที่ตั้ง : ม.2, ม.3, ม.7 ต.ทับปริก อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่
ตำบล : ทับปริก
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : กระบี่
พิกัด DD : 8.163604 N, 98.883454 E
เขตลุ่มน้ำหลัก : ทะเลอันดามัน, คลองกระบี่ใหญ่
เขตลุ่มน้ำรอง : คลองหญ้าไทร, คลองปากน้ำกระบี่
จากสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดกระบี่ ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) มุ่งหน้าไปทางเหนือหรือมุ่งหน้าท่าอากาศยานนานาชาติ กระบี่ ประมาณ 600 เมตร เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงชนบท กบ.1016 ประมาณ 4.5 กิโลเมตร พบสามแยกบริเวณหน้าโรงเรียนบ้านคลองใหญ่ เลี้ยวซ้ายใช้ถนนของท้องถิ่นประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบเขาหน้าวังหมีทางซ้ายมือ หรือประมาณ 1.8 กิโลเมตร จะพบแหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี 57/1 ทางซ้ายมือ ด้านหลังสวนยางพารา และมีป้ายแสดงข้อมูลของกรมศิลปากรปักอยู่ด้านหน้าเพิงผาแหล่งโบราณคดีแห่งนี้
กรมศิลปากร
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 210ง ประกาศวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558
เขาหน้าวังหมีเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดในแนวเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินราชบุรี ภูเขามีความยาวตลอดแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 900 เมตร ภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 40-140 เมตร ปัจจุบันมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป พื้นที่โดยรอบภูเขาเป็นที่ราบที่เกิดจากการทับถมของตะกอนเชิงเขาและตะกอนผุพังอยู่กับที่ ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20 เมตร ปัจจุบันเป็นสวนยางพารา สวนปาล์ม และพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎร
ด้านทิศเหนือของเขาหน้าวังหมี มีคลองหญ้าไทรไหลผ่าน คลองหญ้าไทรนี้จะไหลไปทางทิศใต้รวมกับคลองกระบี่ใหญ่ ไหลออกสู่คลองปากน้ำกระบี่และทะเลอันดามันในที่สุด ปัจจุบันชายฝั่งทะเลอันดามันอยู่ห่างจากเขาหน้าวังหมีไปทางทิศใต้และทิศตะวันออกประมาณ 13 กิโลเมตร
นอกจากนี้ เขาหน้าวังหมียังตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาหลังโรงเรียน ซึ่งมีแหล่งโบราณคดีสำคัญที่มีอายุหลายหมื่นปี คือแหล่งโบราณคดีเพิงผาหลังโรงเรียน โดยแหล่งโบราณคดีทั้งสองอยู่ห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร
คลองหญ้าไทร, คลองกระบี่ใหญ่, คลองปากน้ำกระบี่, ทะเลอันดามัน
เขาหน้าวังหมีเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดในแนวเทือกเขาหินปูนในกลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 286-245 ล้านปี
ชื่อผู้ศึกษา : กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2549, พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : สำรวจ
ชื่อผู้ศึกษา : จิตรปฏิมา (หจก.)
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2550
วิธีศึกษา : ขุดค้น
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจิตรปฏิมา ทำการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี ภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร เพื่อตรวจสอบหลักฐานในเขตพื้นที่สัมปทานระเบิดและย่อยหิน พบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เศษภาชนะดินเผา สะเก็ดหิน ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ เปลือกหอย โครงกระดูกมนุษย์ ร่องรอยกองไฟ เป็นต้นชื่อผู้ศึกษา : บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2553
วิธีศึกษา : สำรวจ
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต พร้อมด้วย นายภคพล พฤฒปภพ วัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกระบี่ นายสุเทพ จันทร กรรมการสภาวัฒนธรรม และ นายบุญฤกษ์ เต้บำรุง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ทับปริก อ.เมืองกระบี่ เข้าสำรวจบริเวณเพิงผาเขาโต๊ะช่อง หมู่ที่ 3 ต.ทับปริก และเขาหน้าสังเวียน หมู่ 2 ต.ทับปริก ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับเขาหน้าวังหมีที่กำลังมีการสัมปทานระเบิดหินอยู่ในขณะนี้ชื่อผู้ศึกษา : ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, กรมศิลปากร
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2557
องค์กรร่วม / แหล่งทุน : กรมศิลปากร
ผลการศึกษา :
นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดี พร้อมทั้งช่างสำรวจ จากสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต และทหารจากหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน 411 สำรวจเขาหน้าวังหมีรังวัดแนวเขตพื้นที่รอบเขา เพื่อจัดทำพิกัดแนวเขตสำหรับขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี 57/1 ซึ่งเป็นเพิงผาด้านทิศตะวันออกเพิงผาหนึ่งของภูเขา พบหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมาก โดยเฉพาะหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบพิธีศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากนั้นได้ส่งตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาที่พบไปหาค่าอายุทางวิทยาศษสตร์ด้วยวิธี Thermoluminescence ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค่าอายุ 2,762±34 ปีมาแล้วชื่อผู้ศึกษา : เบน มาร์วิค
ปีที่ศึกษา : พ.ศ.2552, พ.ศ.2554
ผลการศึกษา :
พื้นที่ทางตอนเหนือของเทือกเขาได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีเพิงผาโต๊ะช่อง เมื่อ พ.ศ.2552 และมีการขุดค้นใน พ.ศ.2554 โดย ดร.เบน มาร์วิค มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบหลักฐานในช่วงสัยไพลสโตซีนตอนปลายถึงสมัยโฮโลซีน (16,000 – 2,000 ปีมาแล้ว)เขาหน้าวังหมีตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 7 ต.ทับปริก อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ได้มีการสำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ กระจายตัวอยู่ตามถ้ำและเพิงผาต่างๆ ของเทือกเขาแห่งนี้จำนวนมาก เช่น เศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย
กรมศิลปากรได้ขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ใน พ.ศ.2550 เพื่อตรวจสอบหลักฐานในเขตพื้นที่สัมปทานระเบิดและย่อยหิน พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ (กรมศิลปากร ม.ป.ป.) ได้แก่
1.เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) มีการตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ขัดมัน ทาน้ำดิน แล้วรวมควันที่ผิวอีกครั้งหนึ่ง
2.แกนหินและสะเก็ดหินที่เหลือจากการกะเทาะซ่อมเครื่องมือหิน จากการจำแนกชนิดของหินพบว่าไม่ใช่หินที่พบในบริเวณนั้น
3.เครื่องมือทำจากกระดูกสัตว์ เป็นเครื่องมือปลายแหลม โดยการนำกระดูกชิ้นยาวของสัตว์มาขัดฝนให้ปลายด้านหนึ่งแหลมคม
4.ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ พบชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ขนาดเล็กค่อนข้างสมบูรณ์ เช่น ลิง ค่าง ตะกวด เต้า ตะพาบ เม่น งู กระรอก เก้ง กวาง นก สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เป็นต้น
5.เปลือกหอย พบทั้งเปลือกหอยน้ำจืด หอยทะเล และหอยภูเขา
6.โครงกระดูกมนุษย์ พบ 1 โครง เป็นโครงกระดูกของมนุษย์วัยผู้ใหญ่ สภาพไม่สมบูรณ์ ผุกร่อนและแตกหักมาก พบส่วนกระดูกหน้าแข้งซ้าย ปลายด้านบนของกระดูกหน้าแข้งขวา กระดูกน่องซ้าย-ขวา กระดูกต้นขาขวา กระดูกข้อเท้า กระดูกฝ่าเท้า กระดูกนิ้วเท้า กระดูกแขนท่อนล่างซ้าย-ขวา กระดูกข้อมือและกระดูกมือซ้าย-ขวา และชิ้นส่วนกะโหลก
7.ร่องรอยกองไฟ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการระงับสัมปทานในเวลาต่อมา
ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือของเทือกเขาได้สำรวจพบแหล่งโบราณคดีเพิงผาโต๊ะช่อง เมื่อ พ.ศ.2552 และมีการขุดค้นใน พ.ศ.2554 โดย ดร.เบน มาร์วิค มหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบหลักฐานในช่วงสัยไพลสโตซีนตอนปลายถึงสมัยโฮโลซีน (16,000 – 2,000 ปีมาแล้ว)
ข้อมูลจากสำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ระบุว่า พ.ศ.2557 สำนักศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต ได้สำรวจเขาหน้าวังหมีอีกครั้ง โดยสำรวจพบถ้ำเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง และขุดค้นแหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี 57/1 ซึ่งเป็นเพิงผาหนึ่งทางฝั่งทิศตะวันออกของภูเขา พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณจำนวน 1 โครง พร้อมภาชนะดินเผาทรงพานและหม้อก้นกลมอย่างละ 1 ใบ สันนิษฐานว่าพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกใช้เป็นสุสานหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมปลงศพยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหิน จากนั้นได้ส่งตัวอย่างเศษภาชนะดินเผาที่พบไปหาค่าอายุทางวิทยาศษสตร์ด้วยวิธี Thermoluminescence ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค่าอายุ 2,762±34 ปีมาแล้ว (ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ และคณะ 2565:108)
ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ชองเทือกเขาได้พบเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ และเปลือกหอย เป็นจำนวนมาก อันเป็นร่องรอยหลักฐานของการอยู่อาศัยหรือดำรงชีพของมนุษย์สมัยโบราณ เช่นที่แหล่งโบราณคดีเพิงผาโต๊ะช่อง ถ้ำและเพิงผาอีกหลายแห่งในเทือกเขาเดียวกันนี้ ตลอดจนภูเขาลูกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
จากการทำงานด้านโบราณคดีทำพบว่าพื้นที่บริเวณเขาหน้าวังหมีปรากฏร่องรอยการใช้พื้นที่ของคนมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 4,000-2,000 ปีมาแล้ว โดยใช้เป็นพื้นที่พักอาศัยชั่วคราวและพื้นที่สุสาน โดยมีการฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ซึ่งน่าจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดีที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งถ้ำหลังโรงเรียน ถ้ำหน้าสังเทียน เขานาไฟไหม้ เป็นต้น นับเป็นพื้นที่ที่เป็นกลุ่มของแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้
กรมศิลปากร. แหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี. (ออนไลน์). ม.ป.ป. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 เข้าถึงจาก http://www.finearts.go.th/fad15/parameters/km/item/เขาหน้าวังหมี.html
จิตรปฏิมา, ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเขาลูกโดดในเทือกเขาหน้าวังหมี หมู่ที่ 7 ตำบลทับปริก อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่. รายงานเสนอสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร 2550.
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์, ศิริพร สังข์ศิริ, และธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์. 247 โบราณสถานภาคใต้ที่ขึ้นทะเบียนแล้วและข้อมูลหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2561.
สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีเขาหน้าวังหมี ตำบลทับปริก อ.เมือง จังหวัดกระบี่. ภูเก็ต : สำนักงานศิลปากรที่ 15 ภูเก็ต, 2559.