โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2020
ที่ตั้ง : ถ.ศรีจันทร์ เทศบาลนครขอนแก่น ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น
ตำบล : ในเมือง
อำเภอ : เมือง
จังหวัด : ขอนแก่น
พิกัด DD : 16.431105 N, 102.828434 E
ศาลหลักเมืองขอนแก่นตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่น หรือกลางเขตเทศบาลนครขอนแก่น บริเวณถนนศรีจันทร์ตัดกับถนนประชาสำราญ
หลักเมืองขอนแก่นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดขอนแก่น มีการสักการะบูชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยประดิษฐานอยู่ภายในศาลที่มีประตูทางเข้าออกทั้ง 4 ด้าน ประตูทุกด้านมีประตูกระจกและล็อกด้วยแม่กุญแจและโซ่
เสาหลักเมืองที่เป็นเสมาหินทรายสมัยทวารวดีมีร่องรอยการลงรักปิดทองเป็นลวดลายไทย ซึ่งกระทำภายหลังจากที่ประดิษฐานขึ้นเป็นเสาหลักเมืองขอนแก่นแล้ว แต่ปัจจุบันไม่มีการปิดทองเพิ่ม (ให้ผู้สักการะปิดทองเสาหลักเมืองจำลองที่ตั้งอยู่ภายนอกแทน) มีการผูกผ้าพันรอบเสา ส่วนโคนเสาหลักเมืองก่อเป็นฐานปูนทำลวดลายเป็นรูปดอกบัว รายล้อมไปด้วยเครื่องสักการะต่างๆ
ผู้สนใจสามารถเข้าสักการะและเยี่ยมชมศาลหลักเมืองได้ทุกวัน โดยไม่เสียค่าเข้าชม
จังหวัดขอนแก่น, องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น, เทศบาลนครขอนแก่น
ศาลหลักเมืองขอนแก่นตั้งอยู่กลางเมืองขอนแก่น หรือกลางเขตเทศบาลนครขอนแก่น บริเวณถนนศรีจันทร์ตัดกับถนนประชาสำราญ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ (ที่ราบสูง) มีแม่น้ำชีไหลผ่านทางทิศตะวันออกของตัวเมืองขอนแก่น และมีลำน้ำสาขาไหลผ่านในพื้นที่อีกหลายสาย รวมทั้งสระน้ำหลายสระที่เกิดจากหลุมเกลือ ปัจจุบันภายในตัวเมืองมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาก
หลักเมืองขอนแก่นประดิษฐานอยู่ภายในศาลก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นมณฑป
แม่น้ำชี, แม่น้ำพอง
ลักษณะธรณีวิทยาของพื้นที่ตั้งแหล่งโบราณคดีจัดอยู่ในหมวดหินมหาสารคาม อายุประมาณ 93 ล้านปี ยุคครีเทเชียส ชั้นหินประกอบด้วย ชั้นเกลือหิน 3 ชั้น แทรกสลับกับหินโคลน หินทรายแป้ง สีน้ำตาลแดง สีแดงส้ม มีความหนารวมกันประมาณ 600-1,000 เมตร โดยมีชั้นแอนไฮไดร์ตรองรับอยู่ด้านล่าง บริเวณที่มีโครงสร้างของโดมเกลือใกล้ชั้นผิวดินมักส่งผลให้ดินเค็ม และการปรากฏคราบเกลือบนผิวดิน (กรมทรัพยากรธรณี 2552 : 20)
หลักเมืองภายในศาลหลักเมืองขอนแก่นเป็นเสมาสมัยทวารวดีที่นำมาจากเมืองโบราณโนนเมือง อำเภอชุมแพ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์และเมืองโบราณสมัยทวารวดี มีประวัติการค้นพบและเคลื่อนย้าย ดังนี้
“เมื่อ พ.ศ.2498 ประมาณเดือน 4 ได้มีคนแก่มากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระราชสารธรรมมุนี (หลวงพ่อกัณหา) วัดศรีนวล เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้นว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้ไปนอนพักที่โรงนาบริเวณโนนเมืองแล้วฝันประหลาดว่าเห็นคนแก่นุ่งห่มชุดขาวบ่นว่า"อยากจะไปอยู่ในเมือง" คืนที่สองฝันอีกว่า "อยากจะไปอยู่ในเมือง อยากจะไปอยู่เป็นมิ่งขวัญของเมือง" พอคืนที่สามก็ได้ฝันลักษณะเดิมอีก หลังจากตื่นขึ้นก็รู้สึกร้อนรนอยู่ไม่ได้นอนไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเมืองเพื่อเล่าความฝันให้ท่านเจ้าคุณฟัง
เมื่อท่านเจ้าคุณได้ฟังแล้วจึงถามว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นอย่างไร" คนแก่ตอบว่า "ลักษณะตรงนั้นเป็นกู่เก่า มีป่าขนาดใหญ่ต้นไม้ขึ้นหนาทึบมีเสาหิน และใบเสมาเป็นจำนวนมาก" ท่านเจ้าคุณจึงออกปากว่า "ถ้าเป็นมิ่งเป็นขวัญของเมือง ก็ต้องเป็นหลักเมือง" ประกอบกับจังหวัดขอนแก่นขณะนั้นยังไม่มีหลักเมือง ท่านเจ้าคุณจึงเรียนให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คือ หลวงพินิจ และได้มอบหมายให้ฝ่ายพระมหาสุคนธ์และพระอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งปลัดจังหวัดไปอัญเชิญหลักเมืองออกจากกู่
ในขณะที่อัญเชิญเสาและเสมาหินออกจากกู่เกิดอาเพศฝนตกหนัก มีฟ้าผ่าลงมาโดนเสาหลักเมือง(ปัจจุบันเป็นเสาหลักเมืองอำเภอชุมแพ) รถเกิดติดหล่มไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทางคณะจึงปรึกษากันว่า "เฮาเป็นผู้น้อย ผู้ใหญ่บ่ได้มาเพิ่นเลยบ่ไป" และได้อัญเชิญหลักเมืองลงไว้ที่วัดพระนอน (วัดป่าพระนอนพัฒนาราม) แล้วกลับมาเล่าเหตุการณ์ให้ท่านเจ้าคุณฟัง ท่านเจ้าคุณจึงเดินทางไปอัญเชิญด้วยตัวเอง และได้นำหมอลำ หนัง มาฉลองที่วัดพระนอน 1 คืน จากนั้นได้อัญเชิญเสาและเสมาออกมา 4 หลัก
หลักที่ 1 อยู่ที่ศาลหลักเมืองขอนแก่น
หลักที่ 2 อยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชุมแพ
หลักที่ 3 และ 4 อยู่ที่หน้าอุโบสถวัดศรีนวล อำเภอเมืองขอนแก่น
พิธีตั้งเสาหลักเมืองขอนแก่นมีการนิมนต์พระมาสวดยกตั้งตามแบบพิธีพุทธ ณ สนามศาลาสุขใจ ท่านเจ้าคุณได้ตั้งชื่อว่า “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” มีนามย่อว่า "อินทร์ตา” โดยทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนได้ร่วมกันก่อสร้าง มีการอัญเชิญอากงอาม่าอยู่รวมกันกับหลักเมือง คนจีนเรียกว่า "ศาลหลักเมืองกง” คนไทยเรียกว่า “ศาลหลักเมือง” หรือ “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” พิธีตั้งศาลหลักเมืองขอนแก่นจัดขึ้นวันที่ 20 สิงหาคม 2499”
หลักเมืองขอนแก่นประดิษฐานอยู่ภายในศาลก่ออิฐถือปูน ลักษณะเป็นมณฑป ส่วนยอดทำเป็นเจดีย์ย่อมุม มีประตูทางเข้าออกทั้ง 4 ด้าน ประตูทุกด้านมีบานประตูกระจกและล็อกด้วยแม่กุญแจและโซ่ ลักษณะหลักเมืองเป็นเสาหินทราย รูปทรง 8 เหลี่ยม ส่วนยอดกลมมน ปัจจุบันปักตั้งสูงจากพื้นภายในของศาลประมาณ 1.7 เมตร ตามประวัติกล่าวว่าเสาหลักเมืองนี้สูงประมาณ 3 เมตร และมีจารึก แต่ปัจจุบันไม่สามารถสังเกตเห็นได้ อาจเนื่องมาจากมีการลงรักปิดทองเป็นลวดลายมงคลของไทยเกือบทั่วทั้งเสา (บางส่วนก็ลบเลือนไปแล้ว) การลงรักปิดทองนี้น่าจะกระทำภายหลังจากที่เสาหินสมัยทวารวดีหลักนี้ประดิษฐานเป็นหลักเมืองขอนแก่นแล้ว (หลัง พ.ศ.2498) นอกจากนี้ยังมีการผูกผ้าพันรอบเสา ส่วนโคนเสาก่อเป็นฐานปูนทำลวดลายเป็นรูปดอกบัว รายล้อมไปด้วยเครื่องสักการะต่างๆ
สภาพทั่วไปเป็นศาลสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีการสักการะบูชาอยู่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยเป็นหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองขอนแก่น เป็นที่กราบไหว้บูชาของทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน ภายในพื้นที่ศาลนอกจากจะมีศาลหลักเมืองตามความเชื่อของชาวไทยแล้ว ยังมีเสาเทวดาฟ้าดิน ศาล และเครื่องเซ่นแบบจีนปรากฏอยู่ด้วย
กรมทรัพยากรธรณี. การจำแนกเขตเพื่อการจัดการด้านธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี จังหวัดขอนแก่น. กรุงเทพฯ : กรมทรัพยากรธรณี, 2552.